ในปีที่ผ่านมา ช่อง Cullen HateBerry ยูทูปเบอร์ชาวเกาหลีสายท่องเที่ยวในประเทศไทย ที่นำทีมโดยคัลแลนและพี่จองนั้น ได้ปล่อยคลิปมากมายที่ทำให้คนไทยหลายคนได้ใจฟูและอมยิ้มไปกับความน่ารักแบบธรรมชาติของพวกเขา
Wisesight Research ได้ทำการเก็บข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2566 พบว่ามีการพูดถึงคัลแลน พี่จอง และช่องนี้โดยรวมกว่า 143,548 ข้อความ ได้รับเอ็นเกจเมนต์รวมกว่า 20 ล้านครั้ง โดยมีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดดเมื่อเทียบช่วงครึ่งปีแรกและครึ่งปีหลัง โดยเอ็นเกจเมนต์รวมเติบโตขึ้นจากช่วงครึ่งปีแรกกว่า 1000% และวันที่ได้รับเอ็นเกจเมนต์สูงที่สุดคือวันที่ 15 ธันวาคม 2566 ซึ่งเป็นวันที่ช่องได้รับยอดผู้ติมตามทะลุ 1 ล้านคนนั่นเอง
ช่องทางที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุดคือ YouTube (44%) เนื่องจากเป็นช่องทางหลักที่ผู้ชมเข้ามาดูคลิปต่าง ๆ รวมถึงคอมเมนต์ใต้คลิป และทำการโดเนทเพื่อเป็นกำลังใจด้วย ช่องทางที่คนพูดถึงมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ได้แก่ X (41%) โดยนอกจากจะพูดถึงโมเมนท์น่ารัก ๆ จากคลิปใหม่ ๆ แล้ว ยังมีการปั่นแฮ็ชแท็ก #คัลแลน และ #พี่จอง ให้ขึ้นเทรนด์เช่นกัน และช่องทางอื่น ๆ ที่คนพูดถึงได้แก่ Facebook (12%) ตามมาด้วย Instagram (1%), และอื่น ๆ ตามลำดับ
เมื่อสำรวจความคิดเห็นของคนบนโลกโซเชียลฯ แล้ว พบว่ามี 5 เหตุผลหลักที่คนดูตกหลุมรักช่อง Cullen HateBerry ได้แก่
5 เหตุผลหลักที่คนดูตกหลุมรักช่อง Cullen HateBerry
- ชอบในความน่ารัก น่าเอ็นดูแบบไม่ห่วงหล่อทั้งที่หน้าตาดี ยิ้มง่าย หัวเราะง่ายกับทุกสถานการณ์ รวมถึงกินง่าย อยู่ง่าย ปรับตัวเข้ากับสถานที่ใหม่ ๆ ได้ดี ลุยและสนุกไปกับทุกกิจกรรมที่ทำ
- ไม่เพียงแค่หล่อ แต่ตัวพ่อเรื่องทัศนคติที่ดี ทั้งคัลแลน และพี่จอง ไม่เพียงแค่หล่อ น่ารักเท่านั้น แต่มีทัศนคติ และความคิดที่ดี ทำให้ดูแล้วสบายใจ อีกทั้งยังสามารถดูได้ทั้งครอบครัว ตั้งแต่เด็กที่ไม่ต้องคอยให้พ่อแม่เซนเซอร์คำหยาบให้ ยันผู้สูงอายุที่ดูแล้วรู้สึกเหมือนได้ดูลูกหลานตนเอง
- ความพยายามที่จะสื่อสารเป็นภาษาไทย ที่ถึงแม้จะมีพูดผิดบ้าง แต่คนดูก็เอ็นดูและเอาใจช่วยตลอด รวมถึงมีคนดูบางส่วนที่เริ่มติดการนำคำพูดที่ผิดไปใช้จริงในชีวิตประจำวัน เช่น ‘จริงๆดีมาก’
- ประหนึ่งคนไทย เที่ยวด้วยโปรโมทสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ด้วย เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้คนอยากออกไปเที่ยวเมืองไทยมากขึ้น อีกทั้งยังทำให้การไปเที่ยวดูเข้าถึงง่าย ไม่ต้องเตรียมตัวอะไรมากก็สามารถไปเที่ยวได้เช่นกัน
- การตัดต่อที่รู้จังหวะโบ๊ะบ๊ะแบบพอดี สามารถสร้างเสียงหัวเราะให้กับคนดูได้ ร่วมกับการใส่คำแปล (sub title) ที่คนดูเข้าใจได้ง่ายขึ้น ทำให้คนดูรู้สึกไม่เบื่อทั้งที่หลายคลิปมีความยาวหลักชั่วโมง
วิเคราะห์ข้อมูลโดย อลิสา อิสราภัทร์
เรียบเรียงโดย ภานุพันธ์ มะแอ