แม้ว่า “ยูนิคอร์น” จะเป็นความฝันสูงสุดของเหล่า “สตาร์ทอัพ” แต่ในประเทศไทยก็ยังไม่มีคนรุ่นใหม่ไฟแรงรายใดแตะถึงฝั่งฝันดังกล่าวสำเร็จ ยังคงขับเคี่ยว ล่าฝันกันต่อไป ซึ่งถือเป็นโชคดีอย่างหนึ่งเพราะในบ้านเรามีหน่วยงานต่าง ๆ สนับสนุนความแข็งแกร่งให้สตาร์ทอัพได้เติบโตอย่างยั่งยืน ไม่ได้เป็นแค่เทรนด์ธุรกิจที่ “เกิดง่าย ตายเกลื่อน” เหมือนสถานการณ์ในปัจจุบัน
ถ้าจะคุยประเด็นนี้ คงต้องถาม “ตัวจริง” จากกลุ่มคนที่เป็นทั้งสตาร์ทอัพ ทั้งเคยผ่านโครงการสนับสนุนต่าง ๆ อย่าง “Seekster” และ “Tellscore” เพราะทั้ง 2 รายนี้ ถือเป็นสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง! สามารถดันตัวเองจนกลายเป็น “ธุรกิจ” จริง ๆ มีฐานลูกค้าแพร่หลาย และให้บริการอย่างต่อเนื่อง
“Seekster” กับภารกิจสร้างงานทำความสะอาด – ช่างให้เกิดมูลค่า
คุณแดเนียล ดายย์ CTO ของ Seekster เล่าให้ฟังว่า แพลตฟอร์มของเราคือการจัดหาผู้ให้บริการด้านทำความสะอาด ซ่อมแซม และต่อเติมอสังหาริมทรัพย์ ที่ให้บริการผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชันราว 4 ปี โดยปัจจุบันมีเครือข่ายผู้ให้บริการกว่า 10,000 คน และมีฐานลูกค้าใช้งานรวม 150,000 คน
“เป้าหมายทางธุรกิจของเรา ไม่ใช่การสร้างมูลค่าให้บริการทำความสะอาดหรืองานช่าง แต่เป็นการทำให้งานบริการเหล่านั้นเกิดมูลค่าอย่างแท้จริง”
จากแนวคิดดังกล่าวจึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นธุรกิจของ Seekster ด้วยความมุ่งหวังที่ต้องการเปลี่ยนวิธีและรูปแบบการให้บริการทำความสะอาดและงานช่าง เรียกง่าย ๆ ก็คือ “พลิกโฉม” และ “เพิ่มมูลค่า” ไปได้พร้อมกัน โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้และสร้างความแตกต่างในฐานะสตาร์ทอัพ
“หลายคนรู้ว่าการเป็นสตาร์ทอัพมีความท้าทายสูง แต่ไม่รู้ว่ามีมากแค่ไหนเพราะคิดว่าทุกธุรกิจคือการสร้างรายได้ ทำกำไรเพื่อเลี้ยงบริษัทให้อยู่รอด ซึ่งการเป็นสตาร์ทอัพไม่ใช่แค่นั้น เพราะเราไม่สามารถ Go Slow ได้ ทุกอย่างต้อง Go Fast จำเป็นต้องสร้างมูลค่าให้ได้เร็วๆ ซึ่งสิ่งนี้เป็นเรื่องยากที่สุด และยังเป็นเรื่องที่คนไม่เข้าใจว่า การมีธุรกิจเกิดขึ้นหรือให้บริการได้จริง นั่นยังไม่จบ เพราะถ้าคุณคือสตาร์ทอัพ…คุณต้องเติบโตและเดินไปพร้อมกับธุรกิจ”
เป้าหมายทางธุรกิจจากความคาดหวังของ Seekster ในวันนี้ นอกจากขยายจำนวนผู้ใช้งานอย่างต่อเนื่อง ก็ยังมองถึงการเป็นศูนย์กลางในการเปิดให้ผู้ประกอบการรายอื่นได้นำแพลตฟอร์มของ Seekster ไปต่อยอดด้วย เพราะนั่นเป็นเสมือนโอกาสสร้างการเติบโตให้บริษัทด้วย
“Tellscore” กับบทบาทบ้านหลังใหญ่ของ Influencer
คุณสุวิตา จรัญวงศ์ Founder และ CEO Tellscore ย้อนให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของธุรกิจว่า ระบบการจัดการ Influencer เกิดขึ้นด้วยความมุ่งหวังจะสร้างแพลตฟอร์มกลางระหว่างแบรนด์ เอเยนซี่ และเหล่า Influencer เข้าด้วยกันไม่ว่าจะเป็น Micro หรือ Macro Influencer ก็ตาม ซึ่งปัจจุบันสามารถรวมเอา Influencer กว่า 12 กลุ่ม อยู่ในระบบมากกว่า 52,000 คน แบ่งเป็นในไทย 36,000 คน และอินโดนีเซีย 16,000 คน
“แน่นอนว่าปลายทางของสตาร์ทอัพ คือ ยูนิคอร์น แต่เชื่อว่านั่นไม่ใช่เป้าหมายหลักที่สตาร์ทอัพในประเทศไทยคาดหวัง นอกจากการเติบโตที่ทุกคนตั้งเป้าหมายเอาไว้ให้เติบโตแบบดับเบิลไซซ์ หรือทริปเปิลไซซ์ทุกปี Tellscore ก็เช่นเดียวกัน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดที่เรามอง คือการเปลี่ยนคอนเทนต์จาก Influencer ให้กลายเป็นเศรษฐกิจ เพราะทุกวันนี้การทำตลาด ทำแคมเปญผ่าน Influencer ได้กลายเป็นความนิยมที่แพร่หลายและมีสเกลใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น เป้าหมายระยะใกล้ของเราจึงเน้นการขยายตลาดไปยังอินโดนีเซียอย่างแข็งแกร่ง รวมถึงฟิลิปปินส์และเวียดนาม พร้อมกับเป้าหมายเติบโตด้านรายได้”
สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับการก้าวสู่เส้นทางสตาร์ทอัพ คือ การให้ความรู้แก่ตลาดและผู้บริโภค สตาร์ทอัพจำเป็นต้องสื่อสารและทำให้พวกเขาเข้าใจว่าสินค้าหรือบริการที่คิดค้นนั้น ช่วยให้ชีวิตของผู้บริโภคง่ายขึ้นอย่างไร สบายขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างไร ทั้งในแง่ผู้บริโภค พารท์เนอร์ และอุตสาหกรรม ไม่ใช่เพียงการนำเสนอเทคโนโลยี และเรื่องนี้ถือเป็นความสำคัญอย่างมาก เพราะจำเป็นต้องใช้ทั้งเงินทุนและความท้าทาย
พิสูจน์ฝีมือจนเข้าตา “LINE ScaleUp”
ไม่ใช่แค่ความสำเร็จที่ Seekster และ Tellscore สามารถพิสูจน์ตัวตนบนเส้นทางสตาร์ทอัพและธุรกิจ แต่ทั้ง 2 รายยังเป็นดาวรุ่งจากโครงการ “LINE ScaleUp 2019” ซึ่งมีสตาร์ทอัพแห่เข้าร่วมโครงการนับ 100 ทีม และมีเพียง 6 ทีม ที่ผ่านการคัดเลือกเป็นส่วนหนึ่งในปีนี้
สำหรับ LINE ScaleUp เป็นโครงการต่อยอดความสำเร็จของสตาร์ทอัพไทยสู่เวทีโลก เพราะนอกจากเฟ้นหาสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพแล้ว ก็ยังมีความช่วยเหลือด้านการพัฒนาธุรกิจบนแพลตฟอร์มของ LINE และติวเข้มโดยโค้ชผู้มีประสบการณ์ในแวดวงธุรกิจ นาน 4 เดือน เพื่อให้คำแนะนำการดำเนินธุรกิจ การใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และการบริหารงานในองค์กรให้มีประสิทธิภาพ ภายใต้เป้าหมาย “สร้างสตาร์ทอัพไทยสู่ยูนิคอร์น”
ทำงานร่วมกับ LINE โอกาสที่สตาร์ทอัพหมายปอง!
ประเด็นนี้ไม่ต้องบอก…ใคร ๆ ก็คงรู้ว่า LINE เนื้อหอมแค่ไหน แวดวงธุรกิจล้วนอยากต่อยอดกับ LINE เพื่อเข้าถึงฐานผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์ม ดังนั้น LINE ScaleUp จึงกลายเป็น “โอกาส” สำหรับสตาร์ทอัพมากกว่าเป็นเพียง “โครงการ” เพื่อสตาร์ทอัพ การันตีได้จากมุมมองของ Seekster และ Tellscore ที่ยกความดีความชอบให้กับ LINE ScaleUp ที่พยายามปลุกปั้นและเสริมความแข็งแกร่งแก่สตาร์ทอัพไทยอย่างแตกต่างจากโครงการอื่น ๆ
โดยเฉพาะ Seekster ที่มอง LINE เป็นบริษัทเทคโนโลยีอันแข็งแกร่งในประเทศไทย แต่เมื่อได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของโครงการฯ กลับได้สัมผัสถึงเบื้องลึกเบื้องหลังขององค์กร ก็ยิ่งมีโอกาสทำความเข้าใจกับไอเดียการออกแบบ การพัฒนาโปรดักท์ และการตลาดจาก LINE มากกว่าการเป็นพาร์ทเนอร์ชิปแต่เป็นสตาร์ทอัพในโครงการ LINE ScaleUp ที่สามารถเข้าถึงฐานผู้ใช้งาน LINE กว่า 44 ล้านคนในประเทศไทยได้ทันที โดยได้รับสิทธิ์เชื่อมต่อบริการเข้ากับ Mini App ทำให้ผู้ใช้ LINE สามารถใช้บริการได้สะดวกสบายไม่ต้องดาวน์โหลดแอปใหม่ รวมถึงโอกาสได้เรียนรู้และปรึกษาธุรกิจร่วมกับทีม LINE MAN เพื่อสร้างการเติบโตและพัฒนาบริการใหม่ ๆ ร่วมกันในอนาคตอีกด้วย โอกาสเหล่านี้ถือเป็น “ความแตกต่าง” ที่ LINE ScaleUp ได้มอบให้สตาร์ทอัพไทย เกี่ยวกับการสอนเส้นทางไปถึงยูนิคอร์น ไม่ใช่เพียงการสอนพื้นฐานหรือทำธุรกิจ
เช่นเดียวกับประสบการณ์ที่ Tellscore มองว่า LINE ScaleUp โดดเด่นกว่าโครงการสตาร์ทอัพอื่นด้วยการ “บูรณาการ” ไม่ใช่เพียงการสอนทฤษฎี แต่หมายถึงการลงมือและทำร่วมกัน ทั้งยังให้สิทธิ์อย่างเท่าเทียมกัน 6 ทีมที่ผ่านการคัดเลือก รวมถึงการมีโค้ชและเครือข่ายความร่วมมือพร้อมกับเปิด API ให้สตาร์ทอัพได้เรียนรู้และเกิดความร่วมมือจริง ไม่ใช่เพียงการอบรมหรือสอนแนวทางต่าง ๆ ยังไม่นับรวมถึงโอกาสจากการเปิดกว้างสู่ฐานผู้ใช้งาน LINE และเทคโนโลยีที่ Tellscore ได้ร่วมมือกับทีมงานของ LINE อาทิ LINE OA ที่ได้รับสิทธิ์ให้ใช้งานฟรี และการทำงานร่วมกับ LINE IDOL เพื่อต่อยอดสู่บริการอื่น
Ecosystem ที่แท้ทรู! เพื่อสตาร์ทอัพ
อย่างที่ Seekster ได้บอกไปแล้วว่าโครงการ LINE ScaleUp ให้มากกว่าความรู้และการสอนสตาร์ทอัพ ซึ่งไม่ใช่การสอนแค่เรื่องพื้นฐาน แต่เป็นการสอนให้คิดไปได้ไกลว่าสิ่งที่เราสร้างมาจะ Change the World ได้อย่างไร ทำให้เราได้เข้าใจและมองเห็นทั้งโอกาส และรับมือกับอุปสรรคได้ดีขึ้น ดังนั้น สิ่งที่คาดหวังจากโครงการ ได้แก่ การ Collaborate ร่วมกับ LINE เพื่อสร้างโอกาสเป็นที่รู้จัก พบลูกค้าที่เหมาะสมได้มากขึ้นและทำให้ธุรกิจแข็งแกร่งขึ้นมากกว่าที่คาดหวัง
ทางด้าน Tellscore เองมองว่า ทุกๆ โครงการสนับสนุนสตาร์ทอัพล้วนมีเมนทอร์ให้คำแนะนำอยู่แล้ว แต่การทำสตาร์ทอัพจำเป็นต้องอัพเดทอยู่ตลอด ทั้งเทรนด์ต่างๆ โมเดลธุรกิจใหม่ๆ จึงเป็นโอกาสที่ดีที่ LINE ScaleUp มีเครื่องมือและคำแนะนำที่สอดคล้องกับความต้องการของสตาร์ทอัพ ใช้เครื่องมือฟรี และเปิดระบบหลังบ้านให้เข้าถึงได้ทั้งหมด ซึ่งเป็นจุดเด่นที่แตกต่างสำหรับโครงการสนับสนุนสตาร์ทอัพที่ดี ไม่ใช่เพียงจบโครงการแต่รวมถึงโอกาสต่อยอดโครงการที่จะเดินหน้าร่วมกันต่อไป
หากมองย้อนไปถึงสิทธิพิเศษที่สตาร์ทอัพจะได้เข้าถึง หลังผ่านการคัดเลือกจากโครงการ LINE ScaleUp แบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ ความร่วมมือด้านธุรกิจ (Business Solution) โดยเปิดช่องทางมินิแอป (Mini App) บน LINE ให้กับ Seekster และ Finnomena ให้ผู้ใช้ LINE สามารถเข้าถึงและเข้าใช้บริการของทั้ง 2 สตาร์ทอัพอย่างเต็มรูปแบบผ่านแชท LINE ความร่วมมือด้านพันธมิตรอย่างเป็นทางการกับแพลตฟอร์มชั้นนำของ LINE (Strategic Partnership) โดยจะเปิดให้ผู้ใช้งาน LINE สามารถเข้าถึงบริการของ Seekster ได้ผ่านแพลตฟอร์ม LINE MAN ในเร็วๆ นี้ รวมไปถึง Finnomena และ Claimdi ที่ได้ร่วมเป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการกับ 2 แพลตฟอร์มด้านคอนเทนต์ชั้นนำในประเทศไทยอย่าง LINE Today และ LINE TV ในการส่งคอนเทนต์เพื่อเผยแพร่ สร้างความรู้ ความเข้าใจในข้อมูลที่เป็นประโยชน์และส่งเสริมการใช้งานของทั้ง 2 บริการได้อย่างยั่งยืน และความร่วมมือแบบบูรณาการเชิงลึก (Deep Integration) ที่มอบให้ทั้ง 6 ทีม อาทิ บริการเชิงลึกผ่าน LINE API ที่ทีม Choco CRM, Tellscore และ GOWABI สามารถต่อยอดการพัฒนาบริการได้ดียิ่งขึ้น ทำให้ผู้ใช้สามารถใช้บริการผ่าน LINE ได้อย่างครบวงจร กลายเป็นที่รู้จักมากขึ้น ทั้งยังสามารถดำเนินธุรกิจให้เติบโตและขยายสเกลสู่ลูกค้าในวงกว้างต่อไป
แม้กลิ่นความสำเร็จจะยั่วยวน แต่เส้นทาง Entrepreneur ไม่ได้โรยกลีบกุหลาบ
สำหรับ Seekster นั้นได้ไอเดียจากการอ่านหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งบอกว่า “ถ้าคุณอยากได้สิ่งที่คนอื่นไม่มี คุณก็ต้องทำในสิ่งที่คนอื่นไม่ทำ” เส้นทางสตาร์ทอัพไม่ใช่แค่การทำเพื่อแก้ไขปัญหาสินค้าหรือบริการที่มีในปัจจุบัน แต่หมายถึงการทุ่มเทเวลาและชีวิตให้กับสิ่งนั้นมากกว่า 100% สตาร์ทอัพต้องไม่หยุดคิดและพัฒนา หากคุณอยากเป็นสตาร์ทอัพนี่เรียกว่าเป็นหนึ่งในบททดสอบชีวิตมนุษย์ก็ว่าได้ แนะนำให้ลงมือทำจริงๆ ไม่ใช่แค่คิด และอย่ากลัวความล้มเหลว เพราะแม้ว่าคุณจะล้มเหลวแต่นั่นก็คือประสบการณ์ที่คนอื่นไม่มี
เช่นเดียวกับ Tellscore ที่อยากให้ทุกคนที่สนใจเป็น Entrepreneur เข้ามาทำได้เลย ไม่ว่าจะสำเร็จหรือล้มเหลว ทุกเรื่องราวเป็นรายละเอียดที่ดีอยู่แล้ว แต่ต้องยอมรับให้ได้ว่าจะต้องทุ่มเทเวลาทั้งหมดของชีวิตให้กับธุรกิจได้หรือไม่ และสิ่งสำคัญคือ “ไม่อยากให้มองว่าสตาร์ทอัพเป็นเรื่องโก้” เพราะความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย การเข้าสู่สนามแข่งขันไม่ใช่เรื่องง่ายแต่มีองค์ประกอบหลายประการ ทีมงานก็สำคัญมากเพราะทุกคนต้องช่วยกันได้ ต้องเก่ง ต้องไม่ทำตัวเป็นตัวถ่วงทีม โปรดักท์ก็ต้องดีมีคุณภาพ โครงสร้างองค์กรก็ต้องแข็งแกร่ง