Special Episode ทางออก “แบรนด์ไทย – ธุรกิจท่องเที่ยว” พลิกวิกฤต “COVID-19” เป็นโอกาส เรียนรู้ผ่านโมเดลธุรกิจจีน

  • 607
  •  
  •  
  •  
  •  

ถือว่าเป็นวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ของโลก เมื่อกว่า 70 ประเทศทั่วโลกต้องเผชิญกับ “ไวรัส COVID-19” หรือไวรัส Corona สายพันธุ์ใหม่ 2019 โดยมีจุดเริ่มต้นที่เมืองอู่ฮั่น (Wuhan) มณฑลหูเป่ย (Hubei) ก่อนจะแพร่กระจายไปในอีกหลายเมืองของจีน และลุกลามไปยังประเทศต่างๆ ทั้งในโซนเอเชีย, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้, อเมริกา, ยุโรป, ตะวันออกกลาง

COVID-19” เป็นวิกฤตการณ์ที่สร้างผลกระทบเป็นวงกว้างในหลายภาคส่วน เช่น ภาคประชาชน – ภาครัฐ – การสาธารณสุข – ภาคการศึกษา ภาคเศรษฐกิจ ทั้งในระดับ Macro และ Micro ซึ่งเวลานี้หลายธุรกิจกำลังเจอโจทย์ใหญ่ ทั้ง ลูกค้าลดลงอย่างรวดเร็ว ไปจนถึงไม่มีลูกค้า โดยเฉพาะการหายไปของ “ลูกค้าจีน” ซึ่งเป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่ที่มีศักยภาพ และกำลังซื้อสูง

ส่งผลต่อรายได้ และสภาพคล่องทางการเงิน เพราะในขณะที่ธุรกิจหยุดชะงัก หรือชะลอตัว แต่ยังคงต้องแบกรับต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) เช่น ค่าเช่า เงินเดือนพนักงาน ดอกเบี้ย ทำให้ธุรกิจหลายราย ตัดสินใจใช้ปิดสาขา – ปิดกิจการชั่วคราว หรือเลวร้ายกว่านั้นปิดกิจการถาวร! พร้อมทั้งใช้นโยบายลดเวลา – ลดวันทำงาน และ Leave without pay ไปจนถึงมาตรการขั้นสุดอย่างลดจำนวนพนักงาน เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว, ธุรกิจโรงแรม, สายการบิน, ธุรกิจ Luxury Market, ธุรกิจส่งออก, ธุรกิจโลจิสติกส์ ตกอยู่ในภาวะชะงักทันที

Marketing Oops! Podcast China Market Insights ครั้งนี้จึงเป็นตอนพิเศษที่ว่าด้วย ทางออกของ “แบรนด์ไทย – ธุรกิจท่องเที่ยว” กับแผนรับมือทั้ง “Short Term” และ “Long Term” เพื่อพลิกวิกฤต “COVID-19” เป็นโอกาส เรียนรู้ผ่านโมเดลธุรกิจจีน

 

ตามดู “ธุรกิจในจีน – คนจีน” ปรับตัว และพลิกเป็นโอกาสใหม่อย่างไร ?!

อย่างที่หลายคนทราบกันว่า COVID-19” เริ่มต้นมาจากประเทศจีน ซึ่งในช่วง 2 – 3 เดือนมานี้ สถานการณ์ในประเทศจีนเข้าสู่ขั้นวิกฤต รัฐบาลจึงต้องออกยาแรง และเวลานี้ภายในประเทศจีนเริ่มควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว จำนวนคนติดเชื้อมีอัตราการเพิ่มขึ้นลดลง

ในระหว่างสถานการณ์ COVID-19 แพร่กระจายอย่างหนักในจีน ทั้งธุรกิจ และคนจีนได้รับผลกระทบ แต่ผู้ประกอบการเอกชน และประชาชนต่างปรับตัว โดยใช้เทคโนโลยี และแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างๆ มาเป็นประโยชน์กับการดำเนินธุรกิจ และใช้ชีวิตประจำวัน ตัวอย่างเช่น

– “Starbucks” ที่จีนปิดสาขาชั่วคราว 2,000 กว่าสาขา และเปลี่ยนไปให้บริการสั่งซื้อเครื่องดื่ม – อาหารบนออนไลน์มากขึ้น ผ่านแพลตฟอร์ม “WeChat” เพื่อจัดส่งถึงบ้านลูกค้า

– “Luxury Brand” ประเทศจีนได้ชื่อว่าเป็นตลาดใหญ่ของสินค้าแบรนด์หรู แต่จากเหตุการณ์ COVID-19 กระทบต่อตลาด Luxury Brand ไม่น้อย แต่บรรดาแบรนด์หรูต่างปรับตัว

อย่างแบรนด์ Louis Vuitton” และ Chanel” ให้ลูกค้าสามารถสั่งซื้อสินค้าผ่าน WeChat และสินค้าจัดส่งให้ถึงปลายทางที่ระบุ ในขณะที่ Gucci” ยังไม่ได้เปิดจำหน่ายผ่านออนไลน์ ทำให้เจอผลกระทบจากการหายไปของลูกค้า อย่างไรก็ตาม แบรนด์หรูจากอิตาลีรายนี้ ใช้ช่วงเวลานี้สร้างคอนเทนต์ และสื่อสารผ่านออนไลน์ไปยังลูกค้าว่า กำลังพัฒนาช่องทางขายดิจิทัล เพื่อให้สามารถสั่งซื้อสินค้าในออนไลน์ได้ในอนาคต

– การบริหารจัดการที่ดีของบริษัทเอกชนจีน ดูแลพนักงาน และคู่ค้ากับบริษัทเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น Supplier, ธนาคาร โดยร่วมกันหาทางออก เพื่อผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้

คราวนี้มาดูฝั่ง “ผู้บริโภคจีน” ที่แน่นอนว่า COVID-19 สร้างผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งการทำงาน การเรียน การใช้ชีวิตนอกบ้าน ฯลฯ แต่คนจีนได้ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

อย่างในช่วงนี้ คนจีนจะเก็บตัวอยู่กับบ้านเป็นหลัก ไม่ค่อยเดินทางไปไหนมาไหน ถ้าไม่จำเป็น และหันไปใช้บริการ “อีคอมเมิร์ซ” มากขึ้น ขณะเดียวกันเมื่ออยู่แต่บ้าน ก็อาจรู้สึกเบื่อ คนจีนแก้เบื่อด้วยการดู “Online Entertainment” มากขึ้น พร้อมทั้งใช้บริการ “Online Food Delivery” ให้มาส่งถึงที่พัก

เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าท่ามกลางวิกฤตที่เกิดขึ้น กลับพบกลุ่มธุรกิจบางประเภทที่เติบโตขึ้นมา โดยเฉพาะธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ให้บริการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอีคอมเมิร์ซ, ความบันเทิงออนไลน์, สั่งอาหารออนไลน์

 

“แบรนด์ไทย – ธุรกิจท่องเที่ยว” เตรียมความพร้อมด้วยแผน “Short Term – Long Term”

มาดูกันที่ Outlook สถานการณ์ COVID-19 แบ่งได้เป็น 2 สถานการณ์คือ

  1. สถานการณ์ COVID-19 จะเริ่มดีขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม และหลังจากนั้นคาดว่าภายในเดือนกรกฏาคม – สิงหาคม จะกลับสู่สภาพปกติ ถือเป็น Best Case Scenario
  2. สถานการณ์ COVID-19 มีแนวโน้มลากยาวไปถึงปลายปี

เมื่อประเมินอนาคตที่จะเกิดขึ้นเช่นนี้ ผู้ประกอบการธุรกิจต้องวางแผนแบ่งเป็น 2 ระยะคือ แผน Short Term” และ Long Term” เพื่อเตรียมความพร้อมบน 2 Scenario

สำหรับ “แผนระยะสั้น” เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจขาดสภาพคล่องทางการเงิน ดังนั้นการรับมือในเบื้องต้นคือ  

– ระหว่างเหตุการณ์ยังไม่คลี่คลาย ผู้ประกอบการควรลงทุนให้น้อยที่สุด โดยชะลอการใช้งบประมาณไว้ก่อน เพื่อเมื่อถึงวันที่สถานการณ์ดีขึ้นแล้ว ค่อยกลับมาใช้งบประมาณ

– ใช้ช่วงเวลานี้ เตรียมความพร้อมรับลูกค้าคนจีนที่จะกลับมาเมื่อเข้าสู่สภาวะปกติ เช่น ออกแบบดีล หรือโปรโมชั่น จากนั้นอัพโหลดข้อมูลขึ้นบนแพลตฟอร์มที่นักท่องเที่ยวจีนนิยมใช้ เช่น Ctrip  เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางการขายของแบรนด์ ซึ่งขั้นตอนการนำดีล หรือโปรโมชั่นขึ้นไปอยู่บนแพลตฟอร์มดิจิทัลของจีน ใช้เวลาประมาณ 1 – 2 เดือน

– ถ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายในประเทศจีนอยู่แล้ว โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ในชีวิตประจำวัน สินค้ากลุ่มนี้จะฟื้นตัวกลับมาเร็วกว่ากลุ่มธุรกิจอื่น เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว เนื่องจากเป็นสิ่งที่คนจีนใช้กันอยู่แล้ว

ดังนั้นในช่วงเวลานี้ ผู้ประกอบการไทย หรือแบรนด์ไทยควรเตรียมความพร้อมในด้านโลจิสติกส์ เพื่อจัดส่งและกระจายสินค้าเข้าตลาดจีน เพราะคาดการณ์ว่าหลังจากกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว จะมียอดการสั่งซื้อเข้ามาจำนวนมาก อีกทั้งในปัจจุบัน เมืองที่ไม่ได้ยอดผู้ติดเชื้อไว้รัสมาก จะมีการใช้อีคอมเมิร์ซสั่งซื้อสินค้ากันมากขึ้นอยู่แล้ว

ขณะที่ “แผนรับมือระยะยาว” เพื่อเตรียมความพร้อมเมื่อสถานการณ์ COVID-19 ดีขึ้นแล้ว และเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว คือ

– นักท่องเที่ยวจีนจะเริ่มกลับมาเที่ยวประเทศไทย ดังนั้นสิ่งที่ผู้ประกอบการควรทำก่อนลำดับแรกๆ คือ รีบยิงโฆษณา และ boost โฆษณาแคมเปญดีล หรือโปรโมชั่นที่อัพโหลดขึ้นแพลตฟอร์มดิจิทัลของจีนไปก่อนหน้านั้น (ตามแผน Short Term) เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการ

เพราะเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย คนจีนจะมีภาวะอัดอั้นจากการใช้จ่าย และการเดินทางท่องเที่ยวมานาน ขณะเดียวกันแบรนด์ต่างๆ ก็อัดอั้นกับการใช้งบประมาณการตลาด และต้องการได้ฐานลูกค้าคนจีนกลับมา ทำให้เกิดการใช้งบ และแข่งขันกัน ดังนั้นแบรนด์ – ผู้ประกอบการไทยควรรีบยิงโฆษณา เพื่อให้คนจีนเห็นดีล คูปอง หรือโปรโมชั่นของแบรนด์เรา และตัดสินใจซื้อทางออนไลน์ ก่อนเดินทางเข้ามาเที่ยวเมืองไทย

– แบรนด์ หรือผู้ประกอบการธุรกิจควรให้ความสำคัญกับช่องทางการขายผ่านอีคอมเมิร์ซในจีน และแพลตฟอร์มดิจิทัลของจีนมากขึ้น เพราะจากเหตุการณ์ COVID-19 แสดงให้เห็นแล้วว่าคนจีนใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลกันอย่างแพร่หลาย

– ควรรักษาความสัมพันธ์ระยะยาว (Long Term Relationship) กับ Stakeholders เพื่อให้ทุกฝ่าย Win-Win ไปด้วยกัน

 

สามารถติดตามรับฟัง Marketing Oops! Podcast
ผ่านทางช่องทางต่างๆ ได้ที่


  • 607
  •  
  •  
  •  
  •  
Ittichai
ผู้ก่อตั้ง บริษัท เลเวลอัพ โฮลดิ้ง จำกัด ที่ปรึกษาด้านการตลาดจีน เจ้าของเพจ Level Up Thailand, Level Up China และ เว็บไซต์ Level Up Thailand (https://www.levelupthailand.com) มีความรู้ด้านการตลาดออนไลน์ในจีน เป็นนักพูดสร้างสรรค์ และผู้เขียนหนังสือ “บุกตลาดจีนด้วยโซเชียลมีเดีย”