นับเป็นก้าวที่น่าจับตาสำหรับบริษัทเทรดเดอร์ยักษ์ใหญ่อย่าง บริษัท โตโยต้า ทูโช (ไทยแลนด์) จำกัด หรือ Toyota Tsusho เข้ามาลงทุนใน “FLARE” สตาร์ทอัพสัญชาติญี่ปุ่นที่ทำธุรกิจด้านสื่อโฆษณาเคลื่อนที่ในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นสตาร์ทอัพน้องใหม่ที่เข้ามาเมืองไทยเพียง 2 ปี การขยับขยายธุรกิจของบริษัทอายุกว่า 60 ปี อย่างโตโยต้า ทูโช ครั้งนี้ต้องเรียกว่าเป็นก้าวที่ “นอกกรอบ” จากธุรกิจดั้งเดิมของบริษัทไปอย่างมาก …
ทำไมถึงต้องลงทุนในสตาร์ทอัพในช่วงเวลานี้? ทำไมถึงต้องเลือก FLARE เป็นสตาร์ทอัพรายแรก? และธุรกิจของ FLARE น่าสนใจอย่างไร? ประเด็นคำถามเหล่านี้เป็นประเด็นที่หลายคนกำลังอาจสงสัย…มาหาคำตอบไปพร้อมกัน!
โตโยต้า ทูโช โตเงียบๆ … แต่ผลิตภัณฑ์ในพอร์ตเพียบ
เข้าสู่ปีที่ 62 ในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย สำหรับ บริษัท โตโยต้า ทูโช (ไทยแลนด์) จำกัด หรือ Toyota Tsusho บริษัทเทรดดิ้งชั้นนำของประเทศไทยมีรายได้ต่อปีเกือบแสนล้านบาท และด้วยจำนวนบริษัทในเครือกว่า 79 บริษัท พนักงานมากกว่า 8,000 คน โตโยต้า ทูโช ถือเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการผลักดันการเติบโตของธุรกิจทั้งในอุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่ยานยนต์ของประเทศไทยและอาเซียน
ปัจจุบัน กลุ่มธุรกิจของโตโยต้า ทูโช แบ่งเป็นธุรกิจด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ (Automotive) ประมาณ 80% ซึ่งมีตั้งแต่ยานยนต์ อุปกรณ์และชิ้นส่วนประกอบยานยนต์ อะไหล่ทดแทน ผลิตภัณฑ์ Car-care เครื่องจักรกล เช่น เครื่องทอผ้าด้วยลม รถขุด แทรกเตอร์ รถไถเดินตาม รถลำเลียงสินค้าอัตโนมัติ ฯลฯ ไปจนถึงบริการซัพพลายเชนเต็มรูปแบบสำหรับกระบวนการผลิตรถ
ขณะที่อีก 20% เป็นธุรกิจที่ไม่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมยานยนต์ (Non-Automotive) ซึ่งมีตั้งแต่สินค้าอุปโภค เช่น โลหะ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก หมอน ที่นอน ผ้าปูเตียง ผ้าเช็ดตัว พรมเช็ดเท้า เสื้อคลุมอาบน้ำ สินค้าแม่และเด็ก ฯลฯ ไปถึงอาหารทะเลแช่แข็ง อาหารกระป๋อง ขนมอบกรอบ สินค้าโภคภัณฑ์และธัญพืช ตลอดจนผลิตภัณฑ์และบริการด้านประกันภัย-ประกันอุบัติเหตุ-ประกันสุขภาพกลุ่ม รวมถึงผลิตภัณฑ์และบริการด้านการแพทย์ เช่น คลินิกสุขภาพ เป็นต้น
โตโยต้า ทูโช มีความมุ่งมั่นในการขยายธุรกิจในส่วนของ Non-Automotive ให้มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นมาตลอด โดยเฉพาะการจัดงาน “TOYOTSU JAPAN FESTIVAL” หรือเทศกาลแสดงและขายสินค้าและอาหารจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งโตโยต้า ทูโช จัดขึ้นต่อเนื่องทุกปี ตั้งแต่ปี 2017 ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์สำคัญในการรุกตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคเมืองไทย โดยปีนี้ งานดังกล่าวจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-16 มิ.ย. ณ พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 สยามพารากอน
อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะเป็นการขยายธุรกิจในส่วนของธุรกิจ Automotive หรือ Non-automotive ที่ผ่านมา การขยายธุรกิจของโตโยต้า ทูโช มักใช้โมเดลธุรกิจแบบ “เทรดเดอร์” หรือไม่ก็ “ผลิตและจัดจำหน่ายเอง” รวมถึง “ร่วมทุนเพื่อผลิตฯ” เป็นหลัก แต่สำหรับการลงทุนในสตาร์ทอัพนั้น ต้องเรียกว่าเป็นโมเดลขยายธุรกิจรูปแบบใหม่สำหรับบริษัทแห่งนี้
เมื่อเร็วๆนี้ โตโยต้า ทูโช เปิดบ้านจัดงานแถลงข่าวเปิดตัว FLARE อย่างเป็นทางการในประเทศไทย พร้อมกับประกาศตัวเป็นผู้ลงทุนในสตาร์ทอัพรายนี้ ในสัดส่วน 5% หรือ 3 ล้านบาท ทั้งนี้ คุณอนุษฐา เชาว์วิศิษฐ ผู้จัดการฝ่ายวางแผนองค์กร บริษัท โตโยต้า ทูโช (ไทยแลนด์) ระบุว่าแม้จะเป็นสัดส่วนที่ไม่เยอะ แต่นอกเหนือจากเงินทุน สิ่งที่บริษัทให้ก็คือการสนับสนุนทางด้านทรัพยากรและด้านการหาตลาด ตลอดจนมุมมองและความเชี่ยวชาญในตลาดไทย เนื่องจากบริษัททำธุรกิจในไทยมากว่า 60 ปี และมีเครือข่ายพันธมิตรมากมาย
“ขณะเดียวกัน เราเองก็ต้องมองหาธุรกิจใหม่ ๆ ที่สามารถต่อยอดกับธุรกิจปัจจุบันของเราได้ เรามองว่า FLARE เป็นสตาร์ทอัพที่มีระบบปฏิบัติการ (Operation) ที่มี Synergy กับเราได้ ทั้งการต่อยอดธุรกิจปัจจุบัน โดยอาศัยเครือข่ายรถขนส่งที่เรามีอยู่ และการต่อยอดไปสู่ธุรกิจใหม่ โดยเฉพาะธุรกิจทางด้านเทคโนโลยี เพื่อขับเคลื่อนบริษัทไปสู่การเป็นผู้ให้บริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับยานพาหนะ (Mobility)” คุณอนุษฐา กล่าว
FLARE บริการสื่อโฆษณาเคลื่อนที่ เปลี่ยนรถติดเป็น “รายได้”
เพราะคนเมืองใหญ่ อย่างกรุงเทพฯ ต้องใช้เวลาบนท้องถนนค่อนข้างเยอะ รายงานการประเมินสภาพจราจรทั่วโลก ประจำปี 2560 จาก INRIX Global Traffic Scorecard บริษัทที่ทำการวัดผลการจราจรใน 1,360 เมืองทั่วโลก ระบุว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการจราจรติดขัดมากที่สุดในโลก โดยเสียเวลาเฉลี่ยราว 56 ชั่วโมง/ปี ไปกับรถติดบนถนน แต่ถ้าวัดเฉพาะกรุงเทพฯ ผู้คนในกรุงเทพฯ ต้องเสียเวลาไปกับรถติดประมาณ 64 ชั่วโมง/ปี
จึงไม่น่าแปลกใจที่ตลาดสื่อโฆษณานอกบ้าน (Out of Home :OOH) เติบโตขึ้นทุกปี โดยในปี 2561 ตลาด OOH มีมูลค่าตลาดสูงถึง 1.4 หมื่นล้านบาท และมีอัตราเติบโตเฉลี่ยปีละ 20% ด้วยมูลค่าตลาด OOH ที่ดึงดูด บวกกับจำนวนชั่วโมงรถติดของคนกรุงเทพฯ ที่สูงมาก สะท้อนถึงมวลพลังความเครียดที่อบอวลบนท้องถนน คุณคาซูกิ คามิยะ ผู้ก่อตั้งและ CEO ของ บริษัท แฟลร์ (ไทยแลนด์) จำกัด จึงได้พัฒนาแอปพลิเคชั่น FLARE ขึ้นเพื่อเปลี่ยนสถานการณ์ความตึงเครียดของผู้คนบนท้องถนนให้กลายเป็นรายได้
FLARE เป็นสตาร์ทอัพผู้ให้บริการสื่อโฆษณาเคลื่อนที่ติดรถจากประเทศญี่ปุ่น แต่เน้นทำธุรกิจในเมืองไทยเป็นหลัก โดยเข้ามาในไทยตั้งแต่ปี 2017 เพราะเห็นโอกาสจากการจราจรที่ติดขัดในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ทั่วประเทศไทย โดย FLARE เป็นแอปฯ ที่เปิดให้เจ้าของรถสามารถเข้ามาสมัครเป็นสมาชิก เพื่อเปลี่ยนรถให้กลายเป็นพื้นที่เช่าสื่อโฆษณาเคลื่อนที่ พร้อมรับรายได้ไปง่าย ๆ เพียงแค่คุณขับรถไปใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ
เจ้าของรถทุกคนสามารถสมัครเป็นสมาชิกได้ง่ายๆเพียงโหลดแอปฯ และกรอกรายละเอียดที่จำเป็น ในช่วงแรกจะมีการเก็บข้อมูลเส้นทางการขับรถในชีวิตประจำวัน ระยะทางที่ขับรถในแต่ละวัน พฤติกรรมการขับรถของสมาชิก เมื่อมีแคมเปญโฆษณาใหม่ ๆ เข้ามาเจ้าของรถสามารถเลือกแคมเปญโฆษณาที่สนใจ และรอการติดต่อจากผู้ซื้อสื่อ เจ้าของรถที่ได้รับเลือกให้เป็นสื่อในแคมเปญนั้น ๆ จะได้รับการติดต่อให้นำรถเข้าไปติดสติ๊กเกอร์ หลังจากนั้นเพียงแค่เจ้าของรถเปิดแอปฯ และกดปุ่ม start แล้วขับรถตามปกติในชีวิตประจำวันก็สามารถสร้างรายได้เสริมได้
สำหรับอัตรารายได้เฉลี่ย ขึ้นอยู่กับขนาดของสติ๊กเกอร์โฆษณา เส้นทางที่ขับ ความเร็วในการเคลื่อนตัวของรถ ยิ่งรถติดมาก เคลื่อนตัวช้า ก็ยิ่งได้รายได้มาก เพราะหมายถึงคนจะเห็นสื่อโฆษณามาก และขึ้นกับช่วงเวลาที่ขับ ถ้าขับในช่วงดึก ที่บนท้องถนนมีรถน้อยคัน รายได้ก็ลดลง เพราะโอกาสที่คนจะเห็นโฆษณาลดลง อย่างไรก็ดี ผู้บริหารญี่ปุ่นให้ข้อมูลว่า โดยเฉลี่ย สมาชิกที่ได้รับการซื้อสื่อจะมีรายได้ราว 3,000-4,000 บาท/เดือน แต่ถ้ายิ่งวิ่งระยะทางมากก็จะได้เงินเพิ่มขึ้น แต่สูงสุดไม่เกิน 6,000 บาท
“เราหาแนวทางเปลี่ยนช่วงเวลารถติดให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมและบริษัท โดยจับจุดของผู้คนที่แต่ละวันต้องอยู่บนท้องถนนกันเป็นเวลานาน ต่อไปนี้ไม่ต้องหงุดหงิดกับช่วงเวลารถติด เพราะจะเปลี่ยนเป็นการสร้างรายได้เพิ่มให้ตัวเอง ภายใต้นิยาม “ติด ขับ รับเงิน” ที่มีการเสริมด้วยเทคโนโลยี ทำให้ระบบสามารถติดตามและวัดผลการใช้สื่อได้อย่างเป็นรูปธรรมและแบบเรียลไทม์ ซึ่งถือเป็นรายแรกของผู้ให้บริการ OOH ซึ่งถือเป็นการแก้ Pain Point ให้กับทั้งเจ้าของรถและผู้ซื้อสื่อในเวลาเดียวกัน” คุณคาซูกิ กล่าว
ด้าน “แบรนด์” หรือเอเจนซี่โฆษณาที่ต้องการ “ซื้อสื่อ” สิ่งที่ได้รับคือ สามารถเลือกได้ว่า ต้องการติดสติ๊กเกอร์โฆษณาบนรถรุ่นไหน สีอะไร ใช้พื้นที่โฆษณากี่ด้าน จะใช้รถกี่คัน ต้องการรถที่วิ่งย่านไหน-เส้นทางใดเพื่อให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย และระยะเวลาแคมเปญนานเท่าไร นอกจากนี้ ยังสามารถแทร็ก Track) ดูเส้นทางวิ่งของรถเหล่านั้นได้แบบเรียลไทม์ผ่าน “Dashboard” และมีการรายงานผลจำนวคนที่เห็นโฆษณาแบบวิเคราะห์ ซึ่งเป็นระบบที่ FLARE และโตโยต้า ทูโช ร่วมมือกันพัฒนาขึ้น “แทนที่จะวัดด้วย Eye Ball แบบเดิม ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าไม่ค่อยมีประสิทธิผล เราใช้วิธีวัดด้วย Impression ซึ่งเป็นระบบในการวัดผลด้วยการแทร็กข้อมูลรถของสมาชิก เชื่อมโยงกับ API ของ Google Map และนำหลักสถิติมาใช้ ช่วยให้คำนวณได้ว่ามีผู้ขับขี่บนท้องถนนและคนบนทางเท้า (ที่มีการเปิด GPS/ Google Map) ที่น่าจะเห็นโฆษณา ซึ่งเทคโนโลยีตรงนี้เป็นการแก้จุดคลุมเครือของการวัดผลแบบเดิม” คุณอนุษฐา อธิบาย
จากการคำนวณด้วยระบบดังกล่าว พบว่า โดยเฉลี่ยการมองเห็นจะอยู่ที่ประมาณ 20,000 คน/วัน/คัน ค่าใช้จ่ายในการซื้อสื่อโฆษณาเริ่มต้นที่ 6,000 บาท/เดือน โดยมีแพ็กเกจโฆษณาให้เลือกทั้งแบบ 1 เดือน 3 เดือน และ 6 เดือน เลือกโฆษณาตั้งแต่ 1 คัน 50 คัน หรือ 100 คัน รวมทั้งยังสามารถเลือกทำเป็นรูปแบบคาราวาน ก็ได้เช่นกัน
หลังเปิดตัวแอปฯ อย่างไม่เป็นทางการ เมื่อเดือน ก.ย. ปี 2560 ปัจจุบัน มีเจ้าของรถเป็นสมาชิกแล้วกว่า 15,000 คัน โดยเป็น Grab Car ราว 20-30% ไม่เพียงรถยนต์ ยังมีมอเตอร์ไซค์ร่วม 1,000 คัน รถคอนเทนเนอร์ราว 1,500 คัน ทางด้านผู้ซื้อสื่อ ปัจจุบันมีลูกค้าแล้วประมาณ 20 ราย ซื้อสื่อโฆษณาแบบแพ็กเกจ 2-3 เดือน เฉลี่ยราคาแพกเกจเริ่มที่ 2-3 ล้านบาทต่อ 3 เดือนขึ้นอยู่กับจำนวนรถและขนาดของสติ๊กเกอร์ที่ลูกค้าต้องการ
ในปีนี้ บริษัทตั้งเป้าจะขยับจำนวนลูกค้าให้ได้ 100 ราย ขณะที่จำนวนรถที่เป็นสมาชิกจะเพิ่มให้เป็น 1 แสนคัน สำหรับรายได้ บริษัทตั้งเป้าหมายไว้ที่ 50 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10 เท่า จาก 5 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้ที่เกิดขึ้นแค่ช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปีที่แล้ว เท่านั้น
นัยแห่งการลงทุนในสตาร์ทอัพ FLARE
คุณอนุษฐา กล่าวว่า นอกจากเหตุผลในเรื่องโอกาสการเติบโตทางธุรกิจของ FLARE การเข้ามาลงทุนใน FLARE ของโตโยต้า ทูโช ยังเปิดโอกาสให้บริษัทได้ใช้เครือข่ายรถขนส่งของบริษัทที่มีอยู่ราว 1,500 คัน ในการสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้แก่บริษัท นอกจากนี้ ยังมีโอกาสที่บริษัทจะนำแอป FLARE ไปขยายธุรกิจในต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มอาเซียนที่โตโยต้า ทูโช ลงทุนอยู่และมีปัญหารถติดเช่นกัน
ไม่เพียงการประสานประโยชน์ร่วมกัน (Synergy) ในธุรกิจที่โตโยต้า ทูโช มีอยู่ในปัจจุบัน สิ่งที่ผู้บริหารหญิงมองว่าสำคัญยิ่งกว่า คือการลงทุนในสตาร์ทอัพครั้งนี้ เปิดโอกาสให้หน่วยงานทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ของโตโยต้า ทูโช ได้เรียนรู้ แลกเปลี่ยน และร่วมกับ FLARE ในการพัฒนาแอปพลิเคชั่นใหม่ ๆ เพื่อขยายธุรกิจทางด้านเทคโนโลยีของบริษัท และเพื่อต่อยอดให้บริษัทก้าวไปสู่การเป็น Mobility as a Service หรือผู้ให้บริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับยานพาหนะประเภทต่าง ๆ
“การเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจรวดเร็วมาก ฉะนั้น เราจะอยู่แบบเดิม ๆ ไม่ได้ เราทุกคน (ผู้บริหารและพนักงานของโตโยต้า ทูโช) ต่างก็พยายามมองหาช่องทางในการขยายธุรกิจที่จะมาต่อยอดช่องทางที่มีอยู่ ส่วนธุรกิจที่ทำอยู่ก็ต้องรักษามาตรฐานความเป็นเลิศ (Excellence Operation) ซึ่งต่อไปในอนาคต เราคงต้องไปในเรื่องของการให้บริการมากขึ้น ก็ต้องมาดูว่าบริการอะไรที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับเรื่องรถยนต์และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพราะเป็น “แก่น” ของธุรกิจหลักของเราในปัจจุบัน”
สอดคล้องกับสารจาก ดร. เชษฐ เชาว์วิศิษฐ รักษาการประธานกรรมการ บริษัท โตโยต้า ทูโช ที่กล่าวถึงความพยายามในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงภายในบริษัท โดยมีใจความว่า
“…คนส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 5 กำลังใกล้เข้ามา ทั่วโลกต่างเตรียมพร้อมรับมือกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งใหม่นี้ เนื่องจากกิจกรรมทุกรูปแบบจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ บริษัท โตโยต้า ทูโช (ไทยแลนด์) จำกัด เองก็ตกอยู่ภายใต้สภาวะเดียวกันนี้ ทั้งพนักงานและผู้บริหารของเรากำลังพยายามทำความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีและกระบวนการใหม่ ๆ และการนำเทคโนโลยีและกระบวนการเหล่านี้ไปใช้ได้จริง …”
คุณอนุษฐาทิ้งท้ายว่า วันนี้ โตโยต้า ทูโช ยินดีเปิดรับสตาร์ทอัพที่สามารถสร้าง Synergy ร่วมกันกับบริษัทได้ และเป็นสตาร์ทอัพที่มีมุมมองธุรกิจที่คำนึงถึงผลประโยชน์ที่คู่ค้าและสังคม จะได้รับไปพร้อมกันด้วย อย่าง FLARE ไม่เพียงบริษัทและสตาร์ทอัพที่ได้ประโยชน์ แต่คนขับรถและผู้ซื้อสื่อโฆษณาก็ได้รับประโยชน์ ขณะที่สังคมก็ได้การขับรถที่ดี เพราะข้อกำหนดหนึ่งในการเป็นสมาชิกคือ ต้องมีพฤติกรรมการขับรถที่ดี