3 ผู้บริหารต่างรูปแบบต่างองค์กรจาก 3 Startup ที่น่าสนใจ เริ่มต้นด้วย บี๋ อริยะ พนมยงค์ คนขายสติ๊กเกอร์จาก Line ทิวา ยอร์ค คนขายของมือสองจาก Kaidee.com และ โจ้ รังสรรค์ พรมประสิทธิ์ คนขายคิว จาก QueQ หัวข้อที่ทั้ง 3 คนมาร่วมแชร์ประสบการณ์กัน เรื่องของทีมงานและวัฒนธรรมองค์กร โดยเป็นการเสวนาจากงาน Start it UP Conference 2015 ถือเป็นงานTech Conference ใหญ่ประจำปีในวงการ Startup จัดโดย Techsauce มาลองดูแนวคิดของทั้ง 3 คนว่า มีมุมมองอย่างไร
Q: ทีมงานและวัฒนธรรมองค์กร สามารถสร้างได้หรือไม่
ทิวา: การสร้างทีมงาน คือพื้นฐานสำคัญขององค์กร จากนั้นทีมงานจะเป็นผู้สร้างวัฒนธรรมองค์กรขึ้น และทั้งหมดจะนำไปสู่รายได้ของบริษัท
บี๋: ส่วนสำคัญขององค์กรธุรกิจ นอกจากบริหารงานแล้ว ต้องบริหารคน ทุกคนคือทีมงานเดียวกัน ซึ่งต้องสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา และทั้งหมดจะรวมกันเป็นวัฒนธรรมองค์กร
โจ้: วัฒนธรรมองค์กรของ Startup คือความเล็กแต่คล่องตัว สามารถทดลองได้ทุกอย่าง ทดลองตลาดเพื่อสร้างธุรกิจ ทดลององค์กร บริหารในแบบต่างๆ ไม่มีผิดไม่มีถูก
Q: ประสบการณ์ความเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมองค์กร
ทิวา: CEO มีความสำคัญ แต่ธุรกิจจะเดินหน้าได้ทุกคนในองค์กรต้องร่วมมือกัน ส่วนตัวเลยมองว่า CEO ดูห่างไกลเกินไป จึงวางตัวเองเป็น Head Coach ที่จะนำทุกคนในทีมไปสู่ความสำเร็จ ถ้าทีมสำเร็จ Head Coach ก็สำเร็จไปด้วย
“คนไทยไม่กล้าแสดงออก เพราะองค์กรไม่ให้แสดงออก ถ้าเราสร้างองค์กร สร้างวัฒนธรรมที่เปิดโอกาสให้ทุกคนแสดงออก จะได้เห็นกันว่า คนไทยมีความคิดสร้างสรรค์ที่ดีมาก”
โจ้: ที่ QueQ เริ่มต้นจาก 4 คนจนตอนนี้มี 30 คนแล้ว มีคนมากขึ้นต้องยอมรับความแตกต่าง นั่นคือ ส่วนสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จได้
บี้: ยืนยันว่าวัฒนธรรมองค์กรเปลี่ยนแปลงได้ และถ้าบริหารให้ดีจะนำไปสู่ความสำเร็จ เดิมเคยอยู่ Google เป็นบริษัทอเมริกัน บริหารคน 40 คน ย้ายมาอยู่ Line เป็นบริษัทเอเชีย บริหารคน 140 คน ทุกอย่างแตกต่างและเปลี่ยนแปลง แต่เราเรียนรู้กันและทำงานร่วมกันได้ เช่น
1 ทุกอย่างไม่ต้องเริ่มต้นมาจากอเมริกา เราสามารสร้างสรรค์สิ่งที่ยิ่งใหญ่จากเอเชียได้
2 Google คิดทุกอย่างแบบ Global แต่ Line คิดทุกอย่างจาก Local นั่นคือ ถ้ามีบริการที่ดีเกิดขึ้นในไทยได้ จากนั้นค่อยกระจายออกไปประเทศรอบ
Q: จะสร้างทีม สร้างวัฒนธรรมองค์กร เริ่มจากอะไร
ทิวา: จำนวนคนคือจุดเริ่มต้นของปัญหา องค์กร 5-10 คนจะพบปัญหาแรก คือ การสื่อสารระหว่างกัน ดังนั้นต้องเปิดใจคุยกัน และกล้าที่จะล้มเหลว คนที่ไม่เคยล้มเหลวคือคนที่ไม่เคยทำอะไรเลย ถ้าล้มแล้วขอให้รีบลุกขึ้น แก้ไขและเดินต่อไป ขอให้จำไว้ว่า ทีมงาน มาก่อน จากนั้นจะเกิดสินค้าและบริการ รายได้จะตามมาหลังสุด
โจ้: Startup เป็นธุรกิจที่ไม่มีเงิน การสร้างทีม สร้างวัฒนธรรมองค์กร ไม่สามารถจ้างคนเก่งได้ แต่เราสร้างคนเก่ง 80% คือเด็กจบใหม่ และครึ่งหนึ่งอาจจะมาจากเด็กที่ฝึกงานด้วยกัน แต่ทุกคนมีเป้าหมายเหมือนกัน นั่นคือ อยากพัฒนาตัวเอง อยากเรียนรู้สิ่งใหม่ ถ้ามาทำงานกับ Startup เราจะพัฒนาไปด้วย เรียนรู้ไปด้วย และเติบโตไปด้วยกัน ดังนั้น วัฒนธรรมองค์กรของ Startup จะมีพลังที่ยิ่งใหญ่
บี๋: การรับคนเข้าทำงานของ Line ถ้าเก่งมาก แต่แนวคิดไม่ได้ ก็จะไม่รับ ถ้ามีคนที่ไม่เหมาะกับทีม บอกได้เลยว่าล้มเหลวตั้งแต่ยังไม่เริ่มต้น 81% ของปัญหาในองค์กรคือ คน และแก้ไขได้ยากที่สุดด้วย ดังนั้นแนวคิดทัศนคติสำคัญที่สุด
เป็นการเสวนาสั้นๆ แต่ให้แง่คิดได้ว่า ทีมและวัฒนธรรมองค์กรนั้น คือหัวใจสำคัญของความสำเร็จของธุรกิจ องค์กรแตกต่างกันไปก็มีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน วัฒนธรรมองค์กรสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ปรับปรุงได้ แต่ทั้งหมดจะเกิดขึ้นจากทีมงานทั้งหมดกำหนดร่วมกัน CEO คนเดียวไม่สามารถทำได้
และนี่คือความสำคัญของ ทีม