ปัญหาความขัดแย้งระหว่าง 2 ประเทศ ‘เกาหลีใต้-ญี่ปุ่น’ ซึ่งมีมานานหลายปีแล้ว จนเกิดเป็นกระแส ‘คว่ำบาตร’ (boycott) มาตลอด แต่มารุนแรงมากๆ ในปี 2019 ซึ่งที่เห็นชัดๆ ก็คือ คนเกาหลีบอยคอตสินค้า ‘ญี่ปุ่น’ ทุกประเภท โดยเฉพาะสินค้าที่ made in Japan
ที่จริงกระแสความไม่พอใจนี้ เกิดขึ้นมาหลายปีมากๆ ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่บริษัทญี่ปุ่นกดขี่คนเกาหลีใต้เกณฑ์คนมาเป็นทาสแรงงาน รวมถึงมีกระแสไม่พอใจเรื่องการข่มขืนผู้หญิงชาวเกาหลีใต้ในสมัยนั้นด้วย และถึงแม้ว่าบริษัทญี่ปุ่นเหล่านั้นได้จ่ายชดเชยค่าเสียหายให้กับเหยื่อคนเกาหลีใต้แล้ว แต่ดูเหมือนกันกระแสการต่อต้านนี้จะมาแรงเป็นพักๆ จนถึงปัจจุบัน
อย่างเคสล่าสุดที่เพิ่งเกิดขึ้น คือ ‘Uniqlo’ สินค้า fast-fashion จากญี่ปุ่น ที่เตรียมปิดสาขาที่ ‘เมียงดง’ ย่านช้อปปิ้งที่คึกคักที่สุดในกรุงโซล
โดยกำหนดจะปิดร้านอย่างเป็นทางการในช่วงปลายเดือน ม.ค. ปีหน้า หลังจากที่เปิดบริการมา 9 ปี ซึ่งสาขานี้เป็นสาขาที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้ และมียอดขายมากที่สุดด้วย (ประมาณ 2,000 ล้านวอน หรือราว 54 ล้านบาท)
ทั้งนี้ ร้าน Uniqlo สาขานี้ที่มีขนาดใหญ่สุดเป็นอาคารพาณิชย์ 4 ชั้น ได้ขึ้นป้ายประกาศชัดเจนว่า “Thank you for your patronage.” (ขอบคุณที่อุดหนุน)
ขณะที่ เจ้าหน้าที่ของ Uniqlo เกาหลีใต้ ได้พูดอธิบายว่า “สาเหตุหลักๆ ที่สาขาจำเป็นต้องปิดตัวลง น่าจะมาจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลงมากกว่า เพราะทำให้ยอดขายสินค้าลดลงตาม” หลังจากที่รายได้ประจำปี (สิ้นสุดเดือน ส.ค.) ลดลงถึงครึ่งหนึ่ง เทียบจากที่เคยได้รับ
ทั้งนี้ ปัจจุบันยังมีบางสินค้า made in Japan ที่ยังถูกบอยคอตในเกาหลีใต้อยู่ เช่น รถยนต์, เบียร์ ที่มียอดขายตกต่ำที่สุดตั้งแต่ที่มีการคว่ำบาตร ดูได้จากรถยนต์ยี่ห้อ Nissan ที่ตอนนี้ออกจากตลาดเกาหลีใต้เป็นที่เรียบร้อย หลังจากที่ยอดขายรถยนต์เป็น ‘ศูนย์’ สิ้นสุดเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา
บางทีสาเหตุของการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่แค่กลยุทธ์ที่ดีอย่างเดียว แต่บางทีปัจจัยอื่น ไม่ว่าจะภัยธรรมชาติ, ภัยจากโรคระบาด จนไปถึงการเมือง หรือความขัดแย้งระหว่างประเทศ ต่างก็เป็นปัจจัย sensitive ต่อธุรกิจได้ทั้งหมด ดังนั้นการตั้งรับและมีแผนอย่างรัดกุมล่วงหน้าก็จำเป็นไม่น้อย
ที่มา: Nikkei Asia