Insights ของผู้ที่เพิ่งจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย ที่จะก้าวเข้าสู่โลกการทำงานในแต่ละยุคสมัยนั้น แตกต่างกัน ทั้งความคาดหวังในองค์กร ในสายงาน ค่าตอบแทน หรือเงินเดือน การเรียนรู้ รูปแบบการทำงาน เพราะการเลี้ยงดู และสภาพแวดล้อมของสังคมที่ต่างกัน
สำหรับเด็กจบใหม่ในปัจจุบันจัดอยู่ในกลุ่ม “Gen Z” ซึ่งเป็นลูกของ Gen X มีความคาดหวังในการทำงานหลังจบการศึกษาแตกต่างจากรุ่นพ่อแม่ในหลายเรื่อง…
Marketing Oops! Podcast “MarTech” ตอนนี้จะพาไปดู Insights ความหวังของเด็กไทยจบใหม่ กับชีวิตก้าวแรกนอกรั้วมหาวิทยาลัย โดย “คุณณัฐวีร์ ณีว มาวิจักขณ์” และ “คุณแพน จรุงธนาภิบาล” จาก GroupM
เกือบ 20 ปีกับการใช้ชีวิตภายใต้กรอบของการเป็น “นักเรียน – นักศึกษา”
ค่านิยม และระบบการศึกษาในประเทศไทย แตกต่างจากประเทศแถบตะวันตก นักเรียนที่นั่นส่วนใหญ่เมื่อจบการศึกษา High School แล้ว ก่อนเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย เขาจะใช้เวลาช่วงหนึ่งไปกับการเดินทางออกไปหาประสบการณ์โลกภายนอก และค้นหาตัวเอง เพื่อดูว่าตัวเองอยากทำอะไร ชอบอะไร เพื่อจะได้เลือกเรียนสาขาที่ใช่ในระดับมหาวิทยาลัย
แต่สำหรับประเทศไทย ทุกวันนี้มีเด็กจบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่กำลังมองหางาน และค้นหาตัวตน หรือเส้นทางชีวิตก้าวต่อจากนี้ หลังจากที่อยู่ในรั้วโรงเรียน และมหาวิทยาลัยรวมแล้วไม่ต่ำกว่า 16 – 18 ปี (ไม่นับการศึกษาระดับอนุบาล) ที่ใช้ชีวิตอยู่ในกรอบมาโดยตลอด
นับตั้งแต่มัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ต้องเลือกแล้วว่าจะศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสายไหน และเมื่ออยู่ในช่วง ม.ปลาย เหมือนถูก force ให้รีบเลือก “คณะ – สาขา” ในระดับมหาวิทยาลัย
ในระหว่างที่กำลังศึกษาอยู่นั้น ก็จะมีจินตนาการภาพชีวิตการทำงานของตังเองหลังเรียนจบไว้อย่างสวยงาม เช่น จบออกมาแล้ว จะทำงานสายนั้น สายนี้ เงินเดือนได้เท่านั้น เท่านี้
ซึ่งในโลกการทำงานจริงแล้ว อาจไม่ใช่อย่างที่วาดฝันไว้…
ความคาดหวังระหว่าง “เด็กกรุงเทพฯ” กับ “เด็กต่างจังหวัด” ต่างกัน
อย่างไรก็ตามบนความคาดหวังของนักศึกษาไทยต่อการทำงาน ก่อนที่จะจบการศึกษา มีความแตกต่างกันระหว่างคนที่อยู่ในกรุงเทพฯ กับคนที่อยู่ในต่างจังหวัดที่ไม่ใช่จังหวัดใหญ่ หรือหัวเมืองใหญ่ เช่น Insights ความคาดหวังเรื่องค่าตอบแทน หรือเงินเดือน
สำหรับเด็กกรุงเทพฯ ที่ศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทยคาดหวังว่าจะได้เงินเดือนเริ่มต้นที่ 30,000 บาท
แต่เมื่อได้มีโอกาสมาฝึกงาน น้องๆ นักศึกษาจะเริ่มมี perception ที่เปลี่ยนไป กลายเป็นว่า “เงิน” ไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการเริ่มต้นชีวิตการทำงาน
เพราะน้องๆ นักศึกษาเห็นแล้วว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดกับช่วงวัยเริ่มต้นทำงาน คือ “ความรู้” และ “ประสบการณ์” เพราะฉะนั้นความคาดหวังเรื่องเงินเดือน ต้องการในระดับที่ทำให้ตัวเขาเองสามารดำรงชีวิตได้ เช่น อยู่ที่ 18,000 – 20,000 บาทก็ได้ เนื่องจากเขามองว่าถ้าสั่งสมความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ สามารถนำไปต่อยอดในอนาคต และทำให้ก้าวไปถึงระดับเงินเดือนที่คาดหวังไว้ก่อนหน้านี้ได้
ขณะที่ Passion หรือแรงบันดาลใจการทำงานของเด็กกรุงเทพฯ จะตั้งเป้าหมายไว้สูง และพยายามวิ่งไปถึงจุดนั้นให้ได้ เหตุผลที่ทำให้ตั้งเป้าหมายไว้ไกล เนื่องจากเด็กกรุงเทพฯ ถูกหล่อหลอมและเติบโตมากับภาพลักษณ์ และค่านิยมของสังคมที่ว่า คนมีชีวิตที่ดีนั้น ต้องมีความเพียบพร้อม เงินเดือนสูง ใช้ชีวิตหรูหรา และมีอำนาจในการทำอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะกิน หรือเที่ยวที่ไหนก็ได้ ทำให้เด็กกรุงเทพฯ จึงมี passion ที่จะไปอยู่ตรงจุดนั้นให้ได้
ตรงกันข้ามกับเด็กต่างจังหวัดที่ไม่ใช่จังหวัดใหญ่ คนกลุ่มนี้คาดหวังเงินเดือนหลักหมื่นต้นๆ ถึง 15,000 บาท ซึ่งเป็นเรทมาตรฐานคนจบใหม่ในระดับปริญญาตรีใหม่
ส่วน passion การทำงานหลังเรียนจบของเด็กต่างจังหวัด ต้องการ จะกลับมาทำงานในองค์กร หรือหน่วยงานที่เขาเคยฝึกงาน ซึ่งส่วนใหญ่ฝึกงานกับหน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่น เช่น อบต. โดยจะรอให้หน่วยงานราชการท้องถิ่นเปิดรับสมัคร ถ้ายังไม่เปิดรับสมัครงาน เขาก็ยินดีที่จะเป็นพนักงานสัญญาจ้างไปก่อนได้ เพื่อรอวันหนึ่งที่จะได้บรรจุ
เหตุผลที่ความคาดหวังของเด็กต่างจังหวัดไม่ได้หวือหวา เพราะเขาความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต และอยากทำงานในจังหวัด หรือในพื้นที่บ้านเกิดของตนเอง เพื่อจะได้อยู่ใกล้ครอบครัว
ก้าวสู่วัยผู้ใหญ่เต็มตัว กับชีวิตอิสระที่บาลานซ์ระหว่าง “ชีวิตทำงาน – ชีวิตส่วนตัว”
จากชีวิตช่วงมหาวิทยาลัย เมื่อถึงวันที่ต้องก้าวเข้าสู่โลกการทำงานจริง คนจบการศึกษาใหม่มองว่ามันคือจุดเริ่มต้นในการสร้างชีวิตของตัวเอง เพราะเป็นอิสระจากการเรียน และการอยู่ในกรอบของกฎกติกาของโรงเรียน – มหาวิทยาลัย ดังนั้นสิ่งที่คนกลุ่มนี้ต้องการคือ ต้องการมีตัวตน – ต้องการการยอมรับ – ต้องการมีความสุข ด้วยการบาลานซ์ระหว่าง “ชีวิตการทำงาน และชีวิตส่วนตัว”
“ชีวิตการทำงาน” หรือในฝั่ง Professional คือ เพิ่มพูน หรือพัฒนาศักยภาพในการทำงาน เพื่อสร้างคุณค่าให้กับตัวเอง
“ชีวิตส่วนตัว” เติมเต็มความสุขให้กับตัวเองด้วยกิจกรรมต่างๆ เช่น กิจกรรมด้านสุขภาพ ออกไปหาประสบการณ์การท่องเที่ยว ด้านความรัก
2 กลยุทธ์แบรนด์สร้าง Long-term & Short-term Engagement มัดใจ “เด็กจบใหม่”
ความน่าสนใจของแบรนด์ที่ต้องการเจาะผู้บริโภคกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ใกล้จะจบการศึกษา หรือจบการศึกษาใหม่ๆ คือ ถ้าแบรนด์สามารถมัดใจคนกลุ่มนี้ได้สำเร็จ คนกลุ่มนี้จะ carry brand ไปยาวนาน เรียกได้ว่า “รักแล้ว รักเลย” หรือที่เรียกว่าเป็น Brand Love ของผู้บริโภค
วิธีการที่แบรนด์จะเข้าถึงคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้ ต้องใช้ 2 องค์ประกอบหลักคือ
- แบรนด์ต้องทำหน้าที่ในการ “สร้างแรงบันดาลใจ” (Inspiration) หรือเป็น Guideline ที่ดีให้ผู้บริโภคกลุ่มนี้ เพื่อสร้าง “Long-term Engagement” ซึ่งถ้าสามารถสร้าง Brand Loyalty และสร้างความผูกพันในผู้บริโภคกลุ่มนี้ได้ แบรนด์จะได้ฐานลูกค้าเหนียวแน่นต่อแบรนด์ ผลิตภัณฑ์ หรือบริการ
- การเป็นแบรนด์ที่อยู่ในไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค หรือสร้างไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค ในส่วนนี้ตอบโจทย์ด้าน “Short-term Engagement”
อย่างไรก็ตามในการทำการตลาดเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่ม Gen Z ที่กำลังจะจบการศึกษา หรือเพิ่งจบการศึกษา แบรนด์ต้องคำนึงถึงบุคลิกของแบรนด์ (Brand Personality) และจุดยืนที่ชัดเจนของแบรนด์ (Brand Stand for)
สามารถติดตามรับฟัง Marketing Oops! Podcast
ผ่านทางช่องทางต่างๆ ได้ที่