คำว่านวัตกรรมในการศึกษานั้นสามารถเป็นได้หลายสิ่ง เช่น การรวมกันระหว่างเทคโนโลยีใหม่หรือวิธีการสอนใหม่ๆ, การออกไปทำงานภาคสนาม, การปฏิเสธมาตรฐานทางสังคมในรูปแบบเดิม หรือการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนท้องถิ่น
อย่างไรก็ตาม ในบทความนี้จะนำเสนอโรงเรียนในหลายแง่มุม หลายมิติของคำว่านวัตกรรม ซึ่งรวมทั้งที่มีทั้งแนวทางการสอนที่ใหม่ การเทคโนโลยีการสอนใหม่ๆ และการสร้างโรงเรียนด้วยแนวความคิดใหม่ๆ อีกด้วย เป็นการเปิดโลกให้เห็นว่าในระบบการเรียนการสอนจากที่ต่างๆ จากทั่วโลกนั้นเป็นอย่างไรกันบ้าง ที่น่าสนใจคือประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่างกัมพูชาก็ติดอันดับด้วย ส่วนจะมีที่ไหนบ้างไปดูกันค่ะ
Makoko โรงเรียนลอยได้ ที่ลากอส ไนจีเรีย
ที่นี่เป็นโรงเรียนของคนหลายอายุ หรืออาจจะเรียกเป็นสถานเรียนรู้ของชุมชนก็ได้ และเป็นตัวอย่างโปรเจ็คต์ของการปลูกสร้างในภูมิภาคใกล้ชายฝั่งของแอฟริกา
น่าสนใจมากกับนวัตกรรมการสร้างโรงเรียนตามแบบ Makako คือสร้างเป็นรูปแบบสามเหลี่ยม มีพื้นที่ 1 พันตารางฟุต โดยโรงเรียนจะมีทั้งพื้นที่เล่น ห้องน้ำ ห้องเรียน และยังสามารถเป็นบ้านให้กับนักเรียนหรือคนในชุมชนได้ 100 คนขึ้นไป
ซึ่งทาง UN ได้ประเมินว่าในปี 2050 ประเทศในทวีปแอฟริกา 28 ประเทศ จะมีประชากรเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว จึงคาดว่าจะมีปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยแน่นอน ดังนั้นหากสามารถแก้ปัญหาด้วยการสร้างบ้านที่ลอยบนน้ำได้ก็อาจจะลดปัญหาเรื่องของที่อยู่อาศัยได้นั่นเอง
Ørestad Gymnasium โคเปนเฮเกน เดนมาร์ก
Ørestad Gymnasium เป็นโรงเรีนที่มีห้องเรียนขนาดใหญ่ นักเรียนไฮสคูลกว่า 1,100 คน ใช้เวลาในการเรียนรู้ในลูกบาศก์แก้วซึ่งขยายออกได้ และเรียกมันว่า “gymnasium”
“เราต้องการการสอนในที่ๆ เด็กจะสามารถทำการศึกษาวิจัยและทำงานร่วมกันบนการแก้ปัญหาจริง ดังนั้น เราจึงต้องการให้โรงเรียนมีลักษระเปิดกว้าง ซึ่งจะสามารถเชื่อมโยงกับโลกภายนอกได้”Allan Kjær Andersen อาจารย์ใหญ่กล่าว
พื้นที่เปิดที่ว่านี้ ตกแต่งไปด้วยพื้นที่กว้างทรงกลมดูแล้วคล้ายกับกลองใบใหญ่ตั้งอยู่ภายใน โดยเป็นพื้นที่ให้ได้พักผ่อน เรียนรู้สภาพแวดล้อม และสนับสนุนให้นักเรียนได้ทำกิจกรรมตามความสนใจบนพื้นที่นี้ได้
“มันอาจจะไม่เพียงพอที่จะถ่ายทอดวิชาความรู้ให้กับเขา แต่คุณสามารถให้วิธีในการสร้างความรู้ให้เกิดขึ้นกับพวกเขาได้ และมันสำคัญสำหรับเรามากๆ และส่วนตัวแล้วก็คิดว่าสำคัญมากสำหรับโรงเรียนสมัยใหม่” อาจารย์ Andersen กล่าว
The Big Picture Learning โรงเรียนในพรอวิเดนซ์โรดไอแลนด์
The Big Picture Learning ถือว่าเป็นสถาบันที่ได้ทำลายกำแพงระหว่างการศึกษาและการทำงานในโลกแห่งความเป็นจริง ที่นี่เน้นสร้างแรงบันดาลใจมาเป็นอันดับแรก และเพื่อขับเคลื่อนแรงบันดาลใจนี้นักเรียนก็จะมาพร้อมกับที่ปรึกษา ซึ่งจะทำงานภาคสนามร่วมกับนักเรียน
“ปัจจัยที่สำคัญมากที่สุดสำหรับการศึกษาที่โรงเรียน Big Picture Learning ก็คือนักเรียนได้เรียนรู้ในโลกจริง” Rodney Davis ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารของโรงเรียนกล่าว
ทั้งในตอนท้ายนักเรียนแต่ละคนจะจบหลักสูตรพร้อมด้วยใบประกาศ LTI (Learning Through Internship) “โปรเจ็คต์จะเชื่อมโยงกับความสนใจของนักเรียน และการประชุมร่วมกับที่ปรึกษา ซึ่งหลักสูตรที่นี่มีหลากหลายตั้งแต่ด้านธุรกิจ ซ่อมรถ หรือเรียนด้านกฎหมายก็มี” ผู้อำนวยการ Davis กล่าว
Egalia Pre-schoolที่สตอกโฮล์ม สวีเดน
ระบบของโรงเรียน Egalia ก่อตั้งมาบนพื้นฐานความเท่าเทียมของนักเรียนทุกคน โดยระบบนี้เกิดจาก 2 โรงเรียนร่วมกัน ได้แก่ Egalia และ Nicolaigården ซึ่งปฏิเสธสรรพนามพื้นฐานทางเพศ เพื่อหวังหล่อหลอมให้เด็กนึกถึงคนอื่นๆ อย่างเท่าเทียม แทนที่จะใช้คำเรียก “he” หรือ “she” เด็กๆ จะเรียกกันและกันด้วยชื่อแรกหรืออ้างถึงในฐานะ they ก็ยังได้ มันคือภารกิจสำคัญที่จะหลีกเลี่ยงการเลือกปฏิบัติ ทั้งนี้ เด็กเรียนรู้ที่จะตัดสินคนจากการกระทำของเขาไม่ใช่การเหมารวมจากสิ่งที่เขาเป็น
“มันสำคัญว่าเด็กๆ เรียนรู้สิ่งนี้บนพื้นฐานของประชาธิปไตย ทั้งทางด้านทฤษฎีและปฏิบัติเพื่อที่จะเป็นประชากรที่ดีบนโลก และเป็นคนที่จะไม่เลือกปฏิบัติต่อใคร นอกจากนี้ ความเชื่อในคุณงามความดีคือพื้นฐานสำคัญของการเรียนรู้และการพัฒนา” อาจารย์ใหญ่ Lotta Rajalin กล่าว
AltSchool ที่ซานฟรานซิสโก แคลิฟอร์เนีย โรงเรียนแห่ง Silicon Valley
ที่ AltSchool แห่งนี้แตกต่างจากการศึกษาในรูปแบบดั้งเดิมชนิดหน้ามือเป็นหลังมือทีเดียว แน่นอนว่าได้ชื่อว่าเป็นโรงเรียนแห่ง Silicon Valley ย่อมมีแต่เทคโนโลยีที่ทันสมัย นอกจากนี้ ยังสอนให้เด็กรู้จักคิดอย่างสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงโลกในอนาคต
ทุกวันเด็กๆ จะเปลี่ยนวัตถุประสงค์ลงไปในบอร์ดอิเล็กทรอนิกส์และเรียนรู้ผ่าน 3D โมเดลลิ่งเพื่อที่จะสร้างเพลย์เฮ้าส์ ที่ทำอย่างนี้ก็เพื่อที่จะให้เด็กๆ รู้สึกสบายใจกับการรับมืออนาคตใหม่ๆ ที่จะมาทักทายเขา
“เราควรที่จะให้การศึกษาเด็กจากมุมมองของเด็กเอง ที่ๆ เขาจะได้เรียนรู้การแก้ปัญหา เรียนรู้อารมณ์ทางสังคม นักเรียนควรเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการต่างๆ ที่มันดำเนินต่อไป” ซีอีโอ Max Ventilla กล่าว
AltSchool เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเป็นโรงเรียนที่สอนเด็กตั้งแต่อายุ 4 ปีไปจนถึง 14 ปี เริ่มต้นจากที่ซานฟรานซิสโก เมื่อปี 2013 ตอนนี้ขยายไปยัง บรูคลิน นิวยอร์ค และ พาโลอัลโต แคลิฟอร์เนีย และในอนาคตวางแผนจะเปิดในประเทศอื่นๆ อีกด้วย
โรงเรียนวิชาชีพ Sra Pou เมือง Sra Pou ประเทศกัมพูชา
เป็นโรงเรียนสำหรับคนทุกอายุ สร้างโดยคนในชุมชนสำหรับสมาชิกในชุมชน เพื่อแปรเปลี่ยนความสนใจให้เป็นสิ่งที่ประกอบอาชีพได้ โดยเหล่าคุณครูมาจากกลุ่มเอ็นจีโอที่แวะเวียนกันมาแนะแนวทางให้กับนักเรียนตามความสนใจ
การสร้างโรงเรียนมาจากการเรียนรู้ร่วมกัน ในฐานะเป็นสถาปัตยกรรมที่สร้างเคียงข้างกับที่อยู่อาศัยของคนในท้องถิ่น นอกจากนี้ โรงเรียนยังให้อิสระในการเข้าออกของสมาชิกในครอบครัวได้ มาเรียนรู้ร่วมกัน และถ้าใครผลิตสินค้าหรือสิ่งของก็นำออกไปขายให้กับชุมชนที่อยู่ใกล้ๆ โรงเรียน
ทั้งนี้ นอกจากจะเป็นสถานศึกษาแล้ว ยังสามารถกลายมาเป็นหอประชุมสำหรับชุมชนเพื่อนำมาใช้ในกิจกรรมต่างๆ ก็ได้
P-TECH High School ที่บรูคลิน นิวยอร์ค
P-TECH เปิดตัวเมื่อปี 2011 โดย IBM เพื่อที่จะเป็นหนทางให้วัยรุ่นในนิวยอร์คไปสู่วิทยาลัยเร็วขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องเรียนไฮสคูลก่อนเป็นเวลา 4 ปี แต่สามารถเรียนจบจากที่นี่รวดเดียวเลยใน 6 ปี สำหรับเด็กปี 5 และปี 6 ก็จะได้รับใบอนุปริญญาจากวิทยาลัย New York City College of Technology และสามารถนำไปต่อในระดับปริญญาตรีได้เลย
โรงเรียน Steve Jobs ที่อัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์
อย่าได้เข้าใจผิดว่าเป็นโรงเรียนของอดีตซีอีโอแอปเปิ้ลเชียว เพราะเป็นเพียงแค่ชื่อเหมือนกันเท่านั้น สำหรับโรงเรียน Steve Jobs ปฏิเสธความรู้แบบ conventional wisdom แทนที่จะแบ่งเด็กตามระบบการศึกษารูปแบบเดิมๆ แต่พวกเขามีแนวทางของเขาเอง
Maurice de Hond ผู้ก่อตั้งโรงเรียน เปิดเผยว่า นักเรียนแต่ละคนจะเริ่มต้นกับระบบ Individual Development Plan (IDP) ซึ่งจะใช้วิธีการประเมินแล้วปรับปรุงแก้ไขทุกๆ 6 สัปดาห์ โดยตัวเด็กเองหรือพ่อแม่ของเด็กร่วมกับโค้ช (โรงเรียนนี้เก๋ตรงที่จะไม่เรียกว่าคุณครู)
ทั้งนี้ นักเรียนทุกคนที่อยู่ตั้งแต่เกรด 4-12 จะได้รับ iPad คนละเครื่อง โดยภายในจะบรรจุไปด้วยแอพฯ สำหรับการเรียนรู้ เป้าหมายคือเพื่อให้เด็กๆ ได้ออกแบบการศึกษาด้วยตัวเอง
โรงเรียน Brightworks ที่ซานฟรานซิสโก แคลิฟอร์เนีย
โรงเรียนแห่งนี้เปิดในปี 2011 มีวิธีการสอนที่ค่อนข้างแปลก คือนำสิ่งที่อันตรายที่สุดในความคิดของพ่อแม่มาบอกเล่าสู่เด็กๆ ไม่ใช่แค่ทำแต่ใส่ลงไปในหลักสูตรเลยด้วย โดยเด็กตั้งแต่ชั้นอนุบาลไปจนถึงเกรด 12 จะได้รับอนุญาตให้เล่นสิ่งสกปรกได้ เล่นกับไฟได้ และแม้แต่เครื่องใช้ในบ้านที่อันตราย พร้อมปิดโปรเจ็คต์ให้สมบูรณ์ด้วยงานศิลปะในวันเดียวกัน
“เราเชิญนักเรียนมาร่วมเป็นผู้เขียนหลักสูตร ผลักดันสนับสนุนให้แต่ละคนมีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์และส่งเสริมทักษะและความสนใจของพวกเขา” Tulley และ Justine Macauley ผู้ร่วมร่างโปรแกรม กล่าวและว่า โลกนี้ต้องการคนที่มองเห็นความท้าทายที่หนักหนาสาหัสในฐานะที่เป็นปริศนาที่ท้าทาย ขณะเดียวกันก็ยังมีความคิดสร้างสรรค์รวมอยู่ด้วย
โรงเรียน Carpe Diem ที่โอไฮโอ
ที่โรงเรียน Carpe Diem ห้องเรียนที่นี่ออกแบบมาให้เหมือนกับออฟฟิศ ภายในห้องเรียนหลัก รู้จักกันดีในฐานะเป็น The Learning Center มีทั้งหมด 300 cubicles (คล้ายออฟฟิศที่มีพาร์ทิชั่นกั้นเอาไว้) ต่อเด็ก 1 คน
“เราสร้างการศึกษาแบบส่วนตัวให้กับนักเรียน”Dr. Robert Sommers ซีอีโอของ Carpe Diem กล่าวและว่า “เราเริ่มต้นจากความเข้าใจของนักเรียน จากนั้นก็นำมาผสมผสานกับงานของเราในการประชุมเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จ ซึ่งถ้านักเรียนประสบปัญหาก็สามารถขอความช่วยเหลือได้”
นักเรียนทุกคนมีความแตกต่างกัน ดังนั้น เรายังจะต้องให้พวกเขาเตรียมตัวให้พร้อมก่อนออกไปสู่ชีวิตจริง การปรับตัวจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับนักเรียนที่จะกลายมาเป็นคนที่ประสบความสำเร็จได้ ดังนั้น เราตัดสินตัวเองจากความสำเร็จของนักเรียน Dr. Robert Sommers กล่าวในตอนท้าย