สะเทือน! ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าครั้งใหญ่ ไทยจุกเจอ 36%! แล้วจากนี้จะเกิดอะไรขึ้น?

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

Image credit: Phil Mistry / Shutterstock.com

เรียกว่าเป็นข่าวร้าย! สำหรับภาคธุรกิจไทยก็ว่าได้ เมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศมาตรการภาษีครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์เมื่อคืนนี้ โดยจะเก็บภาษีนำเข้า 10% จากสินค้าทุกชาติทั่วโลก (ยกเว้นแคนาดาและเม็กซิโก) และเพิ่มภาษีระดับเลข 2 หลัก สำหรับสินค้าจากประเทศที่สหรัฐฯ มองว่าเอาเปรียบทางการค้า ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “ประเทศไทย” ที่โดนเพิ่มอีก 36%

ข่าวนี้ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปั่นป่วนทันที นักลงทุนและนักวิเคราะห์ต่างก็กังวลว่ามาตรการนี้จะทำให้สินค้าอุปโภคบริโภคในสหรัฐอเมริกาแพงขึ้น และจุดชนวนสงครามการค้าระหว่างประเทศ ส่วนนักวิเคราะห์ไทยอย่าง “ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ก็บอกทางเลือกของไทยเอาไว้ 3 ทางเลือกด้วยกัน ซึ่งเราจะไปไล่เรียงกันในบทความนี้

วิธีคิด “Fake Tariff Rate” แบบทรัมป์

ก่อนอื่นไปดูรายละเอียดการขึ้นภาษีของทรัมป์ก่อน เพราะในช่วงแรกหลายๆคนเข้าใจว่าทรัมป์จะใช้เกณฑ์การคิด “ภาษีตอบโต้” จากการ “คำนวนมาตรการภาษีและมาตรการกีดกันทางการค้า” ของแต่ละประเทศออกมาและคิดเปรียบเทียบเป็น % ภาษี แล้วประกาศตัวเลขตอบโต้ครึ่งหนึ่งของตัวเลขที่คำนวนออกมาได้ อย่างเช่นประเทศไทยคำนวนออกมาแล้วได้ 72% สหรัฐอเมริกาก็เลยคิด “ภาษีตอบโต้” ไทย 36%

แต่กลายเป็นว่ามีคนไปเทียบกับตัวเลข “ภาษีตอบโต้” ที่ประเทศอื่นๆโดน แล้วก็ไปเจอว่าทรัมป์ใช้วิธีคิดที่ง่ายมากๆเลยคือเอา “มูลค่าขาดดุล” หาร “มูลค่านำเข้า” ของประเทศต่างๆ ก็ได้ตัวเลขตั้งต้นมาแล้ว

อย่างไทยทรัมป์ก็เอา “มูลค่าขาดดุลสินค้าไทย” หารด้วย “มูลค่าสินค้านำเข้าจากไทย” ก็จะได้ 72% แล้วเอามาหาร 2 ก็จะได้เลข 36% เป็นภาษีตอบโต้ทันที ทรัมป์ใช้วิธีแบบนี้กับทุกประเทศ และนี่เป็นเหตุผลว่าทำไมหลายคนวิจารณ์ว่าตัวเลขเหล่านี้ที่ทรัมป์ประกาศออกมาเป็น “Fake Tariff Rate”
สิ่งที่ทรัมป์ประกาศออกมาเมื่อคืนนี้มีดังนี้

1. “ภาษีพื้นฐาน” 10% ก็คือ สหรัฐจะเก็บภาษีพื้นฐาน 10% เก็บจากสินค้าทุกประเทศทั่วโลกที่ส่งเข้าไปขายในสหรัฐฯ เริ่มตั้งแต่วันเสาร์ที่ 5 เมษายนนี้เลย

2. “ภาษีตอบโต้” สหรัฐจะเก็บภาษีเพิ่มเติมจากภาษีพื้นฐาน 10% อีก 1-40% เก็บจากประเทศที่สหรัฐฯ มองว่ามีการกีดกันทางการค้า เริ่มวันพุธที่ 9 เมษายน

สำหรับประเทศที่โดนภาษีตอบโต้สูง ได้แก่ จีน 54%, ญี่ปุ่น 24% สหภาพยุโรป 20%, อินเดีย 26%, กัมพูชา 49% รวมถึงไทยที่โดนภาษีสูงถึง 36% (หมายความว่าทรัมป์คำนวนว่าไทยมีมาตรการภาษีและกีดกันทางการค้าเท่ากับการคิดภาษีสหรัฐ 72% เลยทีเดียว)

ทรัมป์ให้ “เหตุผล” ว่ามาตรการนี้เพื่อแก้ปัญหาการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ และฟื้นฟูอุตสาหกรรมในประเทศ โดย ทรัมป์ยืนยันว่ามาตรการนี้จำเป็นเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐฯ และแก้ไขความไม่เป็นธรรมทางการค้า ในขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯ พร้อมที่จะเจรจาลดภาษี หากประเทศต่างๆ ลดการกีดกันทางการค้าต่อสหรัฐฯ

สถาบันวิจัยการค้า Trade Partnership Worldwide ระบุว่า มูลค่าภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ จะพุ่งสูงขึ้นจาก 78,000 ล้านดอลลาร์ เป็นกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์หลังจากประกาศใช้มาตรการนี้

อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์ก็มองว่าอาจเกิดผลกระทบเชิงลบตามมาหลายอย่าง เช่น มาตรการนี้จะทำลายระบบการค้าโลกที่สหรัฐฯ เคยสร้างไว้หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ภาษีนำเข้าที่สูงขึ้นจะทำให้สินค้าในอเมริกาแพงขึ้นอย่างมาก ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคและธุรกิจในสหรัฐ หลายประเทศทั่วโลกเตรียมออกมาตรการตอบโต้ ซึ่งอาจนำไปสู่สงครามการค้าระดับโลก อาจทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเหมือนยุคปี 1930

นอกจากนี้ภาษีที่สูงขึ้นจะกระทบต่อการลงทุน การจ้างงาน และห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก ธุรกิจทั่วโลกจะต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับภาษีที่สูงขึ้นและสงครามการค้าที่อาจเกิดขึ้น ส่วน ผู้บริโภคทั่วโลกอาจต้องเผชิญกับราคาสินค้าที่แพงขึ้น

ผลกระทบกับไทย

แน่นอนว่าผลจากมาตรการนี้ของสหรัฐจะทำให้ธุรกิจส่งออกไทยจะได้รับผลกระทบหนักหน่วง เพราะสินค้าไทยที่ส่งไปขายอเมริกาจะมีราคาสูงขึ้นมาก ทำให้แข่งขันกับสินค้าจากประเทศอื่นได้ยากขึ้น ส่วน ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ที่พึ่งพาการนำเข้าส่งออกอาจหยุดชะงัก หรือต้องเเบกรับต้นทุนเพิ่มขึ้น

ผลพวกที่จะตามมาอีกก็คือค่าเงินบาทอาจผันผวน เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติอาจลดการลงทุนในไทย กำลังซื้อของผู้บริโภคอาจลดลง เนื่องจากค่าครองชีพสูงขึ้น เศรษฐกิจไทยโดยรวมอาจชะลอตัว ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและรายได้ของประชาชน

ทางเลือกของไทย “สู้” “หมอบ” หรือ “ทน”

“ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร โพสต์ข้อความผ่าน Facebook ระบุว่าไทยก็มีทางเลือกกับการออกมาตรการนี้ของทรัมป์อยู่ 3 ทางเลือกก็คือเลือกที่จะ สู้ หมอบ หรือ ทน โดยเนื้อหาระบุว่า “งานแรกของรัฐบาลคือต้องไปหาก่อนเลยว่า 72% มาจากไหน! และ จากนี้คือเกมเจรจาล้วนๆ เราน่ามีทางเลือกอยู่สามทาง หรือไม่ก็ combination ของทั้งสามทาง

หนึ่ง “สู้” (แบบ แคนาดา ยุโรป หรือจีน) ซึ่งเราอาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดี เพราะเราพึ่งพาเขาเยอะกว่าเขาพึ่งพาเราเยอะมาก สหรัฐเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของเรา เราเกินดุลสหรัฐปีนึงหลายหมื่นล้าน (แม้ว่ามูลค่าของการเกินดุลจำนวนมากเป็นสินค้านำเข้าจากจีนที่อาศัยไทยเป็นช่องหลบเลี่ยงก็ตาม)

สอง “หมอบ” คือ เจรจาหาทางลงที่สหรัฐพอใจ เช่น ปรับลดภาษีที่เราเก็บเขาสูงๆ ยอมเปิดตลาดที่เราปกป้องอยู่ (เช่นสินค้าเกษตรทั้งหลาย) ยกเลิก nontariff barrier เช่น การห้ามการนำเข้าเนื้อหมู ค่าตรวจสินค้า นู้นนี่
และ แค่นี้อาจจะไม่พอ เราอาจจะต้องนำเสนอทางออกให้สหรัฐอีก เช่น การนำเข้าพลังงาน นำเข้าสินค้าเกษตรเพิ่มเติม นำเข้าสินค้าใหญ่ๆ อย่างเครื่องบิน อาวุธ เครื่องจักร หรือต้องหาทางเพิ่มการลงทุนในสหรัฐ

เราอาจจะต้องเปิดเสรีด้านต่างๆที่สหรัฐบ่นมาตลอด เช่น บริการทางการเงิน การคุ้มครองสิทธิทางปัญญา ประเด็นสิทธิของแรงงาน แต่แน่นอนว่าทางเลือกนี้ นอกจากการเจรจา “ภายนอก” แล้วต้องการการเจรจา “ภายใน” ที่มีประสิทธิภาพ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราควรจะยอมเปิดสินค้าเกษตรแลกกับภาคการส่งออก ใครจะยอมเสียประโยชน์ใครจะได้ประโยชน์

และเกมที่ยากที่สุดคือการหาว่าสหรัฐต้องการอะไรจริงๆ เพราะอาจจะไม่ใช่เกมการค้า แต่เป็นเรื่องอื่นอย่างการทหาร ความมั่นคง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่เราคงต้องอ่านเกมดีๆและประเมินผลได้ผลเสีย

สาม ทน คือถ้าเราหาทางออกไม่ได้ ก็คงต้องทน หรือหาแนวร่วมจากเพื่อนหัวอกเดียวกันในการกดดันและเจรจากับสหรัฐ เพราะเกมนี้สหรัฐก็อาจจะเจ็บอยู่ไม่น้อย สุดท้ายอาจจะต้องลดภาษีลงมาถ้าแรงกดดันในประเทศเพียงพอ แต่การทนและได้แต่หวังแบบไม่มีแผนคงไม่ใช่กลยุทธ์ทางออกที่ดีนัก


  •  
  •  
  •  
  •  
  •