หรือสตาร์ทอัพไทยจะสู้ต่างชาติไม่ได้จริงๆ? มาวิเคราะห์กันในงาน Techsauce Global Summit 2017

  • 705
  •  
  •  
  •  
  •  

เป็นเรื่องดีที่มีกระแสการพูดถึงการทำธุรกิจในรูปแบบ “สตาร์ทอัพ” ในเมืองไทยในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้น หลายองค์กรก็ตื่นตัวที่จะเปลี่ยนแปลงเพื่ออยู่รอด และหลายคนๆในไทยก็สนใจอยากทำสตาร์ทอัพ

แต่เราต้องยอมรับว่าวงการสตาร์ทอัพในบ้านเรายังอยู่ในช่วงเริ่มต้นหากเทียบกับวงการสตาร์ทอัพในซิลิคอน วัลเลย์ จีนหรือแม้แต่สิงคโปร์ ฉะนั้นก่อนที่เราคิดจะทำสตาร์ทอัพ มาฟังเหล่ากูรูพูดถึงสตาร์ทอัพในงาน Techsauce Global Summit 2017 ที่เพิ่งจบไปหมาดๆกัน

 

IMG_0294

 

เลิกอ้างได้แล้วว่าทำสตาร์ทอัพไม่ได้เพราะไม่มีเงิน ไม่รู้เรื่องธุรกิจ

แต่คุณต้องมีสินค้าและบริการที่ใช้เทคโนโลยีตอบโจทย์ลูกค้าจำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว ส่วนเงินทุน และความรู้ในการทำธุรกิจนั้น ถึงคุณไม่มี แต่ธุรกิจใหญ่ๆมีและพร้อมจะช่วยคุณให้โตเร็วอยู่แล้ว

ในงาน Techsauce Global Summit ที่เพิ่งจบไปเราจึงเห็นบริษัทใหญ่ๆพากันออกโรงสนับสนุนสตาร์ทอัพไม่ว่าจะเป็น Innohub ของธนาคารกรุงเทพ, Addventure ของ SCG, Digital Venture ของ SCB, กรุงศรี ไรซ์ ของธนาคารกรุงศรีฯ และบริษัทเทเลคอมฯที่มีโครงการ Bootcamp สำหรับปั้นสตาร์ทอัพ บริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ลำพังคงพัฒนานวัตกรรมได้ไม่เร็วเท่าสตาร์ทอัพขนาดเล็กที่จะทำอะไรก็คล่องตัวแต่ขาดทุนทรัพย์ ขาดคนที่มีประสบการณ์มาติวเข้ม บริษัทพวกนี้มีให้คุณ

ขอให้คุณมีสินค้าและบริการที่ใช้เทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ลูกค้า “ของบริษัท” บริษัทพวกนี้ก็พร้อมที่จะลงทุนหรือเป็นพาร์ทเนอร์กับสตาร์ทอัพของคุณทันที เพื่อเอาสินค้าบริการที่ว่าไปเสริมสินค้าและบริการของบริษัท ให้บริษัทเติบโตได้เร็วและเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรในตัวบริษัทเอง

นี่แหละคือสิ่งที่บริษัทใหญ่ต้องการในระยะยาว

 

IMG_0296

 

รัฐบาลต้องลงทุนระยะยาวด้วย

การที่ประเทศจะเป็นระบบนิเวศน์ของสตาร์ทอัพ รัฐบาลก็ต้องเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง ต้องลงทุนในการศึกษาให้เด็กที่รู้จักใช้เทคโนโลยีอยู่แล้วได้รู้จักพัฒนาเทคโนโลยี เอาไปทำธุรกิจในอนาคตได้ด้วย

ส่วนหากรัฐบาลจะเอาเงินมาใส่ให้สตาร์ทอัพตรงๆนั้น มีการวิเคราะห์ในงานนี้ว่ารัฐบาลต้องคิดให้หนัก เพราะการลงทุนในสตาร์ทอัพไม่เหมือนกันการลงทุนในประเภทอื่นๆ เพราะการทำสตาร์ทอัพยึดหลัก ล้มเร็ว สำเร็จเร็ว ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าสตาร์ทอัพเจ้าไหนจะล้มหรือสำเร็จ รัฐบาลควรหันไปลงทุนในสิ่งที่ให้ผลตอบแทนที่แน่นอนกว่า

 

IMG_0301

กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร หัวหน้าทีม Express Solution (ExpressSo) ในเครือ ปตท.

 

ธุรกิจของคุณเหมาะกับการใช้ Artificial Inteligence (AI) จริงๆหรือ?

ไม่ห้ามว่าไม่ให้ใช้ เพราะ AI จะเข้ามาพลิกวิธีการทำงานในหลายๆอุตสาหกรรมจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการตลาด สื่อสิ่งพิมพ์ creative สาธารณะสุข คมนาคม การค้า การเงิน บัญชี กฎหมาย หรืองานที่ซ้ำซาก AI จะมาแทนที่ จริงอยู่ที่ AI ในตอนนี้ยังไม่ได้ถูกใช้กันอย่างแพร่หลาย และ AI ที่มีโอกาสได้เห็นบางครั้งก็เป็น AI ที่เก่งกับงานด้านเดียว และอนาคต AI ก็จะเหมือนกับโน้ตบุ๊คและสมาร์ทโฟนที่อนาคต ราคาจะถูกลงจนใครๆก็มี AI ใช้กัน

แต่การมาของ AI เป็นผลมาจากการที่ธุรกิจของคุณมีข้อมูลมากเกินไป (หรือ Big Data ที่ได้ยินกันบ่อยๆ) จนลำพังสมองของพนักงานวิเคราะห์และสกัดหามุมมองใหม่ๆไม่ไหวต่างหาก จึงต้องมี AI เข้ามาช่วย เพราะอย่าลืมว่า AI มันก็พัฒนาศึกษาต่อยอดมาจากสมองของคน AI จึงมีประโยชน์สำหรับบริษัทที่เก็บข้อมูลลูกค้าหรือการดำเนินงานมาแล้วอย่างต่อเนื่องเยอะๆ

ประเด็นจึงไม่ได้อยู่ที่ AI แต่อยู่ที่เราจะเอาข้อมูล เอาเทคโนโลยีที่มีอยู่ในมือที่มาเพิ่มผลิตผล เพิ่มมูลค่า เพิ่มกำไรได้อย่างไร?

คำถามคือธุรกิจของคุณใหญ่มากจนมีข้อมูลที่เก็บไว้เยอะมากขนาดนั้นหรือไม่? บางธุรกิจของคุณแทบไม่ใส่ใจการเก็บข้อมูลและพฤติกรรมการซื้อของลูกค้าไว้ด้วยซ้ำ เมื่อไม่มีข้อมูลหรือมีข้อมูลน้อย ต่อให้ธุรกิจของคุณลงทุนใน AI ถ้าไม่มีข้อมูลป้อนให้มัน มี AI ก็ไม่ช่วยอะไร

 

IMG_0298

จาชชัว แพส กรรมการผู้จัดการ AddVentures จาก SCG

 

สำคัญกว่าเทคโนโลยีคือการแก้ปัญหาให้ลูกค้า

เราต้องไล่จาก “Job to be Done” ต้องเข้าใจความเจ็บปวดของลูกค้าของเราก่อน ซึ่งเราอาจจะใช้หลักการของ “Design Thinking” เข้ามาช่วยค้นหา แล้วจึงค่อยมองโมเดลธุรกิจที่ตอบโจทย์ลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นอีคอมเมิร์ซ แพลตฟอร์ม หรือตัวข้อมูลที่เรารวบรวมเอามาต่อยอด แล้วถึงจะค่อยมองหาเทคโนโลยีที่มีอยู่รอบตัว ไม่ว่าจะเป็น Internet of Things, บริการคลาวด์ หรือ Analytics

ไม่ใช่เริ่มทำธุรกิจจากเทคโนโลยี โดยไม่สนเลยว่าลูกค้ามีปัญหาอะไร อย่าลืมว่าแอปพลิเคชั่นหรือเว็บไซต์ที่ให้บริการจะต้องคอยทำกำไรให้สตาร์ทอัพอยู่เรื่อยๆ นั่นหมายความว่าคุณต้องทำให้ลูกค้าใช้บริการอยู่เรื่อยๆ บ่อยๆ รักษาผู้ใช้งานให้มากและนานที่สุด หรือที่เรียกว่า Product-Market Fit นั่นแหละ

 

IMG_0300

จอห์น มิลลาร์ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานพัฒนากลยุทธ์ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน)

 

อย่าระแวงสตาร์ทอัพจากจีนมากจนเกินไป

มีการวิเคราะห์ว่าสภาพในตลาดในอาเชียนไม่ต่างจากตลาดจีนเมื่อสิบปีที่แล้วเลย ฉะนั้นหากคิดจะทำสตาร์ทอัพ ให้มองโมเดลธุรกิจจากจีน จะดีกว่าของฝั่งตะวันตก และหากสตาร์ทอัพจากจีนจะมาขยายตลาดในอาเซียนก็ไม่ใช่เรื่องยากเลย

เพราะก็แค่เอาโมเดลธุรกิจและความรู้ที่เคยประสบความสำเร็จจากจีนมาใช้ในอาเซียน (แน่นอนว่ารวมไทยด้วย) แค่นี้ก็สำเร็จง่ายๆแล้ว

แต่มันง่ายขนาดนั้นเลยหรือ?

แน่นอนว่ามันไม่ได้ทำได้ง่ายๆแบบนั้น เพราะอาเซียนเป็นตลาดที่มีความหลากหลาย ต่อให้เป็นสตาร์ทอัพจีนที่อ้างว่าเป็นสตาร์ทอัพที่คุ้นเคยกับตลาดจีนซึ่งคล้ายกับตลาดอาเซียนเมื่อสิบปีก่อน ก็ต้องเข้ามาทำความคุ้นเคยกับตลาดที่จะมาลงทุนเสียก่อน

ฉะนั้นมันไม่ง่ายขนาดนั้นหรอก ต่อให้รัฐสนับสนุนการลงทุนก็ตาม

ไม่แปลกใจที่ธุรกิจยักษ์ใหญ่อย่างอาลีบาบาไม่คิดจะเข้ามาลุยตลาดไทยตรงๆ เราจะเห็นได้จากการลงทุนในบริษัทอีคอมเมิร์ซอย่างลาซาด้าที่มีฐานตลาดอยู่ในไทย และการจับมือกับซีพีให้บริการชำระเงิน Alipay ในประเทศไทย อย่างน้อยเราก็เริ่มเห็นบริการนี้ใน 7-Eleven

แทนที่จะเสียเวลามานั่งศึกษาคุ้นเคยกับตลาดใหม่ สู้หาพาร์ทเนอร์ที่อยู่ในตลาดอยู่แล้วและจับมือกันดีกว่า

 

IMG_0289

 

ธุรกิจในพื้นที่อยากอยู่รอด ต้องทำอย่างไร?

คำตอบสั้นๆคือ การสร้างแบรนด์ให้คนในพื้นที่ “ไว้วางใจ” แน่นอนว่ามันก็แล้วแต่สินค้าและบริการที่ที่คุณขายด้วย โดยเฉพาะบริการทางด้านการเงินซึ่งต้องการความไว้เนื้อเชื่อใจสูง โดยเฉพาะในบ้านเราที่ “Cash is still the king” อยู่เพราะไม่ไว้ใจที่จะโอนเงินผ่านระบบที่ไม่คุ้นเคยมาก่อน (แต่อีกไม่นานหรอก)

ดังนั้นหากธุรกิจของเราสนิทกับลูกค้าในพื้นที่มากพอ แบรนด์ของเราจะเป็นผู้นำตลาดในพื้นที่ คราวนี้จะมีสินค้าและบริการจากต่างชาติเข้ามา ถ้ามันไม่ได้ดีกว่าสินค้าและบริการของเรา ธุรกิจของเราก็ยังอยู่ได้

 

IMG_0297

 

สรุปคือสตาร์ทอัพไทยสู้ต่างชาติได้แน่นอน มันอยู่ที่ “Mindset” ของคุณเอง มีเทคโนโลยีเป็นเรื่องดี แต่ต้องเริ่มจากปัญหาของผู้ใช้งานก่อนเสมอ ทดลองไอเดียธุรกิจให้แน่ใจว่ามีคนใช้เยอะพอและใช้อยู่เป็นประจำ แล้วเดี๋ยวบริษัทยักษ์ใหญ่ก็พร้อมที่จะสนับสนุนทั้งทุนทั้งคนที่มีประสบกาณ์ให้คุณเอง คอยติดตามข่าวสารจากบริษัทพวกนี้ด้วย ที่สำคัญต้องสร้างแบรนด์ให้ถูกใจคนในพื้นที่

ทีนี้สตาร์ทอัพต่างชาติจะมาสู้กับคุณมันก็ยากขึ้นแล้วล่ะ

 

แหล่งที่มา
งาน Techsauce Global Summit วันที่ 28-29 กรกฎาคม 2560 ณ โรงแรมเซนธารา แกรนด์ กรุงเทพฯ

 


  • 705
  •  
  •  
  •  
  •  
Sarunjade
แชร์มุมมองเกี่ยวกับ Digital Marketing, Digital Business และ Technology เท่าที่รู้ สามารถติชมหรืออยากให้เจาะลึกเรื่องไหนเป็นพิเศษ ส่งเมลมาเลยที่ contact@oopsnetwork.co.th