‘SMS Marketing’ เครื่องมือการตลาดที่(อาจ)ถูกมองข้าม ให้ทรงประสิทธิภาพในการทำธุรกิจ

  • 708
  •  
  •  
  •  
  •  

SMS Marketing เป็นการทำการตลาดด้วยการส่งข้อความสั้นที่ส่งผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งข้อดี ก็คือ สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้โดยตรง , รวดเร็ว , มีราคาถูก , มี Open rate อยู่ที่ 98% สูงกว่าช่องทางดิจิทัลอื่น ๆ และสามารถวัดประสิทธิภาพได้ทันที

การตลาดผ่านข้อความสั้นนี้ สามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น การส่งข้อความหากลุ่มลูกค้าของเราที่มีฐานข้อมูลอยู่แล้ว เพื่อให้ข้อมูลข่าวสารและประชาสัมพันธ์ ตลอดจนการคอนเฟิร์มสิทธิพิเศษต่าง ๆ  ที่สามารถทำได้ทั้งแบบทุกคนทั้งฐานข้อมูลได้ข้อความเดียวกันหมด , ส่งแบ่งตามเซ็กเม้นท์ที่แต่ละกลุ่มจะได้รับข้อความต่างกัน ไปจนถึง Personalization ที่แต่ละคนจะได้รับข้อความไม่เหมือนกัน

การส่งเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์กับกลุ่มเป้าหมาย หรือสร้าง  engagement  หลัก ๆ รูปแบบนี้ลูกค้ามีความสนใจ หรืออยากเข้าร่วมกับกิจกรรมที่แบรนด์จัด จึงกดส่ง SMS เข้ามา ตัวอย่างเช่น การกดรับสิทธิประโยชน์ หรือที่เมื่อก่อนฮิตกันมาก  ๆ อย่าง การกดรหัสฝาชาเขียวชิงรางวัล เป็นต้น

การส่งข้อความหากลุ่มลูกค้าที่เราไม่มีฐานข้อมูล โดยแบรนด์มาใช้ช่องทางหรือสื่อในรูปแบบร่วมทำแคมเปญกับผู้ให้บริการมือถือ อีกรูปแบบเช่น  M Targeting ผ่าน Location Base ที่เมื่อลูกค้าเดินทางไปถึงสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง แล้วมีข้อความต้อนรับเข้าสู่งานนั้น หรือมีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ว่า ตอนนี้มีการจัดงานนี้ที่นี้ ให้นำ SMS ที่ได้ไปรับส่วนลดหรือสิทธิพิเศษ ฯลฯ

ใช้ SMS Marketing ให้เป็นเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพได้อย่างไร  

SMS Marketing สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในทุกขั้นตอนของการทำมาร์เก็ตติ้ง ขึ้นอยู่กับโจทย์และเป้าหมายทางธุรกิจของแต่ละแบรนด์ รวมไปถึงการวาง Journey และการนำไปผสมผสานกับช่องทางทำการตลาดอื่น ๆ อย่างไรให้เหมาะสม

ส่วนจะใช้อย่างไรให้มีประสิทธิภาพนั้น หลัก ๆ ต้องเริ่มจากการกำหนดกลุ่มหมายให้ชัดเจน รู้ว่ากลุ่มเป้าหมายเป็นใคร จะเข้าถึงอย่างไร ด้วยวิธีใด เมื่อไร และอย่างไร ง่าย ๆ คอนเซปต์ ก็คือ 5 W  1  H

Who – ส่งให้ใคร ใครคือกลุ่มเป้าหมาย

What – ด้วยคอนเทนท์อะไร

Why – ทำไมคนที่เราจะส่ง ถึงต้องได้คอนเทนท์นี้

When – ส่งถึงช่วงเวลาใด

Where – ส่งที่สถานที่ไหน

How – ได้รับแล้ว เอาไปใช้หรือก่อให้เกิดประโยชน์อย่างไร

ขณะที่การวัดผลของการทำตลาดผ่าน SMS สิ่งที่รู้แน่ ๆ คือ ถึงมือถือของลูกค้าหรือไม่ และส่งถึงลูกค้าจำนวนเท่าไร หรือเรียกว่า delivery rate ส่วนการจะรู้ถึง open rate ลูกค้าเปิดอ่าน SMS  ที่ส่งไปหรือไม่ ขึ้นอยู่กับมือถือและการตั้งค่าในบางรุ่นที่จะสามารถทราบได้ หรืออีกวิธี ได้แก่ นอกจากข้อความสั้นแล้ว ควรแปะลิงก์ลงไป เพราะหากมีการกดลิงก์ ก็จะทราบได้เลยถึงจำนวนเข้าถึงลูกค้า , click rate , convention rate  และtransaction rate

ใช้งบไม่มาก เริ่มต้น 200 บาทก็ทำได้    

 

หลายคนอาจคิดว่า การทำ SMS Marketing ต้องใช้งบจำนวนมาก เพื่อให้สามารถทำได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ ซึ่งความจริงแล้วมีเงินเพียง 200 บาท ก็สามารถเริ่มต้นทำได้ ไม่จำเป็นต้องใช้เงินเยอะหรือลงทุนสูง

เพราะการจะประสบความสำเร็จได้ขึ้นอยู่กับโจทย์และวัตถุประสงค์ในการใช้ของแบรนด์ รวมไปถึงการดีไซน์ให้เหมาะสม และถูกที่ถูกเวลา ที่สำคัญ เครื่องมือการตลาดผ่าน SMS ควรใช้ควบคู่ไปกับช่องทางอื่น ๆ ด้วย เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ส่วนความคุ้มค่านั้น  SMS มีข้อแตกต่างจากดิจิทัลอื่น ๆ นั่นคือ ประเด็นแรก การส่ง SMS จะคิดค่าบริการที่ส่งถึงเท่านั้น ถัดมา ส่งตรงถึงลูกค้าจริง ๆ จะไม่เจอเบอร์ปลอม หรืออวตาร์เหมือนกับช่องทางดิจิทัลอื่น ๆ

นอกจากนี้ ตอนนี้ผู้ให้บริการ SMS Marketing ได้มีการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามา เพื่อให้ทำการตลาดได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยนำเรื่องของ Big data เข้ามาเสริม ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้แบบตรงจุด ตรงกลุ่มเป้าหมาย ถูกที่ถูกเวลา และมีความเหมาะสมซึ่งจะส่งผลดีและตอบโจทย์ทางการตลาดของแบรนด์ได้เป็นอย่างดี

ข้อความสแปมมาจากไหน?

มาถึงหนึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นในการทำ SMS Marketing นั่นคือ สแปม (Spam) ข้อความที่เราไม่ได้ต้องการหรือร้องขอ ซึ่งอาจสร้างความรำคาญให้กับลูกค้าที่หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมเราถึงได้ข้อความสแปม และพวกนี้เอาเบอร์มือถือของเรามาจากไหน

ทางเอไอเอส อธิบายว่า ผู้ที่ส่งมีด้วยกัน 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มคอนเทนท์ และแบรนด์ โดยในอดีตปัญหาที่เจอหนัก ๆ และกระทบลูกค้าโดยตรงมาจากกลุ่มคอนเทนท์ ที่ส่งข้อความมานำเสนอบริการ หากไม่ต้องการรับ ต้องส่งข้อความยกเลิกภายในกี่วัน มิฉะนั้นต้องเสียเงิน แต่ปัจจุบันปัญหานี้ได้ลดลงไปแล้วหลังจากกสทช.เปิดให้ยกเลิกรับข้อความได้อัตโนมัติผ่านการกด *137

ส่วนการได้เบอร์มาอย่างไร หลัก ๆ  2 แบบ คือ แบบแรก แบรนด์บางแบรนด์ใช้วิธีรันเบอร์ เรียงเลขไปเรื่อย ๆ แล้วส่ง ซึ่งเบอร์ที่ไม่จริงจะ error ออกจากระบบ เหลือแต่เบอร์ที่มีจริง ทำให้แบรนด์ได้เบอร์ของกลุ่มลูกค้าที่มีตัวตนเก็บไว้

แบบที่ 2 เป็นลักษณะ footprint ที่เกิดจากเจ้าของเบอร์เอง เพราะตอนนี้เบอร์มือถือกลายเป็น ID รูปแบบหนึ่งที่สะดวกและรวดเร็วที่ถูกนำไปลงทะเบียนในบริการอื่น ๆ มากมาย เช่น สมัครสมาชิก การเข้าร่วมแคมเปญ การแลกพ้อยด์ การทำการใช้จ่ายผ่านทางออนไลน์  เป็นต้น โดยมีความเป็นไปได้ว่า จะมีการโอนถ่ายหรือซื้อขาย list ของเบอร์ อาทิ การทำธุรกรรมบางอย่างกับแบงก์ แล้วแบงก์มีการนำเบอร์ที่ได้ไปทำ Cross sale ทำการขายอื่น ๆ เช่น ประกัน เป็นต้น

แน่นอนว่า สแปมพวกนี้ มีผลให้คนไม่อยากรับ SMS Marketing ซึ่งปัญหาเหล่านี้ทาง กสทช.ได้ขอความร่วมมือกับผู้ให้บริการทุกรายระงับการไม่รับ SMS ผ่าน การกด*137 รวมไปถึงตั้งกฏในเรื่อง sender name ที่ไม่ว่าแบรนด์ใดจะส่งต้องได้รับการตรวจสอบการมีตัวตน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความน่าเชื่อถือ และลดความเสี่ยงต่อความไม่เหมาะสมที่อาจเกิดได้จาก SMS นั้น ๆ

*ข้อสังเกต

เราจะเห็นว่า มีหลายแบรนด์ในหลายธุรกิจ จะมีการใช้ sender name หลายชื่อ อาทิ แบงก์ ที่เลือกใช้ sender name ในแต่ละธุรกรรมหรือบริการแตกต่างกันไป เนื่องจากแบงก์มีการนำ SMS  Marketing ไปใช้ในหลากหลายวัตถุประสงค์ อาทิ ให้ข่าวสาร การยืนยันการทำธุรกิจ อย่าง OTP ฯลฯ

ดังนั้น เพื่อป้องกันความเดือดร้อนรำคาญ และให้ลูกค้าสามารถเลือกจะรับหรือไม่รับข้อความนั้น จึงมีการใช้ sender name ที่ต่างกันแยกตามวัตถุประสงค์ ที่สำคัญยังช่วยให้สามารถสร้างคอนเทนท์ได้อย่างเหมาะสม ตรงและโดนใจกับกลุ่มลูกค้า ซึ่งตรงนี้จะทำให้เกิดผลดีต่อแบรนด์

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก Ais For Business


  • 708
  •  
  •  
  •  
  •