อันดับความนิยม หรือ Rating เป็นส่วนหนึ่งของการชี้วัดว่า ช่องทีวีดิจิทัลช่องใดบ้างที่จะอยู่รอดผ่านปีนี้ไปได้ หลังจากที่มีบางช่องปิดตัว บางช่องปรับลดพนักงาน หลายช่องขาดทุน และบางช่องมีแนวโน้มจะปิดตัว ซึ่งทั้งหมดต้องยอมรับว่าเกิดจากการคาดการณ์ที่ผิดพลาด การขาดประสบการณ์ เมื่อช่องทีวีหลักได้เพิ่มจาก 6 ช่องมาเป็น 28 ช่อง (ปัจจุบันเหลือ 26) รายการเพิ่มขึ้น ต้นทุนสูงขึ้น แต่เม็ดเงินโฆษณา ซึ่งเป็นรายได้ไม่ได้เพิ่มขึ้น
ดังนั้นภายในระยะเวลาไม่ถึง 2 ปี จึงมีดิจิทัลทีวี 2 ช่องปิดตัวไปเพราะแบกรับค่าใช้จ่ายไม่ไหว และมีแนวโน้มว่าอาจจะมีทีวีดิจิทัลที่ปิดตัวตามไป หรือคืนใบอนุญาตให้ กสทช. ในรอบปีนี้ โดยเฉพาะ 5 อันดับจากท้าย
เมื่อพิจารณา Rating จากท้ายขึ้นมา ช่องทีวีดิจิทัลที่ไม่ต้องสนใจอันดับมากนัก เช่น ทีวีรัฐสภา, ช่อง MCOT KIDS & FAMILY, ช่อง NBT และช่อง 5 ซึ่งมีแหล่งเงินทุนที่ค่อนข้างแน่นอน (รัฐบาล, รัฐวิสาหกิจ) แต่มีหลายช่องที่เป็นกลุ่มผู้รับใบอนุญาตจาก กสทช. เช่น VOICE TV, BRIGHT TV, NEWT TV, SPRING NEWS, TNN24, NATION,NOW TV และ AMARIN TV ถือว่ามี Rating อยู่ในระดับที่ไม่ถึง 0.1%
ดังนั้น ปัจจัยที่ทำให้ทีวีดิจิทัลอาจต้องปิดตัว (คืนใบอนุญาต) ในเบื้องต้นมีทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก
1) คาร์แรกเตอร์ไม่ชัดเจน – การไม่แสดงจุดเด่นของช่องรายการที่ชัดเจน หรือเน้นความหลากหลาย ไม่ใช่ทางออกของทีวียุคใหม่ โอกาสสร้างการจดจำของผู้บริโภคจึงเป็นไปได้ยาก
2) ผู้บริโภคไม่จำจด – เมื่อไม่มีคาร์แรกเตอร์ที่ชัดเจน จึงไม่มีจุดเด่น ผู้บริโภคก็ไม่จดจำ Rating ก็ไม่เพิ่มขึ้น
3) การบริหารจัดการหลายช่อง – ทำให้ไม่ได้โฟกัสอย่างเต็มที่ ถ้าคอนเทนต์ไม่ดี หรือสายป่านไม่มากพอ ก็อาจต้องปิดตัวลง
4) การคาดการณ์ที่ผิดพลาด – ผู้บริหารของช่องทีวีคาดการณ์ผิดเกี่ยวกับตลาด ทั้งผู้บริโภค และโฆษณา รวมถึง กสทช. ที่คาดการณ์ผิดพลาดเปิดประมูลทีวีดิจิทัลจำนวนหลายช่องพร้อมกัน ส่งผลให้เกิดอุตสาหกรรมช็อค
5) ออนไลน์แย่งซีน – ส่วนหนึ่งคือ การมีอินเทอร์เน็ตเป็นโลกออกนไลน์มาแย่งเวลาผู้บริโภคไป คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ไม่รอดูทีวีแล้ว เพราะสามารถดูย้อนหลังทางออนไลน์ได้
ในกลุ่ม Rating ของทีวีดิจิทัล เห็นชัดว่ากลุ่มช่องข่าวสารมี Rating อยู่ในระดับท้าย เช่น VOICE TV, SPRING NEWS, TNN24, NATION เป็นต้น แสดงให้เห็นพฤติกรรมผู้บริโภคคนไทยมีความนิยมดูข่าวสารไม่สูงนัก และช่องข่าวแต่ละช่องมีความคล้ายคลึง ไม่แตกต่างกัน จึงถือเป็นกลุ่มช่องทีวีดิจิทัลที่มีความเสี่ยงทางธุรกิจ
ขณะที่กลุ่มที่ได้รับความนิยมดีมาก 5 อันดับ ได้แก่ ช่อง 7HD, 3HD, WORKPOINT TV, CH8, MONO29, ONE HD, 3SD เป็นต้น นอกจากช่อง 7 และ ช่อง 3 ซึ่งเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดี ผู้บริโภคมีความคุ้มเคย ทำให้ได้เปรียบอยู่แล้ว ยังมีความชัดเจนในเรื่องความหลากหลายและการเป็นช่องละคร ซึ่งผู้บริโภคไทยนิยม ส่วน WORKPOINT TV เน้นเป็นช่องรายการเกมโชว์อย่างชัดเจน, CH8 ของอาร์เอส เน้นละครสำหรับประชาชนชาวบ้าน, MONO29 เจาะลึกซีรีส์และภาพยนตร์ต่างประเทศ ช่อง ONE HD ของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ชูคอนเทนต์ด้านบันเทิงที่มีอยู่เพียบในบริษัท
ปัจจัยที่ทำให้ช่องทีวีดิจิทัลได้รับความนิยม
1) มีจุดเด่นที่แตกต่างชัดเจน – คนดูจดจำได้ว่าช่องนี้มีอะไร เช่น WORKPOINT TV มีเกมโชว์, MONO29 มีซีรีส์และหนังฝรั่ง
2) สร้างลูกค้าเฉพาะกลุ่ม – บางช่องอาจจะมีลักษณะคล้ายกัน เช่น CH8 ที่มีลักษณะละครตลาด, MONO29 เน้นคนชอบหนังฝรั่ง, ONE HD จับตลาดวัยรุ่น หรือ TPBS ที่เป็นรายการเชิงให้ความรู้ที่น่าสนใจ ซึ่งจะมีลูกค้าเหนียวแน่นกว่า
3) นโยบายการตลาดและสายป่านที่ยาวพอ – การทำตลาดที่ชัดเจน เพื่อสร้างการรับรู้และจดจำ เป็นส่วนสำคัญ เช่น THAIRATH TV ที่เน้นการประสานกับหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ สร้างการรับรู้ได้ดีมาก
อย่างไรก็ตาม ยังมีกลุ่มเหนือความคาดหมายที่คาดว่าจะมาแรงมากขึ้นในปีนี้ เช่น PPTV ที่ Rating อาจยังไม่สูงนัก แต่ล่าสุด นพ. ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ เศรษฐีหุ้นของไทย ประธานของ PPTV ส่งแจกโบนัสพนักงานเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ เป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่าสายป่านยังมีอีกยาว แต่ก็มีอีกหลายช่องทีวีดิจิทัลที่น่าเป็นห่วง เพราะอาจจะวางคาร์แรกเตอร์ช่องไม่ชัดเจน ทำการตลาดไม่ตรงจุด จนผู้บริโภคอาจจะไม่เคยเห็น หรือไม่รับรู้ว่ามีช่องนี้อยู่
THAI TV ที่เพิ่งยกเลิกไป เปิดเผยว่า ต้นทุนอยู่ในหลักพันล้านบาท ดังนั้นถ้าหารายได้มาไม่เพียงพอกับรายจ่าย ตลอดปีนี้จะมีช่องทีวีที่ปรับโครงสร้างองค์กรอีกหลายราย และอาจจะมีการคืนใบอนุญาตเกิดขึ้น