นับเป็นประเด็นร้อนทั้งการตลาดและทางสังคม กับการจับกุมเครือข่าย “บริษัท เมจิก สกิน จำกัด” ธุรกิจผู้ผลิตเครื่องสำอางและอาหารเสริม ซึ่งมีรายได้มหาศาล แต่เมื่อตรวจสอบกลับพบว่าผลิตครีมที่ไม่ได้มาตรฐานและผิดกฎหมายหลายข้อด้วยกัน อย่างไรก็ตาม จากกรณีดังกล่าวนี้ให้บทเรียนอะไรกับเราบ้าง
แต่ก่อนที่จะไปถึงว่าสิ่งนี้ให้บทเรียนอะไรกับเรา ลองมาไล่เรียงลำดับความกันว่า เกิดอะไรขึ้นกับข่าวการทลายบริษัทเมจิกสกิน
อย.สั่งระงับ-เพิกถอนใบจดแจ้ง “เมจิกสกิน”
เริ่มต้นจากการที่เจ้าหน้าที่ตํารวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกันจับกุม เครือข่ายบริษัท เมจิก สกิน จำกัด ซึ่งจำหน่ายเครื่องสำอาง อาหารเสริม พร้อมดำเนินการกับผู้ต้องหาตามหมายจับทั้งหมด 8 คน โดยระบุว่า จากการตรวจสอบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอางที่ผลิตโดยบริษัทดังกล่าว ไม่พบข้อมูลของบริษัท เมจิก สกิน จำกัด และชื่อของผู้ที่เกี่ยวข้องในการขออนุญาตผลิตอาหา นอกจากนี้ ยังพบผลิตภัณฑ์อาหารอีก 3 รายการผิดกฎหมาย ดังนี้
- ผลิตเพื่อจำหน่ายอาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท
- ผลิตอาหารเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุก ไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- และผลิตเพื่อจำหน่ายอาหารปลอม กรณีแสดงฉลากเพื่อลวง หรือพยายามลวงให้ผู้ซื้อเข้าใจผิดในลักษณะพิเศษว่า ได้รับเลขสารบบอาหาร ณ สถานที่ผลิตแห่งนี้แล้ว มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 – 100,000 บาท
เบื้องต้น อย.ได้ดำเนินการออกคำสั่งระงับการผลิตแล้ว ส่วนของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางภายใต้ผู้จดแจ้ง ชื่อ นางวรรณภา พวงสน จำนวน 227 รายการ ซึ่งจากการตรวจสอบสถานที่ผลิตตามที่ได้จดแจ้งไว้ พบว่า ไม่มีสภาพการผลิตและไม่พบเครื่องมือเครื่องจักรและอุปกรณ์ รวมทั้งสารเคมีและบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ในการผลิตเครื่องสำอางแต่อย่างใด
ดังนั้น อย. ได้ออกประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง สั่งให้ระงับการกระทำฝ่าฝืน หรือแก้ไขปรับปรุงหรือปฏิบัติให้ถูกต้อง โดยให้ระงับการผลิตและขายเครื่องสำอางทุกรายการ โดยประกาศรายละเอียดผลิตภัณฑ์ที่ถูกระงับได้ที่เว็บไซต์ของ อย. www.fda.moph.go.th รวมทั้งมีคำสั่งเพิกถอนใบรับจดแจ้งเครื่องสำอาง และมีคำสั่งเรียกเก็บคืนเครื่องสำอางด้วย สำหรับผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ของบริษัท เมจิก สกิน จำกัด ถือว่าผิดกฎหมาย โดยขอย้ำว่า หากมีผู้จำหน่ายรายใดที่ขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ฉลากระบุว่าผลิตโดย บริษัท เมจิก สกิน จำกัด และที่ฉลากมีการแสดงเลขสารบบอาหาร ก็ถือว่าเป็นการจำหน่ายอาหารปลอม มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 10 ปี และปรับ ตั้งแต่ 5,000 – 100,000 บาท แต่หากกรณีอาหารนั้นไม่แสดงเลขสารบบอาหาร ก็ยังคงถือว่าเป็นการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท
เตรียมเรียก 7 ดาราคนดังที่พัวพันเข้าพบ
แต่ปรากฏว่าเรื่องไม่ได้จบแค่ว่า เจ้าหน้าที่รัฐทลายเครือข่ายผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมายและไม่ได้มาตรฐานเท่านั้นแต่กลับพบว่า มีคนดังเซเลบริตี้ ศิลปินดาราหลายคนที่เข้าไปพัวพันเกี่ยวข้องหรือร่วมกิจกรรมกับผลิตภัณฑ์บริษัทดังกล่าว จนล่าสุดทาง อย.กำลังประสานกับทางกองปราบปรามฯ ในการเตรียมรวบรวมหลักฐานเพื่อเตรียมออกหมายเรียกดารานักแสดง 7 ราย เข้าพบ ได้แก่ ลีเดีย–ศรัณย์รัชต์ ดีน, แพตตี้-อังศุมาลิน, มาร์ช-จุฑาวุฒิ วัชรกำพล, ไอซ์-อภิษฎา เครือคงคา, วุ้นเส้น-วิริฒิพา ภักดีประสงค์, พุฒ-พุฒิชัย เกษตรสิน และ ม้า-พรชัย กฤษฎี (ม้า อรนภา)
ส.อ.ท. แนะผู้บริโภคตรวจสอบข้อมูลก่อนซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
อ้างถึงแหล่งข่าวจากสื่อต่างๆ ตามที่ เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกับตํารวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ได้ปฏิบัติการจับกุมผู้ประกอบการชื่อดังที่ผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารผิดกฎหมาย โดยลักลอบใส่สารอันตรายต่างๆ ลงไปในผลิตภัณฑ์ เช่น ไซบูทรามีน (สารตั้งต้นยาบ้า) เพื่อลดน้ำหนัก หรือใส่สารปรอทเพื่อทำให้ผิวขาว อีกทั้ง ยังมีการจ้างนักแสดงที่มีชื่อเสียงร่วมโฆษณาสินค้าจำนวนมาก จนเป็นกระแสข่าวที่สังคมให้ความสนใจ
นายนาคาญ์ ทวิชาวัฒน์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่ง-ประเทศไทย กล่าวว่า เพื่อป้องกันมิให้ประชาชนได้รับอันตรายจากผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีคุณภาพ จึงขอความร่วมมือผู้ประกอบ ให้การดำเนินการขออนุญาตผลิตสินค้าเสริมอาหารอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และได้มาตรฐานตามที่กำหนด รวมถึงขอให้ผู้บริโภคมีการตรวจสอบเลขทะเบียน อย. ก่อนการซื้อสินค้า โดยสามารถตรวจสอบข้อมูลผู้ประกอบการที่มีการผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐาน และผ่านการรับรองจาก อย. ได้ที่เว็บไซต์ของสภา-อุตสาหกรรมฯ www.fti.or.th
สั่นคลอนความเชื่อถือของ กลยุทธ์การใช้ Influencer/ KOL ?
กลยุทธ์การใช้ Influencer เพื่อสร้าง Awareness หรือความน่าเชื่อถือ ให้กับแบรนด์หรือสินค้ามีมานาน และใช้กันอย่างแพร่หลาย ซึ่งส่วนใหญ่ก็ประสบความสำเร็จเพราะยิ่งคนดังที่ได้รับการยอมรับในสังคมมาเป็นคนถือผลิตภัณฑ์หรือแนะนำผลิตภัณฑ์ด้วยแล้ว ก็จะทำให้ผู้บริโภคอนุมานได้ว่า ผลิตภัณฑ์ตัวนี้มีความน่าเชื่อถือไปด้วย
และด้วยกลยุทธ์แบบนี้เองก็กลายเป็นอีกหนึ่งรายได้ของศิลปินดาราที่มีโอกาสจะรับงานในส่วนนี้มากขึ้น บางคนถึงกับมากกว่างานหลักอย่างงานการแสดงหรือการเป็นพิธีกรเสียอีก
แต่ทว่า หลังการเปิดโปงเครือข่ายสินค้าผิดกฎหมายของเมจิกสกิน ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องสำอางและอาหารเสริมรายแรกที่ใช้กลยุทธ์ Influencer/ KOL (Key Opinion Leader) แต่กรณีนี้จะไปสั่นคลอนความเชื่อมั่นในใจผู้บริโภคได้หรือไม่
การที่คนดังมาถือผลิตภัณฑ์และแนะนำผลิตภัณฑ์จะทำให้สินค้ายังมีความน่าเชื่อถือ หรือได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคอยู่อีกหรือไม่ เมื่อปรากฏจากกรณีของเมจิกสกินซึ่งเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนมาก ว่า การที่ Influencer มาแนะนำสินค้าไม่ได้แปลว่าเป็นของที่ถูกกฎหมายหรือเป็นของที่ได้มาตรฐานแต่อย่างใด
หนักไปกว่านั้น หากถึงขั้นรีวิวสินค้าหรืออ้างว่าตัวเองนั้นก็ใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวด้วย แต่อาจจะไม่ได้ใช้จริงตามอ้าง แล้วทำให้ผู้บริโภคก็เชื่อตามและซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวนี้ไปใช้ จุดนี้เองอาจทำให้เข้าข่ายการหลอกลวงผู้บริโภคไปด้วย ผลเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคที่ใช้ของไม่ได้มาตรฐานหรืออาจถึงขั้นเป็นอันตรายต่อร่างกาย ตรงจุดนี้ผู้มีส่วนรับผิดชอบจะเป็นใครบ้าง
ท้ายที่สุด จากกรณี เมจิกสกิน จะกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้กลยุทธ์ Influencer/KOL ไม่ได้รับความนิยมอีกต่อไปหรือไม่ ทั้งกับการทำงานของนักการตลาด ดาราศิลปินที่เริ่มขยาดกลัวกับการต้องมาถือผลิตภัณฑ์อาหารเสริม หรือแม้แต่ผู้บริโภคเองที่เสื่อมความเชื่อถือกับการใช้วิธีนี้
ทว่า หลายเสียงเชื่อว่าเป็นเรื่องยากที่กลยุทธ์นี้จะไม่ได้รับความนิยม แต่จะเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ เราคงต้องให้กาลเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ แต่อย่างไรก็ตาม จากเคสของ เมจิกสกิน น่าจะเป็นบทเรียนให้กับหลายฝ่ายได้เป็นอย่างดี.
Copyright © MarketingOops.com