[Special Episode COVID-19] การปรับตัวของ Influencer Marketing ยุค New Normal เน้นความคุ้มค่า – ประสิทธิภาพ – Branded Content

  • 29
  •  
  •  
  •  
  •  

สถานการณ์แพร่ระบาดของ Covid-19 ทั่วโลกและประเทศไทย ได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อเศรษฐกิจและสังคม มาตรการรับมือของภาครัฐได้เปลี่ยนแบบแผนการทำงานของภาคธุรกิจบางส่วน รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภค แน่นอนว่าปัจจัยเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อ Influencer ทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

MarketingOops! Podcast Influencer Marketing EP พิเศษ อธิบายผลกระทบของ Covid-19 ต่อธุรกิจการตลาดและ Influencer Marketing ทั้งในระยะสั้น ระยะกลางถึงยาว พร้อมแนวทางการปรับตัวของ Influencer เพื่อเตรียมรับมือในยุค New Normal

 

แบบแผนการใช้ชีวิตและพฤติกรรมใหม่

มีการคาดการณ์กันว่าทิศทางของโรค COVID-19 คงไม่จบง่ายๆ จนกว่าจะมีวัคซีนเกิดขึ้น และมีการแจกจ่ายวัคซีนให้กับทุกคนได้มากเพียงพอ ประชาชนถึงจะกลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติได้ แต่ในปัจจุบันยังมีความไม่แน่นอน และยังไม่รู้ว่าจะมีคลื่นระลอกใหม่อีกหรือไม่ และไม่รู้ว่าจะเปิดประเทศทางเศรษฐกิจได้เมื่อใด ไม่รู้ว่าเมื่อใดที่การท่องเที่ยวจะกลับมาเป็นเหมือนเดิมเต็มรูปแบบ ช่วงนี้มีหลายคำถามที่ยังหาคำตอบไม่ได้

หากเปรียบเป็นมวย ก็คงเป็นเหมือนหมัดแรก ตอนนี้สถานการณ์คือ เราอาจจะยังตั้งหลักไม่ค่อยทัน และเกิดอาการ panic อยู่ สถานการณ์ปัจจุบัน คงเหมือนกับเพิ่งฟื้นตัวจากหมัดแรกเข้าไป แต่ก็ไม่ควรประมาท เพราะว่าจะมีหมัดสอง หมัดสาม ตามมาแน่ๆ ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องของโรคระบาดใหม่อีกครั้ง แต่เป็นการหดตัวของเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ปรับตัวเก่งมาก กว่าจะถึงวันที่สถานการณ์คลี่คลายจนเป็นเหมือนเดิม คงปรับพฤติกรรมใหม่พอสมควรเพื่อรับมือกับสถานการณ์นี้ ซึ่งหลายคนคงได้ยินคำว่า New Normal หรือความปรกติใหม่ ซึ่งเป็นผลมาจาก Covid-19, คำว่า New Normal เกิดจากการที่ตัวเรามีนิสัยแบบใหม่ มีแบบแผนใหม่ในการใช้ชีวิต เช่น ออกจากบ้านน้อยลง, เคลื่อนที่น้อยลง, มี Social Distancing มากขึ้น

พอคนเราปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ในมุมการทำธุรกิจการตลาด ก็จะมีผลกระทบตามมาแน่นอน โดยหากเป็นคนค้าขาย เราก็คงต้องปรับเปลี่ยนตามพฤติกรรมตรงนี้ และไม่ใช่เฉพาะแค่ธุรกิจที่ขายของกับผู้บริโภคเท่านั้น แต่คนที่ขายให้กับคนที่ขายของให้กับผู้บริโภค หรือธุรกิจด้านต้นน้ำ ช่วงนี้ยิ่งพยากรณ์ยาก เพราะดีมานด์ที่เปลี่ยนไปจากปลายน้ำ สร้างความผันผวนมาถึงต้นน้ำมากกว่าเดิม

มุมมองของแต่ละคนที่มีต่อคำว่า New Normal จะไม่เหมือนกัน บางคนอาจมองว่า New Normal จะเป็นแบบแผนพฤติกรรมที่ถาวร บางคนมองว่าเป็นแค่เรื่องชั่วคราว (Temporary New Normal) แต่สุดท้ายแล้วมนุษย์เองก็ต้องปรับตัว บางคนมองเห็นโอกาสที่อยู่ตรงหน้า บางคนอาจมองเห็นธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงนี้ หรือบางคนอยู่บ้านก็เพิ่งรู้ตัวว่ามีพรสววรค์อะไรซ่อนอยู่

ในมุมของ Influencer หรือ Content Creator ก็เช่นเดียวกัน ช่วงนี้จะเป็นช่วงที่ได้ทดสอบอะไรใหม่ๆ เราอาจค้นพบโอกาสใหม่ๆในการทำคอนเทนต์ หรือบางคนมองโอกาสนี้เป็นการทำ pivot หรือการปรับแกนการทำคอนเทนต์ใหม่ ไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุการณ์ที่บังคับ หรือมองเห็นโอกาสว่ามีคนต้องการคอนเทนต์แบบหนึ่งอยู่ในช่วงนี้ ซึ่งอาจ work ก็ได้ ทำให้ในระยะยาว สามารถปรับขยายฐานแฟนในอนาคตได้มากขึ้น

 

Pivot การปรับจูนแกนคอนเทนต์ใหม่

สำหรับผลกระทบที่มีต่อ Influencer Marketing ในมุมมองของ Influencer มากกว่าทางฝั่งแบรนด์ โดยแบ่งผลกระทบออกเป็นระยะสั้น และผลกระทบระยะกลางถึงยาว และแนวทางการปรับตัว

“ผลกระทบระยะสั้น” สิ่งที่เห็นเป็นอย่างแรก คือ การปรับจูนแกนคอนเทนต์ใหม่ของ Content Creator บางกลุ่ม ซึ่งอาจเป็นแค่ชั่วคราว หรือบางคนอาจติดใจจนทำเป็นถาวรเลยก็ได้ โดยเราเห็นการปรับจูนแกนคอนเทนต์ดังต่อไปนี้

  1. กลุ่ม Content Creator ที่เน้นการออกไปถ่ายทำนอกบ้าน อาทิ Travel Blogger นักรีวิวอาหาร หรือ Content Creator ที่เน้นการทำกิจกรรม Outdoor, พอเราออกจากบ้านไม่ได้ เราถ่ายทำนอกสถานที่ลำบากมากขึ้น จนอาจถูกบังคับกลายๆให้ต้องปรับคอนเทนต์ชั่วคราว

เช่น การปรับตัวที่เรียกว่า Staycation ทำคอนเทนต์กึ่งๆการให้ความบันเทิงอยู่บ้านหรือรอบบ้าน ซึ่งเป็นเทรนด์ที่นิยมอยู่ทั่วโลก ณ ตอนนี้ เพราะทั่วโลกก็โดน Covid-19 หรือบางคนมองเห็นว่า ช่วงนี้ออกไปถ่ายทำไม่ได้ ก็นำคอนเทนต์เก่าๆมาปรับ แล้วหาวิธีเล่าใหม่ อาจเป็นแค่ชั่วคราวไปก่อน

  1. กลุ่ม Content Creator ที่ทำคอนเทนต์เกี่ยวข้องกับการพบเจอผู้คน การเข้าสังคม ช่วงนี้ความต้องการการดูคอนเทนต์ในเรื่องแบบนี้อาจจะลดลงไป สินค้าหมวดประเภทนี้ เช่น หมวดบิวตี้ แฟชั่น ซึ่งเราซื้อสินค้าพวกนี้ เพราะว่าเราอยากให้คนอื่นเห็น อยากโชว์ตัวเอง เมื่อไม่ได้ออกไปเจอผู้คน ความต้องการอยากแต่งหน้า แต่งตัว ก็ลดลงไป ทำให้ความต้องการดูคอนเทนต์แบบนี้ช่วงนี้ก็จะน้อยลงไป

แต่สินค้าบางประเภทอาจเป็นสินค้าที่คนต้องการมากขึ้น อาทิเช่น สกินแคร์ เพราะว่าคนก็ยังต้องการดูแลตัวเองเหมือนเดิม หรือคอนเทนต์จากสินค้าที่เป็นแนวดูแลตัวเอง ในแนวเฮลธ์แคร์ ก็อาจดีในช่วงนี้

อีกมุมหนึ่ง ความต้องการดูคอนเทนต์อาจเกิดขึ้น เพราะมีดีมานด์จากการที่ผู้บริโภคหันมาซื้อออนไลน์มากขึ้น พอคนหันมาซื้อออนไลน์มากขึ้น ก็ต้องการทำ Research ต้องการความเห็นจากบุคคลที่สามในแบรนด์และสินค้าบางตัว ซึ่งอาจเกิดขึ้นกับสินค้าที่เห็นโอกาสทำโปรโมชั่นอยู่ช่วงนี้ ฉะนั้นดีมานด์จะค่อนข้างผันผวนตามแบรนด์ และตาม sub-category ซึ่งInfluencer หลายคนคงเจอโอกาส ก็สามารถปรับแกนคอนเทนต์ Pivot คอนเทนต์ให้เหมาะกับช่วงนี้ได้

  1. ช่วงนี้เป็นโอกาสทองของ Content Creator ที่เน้นอยู่บ้าน เช่นการทำ Parenting ให้ข้อมูลการเลี้ยงลูก, การสอนหนังสือออนไลน์, การออกกำลังการแบบ Indoor, ทำอาหาร, เลี้ยงสัตว์, งานอดิเรก, คนที่รีวิวเครื่องใช้ไฟฟ้า

ที่ว่าเป็นโอกาศทอง เพราะว่า Traffic ในกลุ่มนี้สูงขึ้นมาก เนื่องจากผู้คนมีเวลาว่างเล่นเน็ตมากขึ้น และก็มีความต้องการคอนเทนต์เหล่านี้มากขึ้นอย่างรวดเร็ว

ทั้งหมดนี้คือ 3 อย่างที่เป็นเรื่องการปรับจูนคอนเทนต์ในระยะสั้นที่ทำให้ Content Creator แต่ละคนมีความได้เปรียบเสียเปรียบแตกต่างกัน

 

ช่วงฟูมฟักของ Content Creator หน้าใหม่ และสถานการณ์แข่งขันที่ดุเดือด

เรื่องระยะสั้นต่อมา ช่วงนี้จะเห็นการแข่งขันทำคอนเทนต์ที่ค่อนข้างดุเดือดมากขึ้น และก็มีการเกิดใหม่ของ Content Creator มากมาย

หลายคนต้องปรับแกนคอนเทนต์ ไม่ว่าจะถูกบังคับให้ทำ หรือมองเห็นโอกาสใหม่ และทุกคนตอนนี้ก็มุ่งไปสร้างคอนเทนต์ที่ตอบโจทย์พฤติกรรมของคนช่วงนี้เหมือนๆ กัน

โดยจะเห็นการแข่งขันกันสูงมากของบางกลุ่มของคอนเทนต์ที่เหมาะกับสถานการณ์ช่วงนี้ เช่น การประยุกต์ทำของกินอร่อยๆแบบ DIY หาของกินที่เกิดจากส่วนผสมที่หาได้ง่ายๆในบ้าน หรือว่ารอบๆบ้าน ในเซเว่น อีเลฟเว่น เป็นต้น หรือบางคนอาจพบตลาดใหม่ๆ ในการขยายฐานแฟน บางคนทดลองทำคอนเทนต์ใหม่ๆ ช่วงนี้พอดี ทำให้มีการทำคอนเทนต์ ซึ่งจะมีความคล้ายคลึงกันอยู่มาก

นอกจากนั้น หากเราเล่น Facebook ก็จะถูกคน Invite Page ใหม่ๆ ค่อนข้างมากจากเพื่อน หรือคนรอบตัว ซึ่งเป็นผลพวงจากการที่เห็นตัวตนของตัวเอง เมื่อคนเรามีเวลาว่าง ก็จะเริ่มฝึกทักษะใหม่ๆ

บางคนเป็นคนธรรมดา ไม่เคยเป็น Influencer มาก่อน ก็รู้ว่าตัวเองมีพรสววรค์ เช่น ทำครัว, ปลูกต้นไม้ หรือ Entertain ผู้คน, บางคนก็สร้าง Page ขึ้นมาเลย เพราะหวังปั้นตัวเองเป็น Influencer บางทีก็อาจทำควบคู่กับทำงานประจำไป เพราะหลายคนก็คงมองหาการกระจายความเสี่ยงด้านรายได้

ทำให้ช่วงนี้เป็นช่วงฟูมฟักของ Content Creator หน้าใหม่หลายคน ซึ่งในอนาคตข้างหน้าอาจจะเป็น Content Creator ชื่อดังก็ได้ เรียกว่าอาจจะเป็นยุค New Wave ของสังคม Content Creator ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงนี้ และรอดูต่อไปอีกหลายปีข้างหน้าว่า เราอาจมี Content Creator ระดับประเทศที่เกิดขึ้น ซึ่งเริ่มต้นทำช่องจากช่วงนี้

 

ผลกระทบด้านรายได้ของ Influencer มีทั้งลบและบวก

เรื่องสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อ Influencer คือ “เรื่องรายได้” โดยรายได้ของ Influencer มาจากสองแหล่งเท่านั้น ก็คือ ส่วนแบ่งค่าโฆษณาในคอนเทนต์ หรือการทำงานร่วมกับแบรนด์ ดังนั้นไม่ว่าจะมาจากทางไหน แหล่งที่มาต้นทางก็คือ แบรนด์เจ้าของสินค้า

พอเกิดเหตุการณ์ COVID-19 ก็เหมือนกับทุกๆ ครั้งที่เกิดวิกฤตสำคัญๆ ของไทยที่ผ่านมา หลายแบรนด์ชะลอการทำกิจกรรมการตลาดส่วนหนึ่ง เพื่อรอดูท่าที แต่ครั้งนี้ค่อนข้างจะแตกต่างกว่าวิกฤตครั้งอื่นตรงที่ นอกจากจะรอดูท่าที ดูมวลอารมณ์ของคนซื้อแล้ว ยังต้องรักษา Cash Flow ของบริษัทด้วย

ทำให้การที่บริษัท Hold หรือ Cancel งาน มีเหตุผลที่เข้าใจได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ถูก Lockdown ออกไปซื้อสินค้าไม่ได้ ถ้าหากทำการสื่อสารการตลาด ทำโฆษณาในช่วงนี้ สุดท้ายคนรับรู้ แต่คนออกไปซื้อไม่ได้ หากแบรนด์ไม่ได้มีช่องทางออนไลน์ ก็อาจเป็นการหว่านงบประมาณที่ไม่ได้รับประโยชน์สูงสุดในช่วงนี้

เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ แบรนด์จึงชะลอการใช้เงินทางการตลาด ซึ่งส่งผลกระทบต่อรายได้ของ Influencer ทั้งสองทาง เมื่อโฆษณาลดลง Influencer ก็จะได้ส่วนแบ่งค่าโฆษณาลดลง ขณะเดียวกันการร่วมงานกับแบรนด์ โอกาสที่แบรนด์จะ Hold หรือยกเลิกงานก็มากขึ้น

ผลกระทบต่อ Influencer แต่ละกลุ่มจะไม่เหมือนกัน คนที่เป็นแนว Outdoor ก็จะได้ผลกระทบค่อนข้างมาก แต่ในช่วงระยะสั้น ยังไม่ใช่ผลกระทบที่แท้จริง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการตัดสินใจที่เกิดจากอารมณ์มากกว่าสถานการณ์ทางธุรกิจจริงๆ

ดังนั้น ผลกระทบในระยะสั้นยังไม่น่ากังวลมาก แต่ในระยะยาวน่ากังวลมากกว่า เพราะจะเป็นการลดงบประมาณด้านการตลาดที่สอดคล้องกับสถานการณ์ทางธุรกิจจริง

อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้เห็นได้ว่า ไม่ใช่ทุกสินค้าที่จะลดงบประมาณทางการตลาด มีบางแบรนด์ บางสินค้าที่ได้ประโยชน์จากช่วงนี้ อาทิ Streaming ภาพยนตร์, เกม, สินค้าอิเล็กทรอนิกส์, หม้อทอดไร้น้ำมัน ซึ่งกำลังเป็นที่นิยม, อาหารแบบ Delivery, ประกันสุขภาพ, สินค้า Healthcare จะได้รับประโยชน์ในช่วงนี้เป็นหลัก ทำให้ไม่ใช่ Influencer ทุกคนงานลด แต่พบว่า Influencer บางคน งานก็จะมากขึ้น สวนกระแสคนอื่น เพราะว่าอยู่ในกลุ่มที่โชคดีกว่า

 

งบถูกโยกมาสื่อออนไลน์ แต่ Influencer ต้องระวังการสื่อสารในช่วง Sensitive

ถ้าให้ประเมินภาพรวมของระยะสั้นที่เกี่ยวข้องกับ Influencer Marketing จะพบว่าบางแบรนด์ได้รับผลกระทบเยอะ ขณะที่บางแบรนด์ มีโอกาสเป็นบวก

ในภาพรวม Influencer Marketing ก็ถือว่ามีโชคอยู่บ้าง เพราะถึงแม้เม็ดเงินด้านการตลาดโดยรวมจะหดตัว แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่จะได้รับเงินที่ถูกโยกมาจากเครื่องมือการตลาดประเภทอื่นๆ อาทิ สื่อ Out of Home เพราะคนไม่ค่อยเดินทาง ทำให้การลงทุน Out of Home อาจไม่คุ้ม หรือกิจกรรม On Ground หรือ Event ต่างๆที่อาจถูก Hold หรือถูกยกเลิก งบก็จะถูกโยกมาอยู่ใน “สื่อออนไลน์” มากขึ้น ซึ่ง Influencer Marketing ก็จะรวมอยู่ในกลุ่มสื่อออนไลน์อยู่แล้ว

แต่สิ่งที่อยากจะแนะนำก็คือ ช่วงนี้ Influencer อาจต้องระมัดระวังในเรื่องการรับงาน โดยเฉพาะการสื่อสารในสถานการณ์ที่มวลชนค่อนข้างจะ sensitive ในเรื่องต่างๆมาก

ดังนั้น การร่วมงานกับแบรนด์จะต้องระมัดระวังในการรักษา Image ของแบรนด์ด้วย การทำคอนเทนต์ตามสไตล์ของเรามันไปแตะต่อม sensitive ของคนหรือเปล่าในช่วงนี้ ซึ่งจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของ Influencer และเป็นเรื่องไม่ดีต่อเราในระยะยาว

สำหรับ “ในระยะกลางถึงยาว” Influencer Marketing จะได้รับผลกระทบอะไรบ้าง ก่อนอื่นต้องยอมรับว่า ขณะนี้ยังไม่รู้ว่าอนาคตข้างหน้าจะไปทางไหนชัดเจน แต่สิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นแน่ๆก็คือ สถานการณ์เศรษฐกิจของไทยและทั่วโลก จะยังไม่ได้ดีขึ้นในเร็ววัน ไม่ว่ากำลังซื้อของคนจะหดตัว คนหวาดระแวงเรื่องความไม่แน่นอนของรายได้ เพราะไม่รู้ว่านายจ้างของเรา จะมีปัญหาด้านธุรกิจเมื่อใด

ในภาพรวม เซ็คเตอร์การท่องเที่ยวและเซ็คเตอร์การบริการ ซึ่งเป็นเซ็คเตอร์สำคัญของ GDP เมืองไทย ก็ยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัว และการส่งออกหยุดชะงักและหดตัว เพราะทุกประเทศก็เจ็บไม่น้อยไปกว่าประเทศไทย เพราะฉะนั้นดีมานด์ต่างประเทศย่อมลดลงตามไปด้วย สัญญาณภาพรวมจึงอาจยังไม่ดีเท่าไหร่

 

กำลังซื้อลดลง แบรนด์มองหา Return on Investment ที่มีประสิทธิภาพ

Influencer ต้องเตรียมตัว เพราะกำลังซื้อลดลง คนใช้เงินยากขึ้น เมื่อกำลังซื้อลดลง รายได้ของบริษัทต่างๆ ก็ต้องลดลงตาม และส่งผลกระทบต่องบประมาณด้านการตลาดและโฆษณาที่อาจจะลดลง หรือไม่ลดลง แต่อาจจะเข้มงวดมากขึ้น

แบรนด์มีแนวโน้มที่จะ spend เงินกับเครื่องมือการตลาดที่เสี่ยงน้อย อาจใช้งบประมาณที่น้อยลงกว่าเดิม มากกว่ามองการทำหนังโฆษณาที่ใช้งบประมาณเยอะ

แบรนด์คงกำลังมองหาเครื่องมือการตลาด และการสื่อสารที่เป็นอาวุธที่เล็กลง แต่แม่นยำมากขึ้น ให้ประสิทธิภาพมากขึ้น ตอบโจทย์แบรนด์มากขึ้น จะทำอะไรก็หวังผล Return on Investment หรือ ROI ที่มีประสิทธิภาพ

หลายแบรนด์ที่อาจไม่เคยมองหรือให้ความสำคัญกับด้านออนไลน์ ก็จะหันมามองช่องทาง online มากขึ้น เพราะว่าการพึ่งช่องทางที่เป็น offline อย่างเดียว ต่อจากนี้ก็มีความเสี่ยงแล้ว ทำให้ทิศทางการตลาดการสื่อสารเกี่ยวกับออนไลน์จะถูกให้น้ำหนักมากขึ้น และสินค้าอะไรก็แล้วแต่ที่มีการปิดการขายบนออนไลน์ การวัดผลจะทำได้ค่อนข้างง่ายขึ้น ดังนั้นเราจะได้ยินคำว่า ROI จากนักการตลาดมากขึ้นแน่ๆ

ในมุม Influencer ต้องมีการเตรียมตัว เพราะการใช้เงินจะเข้มข้นเรื่องการวัดผลมากขึ้น ดังนั้น Influencer ต้องเตรียมตัว หรือเตรียมคำตอบล่วงหน้า เวลาเริ่มคุยงานกับแบรนด์ แบรนด์จะต้องถามแน่นอนว่าการที่แบรนด์จะเลือกร่วมงานกับคุณในฐานะ Influencer เขาจะได้อะไรเป็นพิเศษ มีอะไรที่สามารถการันตี หรือตอบโจทย์การตลาดเขาได้บ้าง

ยิ่งการที่ Influencer เตรียมตัวออกมาเป็นตัวเลขได้ โดยเฉพาะเรื่องทั้งความคุ้มค่า และประสิทธิภาพ และยิ่งสามารถที่จะเรียกว่า commit ตัวเลขกับแบรนด์ หรือมี credential บางอย่างที่สามารถเคลมได้ว่า ส่งผลต่อยอดขาย หรือมีสัญญาณยอดขาย ก็จะได้รับความไว้วางใจมากขึ้น เมื่อได้รับความไว้วางใจมากขึ้น โอกาสที่จะได้ร่วมงานก็มีมากขึ้น

แต่แค่นั้นอาจยังไม่พอ ในฐานะ Influencer ต้องเตรียมคำตอบว่า การที่แบรนด์ตัดสินใจร่วมงานด้วย มีอะไรดีกว่าการที่เขาไปร่วมงานกับ Influencer ท่านอื่นที่ใกล้เคียงกัน

เพราะต้องอย่าลืมว่า ตัวเลือกของ Influencer จะมีมากขึ้นทุกวัน ซึ่งในมุมเศรษฐศาสตร์ เมื่อดีมานด์น้อยลง แต่ซัพพลายมากขึ้น Power จะตกอยู่กับฝั่งผู้ซื้อ ก็คือฝั่งแบรนด์ หากแหล่งรายได้ของ Influencer มาจากการร่วมงานกับแบรนด์ ต้องคิดไว้ว่า จากนี้แบรนด์จะเลือกพิจารณาเข้มงวดมากขึ้น และเราต้องเตรียมตัวให้ดี

 

Influencer ควรเรียนรู้การตลาดเพิ่ม และยืดหยุ่นในการร่วมงานกับแบรนด์

  1. Influencer ควรจะลองศึกษาเรียนรู้ด้านการตลาดให้มากขึ้น ทำให้เข้าใจมุมมองของแบรนด์มากขึ้น และเมื่อเข้าแบรนด์ ฝั่งแบรนด์ย่อมรับรู้ว่า Influencer คนนั้นๆ แคร์และเข้าใจเขา ยิ่งพูดกันเข้าใจ ก็เหมือนเป็นพวกเดียวกัน จะทำให้การเจรจาต่างๆ ก็จะราบรื่น
  2. Influencer ควรมีความยืดหยุ่นในการร่วมงานกับแบรนด์ให้มากขึ้น แบรนด์ และ Influencer ที่ร่วมงานด้วยกันต่อเนื่องนั้น ไม่ได้ดูเฉพาะความคุ้มค่า หรือประสิทธิภาพเท่านั้น แต่ยังพิจารณาดูจากปัจจัยอื่นๆ ด้วย เช่น ทำงานด้วยกันกับแบรนด์ยากหรือง่าย มีความยืดหยุ่นมากน้อยแค่ไหน มีความสัมพันธ์อันดีกันหรือไม่ หรือตอนที่แบรนด์เกิดปัญหา มีการเจรจาต่อรองกันได้ราบรื่นหรือไม่ ดังนั้น เรื่องของความยืดหยุ่นในการเจรจากับแบรนด์ค่อนข้างจะสำคัญในอนาคต

แต่ทั้งนี้ Influencer ต้องไม่ยืดหยุ่นจนเสียจุดยืน เพียงแต่ต้องมีจุดยืนแบบมีกลยุทธ์ รู้ว่าจังหวะไหนควรแข็ง จังหวะไหนควรอ่อน ใครที่รู้ในเรื่องนี้ก็จะได้เปรียบในการเจรจาร่วมงานกับแบรนด์

  1. คนจะควักเงินยากขึ้น ดังนั้นในฐานะคนทำคอนเทนต์ Influencer ก็จะต้องออกแรงมากขึ้นในการกล่อมคน โดยการทำคอนเทนต์ที่ตอบโจทย์แบรนด์ได้มากขึ้น และต้องกล่อมมากขึ้น Influencer อาจต้องเพิ่ม Skill การทำคอนเทนต์ในรูปแบบ Branded Content

 

การทำ Branded Content ต้องตีโจทย์แบรนด์ให้แตก

คำว่า Branded Content หมายถึงว่า เป็นคอนเทนต์ที่มีแบรนด์ หรือสินค้าเป็นองค์ประกอบ หรือตัวละครหลักในคอนเทนต์ โดยที่ไม่ได้สูญเสียคาแรกเตอร์ของช่อง

หรืออีกวิธีที่เอาไว้เช็ค Branded Content ก็คือ ถ้า Influencer มีคอนเทนต์หนึ่งๆ แล้วเอาสินค้าออกจากคอนเทนต์ ถามว่าแล้วคอนเทนต์นั้นยังสมบูรณ์อยู่หรือไม่ ถ้ามันยังสมบูรณ์อยู่แปลว่า ตัวสินค้าหรือแบรนด์ ไม่ใช่องค์ประกอบหลัก ก็ยังอาจยังไม่ใช่ Branded Content ที่สมบูรณ์แบบ

แต่ว่าอาจจะคุยกับฝั่งแบรนด์ด้วย เราห้ามเอา Judgement แบบการตัดสินชิ้นงานไอเดียโฆษณา หรือ Own Content มาใช้ ที่ชอบพูดกันว่าถ้าเราเอาแบรนด์ของเราออก แล้วเอาแบรนด์คู่แข่งเข้าไปแทนที่ มันยังอยู่ได้ ก็ถือว่ายังไม่ดี ผมคิดว่า ประโยคนี้เหมาะกับเอาไว้ judge คอนเทนต์ที่เรา control ได้ 100% ก็คือโฆษณา หรือฮีโร่ คอนเทนต์ หรือ Own Content ของเรา แต่อาจไม่ได้เหมาะกับการมาตัดสินงานที่เกิดขึ้นจาก Influential Marketing เพราะว่าไม่ใช่คอนเทนต์ที่เรา Control ได้สมบูรณ์แบบ

Influencer ที่เข้าใจและทำงาน Branded Content ได้ดี ก็มีแนวโน้มที่แบรนด์สนใจอยากร่วมงานมากขึ้น เพราะว่าแบรนด์จะมองหาประสิทธิภาพ และการประชาสัมพันธ์สินค้าของเขา

คอนเทนต์ที่เป็นประเภท Tie-In มีแนวโน้มที่มีความต้องการลดลง เพราะว่าแบรนด์อาจมองว่าไม่ได้คุ้มค่าเสียทีเดียว เวลาแบรนด์มอง ก็ไม่ได้มองว่า Tie-In Content จะพิเศษกว่าเครื่องมือการตลาดประเภทอื่น เพราะสามารถทำ Tie-In Content ได้ทุกที่อยู่แล้วเพื่อสร้าง Awareness หรือ Eyeball แต่ Influencer มีจุดสำคัญก็คือ เขาสามารถที่จะโน้มน้าวคนให้สนใจสินค้า มากกว่าแค่ Awareness

Influencer ท่านไหนที่ทำ Branded Content เก่งๆ จะมีความได้เปรียบในจุดนี้อยู่มาก การที่จะทำ Branded Content ได้เก่ง ก็จะต้องตีโจทย์แบรนด์ให้แตก นอกจากจะเข้าใจใน Audience แล้ว การที่ตีโจทย์แบรนด์แตก เข้าใจภาษาการตลาดภาพรวมทั้งหมด ก็จะทำให้ Influencer คนนั้นๆ มีโอกาสที่จะร่วมงานกับแบรนด์ได้สูงมากกว่า Influencer ท่านอื่นๆ ซึ่งอาจจะเป็นคู่แข่งทางตรงหรือทางอ้อม

 

Influencer ควรใส่ใจเรื่องการเงิน การบัญชี และภาษี

เศรษฐกิจภาพรวมของประเทศจะยังไม่ดี ในฐานะที่ Influencer อยู่ในกลุ่มที่สร้างรายรับให้กับรัฐผ่านการจ่ายภาษี ซึ่งแน่นอนว่ารัฐเองก็จะต้องหารายได้มากขึ้นเพื่อ cover รายจ่าย ซึ่ง Influencer ในฐานะผู้จ่ายภาษีก็จะต้องถูกตรวจสอบมากขึ้นว่าทำถูกต้องหรือไม่

ดังนั้น Influencer ต้องถามตัวเองว่า ณ ตอนนี้ ถ้าเราถูกตรวจสอบเรื่องการจ่ายภาษี เราตอบได้ทันทีหรือไม่ว่า เราทำทุกอย่างถูกต้อง มีจุดไหนที่ยังไม่รู้ หรือไม่เคยรู้ หรืออาจทำให้เราเกิดปัญหาหรือไม่

หากไม่รู้ ควรจะมีใครสักคนที่คอยให้คำปรึกษาในเรื่องนี้ ถ้าไม่ได้ตั้งใจจะทำให้ไม่ถูกต้อง หรือถ้าตั้งใจจะหลีกเลี่ยง Influencer จะต้องเสียเวลากับเรื่องนี้มาก และบางทีอาจจะไม่คุ้มกับเวลาที่เสียไป ค่าปรับที่เกิดขึ้นอาจทำให้เราตกใจ

จึงอยากให้ Influencer ให้ทำให้ถูกต้อง เตรียมตัวให้พร้อม เพราะว่าจะถูกเพ่งเล็งแน่นอน ไม่ต่างกับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ซึ่งจะต้องถูกเพ่งเล็งมากเป็นพิเศษ

และอยากให้ Influencer ทุกคนมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการเงินการบัญชีพื้นฐาน วันนี้มันอาจจะดูไกลตัว แต่ว่าถ้าวันหนึ่งเรามีการเติบโตมากขึ้น มีทีมงานมากขึ้น มีรายได้ค่าใช้จ่ายมากขึ้น ทักษะพวกนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมาก

ยิ่งช่วงเศรษฐกิจขาลง การที่ Influencer รู้การเงินของตัวเองตลอดเวลา จะทำให้บริหารทุกอย่างง่ายขึ้น ไม่ต้องพะวง และไปทุ่มเทกับการสร้างคอนเทนต์ และการรู้เรื่องการเงิน การบัญชีจะทำให้ Influencer รู้วิธีประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่าที่เคยจ่ายอยู่ทุกวันนี้ก็เป็นไปได้

 

 

สามารถติดตามรับฟัง Marketing Oops! Podcast
ผ่านทางช่องทางต่างๆ ได้ที่

Google Podcasts


  • 29
  •  
  •  
  •  
  •  
Kittipat Mahapunt
ทำงานด้านกลยุทธ์การสื่อสารทางด้านดิจิตอลให้กับเอเจนซี่โฆษณา ปัจจุบันมีประสบการณ์ตรงในด้านการวางกลยุทธ์ดิจิตอลมามากกว่า 7 ปี เห็นความเคลื่อนไหวในวงการมาโดยตลอด ชื่นชอบในงานโฆษณาที่ยกระดับวงการ และมีความสุขเมื่อเห็นงานจากไทยมีคุณภาพยกระดับทัดเทียมเมืองนอก