กว่าจะมาเป็นเซนทอร์หรือยูนิคอนร์น บรรดาคนในวงการสตาร์ทอัพก็ต้องเจอกับอาการหมดไฟก่อนวัยอันควร จนเป็นที่รู้กันว่า คนในวงการสตาร์ทอัพ ถ้าต้องการให้ธุรกิจยืนได้เร็วก็ต้องช่วยกันให้ตั้งไข่ได้เร็ว เรียกได้ว่า ไม่มีเวลาแม้แต่จะกิน จะนอน หรือคู่สามีภรรยาแทบจะไม่มีเวลาผลิตเจ้าตัวน้อยมาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวเลยก็ว่าได้
ดูอย่างกรณีของ Yu Hoaran ผู้ก่อตั้ง Jisuanke มาตั้งแต่ปี 2014 ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพที่สอนเด็ก ๆ เขียนโค้ดโปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ ก็แทบจะหาเวลาให้ตัวเองและครอบครัวไม่ได้เลย Yu ทำงานทั้งกลางวัน กลางคืน และวันหยุดสุดสัปดาห์ เพื่อให้ธุรกิจโตขึ้นจากทีมนักเขียนโค้ดเล็ก ๆ กันแค่ 10 คน จนกลายมาเป็นสตาร์ทที่มีมูลค่าสูงถึง 200 ล้านหยวน (29 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในช่วงอีวาลูเอชันเพื่อระดมทุนจากทางเวนเจอร์ แคปิตอล แต่ทว่า ร่างกายคนเราไม่ได้แข็งแกร่งเหมือนเครื่องจักร จึงส่งผลให้ Yu ต้องเผชิญกับโรคนอนไม่หลับ และบางครั้ง มีเวลานอนแค่ 2 ชั่วโมงต่อคืนเท่านั้น
หนุ่มสาวจีนในแวดวงสตาร์ทอัพเผชิญกับอาการเบิร์นเอาท์ก่อนวัยอันควร
ในปีที่ผ่านมา เศรษฐีระดับพันล้านเกิดขึ้นมากมายในจีน จากสถิติเรียกได้ว่า จีนมีเศรษฐีใหม่เกิดขึ้นทุกสัปดาห์ ทั้งนี้เป็นผลมาจากการเติบโตแบบก้าวกระโดดของเทคโนโลยี ตามมาด้วย การขยายตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
สตาร์ทอัพในทุก ๆ อุตสาหกรรม ที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับความสำเร็จ จะมีสตาร์ทอัพที่เรียกได้ว่า เป็นก็อปปี้แคท เพื่อหวังจะเป็น แจ๊ค หม่า รายต่อไปอยู่หลายบริษัทในแต่ละอุตสาหกรรม ทั้งนี้ อาจไม่มีใครรู้เลยว่า ชีวิตที่แท้จริงของคนทำสตาร์ทอัพ โดยเฉพาะในเขต Zhongguancun ที่นับว่าเป็น Silicon Valley ของจีน และเขตอื่น จะใช้ชีวิตกันอย่างไรบ้าง
ในอุตสาหกรรมด้านเทคฯ ในจีน คนวัยหนุ่มสาวในบริษัทสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการจะต้องเผชิญหน้ากับอาการเบิร์นเอาท์กันถ้วนหน้า ส่วนใหญ่ก่อนวัย 30 กันเสียด้วยซ้ำ เพราะต้องมีเรื่องให้กังวลกันมากมาย เช่น ต้องช่วยกันประคับประคองบริษัทให้อยู่รอดปลอดภัยในช่วงตั้งไข่ให้ได้ ความกังวลเรื่องการถูกเลิกจ้างเมื่อกิจการไม่เวิร์ก และมีเรื่องของการกัดกันทางเพศเกิดขึ้นในออฟฟิศ
หลายคนอาจถึงขั้นต้องมานั่งพิจารณาตัวเองว่า คงได้เวลาแล้ว ที่จะต้องนึกถึงการทำงานที่พอดี และการพักผ่อนให้ชีวีมีสุข ในขณะที่หลายคนก็ยังต้องสู้กันต่อไปเพื่อปั้นบริษัทตัวเองให้เติบใหญ่ มีกำไร และอยู่รอด
โลเคชันใหม่สำหรับสตาร์ทอัพผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด
Yu เปิดตัวสตาร์ทอัพของตัวเองในโค-เวิร์กกิง สเปซ ที่ตั้งอยู่ในห้องใต้ดินของตึกที่ให้บริการเป็นออฟฟิศให้เช่าแห่งหนึ่งใน Zhongguancun โดยหวังดึงดูดลูกค้าที่เป็นทาเลนท์จากสถาบันการศึกษาด้านวิชาการของจีนในละแวกใกล้เคียง เช่น มหาวิทยาลัยชิงหัว
ออฟฟิศของเขาตั้งอยู่ไม่ไกลจากอพาร์ทเมนท์ให้เช่า ที่เขาแบ่งให้เป็นที่พักหลับนอนให้กับนักศึกษาฝึกงานของเขาเอง ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา Zhongguancun เต็มไปด้วยผู้คน และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ก็สูงขึ้น จนทำให้สตาร์ทอัพที่ตั้งตัวได้และใหญ่โตขึ้นต้องย้ายฐานการผลิตหรือออฟฟิศไปยังพื้นที่นอกเขต Zhongguancun ซึ่งไกล จนกลายเป็นอีกศูนย์กลางของสตาร์ทอัพเทคฯ แห่งใหม่ไปอีก
เมืองใหม่ของสตาร์ทอัพอีกแห่งคือ Xierqi ที่เป็นที่ตั้งของ Baidu, Sina, NetEase และ Didi ก็เรียกได้ว่า ตั้งแคมปัสแห่งใหม่กันที่นี่ อีกแห่งคือเมือง Wangjing ที่อยู่ชายแดนทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงปักกิ่ง ซึ่งปัจจุบัน เป็นที่ตั้งของบริษัทให้บริการส่งพัสดุและอาหารยักษ์ใหญ่อย่าง Meituan Dianping และแอพฯ นัดเดท Momo และศูนย์ภูมิภาคของ Alibaba Group Holding
ความท้าทายของคนในแวดวงสตาร์ทอัพ
เมื่อสตาร์ทอัพขยายตัว พื้นที่ก็ต้องขยับตาม กลายเป็นว่า สตาร์ทอัพที่ต้องการความแออัดน้อยหน่อย ก็ต้องปลีกตัวออกไปตั้งอยู่ตามเมืองใหม่ ส่วนเมืองเก่าที่สตาร์ทอัพตั้งมาได้นานแล้วก็ต้องเผชิญกับความแอดอัดกันต่อไป และอีกหนึ่งปัญหาที่ตามมาคือ ปัญหาการเดินทางไป-กลับ คนจีนจะมีมุขตลกขำ ๆ ล้อกันเล่นบนโลกออนไลน์ว่า ปัญหาคอขวดของการพัฒนาอินเทอร์เน็ตของประเทศไม่ได้อยู่ที่ไหน แต่อยู่ที่รถติดบนถนน Houchang Village นี่แหละ ถนนสายนี้มีด้วยกัน 4 เลน ตัดต่อและคดเคี้ยวไปตามที่ตั้งของบริษัทเทคฯ ยักษ์ใหญ่ ตั้งกันไม่ไกลจาก Xierqi ทั้งนี้ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของที่นี่เรียกได้ว่าล้าหลังยิ่งกว่าบริษัทด้านเทคฯ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อีก
ดูอย่างในปีที่ผ่านมา พายุฤดูร้อนเข้าถล่มกรุงปักกิ่ง ทำเอาพื้นที่ Xierqi ได้รับผลกระทบไปด้วย และถนนทุกสายของ Xierqi กลายเป็นแม่น้ำสายย่อม ๆ ไปเลยทันที
Yang หนุ่มวัย 23 ปี ที่ทำงานเป็นผู้จัดการฝ่ายสินค้าให้กับบริษัทอินเทอร์เน็ตแห่งหนึ่งใน Xierqi ต้องตื่นตั้งแต่ 6 เช้าทุกวัน และต้องเดินทางจากบ้านที่เขาอาศัยอยู่กับภรรยาและพ่อแม่ในกรุงปักกิ่งราว 2 ชั่วโมงครึ่งไปทำงานโดยรถประจำทาง ต่อด้วยรถไฟใต้ดินและชัทเทิลบัส
Yang เล่าว่า ทันทีที่ได้หย่อนก้นลงนั่ง นั่นคือโอกาสของการได้หลับพักผ่อนอย่างแท้จริง ไม่ว่าถนนจะขรุขระหรือคนจะแน่นเพียงใดก็ตาม
ในขณะที่บางคน เช่น Bu ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดในวัย 20 ยอมย้ายไปอาศัยอยู่ในหอพักบนตึกเก่า ๆ ย่าน Xierqi และใช้เวลาเดินไปออฟฟิศแค่ 10 นาทีเท่านั้น Bu อาศัยอยู่ในอพาร์ทเมนท์ที่ช่วยกันแชร์ค่าใช้จ่ายกับเพื่อนร่วมอพาร์ทเมนท์อีก 2 คน ที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง โดยแต่ละคนช่วยกันจ่าย 4,000 หยวน (598 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อเดือน และเนื่องจากใคร ๆ ที่ได้งานแถวนั้นก็อยากได้ที่พักใกล้ที่ทำงาน ค่าเช่าห้องจึงสูงมาก แม้จะเป็นอพาร์ทเมนท์เก่าคร่ำครึก็ตาม และเธอเองก็จะไม่มีโอกาสได้ลิ้มรสกาแฟจากร้านกาแฟสุดโปรด ร้านอาหารที่ชื่นชอบ และพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่เธอเคยไปเยี่ยมชมบ่อย ๆ ช่วงที่อาศัยอยู่ในกรุงปักกิ่งอีกต่อไปแล้ว
Bu ตัดพ้อว่า เหมือนตัวเองกำลังอยู่ในสภาพถูกเนรเทศออกจากกรุงปักกิ่ง
สตาร์ทอัพด้านเทคฯ ในจีนคาดหวังให้พนักงานทำงานนานขึ้นเพื่อให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะก้าวไปให้สูงขึ้นในสายงานของตัวเอง ทำให้คนในแวดวงสตาร์ทอัพต้องมีตารางที่เรียกว่า “ตาราง 996” คือ ทำงาน 9 โมงเช้า ถึง 3 ทุ่ม และทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์
แต่ก็ยังมีสตาร์ทอัพอย่าง ByteDance ที่ตั้งอยู่ใน Zhongguancun และทำแอพฯ วิดิโอสั้นชื่อ TikTok ที่ยืดหยุ่นเวลาการทำงานของพนักงานบ้าง โดยให้พนักงานส่วนใหญ่จาก 6,000 คนได้ทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์เว้นสัปดาห์
ภรรยาของ Yang วัย 29 ปี ก็ทำงานในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ใน Wangjing ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็น Koreatown และทั้งคู่ก็กลับถึงบ้านกันก็เกือบเที่ยงคืน ทั้งคู่พยายามจะมีลูกด้วยกันแต่ก็ไม่เคยได้อย่างที่ตั้งหวัง เพราะทำงานเหนื่อยกันทั้งคู่ Yang ก็ยังหวังที่จะให้ภรรยาท้องก่อนวัย 30 เพราะหากเลยวัยนี้แล้ว เกรงว่าภรรยาจะตั้งครรภ์ยาก
ทำงานกับยักษ์ใหญ่ ใช่ว่าจะได้สุขกับสวัสดิการ
ชีวิตการทำงาน ที่ต้องแบ่งให้กับชีวิตส่วนตัว เป็นเรื่องที่แทบจะมาบรรจบกันไม่ได้ หลายบริษัทเสนอสวัสดิการมากมายให้พนักงาน เช่น มีอาหารฟรี มีรถรับ-ส่งฟรี เข้าฟิตเนสในราคาสวัสดิการพนักงาน ตัดผมฟรี และโปรแกรมเพื่อความบันเทิงและพักผ่อนหย่อนใจอีกมากมาย แม้กระทั้งยักษ์ใหญ่อย่าง Google และ Facebook ใน Silicon Valley ก็ให้สวัสดิการคล้าย ๆ กัน แต่คนแวดวงสตาร์ทอัพ โดยเฉพาะด้านเทคฯ ก็ยังรู้สึกว่า เหมือนไม่ได้ประโยชน์อะไรจากสวัสดิการเหล่านี้มากนัก เพราะแทบจะไม่มีเวลาไปใช้บริการ
ทั้งนี้ สวัสดิการดังกล่าวก็ใช่ว่าจะทำให้พนักงานอยู่กับบริษัทได้นานเสมอไป จากสถิติแล้วคนทำงานด้านเทคฯ ใน Silicon Valley จะอยู่บริษัทเดิมราว 3.65 ปีแล้วเปลี่ยนงาน ในขณะที่คนทำงานด้านเทคฯ ในจีนจะอยู่ราว 2.6 ปี ก่อนเปลี่ยนงาน นอกจากนี้ ยังมีตัวเลขการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของคนทำงานวัยหนุ่มสาวในสายงานด้านเทคฯ ที่สื่อพากันประโคมข่าวของสาเหตุการเสียชีวิตว่ามาจากการทำงานมากเกินไป
ในปี 2015 Li Junming ดิเวลลอปเปอร์ของ Tencent ยักษ์ใหญ่ด้านโซเชียลมีเดียจีน เสียชีวิตขณะที่กำลังเดินเล่นกับภรรยาที่กำลังตั้งครรภ์
ในปีถัดมา Jin Bo รองบรรณาธิการบริหารของ Tianya ซึ่งเป็นโฟรัมออนไลน์ ก็เสียชีวิตด้วยอาการหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินแห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่งด้วยวัยเพียง 34 ปีเท่านั้น
และปีที่แล้ว พนักงานบริษัท DJI ผู้ผลิตโดรนรายใหญ่ระดับโลก ที่ตั้งอยู่ในเมือง Shenzhen ก็เสียชีวิตด้วยอาการหัวใจหยุดเต้นเช่นกัน ในวัยแค่ 25 เท่านั้น
ยุคของสตาร์ทในวันวาน และสตาร์ทอัพในวันนี้
วัฒนธรรมการทำงานแบบต้องนั่งติดเก้าอี้ติดต่อกันหลาย ๆ ชั่วโมงอันเกิดจากความคาดหวังที่จะทำให้สตาร์ทอัพเติบโตได้อย่างรวดเร็ว และเพราะเงินจำนวนมากจากกระเป๋านักลงทุนที่คาดหวังจะให้งอกเงยราวกับเสกขึ้นมาได้ดั่งใบไม้เป็นวัฒนธรรมการทำงานแบบเดิม ๆ ซึ่งในช่วงปีที่ผ่านมา สตาร์ทอัพหลายแหล่งไม่นิยมทำกันแล้ว
ปลายปี 2018 บริษัทด้านเทคฯ หลายแห่ง ได้ออกมาประกาศลดสวัสดิการ โบนัสและลดพนักงาน อันเป็นผลมาจากเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ในเดือนมกราคมปีเดียวกัน เวนเจอร์ แคปิตอล ของจีนขยายดีลได้ราว 4.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น ซึ่งลดลงกว่าร้อยละ 70 จากปีที่ผ่านมา
และอีกตัวหนึ่งที่เป็นสัญญาณคือ การสิ้นสุดลงของการระดมทุนที่ให้เงินกันง่ายแสนง่ายของธุรกิจแบ่งกันปั่นของ Ofo ที่เปิดตัวและระดมทุนกันจนเป็นที่ฮือฮาไปทั่วโลก ก็ต้องมาปิดตัวไปอย่างน่าเศร้า
Jelte Wingender ผู้จัดการอาวุโสของ Innoway ซึ่งเป็น Incubator ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีนให้ความเห็นว่า หากมองกันที่ตลาดจีน รัฐบาลท้องถิ่นจะมีทุนให้ และทุกเมืองจะมี Incubator และศูนย์ด้านเทคฯ ช่วยสนับสนุนสตาร์ทอัพ แต่ไม่มีใครรู้หรอกว่า สตาร์ทอัพเหล่านี้จะดีไหม แต่ในอนาคต จะได้เห็นผู้ประกอบที่เก่งจริง ๆ แค่ไม่กี่รายเท่านั้นที่ยังรอดกันในตลาด ซึ่งทุกอย่างก็จะต้องเข้มข้นขึ้นและดีขึ้น
Wingender ยังบอกอีกว่า สิ่งหนึ่งที่ผู้ก่อตั้งจีนและยูนิคอร์นจีนหลายแห่งยังทำไม่ได้ก็คือ ทำอย่างไรให้ธุรกิจของตัวเองอยู่ได้แบบยั่งยืน และหากยังต้องหน้าดำคร่ำเครียดทำงานกันยาวหลาย ๆ ชั่วโมงไปตลอดซัก 10 ปีข้างหน้า คนก็ไม่มีชีวิตของตัวเอง คนก็จะไม่เวลาสร้างครอบครัว และทุกอย่างก็จะวุ่นวายกันไปหมด
CB Insights ระบุไว้ในงานวิจัยชิ้นใหม่ล่าสุดว่า อาการเบิร์นเอาท์ หรือ อาการหมดไฟในการทำงานก่อนเวลาอันควร เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักถึงร้อยละ 8 ใน 101 ปัจจัยล้มเหลวของสตาร์ทอัพ ทั้งนี้ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น คนที่ยังอยู่ในสตาร์ทอัพเทคฯ ปัจจุบันก็ยังต้องสู้กันต่อไป
เขียนโดย Zheping Huang
Source: SCMP