พอพูดถึงสมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ หลายคนอาจจะงงๆ กับชื่อ แต่ถ้าบอกว่า สมาคม Thailand Tech Startup Association น่าจะพอรู้จักกัน เพราะช่วง 3 ปีที่ผ่านมา วงการ Startup ในบ้านเรา กำลังเป็นที่ตื่นตัวกันแบบสุดๆ หลังจากผ่านมา 3 ปี มี Startup เกิดขึ้นแล้วประมาณ 500 กว่าราย แต่จะมีกี่รายที่ไปรุ่ง ครั้งนี้ Marketingoops ได้มีโอกาสมาจับเข่าคุยแบบเป็นกันเองกับ ไผท ผดุงถิ่น หรือ คุณโบ๊ต นายกสมาคม Startup คนแรก หนุ่มคาร์แรกเตอร์ชัดเจน หัวโล้น เสื้อสีเหลืองที่ใครเห็นต้องจำได้ และเนื้อหาต่อไปนี้ คือมุมมองจาก Startup ที่อยากให้ทุกคนได้รู้
นโยบายดี แต่ขอยาแรงอีกหน่อย
คุณโบ๊ต เริ่มต้นเรื่องด้วยนโยบายของรัฐบาลที่เพิ่งออกมาสดๆ ร้อนๆ ในการสนับสนุนผู้ประกอบการ Startup ไทย มีทั้งกองทุนเพื่อการร่วมลงทุน ลดภาษีเงินได้ และยกเว้นภาษีเงินได้แล้วแต่กรณี ซึ่งเป็นนโยบายที่ดี ทำให้นักลงทุน (VC) หันมามองไทยมากขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับว่า ยังเบาเกินไปหากต้องการกระตุ้นหรือดึงดูดใจให้เกิดการลงทุน โดยเมื่อเปรียบเทียบกับ สิงคโปร์ และมาเลเซีย ต้องยอมรับว่า ไทยยังห่างจาก 2 ประเทศนี้อยู่หลายก้าว รวมถึงอาจจะยังตามหลัง อินโดนีเซีย ด้วย
จุดที่ชัดเจนที่สุดของสิงคโปร์และมาเลเซีย คือ มีการยกเว้นภาษีสำหรับ VC มานานแล้ว เพื่อให้ VC สนใจมาลงทุน และยังดึง Startup จากหลายประเทศในอาเซียนให้มาจดทะเบียน แต่ทุกวันนี้นโยบายของรัฐบาลไปไกลกว่าเรื่องยกเว้นภาษี เช่น สิงคโปร์มีโปรแกรม Proactive กว่านั้น โดยสนับสนุนในลักษณะเงินทุน เช่น ถ้า VC มาลงทุน 1 ล้านเหรียญ รัฐบาลจะเพิ่มเงินให้อีก 6 ล้านเหรียญ เพื่อนำเงินดังกล่าวไปลงทุนใน Startup (และ Startup ไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นสัญชาติสิงคโปร์ ขอแค่ไปจดทะเบียนบริษัทในสิงคโปร์ก็สามารถรับทุนได้) นี่คือก้าวข้ามผ่านข้อเสนอเรื่องภาษี แต่เป็นการดึงดูดทั้ง VC และ Startup ให้มาลงทุนในสิงคโปร์ หรือ มาเลเซีย ซึ่งก็มีนโยบายคล้ายกัน
“สิงคโปร์มองว่าตัวเองตามหลังSilicon Valley อยู่ 5-6 เท่า เลยมีสูตรให้เงินสนับสนุน 1 ต่อ 6 เพื่อดึงดูดใจนักลงทุน ไม่นับสิทธิพิเศษอื่นๆ ต้องกลับมาถามไทย ว่ามองตัวเองเป็นอย่างไร เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เพื่อกำหนดเป็นนโยบายเชิงรุกมากขึ้น” คุณโบ๊ตบอก
จากนั้นผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับประเทศจะมากกว่าแค่เงินภาษี เกิดการจ้างงาน เกิดเงินทุนหมุนเวียน เกิดการพัฒนาคน พัฒนาเทคโนโลยี และอื่นๆ อีกมหาศาล นี่คือสิ่งที่รัฐบาลไทยต้องพิจารณาเพื่อกระตุ้นต่อไป
รวมกลุ่ม เพิ่มโอกาสธุรกิจ
Startup เป็นธุรกิจของนวัตกรรมและเทคโนโลยี ดังนั้น รัฐบาล ต้องเข้าใจบุคลิกของ Startup ว่ามีความเสี่ยงสูง ต้องใช้เงินทุนและเทคโนโลยี ดังนั้นนอกจากการช่วยเหลือของรัฐบาลที่มีความสำคัญในด้านนโยบาย ในอนาคตคาดว่าจะมีการสนับสนุนที่เข้มข้นขึ้น การรวมกลุ่มของ Startup เพื่อผลักดันผู้ประกอบการหน้าใหม่ให้แจ้งเกิดก็สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน
“ในต่างประเทศไม่มีสมาคม Startup และต่างประเทศไม่เข้าใจว่าทำไมต้องมีสมาคมนี้ด้วย ดังนั้นประเทศไทยเป็นประเทศแรกของโลกที่มีสมาคมนี้ เพราะเราต้องการรวมตัวกันสร้างการเรียนรู้ ถ่ายทอดประสบการณ์ เพื่อสร้าง Startup ใหม่ๆ ทั้งด้านจำนวนและคุณภาพ เพื่อดึงดูดให้ VC เข้ามาลงทุนเพิ่ม” คุณโบ๊ต กล่าว
ต้องยอมรับว่า ปีนี้ Startup ไทยมีจำนวนน้อยลง แต่ก็มีคุณภาพมากขึ้น เพราะเราได้เห็นแล้วว่า ตลาดนี้ไม่ได้หอมหวานอย่างที่คิด ต้องใช้พลังงานและเงินทุนเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจในอนาคต มี Startup อยู่กว่า 500 ราย อยู่ประมาณ 10% หรือประมาณ 50 รายที่เป็นครีมของตลาด แต่ที่เหลือนั่นคือโอกาสที่ดีในอนาคต ซึ่งหลายๆ บริการมีแนวโน้มที่ดีมาก แต่ต้องการ VC ที่มาให้เงินทุน และให้องค์ความรู้เพื่อไปต่อยอด
สำหรับสมาคมฯ ปีหน้าเตรียมปลุกปั้น Startup ต่อเนื่อง สร้างการลงทุน สร้างความคาดหวังที่ถูกต้อง ให้ความรู้แบบที่จะหาจากที่ไหนไม่ได้และใช้งานได้จริง ซึ่งเป็นงานสัมมนาที่ Startup ไม่ควรพลาดอย่างยิ่ง รวมถึงการบุกต่างจังหวัดเพื่อสร้าง Local Champion เพราะ Startup เกิดได้ทุกที่ในประเทศไทย