Podcast – EP.8 โอกาสของการสร้าง Brand ที่เริ่มต้นจากสัญชาตญาณ

  • 4.5K
  •  
  •  
  •  
  •  

Podcast Brand Life - EP.8 โอกาสของการสร้าง Brand ที่เริ่มต้นจากสัญชาตญาณ

เรื่องราวที่เกิดจากการใช้สัญชาตญาณ และความมุ่งมั่นที่จะเปิดรับทุกโอกาสที่เข้ามา ทำให้จากแบรนด์เล็กๆ ที่แทบจะไม่มีใครรู้จัก เติบโตกลายเป็นแบรนด์ใหญ่ที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมนั้นๆ ได้ในที่สุด เพราะคำๆ เดียวที่เป็นคำตอบให้กับเรื่องราวนี้นั่นคือ “สัญชาตญาณ” บอก…

MarketingOops Brand Life Ep.8 ชวนมาฟัง เรื่องราวที่น่าสนใจจาก ผู้ก่อตั้ง และผู้บริหารแบรนด์ที่สร้างแบรนด์ให้ประสบความสำเร็จได้ทุกวันนี้ เพราะเซนส์หรือสัญชาตญาณ แต่แม้ว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะมีสัญชาตญาณที่ดีได้เช่นท่านทั้งสองคน แต่ทุกคนมีโอกาสได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น มากไปกว่าสัญชาตญาณมันคือการเปิดรับทุกโอกาสที่เข้ามาสู่ชีวิต

เรื่องราวของการสร้างแบรนด์ สัญชาติไทย 2 แบรนด์ ที่เริ่มต้นจากสัญชาติญาณของผู้ก่อตั้ง ทั้ง 2 ท่านเป็นผู้ทำคลอด ให้กำเนิดแบรนด์ดังในตลาด และตัวแบรนด์ก็มีเรื่องเล่าที่น่าสนใจ น่าจะเป็นกำลังใจให้กับผู้ต่อสู้และสร้างแบรนด์ในธุรกิจต่างๆ ในยุคปัจจุบัน

 

กล้วย 1 กิโลกรัม ออร์เดอร์เปลี่ยนชีวิต

เรื่องแรก เป็นเหตุการณ์ในการแสดงสินค้าผลิตภัณฑ์เรื่องอาหาร เป็นเหตุการณ์จริงที่เกิดกับคุณประสงค์ ลิ้มเจริญ เป็นกรรมการของผู้จัดการของบริษัท สยามเอ็นซี เป็นบริษัทผู้ผลิตผลไม้แปรรูป คุณประสงค์ ซึ่งเล่าให้ผมฟังว่าในงานแสดงสินค้า วันนั้นบริษัทก็ไปออกบู๊ทแสดงสินค้าตามปกติ ก็มีญี่ปุ่นอายุประมาณ 50 ปลายๆ มาที่บู๊ท แล้วก็มาหยิบๆ แล้วดมๆ สินค้าและดูเหมือนสนใจกล้วยอบเป็นพิเศษ และพูดภาษาอังกฤษแบบกระท่อนกระแท่น สไตล์คนญี่ปุ่นที่พูดอังกฤษไม่ได้คล่อง แปลเป็นคำไทยได้ว่า เป็นคำชม ว่ากล้วยหอมดี อยากจะขอซื้อกลับบ้านที่ญี่ปุ่นสักหน่อยจะได้ไหม รบกวนให้ตัดกล้วยเป็นชิ้นเล็กๆ ให้ด้วย และให้ไปส่งโรงแรมแถวสุขุมวิทให้ด้วย

ถ้าเป็นเหตุการณ์ปกติในงานแสดงสินค้าทั่วๆ ไป ก็คงปฏิเสธลูกค้าคนนี้ไป เพราะยอดที่สั่งมามันเป็นยอดที่เล็ก เพราะงานแสดงสินค้าเป็นงานแบบเทรดแฟร์ ส่วนใหญ่สินค้าที่สั่งซื้อคือเป็นตันๆ หรือสั่งสินค้าเป็นระดับพันๆ กิโลกรัมขึ้นไป แต่คุณประสงค์ไม่ได้คิดเช่นนั้น ท่านก็ค่อยๆ ฟังความต้องการของคุณลุงญี่ปุ่นคนนั้น และรับคำสั่งซื้อไป โดยกลับไปที่โรงงานกลับไปตัดกล้วยตามแบบที่คุณลุงท่านต้องการ และนำกล้วยนั้นไปส่งที่รีเซฟชั่นของโรงแรมในเช้าวันรุ่งขึ้น เจ้ากล้วยถุงนั้นก็ถูกนำใส่กระเป๋าเดินทาง แล้วก็เดินทางกลับไปญี่ปุ่นพร้อมกับคุณลุง ในปริมาณที่คุณลุงคนนั้นสั่งคือประมาณ 1 กิโลกรัม นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมมันถึงไม่น่าสนใจ เพราะว่ามันน้อยมากๆ สำหรับสินค้าในงานแสดงสินค้า

บททดสอบจิตใจในออร์เดอร์ที่ 2

เรื่องราวก็ผ่านไปจนคุณประสงค์เองก็แทบจะลืมไปแล้ว ว่าขายกล้วยไป 1 กิโลกรัม เหตุการณ์ผ่านไปเดือนกว่าๆ คุณลุงชาวญี่ปุ่นคนนั้นก็ส่งอีเมล์เขียนกลับมาหาคุณประสงค์ พร้อมกับคำสั่งซื้อเรียกว่าล็อตแรกก็แล้วกัน เป็นคำสั่งซื้อที่มีเนื้อหาในอีเมล์เขียนมาว่า อยากได้กล้วยเหมือนเดิมเลย ขนาดชิ้นแบบเดิม สัก 100 กิโลกรัม ตัดเป็นชิ้นเล็กๆ เหมือนเดิมมันจะเป็นไปได้ไหม คุณประสงค์ก็เล่าความรู้สึกว่า ตอนนั้นมันคล้ายๆ กับบททดสอบจิตใจว่า จะทำให้หรือไม่ทำให้ดี

แต่ความเป็นจริงแล้ว ในการสั่งสินค้าส่งไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะที่เป็นกล้วยอบ กับปริมาณแค่ 100 กิโลกรัมมันน้อยมากๆ น้อยมากจนเรียกได้ว่าถ้าขนส่งไปญี่ปุ่น น่าจะแพงกว่าค่ากล้วยหลายเท่าตัว แต่ด้วยสัญชาตญาณบางอย่างคุณประสงค์ ตัดสินใจส่งกล้วยจำนวน 100 กิโลกรัมไปให้ชาวญี่ปุ่นคนนั้น ตามคำสั่งซื้อเลย โดยที่ท่านไม่ได้คาดคิดมาก่อน เพราะว่าคุณลุงชาวญี่ปุ่นท่านไม่ได้พูดอะไร แต่ต่อมาเจ้ากล้วยชิ้นเล็กๆ ที่ส่งไปในล็อตนี้ มันจะนำพาโอกาสที่ดีๆ โอกาสครั้งยิ่งใหญ่มาให้คุณประสงค์ เพราะไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่ากล้วยชิ้นเล็กๆ เหล่านี้ มันกลายไปเป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ ที่ต่อมาพัฒนากลายเป็นสินค้ายอดฮิต เป็นของฝากยอดฮิตที่เวลาใครไปญี่ปุ่นก็ต้องซื้อกลับมา เป็นสินค้าของฝากชื่อดังที่ใครได้เห็น ได้ชิมก็ต้องชอบใจซื้อกลับมาจากญี่ปุ่นฝากเพื่อสนิทมิตรสหายมากมายเป็นความภาคภูมิใจ

จาก 1 กิโลกรัมในวันแรก ปรากฏว่ามันสร้างยอดสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง กว่า 24,000 กิโลกรัม ต่อปีเลย แบบนี้เขาเรียกว่าสัญชาตญาณของการบริการ การบริการแบบเอาใจใส่ในทุกรายละเอียด ในทุกความต้องการของลูกค้า ที่มันจะสร้างโอกาสแห่งความสำเร็จของการสร้างแบรนด์มาให้เรา สร้างยอดขายแบบที่ไม่ทันจะรู้ตัวเลย

 

ยอดสั่งซื้อ 1 ลัง กับทุกอย่างที่เป็นไปได้

อีกเรื่องราวหนึ่ง เป็นเรื่องราวของชายหนุ่มอีกท่าน ที่พื้นเพที่บ้านเปิดธุรกิจของไทย ทำของขบเคี้ยวกรุบกรอบ ครองแครงกรอบ ชายหนุ่มคนนี้เริ่มต้นธุรกิจด้วยการเปิดป๊อปคอร์นอยู่ข้างถนน และตัวเองเคยไปผจญภัย เคยไปเรียนที่ญี่ปุ่นและทำงานในร้านเหล้าญี่ปุ่นเป็นบาร์เทนเดอร์เพื่อศึกษาหาความรู้ในตอนนั้น จนกลับมาเปิดธุรกิจของตัวเอง ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่านี่คือประสบการณ์ชีวิตแบบระดับย่อๆ ของซีอีโอระดับพันล้าน อย่าง คุณอดิศักดิ์ รักอริยะพงศ์ หรือคุณก้อง จาก SAPPE บริษัทเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่ SAPPE นี่ หลายๆ ท่านคงเคยได้ยินเครื่องดื่มดังๆ ผลิตภัณฑ์ดังๆ ของเขาก็คือเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพและความงามอย่าง SAPPE Beauti Drink หรือผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้ เช่น SAPPE Aloe Vera, SAPPE for One Day หรือ Mocu Mocu ต่างๆ หลายยี่ห้อหลายแบรนด์ นอกจากนี้ SAPPE ก็ยังมีพวกกาแฟ อย่าง Pure Coffee, Slim Coffee กาแฟควบคุมน้ำหนัก

กว่าจะยิ่งใหญ่และมีผลิตภัณฑ์ยอดฮิตมากมายแบบนี้ ตอนเริ่มต้นธุรกิจเส้นทางของการเปิดตลาดช่วงตั้งต้นตั้งไข่ คุณก้อง อดิศักดิ์ เคยต้องไปขับรถส่งสินค้าเข้าซุปเปอร์มาร์เก็ตยักษ์ใหญ่ ด้วยยอดสั่งเครื่องดื่มน้องใหม่ที่เปิดตัวในวงการ เป็นอภิมหายอดขายที่ต้องจดจำเลยว่ามันเป็น ยอดสั่งซื้อ ‘1 ลัง’ คุณก้องเล่าประสบการณ์ให้ฟังว่า จำนวนยอดสั่งซื้อ 1 ลัง เอาจริงๆ กำไรจากการขายก็ยังไม่คุ้มกับค่าน้ำมันที่ไปส่งในวันนั้นแน่ๆ แต่มันมีเหตุผลสำคัญที่อยู่ในสัญชาตญาณของเขา คือเขาคิดว่ามันน่าจะมีอะไรดีๆ เกิดขึ้น จากยอดขาย 1 ลังถ้วนจากยอดขายนี้ มันกลายมาเป็นยอดขายความสำเร็จที่ต่อยอดมาเป็นแบรนด์   SAPPE มูลค่าหลายพันล้านในปัจจุบัน

จริงๆ แล้วมันตรงกับสำนวนคำพูดที่ว่า อย่าหมิ่นเงินน้อย อย่าคอยวาสนา การสร้างแบรนด์มันก็คล้ายๆ กับคำกล่าวข้างต้นนี่แหละครับ สร้างแบรนด์ทีละน้อย และอย่าคอยวาสนา ถ้าคุณเริ่มสร้าง คุณเริ่มทำ คุณก็จะมีโอกาส มันเป็นบทสรุปของเรื่องราวข้างต้นของทั้ง 2 แบรนด์นี้อย่างชัดเจนว่าการสร้างแบรนด์คือการเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ

 

สร้างแบรนด์ที่ไม่ได้นั่งอยู่บนหอคอยงาช้าง

ไม่ต้องถามเลยว่า 2 องค์กรนี้จะเดินหน้าไปไกลสักแค่ไหน SAPPE เป็นดาวรุ่งในตลาดหลักทรัพย์ ยอดขายกว่า 3,000 ล้านต่อปี แบรนด์ของคุณประสงค์ สยามเอ็นซี ก็มีทั้งผลไม้แปรรูป มีแบรนด์ฟรุตแลนด์ มีแบรนด์บางกอกคุ้กกี้ที่แจ้งเกิดในเซเว่นฯ และคิง พาวเวอร์ รวมมียอดสั่งซื้อทั้งในและต่างประเทศมากมาย ปีๆ หนึ่งก็มีระดับ 300 ล้านต่อปี นี่เป็นเรื่องจริงที่คนระดับบริหารและคนระดับเจ้าของบริษัท ระดับซีอีโอที่เขาไม่นั่งอยู่ในหอคอยงาช้าง แต่ลงมือไปสัมผัสกับสถานการณ์จริงหน้างาน

ในยุคปัจจุบันต้องยอมรับว่าในเศรษฐกิจที่เครื่องดับหรือเครื่องอ่อนขนาดนี้ ยอดส่งออกลดลง และกำลังซื้อของผู้บริโภคก็ลดลง มันมีความจำเป็นอย่างมากๆ ที่ผู้นำในการสร้างแบรนด์ ผู้นำในองค์กรต้องลงมาสร้างสรรค์หรือลงมากระตุ้นในทุกสรรพกำลังทำงาน ยิ่งต้องลงมือไปศึกษาในรายละเอียดเพื่อค้นหาโอกาสต่างๆ รวมทั้งแรงกายแรงใจเพื่อที่จะค้นหาตลาดใหม่ๆ ที่ ซุกซ่อนตัวอยู่ในที่ต่างๆ และเป็นความจริงที่พิสูจน์มาในหลายๆ ครั้งในทุกโอกาสว่าองค์กรที่จะอยู่รอดผ่านสภาวะเศรษฐกิจถดถอยแบบนี้ไปได้องค์กรนั้นๆ หรือองค์กรที่ดูแลแบรนด์นั้นๆ ต้องเป็นองค์กรที่ตื่นตัว เป็นองค์กรที่สดชื่น มีความกระปี้กระเปร่าไม่ห่อเหี่ยวไปกับสถาการณ์ที่แวดล้อม ไม่ห่อเหี่ยวไปกับสภาวะปัจจัยรายล้อมที่มันฝืดเคือง เพราะว่าตลาดใหม่ๆ หรือโอกาสใหม่ๆ ไม่ได้เกิดเพราะโชคช่วยอย่างเดียว แต่มันเกิดขึ้นเพราะเรามองเห็น การที่เรามองเห็นมันก็คือ การที่เราได้ลงมาสัมผัสจนมองเห็นช่องว่างต่างๆ มองเห็นโอกาสใหม่ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในสังคม ที่มีการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมากมายในช่วงนี้

 

ทำตัวเองให้พร้อมรับกับทุกโอกาสที่เข้ามา

ความสำเร็จของการสร้างแบรนด์ต่างๆ มันมาจากการเตรียมพร้อม และคือความพยายามในการเดินหน้าและการใช้ความเพียรอย่างสุดกำลังเพื่อนำเราไปเพื่อให้ได้โอกาสในการไขว่คว้านั้นมา หลายๆ ท่านคงเคยได้ยินมันมีสมการคำกล่าวไว้ว่า “โชคดีเท่ากับโอกาส บวกความพร้อม” แต่ไอ้เจ้าโอกาสจะเดินทางมาหาองค์กรของเราได้อย่างไร นั่นเป็นสิ่งที่ผู้บริหารต้องเตรียมตัวเตรียมใจ เตรียมความเพียรเอาไว้ เพื่อเปิดรับสิ่งใหม่ๆ และเปิดรับโอกาสใหม่ที่จะเดินทางเข้ามา ส่วนความพร้อมนั้นก็น่าจะมาจากทัศนคติที่ดีของผู้นำ รวมทั้งทัศนคติที่ดีของผู้นำที่ไม่ยอมย่อท้อต่ออุปสรรคต่างๆ และพร้อมเสมอในการลุยออกไปหาโอกาสใหม่ๆ

ลองนึกถึงกรณีกล้วย 1 กิโลกรัมในงานแสดงสินค้า หรือนึกถึงกรณียอดสั่งซื้อ 1 ลังจากซุปเปอร์มากเก็ต ผมคิดว่าการเห็นยอดการขายแบบนี้ เห็นช่องทางแบบนี้ มันไม่ได้เป็นแค่สัญชาตญาณ แต่มันเป็นหัวใจของนักสู้ที่ไม่ยอมอ่อนข้อให้กับโอกาสที่เกิดทางมาจากจุดเริ่มต้นแค่ 1 กิโลกรัม หรือ 1 ลัง

ขอปิดท้ายด้วยคำกล่าวนี้ “อย่าหมิ่นเงินน้อย อย่าคอยวาสนา แต่ขอให้จงพร้อมที่จะเปิดใจให้กับโอกาสใหม่ๆ ที่กำลังเดินทางเข้ามา”

 

สามารถติดตามรับฟัง Marketing Oops! Podcast
ผ่านทางช่องทางต่างๆ ได้ที่

Google Podcasts


  • 4.5K
  •  
  •  
  •  
  •  
ก้า อรินธรณ์
อธิกร ศรียาสวิน (ก้า อรินธรณ์) ผู้อำนวยการสถาบัน Academy of Business Creativity (ABC) ม.ศรีปทุม นักการตลาดอินดี้ ที่ปรึกษาด้านครีเอทีฟแบรนดิ้ง