สร้างกระแส Talk of the Town จนสนั่นโลกโซเชียลมาแล้ว สำหรับ ‘NanyangRED’ หรือนันยางสีแดง สินค้า Limited Edition ซึ่ง ‘นันยาง’ บอกว่า เป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์ของแบรนด์ที่ไม่เคยทำมาก่อน และประเด็นที่น่าสนใจมากไปกว่านั้น ก็คือ กว่าจะเผยโฉมออกมาให้เห็น ก็มีการปล่อยทีเซอร์กระตุ้นความอยากและสร้างกระแสความสนใจออกเป็นระลอก ๆ
ไม่ว่าจะเป็น มีการอัพเดทความเคลื่อนไหวทุก ๆ 6 โมงเย็น , ต้องสั่งจองล่วงหน้าและทาง facebook เท่านั้น , จำกัดช่วงเวลาโอนเงิน , วางราคาจำหน่ายที่ 600 บาท เป็นต้น จนหลายคนสงสัย(ปนรำคาญในความลำไย) ว่า ทำไมต้องกำหนดเงื่อนไขแบบนั้น
ตอนนี้คนที่สงสัยก็ไม่ต้องสงสัยอีกต่อไป เพราะ ‘จักรพล จันทวิมล’ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและขาย บริษัท นันยาง มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ได้มาเฉลย ผ่านเพจ Simple Thoughts by Chakrapol ถึงที่มาที่ไปของ NanyangRED รวมถึงการวางกลยุทธ์ต่าง ๆ ของสินค้ารุ่นนี้ที่เขานิยามว่า Unlimited Limited Edition
เริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจกับสินค้า Limited Edition (หรือบางแห่งเรียก Special Edition) กันก่อน ขอแยกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่
1.สินค้า FMCG: ทำ packaging ใหม่ เพิ่มของ premium หรือ ได้ลิขสิทธิ์จาก partner เช่นตัวการ์ตูน ภาพยนตร์ หรือ มหกรรมกีฬา เป็นต้น ส่วนใหญ่จะผลิตในช่วงเวลาหนึ่ง ทดแทนสินค้าปกติ (เกือบ) ทั้งหมด ในราคาเท่าเดิม หลังจากนั้นก็จะกลับมาเป็นสินค้าปกติ หรือเปลี่ยนเป็น series อื่นๆ ต่อไป
2.Rare item: สินค้าที่ผลิตจำนวนจำกัด (จำนวนน้อยมาก) เมื่อเทียบกับสินค้าปกติ มีความพิเศษตามสถานการณ์, การออกแบบ บางครั้งเป็นการร่วมมือกันเฉพาะกิจกับบุคคลหรือหน่วยงานอื่น ราคาสูงกว่าสินค้าปกติ มีข้อจำกัดและวิธีการซื้อที่แตกต่างออกไป และในบางครั้งหากมีความต้องการสินค้า มากกว่าจำนวนสินค้า ก็อาจมีการเก็งกำไรในอนาคตในตลาดรอง
ด้านผู้ผลิตสินค้าทั้ง 2 ลักษณะล้วนมีสาเหตุในเชิงการสื่อสารไปยังผู้บริโภค บอกความเคลื่อนไหวที่ทันสมัยของสินค้า และทำให้แบรนด์เข้าไปอยู่ในใจของผู้บริโภคในขั้นสุดท้าย แต่ผลกำไรที่ได้จากสินค้า Limited Edition นั้น ยังคงเป็นสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับสินค้าหลัก เนื่องจากปริมาณน้อยและกระบวนการผลิตที่ซับซ้อน
หลังจากที่ได้รับไฟเขียวให้ผลิต NanyangRED ปัญหาใหญ่ต่อมาคือ “จะขายยังไงให้ได้ 6 ที่สุด ?”
1. คุณค่ามากที่สุด ⭐
2. จำนวนมากที่สุด ↗️
3. ใช้เวลาน้อยที่สุด ⏳
4. ซื้อง่ายที่สุด 🧾
5. โดนด่าน้อยที่สุด 🗣
6. เสี่ยงน้อยที่สุด ⁉️
เมื่อถอดสมการ 6 ข้อนี้ ทำให้ตัด ‘ความเป็นไปได้’ เกือบทุกอย่าง เช่น
– ทำแบบ จำนวนจำกัด
❌ ตกข้อ 2 โดยปริยาย
❌ ตกข้อ 5 ถ้าขายหมด และมีคนอยากได้อีกเยอะ ก็จะโดนต่อว่า และอาจเกิดการทะเลาะกัน
❌ ตกข้อ 6 ถ้าขายไม่ออก ก็เจ๊ง…
.
– ทำเป็นสินค้าใหม่ ใน line สินค้าปกติ ผลิตเรื่อยๆ
❌ ตกข้อ 1 ไม่มีคุณค่า
❌ ตกข้อ 3 ไม่รู้เวลาที่ชัดเจน คนขายสับสน ไม่รู้จะขายสินค้าหลัก หรือ ตัวใหม่ดี
❌ ตกข้อ 6 อย่างเขียด….
วิธีการจำหน่าย NanyangRED จึงเป็นแบบที่ผมเรียกเล่นๆ ว่า ‘Unlimited Limited Edition’ ไม่จำกัดจำนวน แต่จำกัดเวลา (เปิดจำหน่าย 90 นาที หากสั่งซื้อในเวลานี้จะได้ทุกคน) ความจริงก็เป็นหลักการคล้ายกับการ Pre Order หรือการ Made to order ซึ่งจะผลิตตามจำนวนที่สั่งเท่านั้น มีคุณค่าด้วยการผลิตครั้งเดียว ไม่ผลิตซ้ำ สามารถสั่งซื้อได้ทุกคนแต่จำกัดด้วยเวลาพอประมาณ หลีกเลี่ยงการเก็งกำไรในตลาดรองกรณีขายดีมาก และลดความเสี่ยงของโรงงานในการผลิตกรณีขายไม่ออก
หลังจากที่ Execute วิธีการดังกล่าว ก็คิดว่าสามารถตอบโจทย์ “6 ที่สุด” ได้ในระดับหนึ่ง
✅1. คุณค่ามากที่สุด
(ลูกค้าที่ซื้อ ยินดีจ่ายในราคาที่สูงกว่าปกติ เนื่องจากมองเห็นมูลค่าที่สูงขึ้นของสินค้า)
✅2. จำนวนมากที่สุด
(จำนวนที่ลูกค้าสั่งซื้อ มากกว่าที่เราคาดการณ์ไว้ที่ 2,000 คู่ : หากใช้วิธีการผลิตแค่ 2,000 คู่ จะทำให้มีคนเสียโอกาส และต่อว่าจำนวนมาก)
✅3. ใช้เวลาน้อยที่สุด
(เปิดการขาย 90+6 นาทีเท่านั้น ทั้งนี้หลังจากนั้นทีมงานหลังบ้านไม่ได้นอนกัน 2 อาทิตย์ T_T)
✅4. ซื้อง่ายที่สุด
(พิมพ์คอมเม้นท์ใน Facebook รอตอบกลับแล้วโอนเงิน แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีลูกค้าจำนวนไม่น้อย ที่ไม่สามารถเข้าถึง Facebook หรือ ไม่เข้าใจกติกาที่กำหนด)
✅5. โดนด่าน้อยที่สุด
(ขอเน้นคำว่า “น้อยที่สุด” เพราะก็โดนด่าอยู่ดี ไม่นับรูปแบบสินค้าที่ออกมา แต่ยังมีเสียงวิพากวิจารณ์ในทุกรูปแบบ ซึ่งเราก็น้อมรับและปรับปรุงในอนาคต)
✅6. เสี่ยงน้อยที่สุด
(ด้านธุรกิจ ลดความเสี่ยงที่จะผลิตสินค้าแล้วขายไม่ออก แต่ก็ยังมีความเสี่ยงด้านชื่อเสียงของแบรนด์ที่ต้องทำให้ดีที่สุด เนื่องจากเกิดเป็นกระแสสังคมและความคาดหวังของลูกค้า)
แล้วแฟน Marketing oops ล่ะ ใครมี ‘NanyangRED’ ไว้ในครอบครองบ้าง
ที่มา : Simple Thoughts by Chakrapol