ออกกำลังกายไม่ดีตรงๆไหน? นี่คือคำถามที่เกิดขึ้นในหัวตั้งแต่ครั้งแรกที่เราเห็นข่าว YouTube จำกัดไม่ให้วัยรุ่นเข้าถึงวิดีโอออกกำลังกายบางรูปแบบได้เหมือนกับคนวัยผู้ใหญ่
YouTube ตัดสินใจที่จะจำกัดการเข้าถึงวิดีโอที่เกี่ยวกับสุขภาพและการออกกำลังกายสำหรับวัยรุ่นในวัย 13-17 ปีในยุโรปและจะใช้เป็นนโยบายที่ขยายไปทั่วโลกในอนาคตแน่นนอนว่ารวมถึงประเทศไทยด้วย
การตัดสินใจของ YouTube ครั้งนี้ย่อมมีเหตุผล และเหตุผลนั้นก็คือเรื่องของ “สุขภาพจิต”
YouTube บอกว่า การดูวิดีโอประเภทนี้ต่อเนื่องจะส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของวัยรุ่นโดยเฉพาะในวัยที่กำลังพัฒนาความคิดเกี่ยวกับตนเอง โดยอาจทำให้เกิดความคิดหรือสร้างมาตรฐานผิดๆเกี่ยวกับรูปลักษณ์และรูปร่างของตนเอง จนอาจนำไปสู่การสูญเสียความมั่นใจในตัวเองในที่สุด
“ในขณะที่วัยรุ่นกำลังพัฒนาความคิดเกี่ยวกับตัวตนของตัวเองรวมไปถึงจัดมาตรฐานของตัวเอง การเสพคอนเทนต์เกี่ยวกับมาตรฐานที่ถูกตั้งเป็นอุดมคติซ้ำๆจะทำให้พวกเขาสร้างมาตรฐานที่ไม่ตรงกับความเป็ฯจริงขึ้นมาภายในและการนำไปสู่การมีความเชื่อผิดๆเกี่ยวกับตัวเองได้” ดอกเตอร์ การ์ธ เกรแฮม Director and Global Head of Healthcare and Public Health Partnerships จาก YouTube ระบุ
ดังนั้นคนทำวิดีโอที่เกี่ยวกับการออกกำลังกายและสุขภาพควรต้องรู้และหลีกเลี่ยงเพื่อไม่ให้ถูกปิดกั้นการเข้าถึงกลุ่มวัยรุ่นและหลีกเลี่ยงวิดีโอที่อาจเข้าข่ายจะถูกปิดการเข้าถึงวัยรุ่นที่มีตัวอย่างดังนี้
ให้ค่ากับความแข็งแรงหรือน้ำหนักตัวแบบเฉพาะเจาะจง
เช่นคอนเทนต์ “วิธีออกกำลังกาย 30 วัน เพื่อให้ได้หุ่นใส่บิกีนี่สุดเพอร์เฟ็กต์” ,หรือ “10 ท่าสร้างกล้ามสุดเท่” โดยมีนายแบบหรือนางแบบหุ่นดีหรือกล้ามแน่น ที่ร่างกายแข็งแรงออกกำลังกายในระดับความเข้มข้นสูงกว่าคนทั่วไปแล้วสื่อสารว่าต้องทำแบบนี้เท่านั้นถึงจะสำเร็จเป็นต้น
วิดีโอประเภทนี้จะส่งผลกระทบกับวัยรุ่นในเรื่องของการมองตัวเองในแง่ลบ เมื่อดูบ่อยๆหรือทำตามแล้วไม่ได้ผลลัพธ์ตามสิ่งที่นำเสนอในวิดีโอ ก็จะเกิดการเปรียบเทียบตัวเองกับรูปร่างในอุดมคติ จะทำให้ความนับถือตนเองลดน้อยลงหรือแม้แต่อาจทำให้เกิดพฤติกรรมลดน้ำหนักมากเกินไปหรือการกินผิดปกติ (eating disorder) ได้
ดังนั้นหากอยากทำคอนเทนต์รูปแบบนี้แล้วไม่อยากถูกปิดกั้นก็ต้อง นำเสนอคนที่มีรูปร่างและระดับความแข็งแรงและความฟิตที่แตกต่างหลากหลายกันไป เน้นประโยชน์ของการออกกำลังกายต่อสุขภาพโดยรวมที่ให้ผลเรื่องอื่นเช่น ลดความเครียด ยกระดับคุณภาพชีวิตโดยไม่เน้นที่รูปลักษณ์ภายนอก รวมถึงมีคำเตือนเกี่ยวกับการออกกำลังและการอดอาหารมากเกินไปเป็นต้น
เปรียบเทียบหรือใหม่ค่ากับรูปร่างความสวยงามแบบอุดมคติ
เช่นวิดีโอสอนแต่งหน้าที่เน้นการเปลี่ยนแปลงรูปหน้าให้เรียวเล็ก หรือมีจมูกโด่งแบบเฉพาะเจาะจง จนอาจทำให้วัยรุ่นที่ดูรู้สึกไม่มั่นใจในรูปลักษณ์เดิมของตนเองได้หรือ วิดีโอเปรียบเทียบรูปร่าง ‘ก่อน-หลัง’ ที่นำเสนอเฉพาะรูปร่างหลังออกกำลังกายที่ดู ‘สมบูรณ์แบบ’ โดยไม่ได้พูดถึงความแตกต่างของรูปร่างแต่ละบุคคล หรือความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนแปลง เป็นต้น
วิดีโอประเภทนี้เมื่อวัยรุ่นที่อยู่ในวัยกำลังพัฒนาความคิดเกี่ยวกับการมองตัวเองอาจทำให้เกิดความไม่พอใจในร่างกายของตัวเอง ความเคารพตัวเองลดลง รวมไปถึงอาจเกิดความวิตกกังวลหรือภาวะซึมเศร้าตามมาได้
หากจะทำวิดีโอที่มีการเปรียบเทียบก็ต้องนำเสนอคนที่มีลักษณะทางกายภาพหลากหลายเช่นกันเพื่อให้เห็นว่าความงามมีหลายรูปแบบ ให้ความสำคัญกับเรื่องบุคลิก ความสามารถ ความสำเร็จมากกว่าเรื่องรูปลักษณ์ภายนอก รวมไปถึงแทนที่จะเปรียบเทียบก่อนหลังก็นำเสนอกระบวนการของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นระหว่างทางด้วยเป็นต้น
วิดีโอที่แสดงออกถึงพฤติกรรมก้าวร้าวการบุลลี่หรือการต่อสู้
วิดีโอรูปแบบนี้ก็เช่น วิดีโอจับคนมาใส่นวมต่อยกันแบบสตรีทไฟท์ การใช้กำลัง รวมไปถึงวิดีโอที่แสดงถึง การกลั่นแกล้งกันด้วยวาจา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีเนื้อหาที่ชี้นำให้เกิดความเกลียดชัง หรือสนับสนุนพฤติกรรมรุนแรงก็จะเข้าข่ายถูกปิดกั้นไม่ให้เข้าถึงกลุ่มวัยรุ่นด้วยเช่นกัน
เหตุผลที่ปิดกั้นวิดีโอลักษณะนี้ก็เพราะ คอนเทนต์เหล่านี้อาจทำให้วัยรุ่นมองความรุนแรงเป็นเรื่องปกติ มองว่าเป็นพฤติกรรมที่ยอมรับได้ นอกจากนี้ความก้าวร้าวและการกลั่นแกล้งอาจสร้างความรู้สึกกลัวและไม่มั่นคง ที่นำไปสู่ผลกระทบทางจิต เช่นควมวิตกกังวลหรือการถอนตัวจากสังคมได้ ดังนั้นถ้าทำได้ก็ควรหลีกเลี่ยงรูปแบบคอนเทนต์แบบนี้ไปเลยหรืออาจตองมีการให้บริบทหรือคำวิจารณ์ว่าพฤติกรรมเหล่านั้นไม่เป็นที่ยอมรับเป็นต้น
ทั้งหมดนี้คือคำอธิบายคร่าวๆเกี่ยวกับนโยบายใหม่ของ YouTub ที่มีผลบังคับใช้ไปแล้วในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 2023 ที่ผ่านมาและกำลังจะบังคับใช้ในภูมิภาคยุโรป และพื้นที่อื่นๆทั่วโลกต่อไป รวมไปถึงเป็นตัวอย่างและวิธีการปฏิบัติตามนโยบายของ YouTube จากข้อมูลที่มีในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจที่จะปิดกั้นการเข้าถึงวิดีโอย่อมขึ้นอยู่กับ Algorithm ของYouTube ซึ่งก็ต้องเรียนรู้เป็นรายกรณีไป อย่างไรก็ตามสิ่งนี้ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ครีเอเตอร์รวมถึงนักการตลาดและแบรนด์ควรต้องรรับรู้เพื่อที่จะทำให้คอนเทนต์ที่จะสื่อสารส่งตรงไปถึงกลุ่มเป้าหมายโดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนในวัย 13-17 ปีได้แม่นยำขึ้น