ในช่วงวิกฤต COVID-19 อาจทำให้ใครต่อใครตื่นตระหนก หดหู่ เศร้างหมอง เครียด แต่ท่ามกลางบรรยากาศ และสถานการณ์ที่ดูจะยังไม่เห็นหนทางอนาคตชัดเจนนัก เรากลับเห็นแสงสว่างในอีกด้านหนึ่ง นั่นคือ แสงสว่างแห่งการช่วยเหลือเกื้อกูลกันจากทุกภาคส่วน ในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการส่งมอบสิ่งของ, กิจกรรม หรือโครงการเพื่อสังคม เพื่อทำให้สังคมนี้ โลกใบนี้ ยังคงมีกำลังใจ และเดินหน้าต่อไปได้…
จากภาพแห่งการแบ่งปันนี่เอง ทำให้ Marketing Oops! Podcast รายการ Brand Life นึกถึงโมเดลธุรกิจรูปแบบหนึ่งที่มีเป้าหมายหลัก คือ เพื่อช่วยเหลือและพัฒนาสังคม ผ่านกระบวนการทางธุรกิจ
โมเดลธุรกิจนี้เรียกว่า “ธุรกิจเพื่อสังคม” หรือ “กิจการเพื่อสังคม” (Social Enterprise : SE) จึงอยากนำมาแชร์ให้ฟังใน Episode นี้…
ในช่วง 3 – 4 ปีมานี้ ต้องยอมรับเลยว่ากระแสของการก่อตั้ง “ธุรกิจเพื่อสังคม” นั้น กำลังมาแรงมากๆ อาจเป็นเพราะความเชื่อของคนรุ่นใหม่ ที่มีความอยากเริ่มต้นเป็นผู้เจ้าของธุรกิจ อาจเริ่มต้นจากการเป็น SME หรือ Startup และส่วนใหญ่ ต่างก็ล้วนตระหนักว่า การทำธุรกิจที่ดีนั้น มันต้องเกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับการให้ด้วย
มีสองกรณีศึกษาที่น่าสนใจจะมาบอกเล่าให้ฟัง
“ร้านพิซซ่าเพื่อสังคม” ส่งต่อความอิ่มให้ผู้ยากไร้
ธุรกิจแรกที่จะเล่าถึงนี้เป็น “ร้านพิซซ่าเพื่อสังคม” แห่งเมืองฟิลาเดเฟีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นร้านเล็กๆ ชื่อว่า “Rosa’s Fresh Pizza”
เรื่องราวของร้านนี้เริ่มต้นจากชายหนุ่มอายุ 27 ชื่อ “เมสัน วาร์ทแมน” (Mason Wartman) ซึ่งแต่เดิมนั้น เขาเคยมีอาชีพเป็น stock researcher ในตลาดหุ้นวอลล์สตรีท จนมาในวันหนึ่ง เขาก็ลาออกแล้วเดินทางกลับบ้าน พร้อมความคิดแนวคิดการทำธุรกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise ในใจ…
ร้านพิซซ่าเพื่อสังคมของเขา เริ่มต้นง่ายๆ บนแนวคิดที่ว่า..
เมื่อคุณมาทานพิซซ่าที่ร้านนี้ แล้วคุณอยากร่วมทำบุญกัน
คุณก็สามารถส่งต่อพิซซ่าให้กับผู้ยากไร้ได้อย่างง่ายๆ ด้วยการซื้อโพสต์อิท ราคา 1 ดอลล่าร์ แล้วเขียนข้อความเพื่อส่งต่อมอบพิซซ่า ให้กับผู้คนที่ยากไร้ยากจน
เพื่อให้คนจรจัด หรือผู้ยากไร้เหล่านั้น ได้อิ่มท้อง เพื่อรอเวลาเริ่มต้นชีวิตใหม่ในวันใหม่
ถ้าคนยากไร้ผ่านมาที่หน้าร้าน พร้อมกับความหิวโหย ก็สามารถมาหยิบโพสต์อิทของคุณ เพื่อไปแลกพิซซ่าได้ทันที
“เมสัน” มุ่งมั่นทำกิจการนี้จนกระทั่ง มันกลายเป็นความจริง…
ร้านของเขาแจกพิซซ่าให้กับผู้ยากไร้ทุกวัน วันละกว่า 40 คน
และใช้เวลาเพียงแค่สิบเดือน “Rosa’s Fresh Pizza” แจกพิซซ่าไปแล้วมากกว่า 9,000 ชิ้น
และแรงปรารถนาของเขาไม่หยุดอยู่แค่นั้น
เมสันได้ต่อยอดการช่วยเหลือสังคมไปอีกขั้น
เขาริเริ่มโครงการผลิตของที่ระลึกเพื่อจำหน่าย เพื่อสมทบทุนการร่วมบริจาคพิซซ่าให้กับผู้ยากไร้ในช่องทางอื่นๆ
โดยลูกค้าผู้ใจบุญสามารถบริจาคเงินซื้อเสื้อยืดพิมพ์ลายน่ารัก ในราคาตัวละ 18 เหรียญ ก็ตกเป็นเงินราวๆ 400 – 500 บาท
โดยรายได้จากเสื้อยืดหนึ่งตัว จะนำไปช่วยสนับสนุนการมอบพิซซ่าให้แก่คนยากไร้ ได้ถึง 9 ชิ้น โดยลูกค้าผู้ใจบุญสามารถช่วยทำบุญผ่านทางเว็บไซต์ www.rosasfreshpizza.com ได้อีกทางหนึ่งด้วย
นับว่าเป็นหนึ่งในกิจการเล็กๆ ที่มีความมุ่งมั่นในการทำงานเพื่อสังคมจริงๆ
“ธนาคารกรามีน” ธนาคารเพื่อคนจน สู่ “กรามีนดานอน” ธุรกิจอาหารแก้ปัญหาโรคขาดสารอาหารในเด็ก
เดินทางข้ามฟ้า จากสหรัฐอเมริกาไปที่ประเทศบังคลาเทศ
นี่เป็นเรื่องราวของ ศ.ดร. มูฮัมหมัด ยูนุส (Muhammad Yunus) นักคิด นักพัฒนา นักเศรษฐศาสตร์ ชื่อดังผู้ริเริ่มและเป็นผู้ก่อตั้ง “ธนาคารกรามีน” (Grameen Bank)
ดร. ยูนุส ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ในปี 2006 ในเรื่องการพัฒนาแนวคิด “ไมโครเครดิต” รวมทั้งความพยายามในการสร้างพัฒนาการทางสังคมและเศรษฐกิจจากรากหญ้า
โดยท่านมีความเชื่อที่ว่า…โอกาสคือสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตของคนเรา
“คนจนทุกคนมีความสามารถที่จะหลุดพ้นจากความยากจนได้ หากเพียงได้รับโอกาส”
ธนาคารกรามีนแห่งนี้ จึงดำเนินการด้วยการเป็นธนาคารที่ปล่อยเงินกู้ให้กับคนยากจน โดยไม่ต้องมีหลักประกัน ไม่ต้องใช่สินทรัพย์ในการจำนองค้ำประกัน เป็นหนึ่งในโครงการการช่วยเหลือคนจน ที่ไม่สามารถกู้เงินจากระบบธนาคารแบบปกติทั่วไปได้ ด้วยแนวคิดแบบไมโครเครดิต ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี
และหลังจากได้รับรางวัลโนเบล มูลค่า 1.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ศจ.ยูนุส ก็ได้ริเริ่มโครงการ โรงพยาบาลสำหรับคนยากจนในบังคลาเทศ รวมทั้งได้ทดลองเริ่มโครงการความร่วมมือทางธุรกิจเพื่อสังคม กับบริษัทผู้ผลิตรายใหญ่ๆ ซึ่งมีความชำนาญเฉพาะทาง
ด้วยเพราะมีตัวเลขที่น่าตกใจ จากสถิติในปี 2008 ระบุไว้ว่า
เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบในบังคลาเทศ จำนวนกว่า 56% นั้นกำลังถูกโรคขาดสารอาหารคุกคาม
และเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาข้างต้น โครงการธุรกิจเพื่อสังคมรายแรกที่กองทุนกรามีน ตั้งใจที่จะก่อร่างสร้างขึ้น จึงเป็นธุรกิจด้านอาหาร
กรามีนได้ร่วมมือกับทีมผู้เชี่ยวชาญจาก “ดานอน” บริษัทผู้ผลิตอาหารนมชื่อดัง โดยทั้งสององค์กรนั้นมารวมตัวกัน ในชื่อ Grameen Danone Foods Ltd.
ซึ่งบริษัทเพื่อสังคมแห่งนี้ มีเป้าหมายสำคัญคือ การผลิตอาหารที่มีสารอาหารจำเป็นต่อร่างกาย เพื่อจำหน่ายในราคาย่อมเยาว์ให้กับคนยากจน ซึ่งจะช่วยตอบโจทย์ในการแก้ไขโรคขาดสารอาหารให้กับเด็กๆ บังคลาเทศ
โดยกรามีนดานอน จะเริ่มต้นด้วยการรับซื้อวัตถุดิบ ซึ่งก็คือนมวัวจากชาวบ้าน เพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้กับสังคม เป็นการส่งเสริมอาชีพเลี้ยงวัว และนำน้ำนมดิบมาผลิตตามกระบวนการอันทันสมัย จนกลายเป็นโยเกิร์ตสำหรับเด็ก ที่มีชื่อว่า “Shokti Doi”
โดยเจ้าโยเกิร์ต Shokti Doi นี้ นอกจากจะใช้วัตถุดิบในชุมชน เพื่อเป็นการส่งเสริมอาชีพให้กับชาวบ้านแล้ว ก็ยังมีกระบวนการผลิตอันทันสมัย ด้วยความเชี่ยวชาญของดานอน โดยจะมีการเพิ่มเติมสารอาหารที่จำเป็นกับเด็กๆ ทั้งโปรตีน แร่ธาตุ และวิตามินต่างๆ
โยเกิร์ตจะถูกบรรจุในบรรจุภัณฑ์สะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถย่อยสลายได้ รวมทั้งมีกระบวนการจัดจำหน่ายให้กับชุมชนต่างๆ ในราคาย่อมเยาว์ โดยตั้งราคาขายในตัวเมือง ในสนนราคาถ้วยละเพียง 3.5 บาท (8 Taka) ส่วนในเมืองใหญ่อื่นๆ ก็จะบวกค่าขนส่งเพิ่มเข้าไป แล้วจำหน่ายในราคา 7 บาท (15 Taka)
นอกจากนี้ แนวคิดในการจัดการกระบวนการขายปลีก ก็ยังมีการสร้างเครือข่ายการจัดจำหน่ายที่ได้ช่วยเหลือสังคมอีกทางหนึ่งด้วย
โดยกรามีนดานอน จะมีการแต่งตั้งตัวแทนจำหน่าย รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดโครงการสมาชิกนักขาย ที่มารวมตัวกันเป็นสาวโยเกิร์ต (อันนี้คล้ายๆ กับสายยาคูลท์ บ้านเรา)
โดยบรรดาสมาชิกสาวโยเกิร์ต จะรับโยเกิร์ตจากศูนย์กระจายสินค้า แล้วออกเดิน หรือปั่นจักรยานไปขาย ไปจำหน่ายในชุมชน ตามบ้าน ตรอกเล็กซอยน้อย ที่ไหนๆ สาวโยเกิร์ตก็ไปขายได้หมดทุกที
เรียกได้ว่า เป็นกองทัพสาวโยเกิร์ต ที่กระจายขายสินค้าไปในทุกพื้นที่
โดยเจ้าโครงการสาวโยเกิร์ตนี้ กลายเป็นโครงการส่งเสริมอาชีพให้กับคนยากจน ส่งผลทำให้มีอัตราการจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น
พูดได้อย่างเต็มปากเลยว่า นับตั้งแต่กระบวนการซื้อวัตถุดิบ คือนมจากท้องถิ่น ซึ่งช่วยพัฒนาสังคมในระยะยาว ช่วยสร้างอาชีพเกษตรกรเลี้ยงวัว ก่อให้เกิดรายได้ที่มั่นคง ไปจนถึงตัวผลิตภัณฑ์ก็สามารถแก้ปัญหาเด็กขาดสารอาหาร แถมในกระบวนการจัดจำหน่ายด้วยสาวโยเกิร์ต ก็สามารถช่วยลดปัญหาว่างงานได้อีกหลายล้านชีวิต
เป็นการทำงานเพื่อสังคมที่ตอบโจทย์ได้อย่างกว้างไกลจริงๆ
จากกรณีศึกษาทั้งสองเรื่อง จะเห็นการพัฒนาแนวคิดได้อย่างชัดเจนว่า…
ไม่ว่าคุณจะเป็นคนตัวเล็ก คนธรรมดา หรือจะเป็นใครก็ตาม
ขอให้เชื่อเถอะว่า ไอเดียธุรกิจ และแบรนด์เพื่อสังคมนั้น มันสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่จริงๆ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดเล็ก หรือขนาดใหญ่
ขอเพียงแต่ ผู้นำ ผู้สร้างแบรนด์ ต้องมีขนาดของหัวใจที่มุ่งมั่น
บวกกับความกล้าที่จะเริ่มต้นลงมือทำ
ที่ประกอบกันเข้ากับจิตใจ ที่พร้อมแบ่งปันให้กับสังคมด้วยความจริงใจ
ทุกสิ่งก็จะเป็นไปได้ และเกิดขึ้นได้
เฉกเช่นสองกรณีศึกษาข้างต้น
สามารถติดตามรับฟัง Marketing Oops! Podcast
ผ่านทางช่องทางต่างๆ ได้ที่