Startups ธุรกิจล่าฝัน ที่ห้ามหยุดฝัน

  • 19
  •  
  •  
  •  
  •  

เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาได้เห็นกระแสของการตื่นตัว ตั้งแต่ระดับรัฐบาลในการเรียกประชุมเชิงนโยบาย จนมาถึงระดับกระทรวง และ หน่วยงานรัฐ ตลอดจนภาคเอกชน หลายต่อหลายองค์กรตื่นตัวและให้ความใส่ใจ โดยเล็งเห็นความสำคัญในการผลักดันเรื่องของธรุกิจล่าฝัน หรือ Startups ที่นักธุรกิจไทยหัวสมัยใหม่ให้ความสนใจกันมากมายในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ก็คงต้องยอมรับว่า กระแสการเริ่มต้นของ startups มาแรงจริง และจะเป็นโอกาส ที่สร้างธุรกิจใหม่ ๆ และการเกิดขึ้นของเม็ดเงินลงทุนอีกไม่น้อยสำหรับบ้านเรา แม้ว่าช่วงที่ผ่านมาจะมีกระแสว่า ฟองสบู่ของ startups ในอเมริกา อาจส่งผลกระทบมาหาเรา แต่เท่าที่อ่านดูจากบทวิเคราะห์ หรือ ข่าวสารต่างๆ ยังมีโอกาสให้เราได้เติบโตอีกระยะหนึ่งเลยครับ เหตุเพราะเม็ดเงิน เริ่มโยกย้ายมาทางฝั่งเอเซีย และ เริ่มเห็นการสร้างอะไรใหม่ ๆ ที่น่าสนใจมากขึ้นในโซนแถบประเทศฝั่งเอเซีย​ ซึ่งโดยพื้นฐานของ ธุรกิจ startups ยังคงต้องการ scale ซึ่งประชากรหลายพันล้านคนในเอเซียเปรียบเสมือนเพชรเม็ดงามที่รอคนมาเจียระไน

article-2

อย่างไรก็ตาม ความจริงที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้คือ การขาดความเข้าใจในเรื่องของ startups ที่จริง ๆ แล้ว มันคือ ธุรกิจอะไร หรือ ธุรกิจแบบไหน ถึงเรียกว่า startups กันแน่ เพราะในบางครั้งก็อดสงสัยว่า ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามผู้ใหญ่ที่ดูแลระดับนโยบาย หรือ คนที่ฝันอยากทำ startups ยังคิดว่า SME กับ startups เป็นเรื่องเดียวกัน มันก็คงน่าเสียดายไม่น้อย ต้องขอออกตัวว่าไม่ได้เป็นคนที่ทำงานด้าน startups แบบเต็มตัว แต่ได้มีโอกาสพบเจอน้อง ๆ และ ดูงานด้าน startups มาไม่น้อยในช่วงที่ทำงานอยู่ต่างประเทศ และมีเพื่อนๆ ร่วมงานอีกมากมายที่ผันตัวเองไปทำ startups แล้วมาเล่าสู่กันฟัง แบบแลกเปลี่ยนวิธีคิดหรือขอคำแนะนำบางเรื่อง ทำให้ได้รู้ว่า ธุรกิจ startups เป็นธุรกิจที่อาศัยใจที่มั่นคงมาก และแรงปรารถนาที่พร้อมจะลุกขึ้นสู้ทุกครั้ง แม้บางช่วงเวลาอาจจะท้อ จนไม่เหลืออะไรเลย เพียงเพราะศรัทธาที่เชื่อว่ามันต้องเป็นจริงได้ สำหรับผมจึงไม่แปลกเลยที่ startups มันประกอบไปด้วยคำสองคำ คือ คำว่า Start ที่แปลว่า เริ่มต้น และ คำว่า Up ที่ต้องพร้อมลุกขึ้นเสมอ ไม่ว่าจะเจอกับอะไร โดยรวม ๆ น่าจะบอกเป็นนัยสำคัญให้คนที่ฝันอยากกระโดดมาร่วมวงฝันแบบ startups ให้รู้ว่า “ต้องพร้อมลุกและเริ่มทุกครั้ง จนกว่าจะสำเร็จ”

Startups เป็นธุรกิจที่แตกต่างจาก SME โดยสิ้นเชิงครับ เพราะ​สำหรับผม startups เป็น initial stage ที่คนกลุ่มหนึ่งหรือคนหนึ่ง เห็นโอกาสทางธุรกิจ ประติดประต่อเอาเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมอะไรบางอย่างมาช่วยแก้ปัญหา (​Consumer’s Pain) ที่คนทั่วไป อาจพบเจออยู่ในชีวิตประจำวันให้เกิด โมเดลธุรกิจใหม่ ๆ ซึ่งเป็นการทำธุรกิจที่ต้องอาศัยความเร็ว แข่งกับเวลา เพราะถ้าช้าไป โอกาสก็อาจหมดไป หรือน้อยลงจนไม่เหลือโอกาสให้ทำกำไรก็เป็นได้ แต่ความจริงหนึ่งที่ต้องเข้าใจไว้ ก็คือ ความชัดเจนในเชิงโมเดลธุรกิจ กลุ่มเป้าหมาย หรือ ตลาด มันยังไม่ตกผลึก ยังต้องอาศัยการทำ validation และ test market อย่างต่อเนื่อง สินค้าอาจยังไม่เป็นรูปร่างด้วยซ้ำ ทุกอย่างเกิดขึ้นจากการมโนด้วยความคิดแบบนอกกรอบและการศึกษามาอย่างดี (Disruptive) ปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้ startups นั้น ก่อร่างสร้างตัวชัดเจนหรือไม่ คือ การสร้างโอกาสธุรกิจให้กับมันโดยอาศัยความได้เปรียบเชิงขนาด หรือ ที่เรียกว่า scalability ดังนั้น เรื่องปัจจัยด้าน geographic ไม่ได้เป็นข้อจำกัดเลย ถ้าเราสามารถ kick off ให้ startups เราเริ่มต้นได้ ก็ไปได้ไกลมาก ไม่เจาะจงเฉพาะแค่ประเทศใดประเทศหนึ่ง นี่คือ ความยิ่งใหญ่ของขนาด ซึ่งแตกต่างจาก SME มากครับ เมื่อไหร่ก็ตามที่ startups ของเรา เริ่มเข้าที่ลงตัว และ มีความชัดเจนในเรื่องการทำตลาด จนสามารถทำกำไรได้อย่างต่อเนื่อง ก็จะเริ่มก้าวออกจาก startuphood จนกลายเป็นองค์กรธุรกิจที่มั่นคงได้ครับ หัวใจสำคัญของ startups สำหรับผม มองที่ ความสามารถในการเติบโต และ scale เพราะสองสิ่งนี้ จะช่วยดึงเม็ดเงินจาก นักลงทุน venture capitalist (VC) มาให้กับ startups คุณแบบไม่ทันตั้งตัวเลยทีเดียว

หลายครั้งครับ ที่มักจะเจอคนทำ startups แล้วเดินเข้ามาขอคำปรึกษาว่า อยากทำ branding ให้กับผลิตภัณฑ์หรือธุรกิจ startups ที่ตัวเองทำอยู่ สำหรับผมจะย้อนถามกลับไปเสมอว่า ตอนนี้ มีความชัดเจนในด้าน model ธุรกิจ และได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการทำตลาดอย่างลึกซึ้งแค่ไหน บ่อยๆ เข้า ก็จะเจอกับปัญหาที่คนเข้าใจผิดว่าต้องทำแบรนด์แบบทันที แบบสุกเอาเผากิน ต้องเข้าใจก่อนครับว่า การทำแบรนด์โดยที่เรายังขาดความชัดเจน เกี่ยวกับ model ธุรกิจและความเข้าใจในผู้บริโภคมันจะเสียเปล่า เพราะการทำแบรนด์ไม่ใช่แค่การสร้าง โลโก้ หรือ color identity แต่มันคือการมองภาพระยะยาวสำหรับการสร้างมูลค่าให้กับธุรกิจคุณ มันต้องมีความแน่ชัดว่าเราจะกำหนดทิศทางของธุรกิจ และคุณลักษณะเฉพาะของแบรนด์คุณไปในทิศทางไหน การทำแบรนด์ให้กับธุรกิจ startups จึงไม่จำเป็นต้องเร่งรีบ แต่ต้องมีความละเมียดละไม และเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ถ้าลองสังเกตให้ดี ปัจจุบัน ในหลาย ๆ startups ที่ประสบความสำเร็จ ก็มีการใช้ personal branding ผ่าน founders ด้วยซ้ำ หรือ เลือกที่จะทำอีกแบบหนึ่งเมื่อมีความพร้อมมากขึ้น ดังนั้น  ภาพลักษณ์ทุกอย่างที่เรากำลังสร้างสรรค์ขึ้นมาภายใต้การวางแผนแบรนด์ จึงต้องมีความละเอียดอ่อนเสมอ วางแผนธุรกิจให้รอบคอบอย่างไร วางแผนการสร้างแบรนด์ก็ละเอียดแบบนั้นครับ ไม่อยากให้ใครคิดว่า “นี่ไง! ทำแบรนด์แล้ว ธุรกิจไม่เห็นเป็นไปตามแผนเลย” แล้วทึกทักเอาว่า แบรนด์ไม่ได้ช่วย! ฝากไว้เผื่อคิดให้ละเอียดอีกสักนิด เพื่อทุกอย่างจะเป็นได้ดั่งฝันครับ

 

เขียนโดย คุณเมธี จารุมณีโรจน์, Founder & Managing Partner BrandAholics
หนึ่งในผู้เขียนกิติมศักดิ์ ของ Marketing Oops! Insider แหล่งรวมผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดและโฆษณาที่จะมาร่วมกันแบ่งปันประสบการณ์ความรู้ให้กับเพื่อน Marketing Oops!

Copyright © MarketingOops.com


  • 19
  •  
  •  
  •  
  •  
Medhee Jarumaneeroj
20 ปี กับการทำงานในแวดวงโฆษณา ด้านงานสื่อสารแบรนด์และองค์กร และการตลาด ผ่านเอเจนซี่โฆษณาชั้นนำ และบริษัทยักษ์ใหญ่ ตลอดระยะเวลาเกือบสองทศวรรษที่ผ่านมา ได้มีโอกาสทำงานทั้งในระดับประเทศ ระบบภูมิภาค และระดับ Global ณ P&G สำนักงานใหญ่ ก่อนจะตัดสินใจเดินทางกลับมาไทย เพื่อร่วมมือร่วมใจกับเพื่อนๆ สร้างธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการวางแผนกลยุทธ์เกี่ยวกับการสร้างแบรนด์และการสื่อสารทางการตลาดและองค์กร ภายใต้ชื่อบริษัท BrandAholics