การสร้าง Viral Marketing ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยในปัจจุบัน บ้างก็สร้างขึ้นมาจากความตั้งใจของการทำคอนเทนต์มาร์เก็ตติ้ง บ้างก็เกิดขึ้นเองอย่างไม่ได้ตั้งใจ แต่การจะทำให้เกิดกระแสแล้วจุดติดได้ไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งก็แล้วแต่ว่าแบรนด์ไหนจะหยิบฉวยมาใช้ให้เป็น
ใช่แล้วเรากำลังพูดถึงไวรัลที่ชาวเน็ตไทยกำลังให้ความสนใจกันอยู่ นั่นคือกระแส #ทีมลวกหมี่หยก และ #ทีมไม่ลวกหมี่หยก แล้วจู่ๆ มันเกิดเป็นประเด็นได้อย่างไร เราจะเล่าให้ฟัง รวมทั้งแบรนด์ไหนบ้างที่หยิบมาเล่น ‘เป็น’ ซึ่งเชื่อว่านักการตลาดควรที่จะได้เรียนรู้และนำมาศึกษาจากเคสนี้ได้
จุดกำเนิดเกิดจาก “ทวิตภพ”
สำหรับคนที่ไม่ได้ติดตามแต่ต้นต้องขออนุญาตท้าวความให้ทราบอีกครั้ง ที่มาของไวรัลนี้มาจากใน Twittier หรือที่ชาวเน็ตไทยเรียกด้วยชื่อเล่นน่าหยิกว่า “ทวิตภพ” หรือ ทวิตเตอร์แลนด์ ดินแดนที่กำเนิดของประเด็นไวรัลต่างๆ มากมาย มีความไวแล้วยังข้ามมาสร้างกระแสในแพล็ตฟอร์มอื่นได้อีกด้วย (เป็นหนึ่งในโซเชียลมีเดียสำคัญที่ตอนนี้ถ้าแบรนด์หรือนักการตลาดคนไหนมองข้ามถือว่าพลาดอย่างแรง)
เรื่องราวเกิดจากการที่เพื่อนกันเถียงกันบนทวิตเตอร์ว่า การกินหมี่หยกที่ร้าน MK ควรจะลวกก่อน หรือไม่ควรลวกก่อนดี (แค่นั้นจริงๆ แต่จะเลิกเป็นเพื่อนกันจริงหรือเปล่าไม่อาจทราบได้) แต่ประเด็นนี้กลับสร้างกระแสน่าสนใจให้กับบรรดาชาวทวิตภพทั้งหลาย จุดชนวนให้เกิดการแบ่งฝ่ายว่า ใครลวกหรือไม่ลวกก่อนทานบ้าง ใครเลยจะคาดคิดว่าแค่ประเด็นธรรมดาๆ แค่นี้ก็ทำให้เกิดการรีทวีตถึงเรื่องนี้สูงกว่า 127,000 ครั้ง ติดเทรนด์ฮิตไทยอันดับ 1 ก่อนที่จะตามมาด้วยการติดเทรนด์ฮิตโลก อันดับ 5 ด้วยการรีทวีตกว่า 20,100 ครั้ง พร้อมกับที่มีกระแสอื่นๆ พยายามเกาะมาด้วย เช่น #ทีมไม่ดื่มน้ำสิงห์ #ทีมไม่เกินถั่วงอก แต่นั่นก็ยังไม่อาจโค่นกระแส “หมี่หยก” ลงได้
หลายแบรนด์ไม่พลาดฉวยโอกาสสำคัญ
ของดีๆ แบบนี้ แถมไม่ได้ปั่นเองเสียด้วย แบรนด์ต้นเหตุของเรื่องจะปล่อยให้หลุดมือได้อย่างไร MK ใช้โอกาสนี้เล่นตามกระแสทันทีแถมตบท้ายฝากร้านด้วย “เป็ดย่าง” เมนูยอดฮิตของร้านอีกด้วย
แต่ทว่าหลายฝ่ายก็มองว่า เกือบจะสายเกินไปแล้วสำหรับ MK เพราะว่าจะรู้ตัวว่าต้องทำอะไร ก็นานเกือบ 10 ชั่วโมงไปแล้ว จนโดนเจ้าอื่นฉวยของตัวเองไปเล่นเสียเกือบหมดแล้ว
ไม่จำเป็นต้องตีเหล็กตอนร้อนเสมอไป
แต่ทว่าการชะลอหรือปล่อยให้กระแสไหลไปเรื่อยๆ อาจจะเป็นความตั้งใจของ MK หรือไม่?
หรือนั่นอาจจะเป็นกลยุทธ์หนึ่งของ MK ที่ต้องการฟรีมีเดียฟรีๆ ไปเรื่อย โดยการให้คนอื่นมาช่วยปั่นกระแสให้กับตัวเองก็เป็นไปได้
หากว่ากันตามตำรา ที่บอกว่า ‘ถ้าต้องตีเหล็กต้องตีตอนร้อนๆ’ แต่หากมองในอีกมุมหนึ่ง ถ้า MK ฉวยเล่นแต่แรก โดดมาเล่นตั้งแต่กระแสร้อนๆ ก็อาจจะไม่มีกระแสถาโถมเท่านี้ ไม่มีใครหรอกที่อยากจะมาขุดดินสร้างบ่อน้ำมันให้กับคนอื่น ดังนั้น การออกตัวเร็วเกินไป อาจจะเป็นการปิดฉากไวรัลเร็วจนไม่มีใครอยากพูดถึงต่อ ดังนั้น หากมองอีกแง่หนึ่ง ถ้า MK ปล่อยให้กระแสไหลไปสักพัก ปล่อยให้ชาวเน็ตและแบรนด์อื่นๆ ได้สนุกสนานไปกับการสร้างประเด็นให้กับโปรดักส์ตัวเอง มาขุดดินหน้าบ้านช่วยสร้างบ่อน้ำมันให้ตัวเองก็อาจจะไม่ต้องเปลืองแรงหาน้ำมันเองก็เป็นไปได้ ฉะนั้น ปล่อยให้มันอิ่มตัวเต็มที่แล้วค่อยโดดมาคว้าผลประโยชน์ในตอนท้ายน่าจะสวยกว่า แถมเปลืองแรงน้อยกว่าอีกด้วย
5 บทเรียน สำหรับนักการตลาด
แล้วนักการตลาดอย่างเราเรียนรู้อะไรจากบทเรียนนี้กันบ้าง? เราได้สรุปมาเป็น 5 บทเรียนที่ได้จาก #ทีมลวกหมี่หยก และ #ทีมไม่ลวกหมี่หยก
- โซเชียลมีเดีย ยังคงสำคัญในการสร้างแบรนด์ คุณจำเป็นต้องตื่นตัวเสมอในทุกแพล็ทฟอร์ม และถ้าอยากเป็นแบรนด์ที่ Young and Trendy อยู่ตลอดTwitter คือแพล็ทฟอร์มที่คุณควรจะต้องมองก่อนเลยในห้วงนี้ ซึ่งอาจจะไม่ใช่ Facebook อีกต่อไปแล้ว
- ความไวสำคัญก็จริง แต่มากกว่านั้นคือ Creativity อย่างที่เราเห็นกันอยู่ว่าหลายแบรนด์โดดเข้าสู่กระแส แต่เพียงแค่ความไวในการเล่นยังไม่พอ ความคิดสร้างสรรค์ การปั่นให้คอนเทนต์ตัวเองโดดเด่นน่าสนใจแล้วยังเกิดเป็นบทสนทนาต่อไปได้จะสร้างให้คุณมีตัวตนท่ามกลางกระแสได้มากกว่าแค่โดดเข้าสู่กระแส
- Timing สำคัญ อย่างที่กล่าวว่า บ้างก็มองว่า MK ช้าเกินไป แต่อย่างที่เราได้วิเคราะห์ไว้ว่าหากเจ้าแบรนด์ลงมาเล่นเองแต่ต้น ก็ทำให้บทสนทนาจืดลงทันที แถมยังอาจโดนหาว่าเป็นผู้ปั่นกระแสเองมากกว่าเป็นออแกนิค ดังนั้น เรื่องของจังหวะเวลาจึงสำคัญ เล็งให้ถูกว่าควรลงมาเล่นตอนไหน
- สร้าง Brand Loyalty ได้ทันที ต้องไม่ลืมว่า #ทีมลวกหมี่หยก และ #ทีมไม่ลวกหมี่หยก (หรือเคสอื่นๆ) พวกเขาคือคอนซูเมอร์ที่ภักดีต่อแบรนด์ของคุณ คว้าเขามาเป็นพวก อาจจะเป็นการฉวยจังหวะจัดอีเวนท์ให้คน 2 กลุ่มนี้ก็ยังได้ ทำให้เห็นว่าเราฟังเสียงของแฟนคลับเสมอ แล้วพร้อมที่จะตอบแทนพระคุณในการเป็นลูกค้าชั้นดีด้วย มิหนำซ้ำอาจจะทำให้ลูกค้าคนอื่นๆ อยากจะมาเป็นสาวกของแบรนด์คุณบ้างก็ได้
- หลังเป็นกระแสแล้ว (ไม่ว่าจะเป็นความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ) สิ่งสำคัญที่ตามมาคือ การต่อยอดหลังจากนั้น (Extension) จะทำอย่างไรให้สิ่งที่จุดติดแล้วสานต่องานของมันไปเรื่อยๆ นำผลประโยชน์นั้นมาสร้างของดีต่อไปให้แบรนด์อีก ทำอย่างไรให้กลายเป็นจุดขายสำคัญต่อไปเรื่อยๆ ได้ นั่นคือโจทย์ต่อไปที่นักการตลาดที่ดีจะต้องคิด
ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลการวิเคราะห์ที่สามารถนำไปเป็นบทเรียนในการปรับใช้ได้กับแบรนด์ของคุณ ในยุคที่หลายแบรนด์เข้าใจการทำ Realtime Marketing ตามกระแสมากขึ้นแล้ว ดังนั้น บางทีอาจจะหมดเวลาในการลองผิดลองถูกอีกต่อไป แต่ต้องลุกขึ้นมาทำอย่างแข็งขันและสร้างสรรค์มากขึ้น
Copyright MarketingOops