ทำไมสหรัฐกลัวเทคโนโลยีจีน? สรุปแบน TikTok ในสหรัฐแบบเข้าใจง่ายก่อนเส้นตาย 19 ม.ค.

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

วันอาทิตย์ที่ 19 มกราคมนี้ตามเวลาสหรัฐ หรือในช่วงเที่ยงๆในวันเดียวกันของบ้านเรา TikTok กำลังจะถูกแบนจากตลาดสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการส่งผลกระทบกับผู้ใช้งานจำนวนมากถึง 170 ล้านคน ประเด็นนี้มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อไหร่? ทำไมสหรัฐจึงกลัว TikTok?, TikTok จะถูกแบนในสหรัฐหรือไม่? อนาคตจะเป็นอย่างไร? Marketing Oops! จะสรุปให้อ่านแบบเข้าใจง่ายๆในบทความนี้

TikTok แอปสุดฮิตจากจีน

เครดิตภาพ Ascannio / Shutterstock.com

TikTok เป็นแอปโซเชียลมีเดียของบริษัท ByteDance จากประเทศจีนเปิดให้บริการครั้งแรกในปี 2017 มีจุดเด่นที่ “คลิปสั้น” ความยาว 15 วิ-1 นาที เป็นแอปโซเชียลที่เติบโตมากที่สุดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2024 มีผู้ใช้งานประมาณ 1,040 ล้านคนใน 160 ประเทศทั่วโลก

TikTok เป็นแอปที่ใช้ทำตลาดนอกประเทศจีนของ ByteDance ส่วนในจีนจะมีแอปแบบเดียวกันที่มีชื่อว่า “Douyin” ให้บริการอยู่ ส่วนประเทศที่เป็นตลาดใหญ่สำหรับ TikTok ก็คือ สหรัฐ และ อินโดนีเซีย โดยเฉพาะในสหรัฐที่มีผู้ใช้งานมากถึง 170 ล้านคนต่อเดือน

จุดเริ่มต้นยุคทรัมป์

ประเด็นการแบน TikTok ในสหรัฐเริ่มต้นขึ้นครั้งแรกในช่วงปลายปี 2019 ช่วงที่โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีสหรัฐ โดยในเวลานั้นจู่ๆ “กองทัพบก” และ “กองทัพเรือ” สหรัฐก็ประกาศแบนแอป TikTok ออกข้อบังคับไม่ให้ติดตั้ง TikTok ในอุปกรณ์ทุกอย่างของรัฐบาล โดยให้เหตุผลว่า TikTok อาจส่งผลกระทบด้านความมั่นคงของประเทศได้

เหตุการณ์นั้นไม่ใช่ครั้งแรกที่สหรัฐกังวลกับเทคโนโลยีจากประเทศจีน เพราะในปี 2018 ประธานาธิบดีทรัมป์ ก็เคยลงนามในกฎหมายที่ทำให้อุปกรณ์สื่อสารของ Huawei และ ZTE ถูกแบนไม่ให้ใช้ร่วมกับอุปกรณ์ของรัฐบาลมาแล้ว ก่อนจะออกกฎเพิ่มขึ้นเรื่อยๆตั้งแต่การห้ามบริษัทสหรัฐทำธุรกรรมกับสองบริษัทนี้ ไปจนถึงห้ามขายและนำเข้าอุปกรณ์สื่อสารจาก Huawei และ ZTE ตั้งแต่ปี 2022 เป็นต้นมา

ในส่วนของประเทศที่แบน TikTok เองสหรัฐก็ไม่ใช่ประเทศแรก เพราะก่อนหน้านี้ อินเดีย ก็เป็นประเทศประกาศแบน TikTok ไปในปี 2020 โดยให้เหตุผลเรื่อง ความมั่นคงของชาติและความกังวลเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลเช่นกันในครั้งนั้นมีผู้ได้รับผลกระทบมากถึง 200 ล้านคน

CEO TikTok ชี้แจง

ในปี 2020 ประเด็นของ TikTok กลายเป็นกระเด็นใหญ่ระดับประเทศทันทีเมื่อ ทรัมป์ ลงนามคำสั่งพิเศษของประธานาธิบดี (Executive Order) สั่งให้แบนแอป TikTok ในสหรัฐ นั่นทำให้เกิดกระบวนการทางกฏหมายตามมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่นั้น

การจะแบน TikTok ของสหรัฐไม่ได้ทำในทันทีทันใดแต่มีกระบวนการทางกฎหมายหลายขั้นตอนหนึ่งในนั้นรวมไปถึงการเชิญคุณ “Shou Zi Chew” CEO ชาวสิงคโปร์ของ TikTok เข้าชี้แจงต่อคณะกรรมธิการสภาคองเกรสในเรื่องนี้หลายครั้งระหว่างปี 2023 และ 2024 ที่ผ่านมา

คุณ Chew เข้าไปยืนยันว่า TikTok ไม่เคยส่งข้อมูลผู้ใช้งานให้กับรัฐบาลจีน ปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน และยืนยันว่า TikTok มีมาตรการมากมายเพื่อปกป้องข้อมูลผู้ใช้งานชาวอเมริกันเป็นอย่างดี  โดยเฉพาะการเก็บข้อมูลใน Data Center ของ Oracle Corp ซึ่งบริษัทอเมริกัน ตั้งอยู่บนแผ่นดินสหรัฐอเมริกา และกำกับดูแลโดยชาวอเมริกันเองด้วย

การตอบคำถามของคุณ Chew ในการไต่สวนอันดุเดือด เป็นที่พูดถึงมากมายจนมีคลิปวิดีโอที่กลายเป็นไวรัลใน TikTok โดยเฉพาะหลายๆคำถามจากสมาชิกสภาคองเกรสที่ชาวเน็ตมองว่าหยาบคายเช่น การพยายามจี้ถามถึงเชื้อชาติ ความเชื่อมโยงกับรัฐบาลจีน รวมถึงกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งคุณ Chew ได้รับเสียงชื่นชมว่าสามารถตอบคำถามได้เป็นอย่างดีจนกลายเป็นอีกหนึ่ง Celeb ใน TikTok สำหรับชาวอเมริกันในช่วงข้ามคืน

สำหรับคุณ Chew เองก็มีประวัติที่ไม่ธรรมดา เขาเกิดและเติบโตในประเทศสิงคโปร์ เรียนจบ MBA จากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด เข้าฝึกงานกับ Facebook ในช่วงที่ยังเป็นบริษัท Startup เคยทำงานกับบริษัทสมาร์ทโฟนอย่าง Xiaomi มาก่อน ก่อนจะย้ายมาทำงานกับ ByteDace และได้รับการแต่งตั้งเป็น CEO ของ TikTok ในปี 2021 ด้วยวัยเพียง 38 ปีเท่านั้น

อย่างไรก็ตามการชี้แจงของคุณ Chew ไม่สามารถโน้มน้าวสมาชิกสภาคองเกรสได้ ในที่สุดสภาคองเกรสสหรัฐก็ผ่านกฎหมายชื่อว่า “Protecting Americans From Foreign Adversary Controlled Applications Act” ซึ่งประธานาธิบดี  “โจ ไบเดน” ลงนามรับรอง ออกมาในเดือนเมษายน 2024 มีเนื้อหาบังคับให้ ByteDance เจ้าของ TikTok ขายกิจการ TikTok ในสหรัฐภายใน 270 วันไม่เช่นนั้นจะโดนแบนปิดบริการในสหรัฐไปเลย

เหตุผลในมุมรัฐบาลสหรัฐ

เครดิตภาพ Algi Febri Sugita / Shutterstock.com

อย่างไรก็ตามถ้าจะบอกว่ารัฐบาลอเมริกาไม่มีเหตุผลก็ไม่ใช่ เพราะจีนเองก็มีกฎหมายหลายฉบับเช่น กฎหมายด้านข่าวกรอง ปี 2017 , กฎหมายความปลอดภัยไซเบอร์ ปี 2017 รวมถึง กฎหมายความมั่นคงของข้อมูล ปี 2021 ที่ มีข้อความที่อาจ​ “ตีความ” ได้ว่ารัฐบาลจีนสามารถร้องขอให้บริษัทจีนให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการส่งข้อมูลต่างๆให้ได้ นั่นหมายความว่าข้อมูลของชาวอเมริกันผู้ใช้งาน TikTok ของบริษัทจีนอย่าง ByteDance อาจจะถูกส่งให้รัฐบาลจีนได้หากรัฐบาลจีนร้องขอเช่นกัน

ปัจจุบัน “ข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน” ไม่ว่าจะประเทศไหนมีความสำคัญมากหากข้อมูลเหล่านี้หลุดออกไปก็สามารถถูกมือดีนำไปใช้ประโยชน์ในทางที่ผิดได้หลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นกรณีแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่เราเจอกันอยู่ หรือเรื่องระดับประเทศอย่างการ การทำสงครามข้อมูลเปลี่ยนความคิดคนในสังคม หรือแทรกแซงทางการเมืองในระดับเปลี่ยนผลการเลือกตั้ง ไปจนถึงการโจมตีทางไซเบอร์ ที่สร้างความเสียหายมหาศาลได้เลย

อย่างไรก็ตามถามว่ารัฐบาลสหรัฐมีหลักฐานที่ชัดเจนหรือไม่? ก็ต้องบอกว่านับจนถึงเวลานี้ก็ยังไม่มีการเปิดเผยหลักฐานที่ชัดเจนที่ยืนยันได้ว่า รัฐบาลจีน สามารถเข้าถึงข้อมูลของชาวอเมริกันผู้ใช้งานได้จะมีพูดถึงก็แต่ “ข้อกังวล” ในเรื่องต่างๆที่อธิบายไปเท่านั้น

ปฏิกิริยาชาวอเมริกัน

เครดิตภาพ Melnikov Dmitriy / Shutterstock.com

ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ไม่พอใจกับเหตุการณ์ครั้งนี้ เพราะปัจจุบันมีชาวอเมริกันจำนวนมากถึง 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมดที่ใช้ TikTok เสพคอนเทนต์และข่าวสารผ่านแพลทฟอร์มนี้อยู่ และก็มีความเคลื่อนไหวจากภาคประชาสังคมที่ออกมาโต้แย้งการแบน TikTok ในครั้งนี้ด้วยว่าเป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญสหรัฐ

ชาวอเมริกันที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือบรรดาอินฟลูฯ TikTok ที่สร้างฐานผู้ติดตามและรายได้กับแพลทฟอร์มนี้มาอย่างยาวนาน เพราะหาก TikTok ถูกแบนก็ทำให้กระแสรายได้นั้นหายไปทันที และนั่นก็ทำให้เกิดปรากฎการณ์อินฟลูอเมริกัน “อพยพออกจาก TikTok” ไปสู่แอปใหม่อย่าง RedNote หรือแอป Xiaohongshu แอปแบบเดียวกับ Instagram ที่ให้บริการอยู่ในประเทศจีนกันเป็นจำนวนมาก จนยอดดาวน์โหลดแอป RedNote ขึ้นอันดับ 1 ในสหรัฐอเมริกาไปแล้ว ในขณะที่ แพลทฟอร์ม Duolingo ก็รายงานว่ามียอดคนเข้าไปเรียนภาษาจีนพุ่งทะยานขึ้นเป็นประวัติการณ์ด้วยเช่นกัน

จะขายกิจการ TikTok ได้ไหม

เครดิตภาพ Rokas Tenys / Shutterstock.com

ตั้งแต่วันที่กฎหมายบังคับใช้จนถึงเวลานี้ (17 มกราคม) ก็ยังไม่มีข้อสรุปว่า ByteDance จะขายกิจการ TikTok ในสหรัฐให้กับใคร และเส้นตายนับมา 270 วันจะครบกำหนดในวันอาทิตย์ที่ 19 มกราคมนี้ตามเวลาสหรัฐหรือก็คือนับเวลาประมาณเที่ยงๆของวันที่ 19 มกราคมตามเวลาไทยแล้ว

ถามว่าอีก 2 วันนี้จะมีคนจะซื้อ TikTok ในสหรัฐบ้างไหม? จนถึงเวลานี้ยังไม่มีวี่แวว แต่ก็มีคนที่ถูกพูดถึงในสื่อหลายคนด้วยกันไม่ว่าจะเป็น Elon Musk ที่เคยซื้อ Twitter มาก่อนแล้ว, Frank McCourt มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้ง NGO เคลื่อนไหวเกี่ยวกับสิทธิการใช้งานอินเตอร์เน็ตของผู้คน บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Microsoft  ยูทูบเบอร์ระดับโลกอย่าง MrBeast หรือแม้แต่แรปเปอร์ชื่อดังก็ถูกพูดถึงด้วยเหมือนกัน

ส่วนราคาของ TikTok นั้นมีนักวิเคราะห์ประเมินเอาไว้ว่ากิจการ TikTok ในสหรัฐมีมูลค่าระหว่าง 40,000 – 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐแบบไม่รวม Algorithm หรือซื้อทั้งหมดก็ราวๆ 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตามก็ต้องต้องรอจนนาทีสุดท้ายว่าจะมีใครในรายชื่อเหล่านี้ที่ตัดสินใจซื้อ TikTok หรือไม่

ท่าทีของรัฐบาลจีน

ล่าสุดโฆษกกระทรวงต่างประเทศจีนออกมาแถลงเมื่อวันที่ 17 มกราคม ยืนยันว่ารัฐบาลจีน “ไม่เคยและไม่มีวันที่จะบังคับให้บริษัทหรือบุคคลใดๆเก็บหรือส่งข้อมูลให้กับรัฐบาลจีนในแบบที่ละเมิดกฎหมาย”

นอกจากท่าทีล่าสุดแล้วรัฐบาลจีนเองก็ไม่ได้นิ่งเฉยกับเหตุการณ์นี้ โดยก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ทูตจีนก็เคยเข้าหารือกับสมาชิกสภาคองเกรสเพื่อคัดค้านการแบน TikTok ในสหรัฐมาแล้ว รวมถึงเคยร่วมหารือกับบุคคลระดับสูงหลายคนหนึ่งในนั้นรวมถึง Elon Musk ที่จะมีบทบาทในรัฐบาลใหม่ของทรัมป์ด้วย

ท่าทีของทรัมป์ที่เปลี่ยนไป

เครดิตภาพ Rokas Tenys / Shutterstock.com

หลังจากเส้นตายวันที่ 19 มกราคม โดนัลด์ ทรัมป์ คนที่มีส่วนในการออกคำสั่งแบน TikTok ในปี 2020 จะเข้าสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีในวันที่ 20 มกราคมนี้ หรืออีก 1 วันหลังเส้นตาย หลายคนอาจคิดว่าทรัมป์ คงจะสนับสนุนให้มีการแบน TikTok ต่อไปแต่จริงๆแล้วไม่ใช่

ท่าทีของทรัมป์ในประเด็นนี้เปลี่ยนไปแล้วโดยทรัมป์ดูจะมีจุดยืนที่เปลี่ยนไปในตั้งแต่ช่วงต้นปี 2024 โดยทรัมป์มองว่าควรแก้ปัญหาด้วยวิธีอื่นโดยไม่ต้องแบน TikTok ได้เช่นการเจรจาหาทางออกร่วมกัน ซึ่งเหตุผลที่มีท่าทีเปลี่ยนไปนั้นหนึ่งคือทรัมป์บอกเองว่าการแบน TikTok อาจทำให้ Facebook แพลทฟอร์มที่ทรัมป์ไม่ชอบจะได้ประโยชน์ รวมไปถึงในช่วงหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีรอบล่าสุดนี้ Trump ก็ใช้ TikTok ทำแคมเปญจนได้ใจคนรุ่นใหม่และชนะเลือกตั้งมาได้ด้วย

TikTok อาจได้ยืดเวลา

หลังจาก Trump เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการทรัมป์เตรียมที่จะใช้ คำสั่งพิเศษของประธานาธิบดี (Executive Order) อีกครั้งในการยืดเวลาแบน TikTok ไปอีก 60-90 วันได้ เพื่อให้มีเวลาเจรจาหาวิธีจัดการกับข้อกังวลเกี่ยวกับความมั่นคง

นอกจากนั้น Trump ก็อาจจะสนับสนุนให้มีการแก้ไขกฎหมาย หรือเสนอกฎหมายใหม่ในการจัดการกับปัญหาความมั่นคง เช่นการออกข้อบังคับเรื่อง data privacy เพิ่ม หรือกลไกในการควบคุม แอปพลิเคชั่นต่างชาติเพิ่มเติม หรือทางเลือกสุดท้ายก็คือการช่วยให้มีการขายกิจการ TikTok ให้กับบริษัทอเมริกันเพื่อลดความกังวลเรื่องข้อมูลก็เป็นไปได้

ในส่วนของ TikTok เองก็ได้ยืนคำร้องต่อศาลสูงสุดสหรัฐเพื่อให้มีคำสั่งคุ้มครองโดยอ้างว่าการแบน TikTok นั้นละเมิดสิทธิของเสรีภาพในการแสดงออกก็เป็นไปได้ว่าศาลสูงสุดสหรัฐอาจมีคำสั่งให้ยืดเวลาบริการของ TikTok ออกไปได้ด้วยเช่นกัน

จากนี้ไปก็คงต้องรอดูว่าในวันที่ 19 มกราคมนี้ TikTok จะสามารถให้บริการในสหรัฐได้หรือไม่ ทรัมป์ ที่กลับมานั่งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอีกครั้งจะยื้อเวลาให้กับ TikTok ออกไปได้หรือไม่ TikTok จะต้องขายกิจารในสหรัฐหรือไม่ หรือ TikTok จะต้องปิดบริการในสหรัฐอย่างถาวร ก็คงต้องติดตาม


  •  
  •  
  •  
  •  
  •