หลายคนคงจะจำผลงานอาร์ทเวิร์คสุดสร้างสรรค์ที่เรียกเสียงฮือฮาจาก ซุปเปอร์มาร์เก็ต Tops ได้ ซึ่งมีหลายเสียงต่างก็ชื่นชมไอเดียนี้ จนกระทั่งมีสำนักข่าวออนไลน์รายหนึ่งสนใจ เข้าไปสัมภาษณ์ผู้อยู่เบื้องหลังไอเดียดังกล่าว เรื่องคงไม่มีอะไรมากไปกว่านี้หากว่าต่อมาปรากฏว่าเกิดดราม่าขึ้น!!
เมื่อจู่ๆ ก็เกิดแฮชแท็กร้อน #Topsเปลี่ยนแอดมิน ซึ่งทำให้หลายๆ คนเกิดความมึนงงสงสัยว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับแบรนด์ Tops และผลงานต่างๆ มีดราม่าอะไรกัน วันนี้เราจะลำดับเรื่องให้ฟัง
1.เริ่มต้นมาจากการที่ผลงานอาร์ทเวิร์คสุดปังของ Tops ได้รับความนิยมมาก จากนั้นทีมงานเว็บไซต์โซเชียลหนึ่ง จึงได้เข้าไปสัมภาษณ์ผู้อยู่เบื้องหลัง ได้แก่ คุณแนทเต้ แต่การสัมภาษณ์ก็ยังอ้างอิงว่าได้ทำงานเป็นทีม ไม่ได้คิดงานเพียงแค่คนเดียว มีกราฟิก และคนในทีมช่วยกันประมาณ 4 คน แต่ตอนนั้นคุณแนทเต้ ก็ได้ลาออกจาก Tops แล้ว
2.เรื่องราวคงไม่ลุกลามใหญ่โต ถ้าเกิดว่าไม่มีคนที่อ้างตัวว่าเป็นเพื่อนของคนทำกราฟฟิก เข้ามาคอมเมนต์ในบทความดังกล่าว (ตอนนี้บทความนั้นได้ถูกลบออกไปแล้ว) มาแสดงคอมเมนต์ทำนองว่า คุณแนทเต้ ให้สัมภาษณ์แบบเอาหน้าคนเดียว แทบจะไม่ให้เครดิตของทีมกราฟฟิกเลย ทั้งๆ เป็นเจ้าของไอเดียด้วยซ้ำ
3.กระทั่งมีบางคนเริ่มจับสังเกตได้ว่า คอนเทนต์ของ Tops เริ่มไม่สนุกเหมือนแต่ก่อน ก็เลยมีคนเข้าไปทักในทวิตเตอร์ แต่แอดมินของ Tops ก็ออกมายืนยันว่าเป็นทีมงานเดิมทั้งหมด
4.ความดราม่ายังไม่จบ โดยเมื่อวานนี้คุณแนทเต้ ก็ออกมาทวีตว่าถูกทวิตเตอร์ของ Tops บล็อก
5.ซึ่งชาวเน็ตก็ออกมาแสดงความคิดเห็นว่าการให้เครดิตว่าทั้งทีมทำก็ถูกแล้ว ไม่เห็นจะต้องออกมาแสดงความไม่พอใจเลย ซึ่งปรากฏว่าก็มีแอคหลุม (แอคเคาท์ทวิตเตอร์ที่ตั้งใจใช้อำพรางตัวจริง) ออกมาตอบโต้กรณีดังกล่าวมากมาย รวมทั้งแท็กคนอื่นๆ ที่วิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้หลายคน
6.จนกระทั่งชาวเน็ตต่างก็ตั้งข้อสังเกตว่า น่าจะเป็นคนที่ไม่พอใจการอ้างอิงเครดิตของคุณแนทเต้ จึงออกมาโจมตีชาวเน็ตคนอื่นๆ รวมทั้งอาจจะเป็นกลุ่มเดียวกับที่ใช้ แอคเคาท์ของ Tops บล็อคคุณแนทเต้ด้วย
7.เกิดประเด็นดราม่าต่อว่า การที่ใช้แอคเคาท์แบรนด์บล็อกบุคคลนั้นเป็นเรื่องสมควรหรือไม่ ยิ่งหากว่ากรณีดังกล่าวเป็นเรื่องมาจากความไม่พอใจส่วนตัวแล้วจะสมควรหรือไม่
8.ทางแบรนด์ Tops ยังไม่มีการชี้แจงแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ขออนุญาตเสริมความรู้เล็กน้อยเกี่ยวกับประเด็นลิขสิทธิ์ในผลงานระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ซึ่งเว็บไซต์ กรมทรัยพ์สินทางปัญญา (DIP) ตอบสั้นๆ ให้เข้าใจง่ายดังนี้
ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ผู้ใดเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
ความเป็นเจ้าของงานลิขสิทธิ์ที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้าง/ลูกจ้างเกิดขึ้นได้ 2 กรณี
(1) ถ้าผู้สร้างสรรค์สร้างงานในฐานะพนักงานหรือลูกจ้าง ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น กฎหมายกำหนดให้ลิขสิทธิ์เป็นของผู้สร้างสรรค์ (ลูกจ้าง) แต่นายจ้างมีสิทธินำงานนั้นออกเผยแพร่ได้ตามวัตถุประสงค์ของการจ้างแรงงานนั้น
(2) ถ้าผู้สร้างสรรค์สร้างสรรค์งาน (ไม่ได้เป็นพนักงานหรือลูกจ้าง เช่น เป็นฟรีแลนซ์) โดยการรับจ้างจากบุคคลอื่น กฎหมายให้ผู้ว่าจ้างเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น
กับกรณี Tops นี้น่าจะเป็นบทเรียนสำคัญให้กับคนทำแอคเคาท์โซเชียลฯ ให้กับหลายๆ แบรนด์ได้เป็นอย่างดี.
Copyright © MarketingOops.com