ตอนนี้ผู้บริโภคได้ปรับตัวสู่โลกดิจิทัลมากขึ้น เช่น การซื้อสินค้าและชำระเงินออนไลน์ ฯลฯ ซึ่งเป็นผลพวงจากมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ขณะที่ผู้บริโภคบางส่วนเลี่ยงการใช้เงินสดในการจับจ่ายใช้สอย แล้วจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น มีผลอย่างไรต่อพฤติกรรมผู้บริโภคและธุรกิจไทย หากมองธุรกิจผ่านข้อมูลการชำระเงินผ่านอิเล็กทรอกนิกส์ หรือ e-Payment
จากการศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติถึงพฤติกรรมการชำระเงินของคนไทย พบว่า แม้คนไทยยังนิยมใช้เงินสด แต่การใช้ e-Payment ก็มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นและเติบโตอย่างก้าวกระโดดโดยเฉพาะในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา โดยปริมาณการใช้ e-Payment เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า จาก 49 ครั้งต่อคนต่อปีในปี 2559 เป็น 151 ครั้งต่อคนต่อปีในปี 2563 (ข้อมูล เม.ย. 63)
เหตุผลมาจากการพัฒนาการทางเทคโนโลยี ตลอดจนนโยบายการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะโครงการพร้อมเพย์ในปี 2560 ที่ช่วยทำให้ต้นทุนการโอน e-Payment ถูกลง ขณะเดียวกันก็มีฟังก์ชั่นการใช้งานที่หลากหลาย เพราะเป็นโครงสร้างพื้นฐานกลางที่สามารถต่อยอดบริการต่าง ๆ เพิ่มเติมได้ อาทิ การโอนเงินภาครัฐ การโอนเงินรายย่อยและธุรกิจ ระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) รวมถึง QR Payment ที่ปัจจุบันมีจุดบริการกว่า 6 ล้านจุดทั่วประเทศ
นอกจากนี้ยังพบว่า การใช้ e-Payment ของคนไทยทั่วประเทศ ปี 2560 ยังกระจุกอยู่ในกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงานบางสาขาอาชีพ ขณะเดียวกันบทบาทของเงินสดเองก็มีมากกว่าการเป็นสื่อกลางในการชำระเงิน เช่น การเก็บเงินสดไว้สำรองใช้ยามฉุกเฉิน
โควิด 19 กระตุ้นให้ผู้บริโภคเลี่ยงการใช้เงินสด
แม้การใช้ e-Payment ของคนไทยยังจำกัดอยู่ในบางกลุ่ม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า โควิด 19 เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้หันมาใช้ e-Payment มากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความกังวลในการสัมผัสเงินสด เทรนด์นี้ได้เกิดขึ้นทั่วโลกสะท้อนจากสถิติการค้นหาคำที่เกี่ยวข้องกับ “เงินสดและโควิด” ซึ่งข้อมูลจากธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) พบว่า การค้นหาเพิ่มสูงขึ้นในเดือน มี.ค. – เม.ย. 63 เพราะเป็นช่วงที่มีการแพร่ระบาดสูงสุด
ที่น่าสนใจคือ สถิติการค้นหาสอดคล้องไปกับสถานการณ์ในแต่ละประเทศ เช่น ในเกาหลีใต้มีสถิติสูงครั้งแรกตั้งแต่ปลาย ม.ค. 63 ที่เริ่มมีการแพร่ระบาด และสูงขึ้นอีกครั้งในเดือน พ.ค. 63 ซึ่งมีการระบาดรอบสอง ขณะที่สิงคโปร์ , ไทย และทั่วโลก มีสถิติคำค้นที่เพิ่มขึ้นไล่เรียงกันมาเป็นลำดับตั้งแต่เดือน ก.พ. 63
โอกาสของธุรกิจไทยในการก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล
การใช้ e-Payment ของคนไทยในช่วงที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นจากระดับปกติ จากธุรกรรมอินเตอร์เน็ตและโมบายแบงก์กิ้งที่ขยายตัวสูงขึ้นกว่า 72% ขณะที่มีการชำระเงินผ่านพร้อมเพย์สูงสุดถึง 16.3 ล้านรายการต่อวัน (เม.ย. 63) และคาดว่า ในระยะข้างหน้าการใช้งานยังคงเติบโตอย่างก้าวกระโดด เป็นผลจากความคุ้นชินในการใช้ e-Payment ภายใต้บริบทใหม่
มาตรการล็อกดาวน์ทำให้หลายธุรกิจโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบ สะท้อนจากข้อมูลการใช้จ่ายผ่านบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับลดลง แต่ธุรกิจบางประเภทยังขยายตัวได้ เช่น ซุปเปอร์มาร์เก็ต สุขภาพและความงาม การตลาดทางตรง เรายังเห็นธุรกิจดาวรุ่งด้านขนส่งสินค้าที่เติบโตเร็วสอดรับไปกับการใช้จ่ายออนไลน์ ซึ่งมีนัยต่อเศรษฐกิจเพราะมีส่วนช่วยรองรับแรงงานที่ตกงานได้บางส่วน นับว่าเทรนด์เศรษฐกิจดิจิทัล โดยเฉพาะการขายออนไลน์เป็นโอกาสของธุรกิจไทยที่มาแรงและน่าจะยังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นช่องทางเข้าถึงความต้องการของผู้บริโภคได้โดยตรง ประกอบกับสามารถปรับใช้ได้ด้วยต้นทุนต่ำ
ดังนั้น การปรับตัวของร้านค้าและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่คุ้นชินกับ e-Payment ตลอดจนนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลเร็วขึ้น โดย ธปท. และสถาบันการเงินไทยพร้อมสนับสนุนและพัฒนาระบบชำระเงินให้ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และปลอดภัยพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค รวมถึงเทคโนโลยีการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่จะพัฒนาต่อไปในอนาคต
ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย