ปัญหาการกินบุฟเฟต์ระหว่างร้านและลูกค้า มีดราม่าให้เห็นเป็นระยะ ก่อนหน้านี้ ก็มีเหตุที่ลูกค้าทานเหลือแล้วไม่ยอมจ่ายค่าปรับ หรือกรณีดราม่าบุฟเฟ่ต์อาหารทะเล ถูกปรับค่าน้ำจิ้มขีดละ 100 บาท เป็นต้น
ล่าสุด เกิดกับแบรนด์ชาบูเก่าแก่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมานานอย่าง “ชาบู ชาบูนางใน” ซึ่งเปิดให้บริการอยู่หลายสาขา โดยร้านที่เป็นประเด็นร้อนอยู่ตอนนี้คือ สาขาพระรามเก้า 43 หรือแถวศูนย์การค้า เดอะ ไนน์
เรื่องราวของดราม่านี้ เริ่มต้นที่มีผู้โพสต์รีวิว ลงในเพจ “ชาบู ชาบูนางใน สาขาพระรามเก้า 43” โดยระบุว่า ถูกเจ้าของร้านขู่จะคิดเงินเพิ่ม เพราะอ้างว่าลูกค้าทานเยอะเกินไปจนไม่ได้กำไร
กระทั่งในเวลาต่อมา วันที่ 9 กันยายน 63 ทางร้านได้ชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กของร้าน โดยระบุว่า ทางเจ้าของร้านได้เข้าไปชี้แจงกับลูกค้าเองว่า หากครั้งต่อไปต้องขอคิดราคาเพิ่มอีก 200 บาท เป็น 549 บาท (จากเดิมราคา 349 บาท) เนื่องจากทางลูกค้า มาทานทุกครั้ง ก็ทานแต่ “เนื้อ” กับ “กุ้ง” อย่างเดียว แม้จะเป็นลูกค้าประจำก็จริงอยู่ ซึ่งร้านก็ดีใจแต่หากทานอย่างนี้บ่อยๆ ก็จะกระทบกับธุรกิจได้
แต่ปรากฏว่าเกิดกระแสตีกลับ มีผู้ไม่เห็นด้วยกับคำชี้แจงของทางร้าน โดยมองว่าร้านเข้าใจและตีความการทำธุรกิจบุฟเฟ่ต์ผิดไป และยิ่งออกมาตอบโต้อย่างนี้ยิ่งจะทำให้ลูกค้าหายหมด พร้อมกับข้อความโจมตีร้านอย่างถาโถม หากภาษาชาวเน็ตเรียกว่า ‘ทัวร์ลง’ พร้อมกับทำให้ประเด็นนี้กลายเป็นดราม่าร้อนขึ้นมาทันที
Brand and Marketer Utilize
- การจัดการ Crisis Management on Social Media กรณีหากเกิดคำวิจารณ์ในทางลบนั้น แบรนด์ควรจะมีวิธีการรับมือหรือจัดการกระแสสังคมอย่างไร ควรที่จะระงับ issue ก่อนที่จะกลายเป็น crisis หรือไม่ เช่น เข้าไปพูดคุยทำความเข้าใจกับลูกค้าที่โพสต์นั้นโดยตรง ปรับความเข้าใจก่อนจะชี้แจงผ่านสื่อสาธารณะโดยตรง เพราะการต่างฝ่ายต่างชี้แจงในมุมของตัวเองไม่เป็นผลดีเลย
- การดูแลลูกค้ากลุ่ม Loyalty ให้มีความรักในตัวแบรนด์ สืบเนื่องจากลูกค้ารายนี้ทานร้านดังกล่าวมาเป็นเวลา 3 ปี แน่นอนว่าต้องมีความชื่นชอบและรักในแบรนด์นี้ระดับหนึ่งทีเดียว ดังนั้น หากเกิดปัญหากับกลุ่มที่เป็นแฟนของแบรนด์ ก็อาจจะส่งผลในแง่ลบ ต่อแฟนคนอื่นๆ ในวงกว้างออกไปด้วย ซึ่งกลุ่มแฟน Loyalty นั้นในทางการตลาดถือว่าเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีทรงคุณค่าเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น แบรนด์ส่วนใหญ่จึงหลีกเลี่ยงที่จะมีปัญหากับกลุ่มลูกค้ากลุ่มนี้