การผงาดขึ้นมาแย่งเวลาของผู้ใช้งานสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆของ TikTok เป็นสิ่งที่ทำให้หลายๆแพลทฟอร์มต้องหันมาปรับกลยุทธ์เพื่อดึงดูด “ผู้ชม” รวมถึงดึงดูด “Creator” ให้อยู่กับแพลทฟอร์มต่อไปอย่างหนักหน่วง เช่นเดียวกับ YouTube ที่ล่าสุดเปิด 2 กลยุทธ์ออกมาสู้ หนึ่งคือ เตรียมลงโฆษณาใน Shorts และใช้วิธีการแบ่งรายได้จากการขายโฆษณาให้กับ Creator ใน Shorts ด้วยสัดส่วน 45% นอกจากนี้ยัง เปิดระบบ Creator Music เพื่ออำนวยความสะดวก YouTuber ในการใช้เพลงติดลิขสิทธิ์ประกอบคอนเทนต์ได้แล้ว
YouTube ประกาศแผนที่จะลงโฆษณาใน Shorts พร้อมกับแบ่งรายได้จากการโฆษณาให้กับ Creator ในแพลทฟอร์มคลิปวิดีโอสั้นของ YouTube เมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา เป็นกลยุทธ์ล่าสุดที่ถูกมองว่านำมาใช้ต่อกรกับ TikTok แพลทฟอร์มคลิปวิดีโอสั้นที่กำลังมาแรงโดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ในเวลานี้ ซึ่ง TikTok เองก็จ่ายให้กับ Creator ที่โด่งดังเช่นกันแต่สำหรับ TikTok จะเป็นการจ่ายแบบ Fix ที่บางครั้งถูกวิจารณ์ว่าน้อยเกินไป
สำหรับกรณีของ YouTube ระบุว่าจะแบ่งค่าโฆษณาให้กับ Creator ใน Shorts ด้วยสัดส่วน 45% ซึ่งยังคงต่างจากคลิปวิดีโอใน YouTube ที่จะได้ส่วนแบ่งมากกว่าที่ 55% โดยในโครงการแบ่งค่าโฆษณาครั้งนี้ Creator ที่เข้าร่วมได้จะต้องมียอดวิวมากกว่า 10 ล้านวิวใน Shorts และมี Subscriber มากกว่า 1,000 บัญชี
นอกจากกลยุทธ์แบ่งค่าโฆษณาให้กับ Creator ใน Shorts แล้ว YouTube ยังเปิดระบบที่อำนวยความสะดวกในการเลือกใช้เพลงประกอบในคอนเทนต์ YouTube โดยเฉพาะเพลงที่ “มีลิขสิทธิ์” จากเดิมหากเพลงที่นำมาใช้ในคลิปมีลิขสิทธิ์ คลิปดังกล่าวจะถูกบล็อก ถูกตัดเสียง โดนลบหรือโอนรายได้จากค่าโฆษณาในคลิปนั้นให้เจ้าของลิขสิทธิ์เพลงไปทั้งหมดแต่ล่าสุด YouTube เพิ่มโปรแกรม Creator Music ให้เป็นทางเลือกสำหรับ Creator ที่จะใช้เพลงลิขสิทธิ์โดยจะมีแนวทางให้เลือก 2 แบบคือ
- ซื้อสิทธิ์การใช้งานเพลง โดยจ่ายเงินผ่าน YouTube โดยไม่ต้องไปติดต่อเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงเอง
- นำเพลงนั้นไปใช้ประกอบแต่ต้องแบ่งรายได้ 27.5% ที่ได้จากวิดีโอนั้นให้กับเจ้าของลิขสิทธิ์เพลง
ทั้งนี้โปรแกรม Creator Music จะเปิดให้บริการในสหรัฐอเมริกาก่อนเป็นที่แรก ก่อนที่จะปล่อยให้ Creator ในพื้นที่อื่นๆทั่วโลกได้ใช้งานในปี 2023 นี้ นั่นก็นับเป็นอีกความเคลื่อนไหวของแพลทฟอร์มสตรีมมิ่งวิดีโอที่แข่งขันกันอย่างดุเดือดเพื่อดึงฐานคนดูรวมถึงดึงดูดครีเอเตอร์เอาไว้ให้อยู่กับแพลทฟอร์มตัวเอง ซึ่งในกรณีนี้ผู้ที่ได้ประโยชน์ไปเต็มๆก็คือบรรดา Creator ที่สะดวกกับการผลิตคอนเทนต์มากขึ้น ส่วนเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงและ YouTube ก็จะได้มีรายได้จากการขายสิทธิ์การใช้งานเพลงเพิ่มขึ้นด้วย
ที่มา Bloomberg