ตึกในไทยทนแผ่นดินไหวได้ไหม? พร้อมวิธีสังเกตอาคารไหนควรอยู่ อาคารไหนควรเลี่ยง

  • 8
  •  
  •  
  •  
  •  

จากเหุตแผ่นดินไหวรุนแรงในประเทศเมียนมาร์ระดับ 8.2 แมกนิจูด สั่นสะเทือนรู้สึกมาจนถึงกทม.ส่งผลให้เกิดความเสียหายจำนวนมาก แน่นอนว่าคำถามคาใจของเราก็คือ ตึกรามบ้านช่องที่เราอยู่ๆ กันโดยเฉพาะตึกสูงๆ มันแข็งแรงพอจะรับมือแผ่นดินไหวได้แค่ไหน? เรามีวิธีสังเกตไหมว่าตึกไหนจะปลอดภัยมากกว่าและตึกแบบไหนควรที่จะหลีกเลี่ยง

เรามีกฎหมายควบคุมอาคารบังคับเรื่องนี้อยู่

เรื่องการสร้างตึกรับแรงแผ่นดินไหวบ้านเรามีกฎหมายคอยคุมอยู่เป็น “กฎกระทรวง” หลักๆ มี 3 ฉบับที่เกี่ยวกับแผ่นดินไหว

  1. ฉบับปี 2540 (ฉบับแรก) : บอกว่าตึกที่สูงเกิน 15 เมตร (นึกภาพตึกซัก 5 ชั้นขึ้นไป) ใน 10 จังหวัดโซนเสี่ยง (เชียงราย, เชียงใหม่, ตาก, น่าน, พะเยา, แพร่, แม่ฮ่องสอน, ลำปาง, ลำพูน, กาญจนบุรี) ต้องออกแบบให้ทนแผ่นดินไหวได้ด้วย เพราะจังหวัดพวกนี้อยู่ใกล้รอยเลื่อน
  2. ฉบับปี 2550 (ขยายเพิ่ม): เพิ่มเติมให้ตึกสูงเกิน 15 เมตร ใน กทม. และจังหวัดรอบๆ (นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร) ต้องออกแบบให้ทนแผ่นดินไหวเหมือนกัน เพราะถึงจะไกลรอยเลื่อน แต่ดินแถวนี้มันมีความนุ่ม พอแผ่นดินไหวไกลๆ มันก็สั่นสะเทือนมาถึงได้เยอะมากกว่า
  3. ฉบับปี 2564 (ล่าสุด! อัปเดตใหญ่): ฉบับนี้ ยกเลิกฉบับปี 2550 และ อัปเดตใหม่หมด (มีผลบังคับใช้ปลายปี 64) เพราะเจอพื้นที่เสี่ยงเพิ่ม และเทคนิคก่อสร้างก็พัฒนาไปแล้ว

สำหรรับ “กฎกระทรวงฉบับปี 2564” นี้มีการ แบ่งโซนเสี่ยงใหม่เป็น 3 ระดับ ครอบคลุมจังหวัดเยอะขึ้น รวมๆ แล้ว 40 กว่าจังหวัด มีการควบคุมตึกหลายประเภทมากขึ้น ไม่ใช่แค่ตึกสูงๆ แต่รวมถึงตึกสำคัญๆ ตึกคนเยอะๆ หรือแม้แต่บ้านจัดสรรในบางโซนด้วย (โซน 1 เสี่ยงน้อย,โซน 2 ปานกลาง, ส่วน โซน 3 เสี่ยงสูงก็จะคุมเข้มกว่าเพื่อน) ส่วน รายละเอียดทางเทคนิค เช่น ต้องรับแรงได้เท่าไหร่ คำนวณยังไง จะแยกไปอยู่ใน ประกาศย่อยๆ อีกที

กฎหมายนี้บอกอะไรเรา

สำหรับกฎหมายทั้ง 3 ฉบับนี้ พูดง่ายๆว่าถ้าจะสร้างตึกใหม่ตอนนี้ ต้องทำตามกฎหมายปี 2564 ซึ่งเข้มงวดและครอบคลุมที่สุด ส่วนตึกที่สร้างช่วงปีหลังปี 2540 และหลังปี 2550 ก็ควรจะทำตามกฎหมายในแต่ละช่วงเวลา นั่นหมายความว่าตึกเก่าที่สร้างก่อนปี 2540 ก็อาจจะเรียกว่ามีโอกาสเสี่ยงที่จะทนแรงแผ่นดินไหวไม่ได้มากกว่าช่วงหลังกฎหมายออก

แล้วตึกที่ออกแบบตามกฎหมายทนแผ่นดินไหวได้แค่ไหน

สำหรับกฎหมายทุกฉบับมีเป้าหมายเดียวกัน คือ ให้ออกแบบตึกเผื่อรับมือแผ่นดินไหวแรงๆที่อาจจะเกิดในไทยได้ตามแนวคิดคือประมาณ 7-7.5 ริกเตอร์ โดยคิดแบบเผื่อเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งที่รุ่นแรงที่สุดที่เราเคยเจอมาแล้ว

สำหรับ “วิธีคิดแบบเก่า ปี 2550” เคยกำหนดคร่าวๆ ว่าตึกต้องรับ “แรงเหวี่ยงด้านข้าง” ได้กี่เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตึก (เช่น 4-12% สำหรับ กทม. หรือ 4-15% สำหรับภาคเหนือ/กาญจนบุรีที่ใกล้รอยเลื่อนมากกว่า)

ส่วน “วิธีคิดแบบใหม่ ปี 2564” ไม่ได้กำหนดเป็นเปอร์เซ็นต์ตายตัวในกฎกระทรวงหลักแล้ว แต่จะไปกำหนดรายละเอียดในประกาศย่อยๆแทน ซึ่งจะซับซ้อนกว่าเดิมและขึ้นอยู่กับโซนความเสี่ยงใหม่รวมถึงประเภทของตึกด้วย แต่หลักๆ คือกฎหมายกำหนดให้ต้องออกแบบให้โครงสร้างมีความ “เหนียว” ไม่เปราะหักง่าย มีรูปทรงมั่นคงแข็งแรง และคำนวณแล้วว่ารับแรงสั่นสะเทือนตามมาตรฐานใหม่ได้

วิธีสังเกตุ “อาคารเสี่ยง” ฉบับชาวบ้าน

แน่นอนว่าถ้าจะเอาให้ชัวร์ก็คงต้องให้วิศวกรมาดูอย่างละเอียด แต่เราก็พอจะสังเกตเบื้องต้นได้ว่าอาคารไหนอยู่ได้อาคารแบบไหนควรหลีกเลี่ยง โดยข้อมูลนี้มาจาก “คู่มือปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยและการก่อสร้างอาคารในพื้นที่เสี่ยงแผ่นดินไหวฉบับประชาชน” ของกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย

  • “ทำเลที่ตั้ง” : อาคารอยู่ในโซนเสี่ยงตามประกาศรึเปล่า? (ใกล้รอยเลื่อน, ดินนิ่ม) ลองถาม อบต. หรือเทศบาลแถวบ้านดูได้ บ้านอยู่บนเนิน, ตีนเขา, หรือใกล้ต้นไม้ใหญ่มากๆ มั้ย? เวลาไหวแรงๆ อาจมีดินถล่มหรือต้นไม้ล้มทับได้
  • “อายุตึก” : เก่าแค่ไหน? สร้างก่อนปี 2540 หรือ 2550 (แล้วแต่โซน) รึเปล่า? ถ้าใช่ ก็อาจจะไม่ได้สร้างตามมาตรฐานใหม่ล่าสุดได้
  • “สภาพตึก” : ดูโทรมๆ มั้ย? มีปูนแตกๆ ร่อนๆ ให้เห็น, มีเหล็กเส้นโผล่มาเป็นสนิม, ถ้าเป็นอาคารไม้ โครงหลังคาผุๆ รึเปล่า? ยิ่งโทรมความแข็งแรงก็น้อยลงเป็นธรรมดา สามารถดูได้ตรงรอยต่อต่างๆ เช่น คานชนกับเสา, พื้นต่อกับคาน ดูมันแยกๆ ร้าวๆ ไม่แน่นหนาเหมือนเดิมหรือไม่

  • “รูปทรงตึก” : ตึกรูปทรงแปลกๆ ไม่ใช่สี่เหลี่ยมตรงๆ เช่น ตึกรูปตัว L, ตัว T, ตัว U หรือตึกที่บางส่วนสูงบางส่วนเตี้ย ดูไม่สมส่วน รูปทรงประเภทนี้เวลาเกิดแผ่นดินไหวอาจจะบิดตัวง่ายตรงมุมหัก นอกจากนี้ลองสังเกตุดูว่าอาคารชั้นล่างโล่งๆ โปร่งๆ มีเสาไม่กี่ต้นรึเปล่า? ชั้นล่างที่อ่อนแอกว่าชั้นบนแบบนี้ เวลาไหวอาจจะยุบลงมาได้ง่ายๆ

  • ฐานราก: อันนี้อาจดูยากหน่อย) ถ้าเป็นตึกเก่ามากๆ อาจใช้ฐานรากแบบไม่มีเหล็กข้างใน (เช่น เทปูนอย่างเดียว, ใช้หิน, ใช้อิฐก่อ) พวกนี้จะทนแรงสั่นได้ไม่ดีเท่าแบบมีเหล็ก

  • ช่องเปิด (ประตู/หน้าต่าง): เจาะหน้าต่าง/ประตูเยอะไปมั้ย? จนผนังทำหน้าต่างจนทำให้เสาเหลือเล็กนิดเดียวหรือหรือเจาะเป็นหน้าต่างกว้างไม่มีเว้นเสาเลยรึเปล่า? เพราะการเจาะหน้าต่างมากเกินหรือใหญ่เกินจนไม่สม่วน อาจทำให้เสียหายง่ายกว่าเวลาโดนแรงเยอะๆ
  • การยึดโยง: (มองยากนิดนึง) โครงสร้างมันดูไม่ค่อยมีอะไรมายึดให้มันแน่นหนาเป็นชิ้นเดียวกันรึเปล่า? โดยเฉพาะตรงโครงหลังคา หรือตรงชั้นล่างโล่งๆ ควรจะมีตัวค้ำยันหรือเหล็กยึดแนวทแยงช่วยให้มันแข็งแรง ไม่โยกเยกง่ายๆ

โดยสรุปแล้วเราก็สามารถหาข้อมูลหรือสังเกตอาคารที่เราอยู่ได้ง่ายๆเช่นดูปีที่ก่อสร้าง สังเกตว่าตึกสูงๆ ใหม่ๆ ในโซนเสี่ยงที่สร้างตามกฎหมาย ก็น่าจะอุ่นใจได้ระดับนึง แต่ตึกเก่า หรือตึกที่ไม่ได้อยู่ในข่ายกฎหมาย ก็ยังต้องคอยสังเกตกันหน่อย ถ้าเห็นอะไรแปลกๆ หรือไม่แน่ใจก็อาจจ้องแจ้งให้วิศวกรมาช่วยดูและแก้ไขจะดีที่สุด


  • 8
  •  
  •  
  •  
  •