ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) จัดงานชุมนุมทางความคิดประจำปี ครั้งที่ 10 (CU2016) ภายใต้แนวคิด “EXIT: สู่ความจริงรูปแบบใหม่” พร้อมจัดกิจกรรมประชุมวิชาการนานาชาติ เพื่อจุดประกายให้ผู้ประกอบการและนักออกแบบตื่นตัวรับเทคโนโลยี พร้อมที่จะศึกษาและประยุกต์ใช้นวัตกรรมเข้าสู่ธุรกิจเพื่อสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง โดยหนึ่งในวิทยากรที่ร่วมบรรยายในงานดังกล่าว คือ มร.ไคลี่ อึ้ง (Khailee Ng) ผู้ร่วมก่อตั้ง 500 Startups มาแชร์ประสบการณ์ในฐานะผู้เชี่ยวชาญในวงการธุรกิจสตาร์ทอัพ ซึ่งเป็นรูปแบบธุรกิจที่ทั้งผู้ประกอบการทั่วไปและนักออกแบบควรให้ความสนใจในยุคปัจจุบัน
ทำไมสตาร์อัพถึงต้องรวมตัวกันในซิลิคอนวัลเลย์
โดย มร.ไคลี่ อึ้ง เผยว่า ธุรกิจสตาร์ทอัพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่แตกต่างหรือด้อยกว่าสตาร์ทอัพระดับโลกที่ตั้งอยู่ในซิลิคอนวัลเลย์ โดยกว่า 60% ของสตาร์ทอัพในซิลิคอนวัลเลย์นั้นมาจากนักพัฒนาประเทศอื่นที่ไม่ใช่นักพัฒนาชาวสหรัฐอเมริกา เพียงแต่มาเริ่มธุรกิจที่ซิลิคอนวัลเลย์เท่านั้น ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพในซิลิคอนวัลเล่ย์ไม่ได้มีความสามารถมากกว่าหรือทำงานหนักกว่าสตาร์ทอัพอื่นๆ ทั่วโลก เพียงแต่ซิลิคอนวัลเลย์เป็นจุดรวมตัวของผู้ประกอบการและผู้ที่สนใจในสตาร์ทอัพ ทำให้สามารถมองหาความช่วยเหลือ ช่องทางการสนับสนุน เครือข่ายเน็ทเวิร์คกิ้ง พาร์ทเนอร์ และการลงทุนได้ง่ายขึ้น รวมถึงมีบริบทที่เกื้อหนุนให้เกิดความคิดที่มีศักยภาพ
ในปัจจุบันมักมีความเข้าใจว่า ผู้พัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพต้องเป็นวิศวกร แต่แท้จริงแล้วหนึ่งในปัจจัยสำคัญของธุรกิจสตาร์ทอัพ คือ นักออกแบบ หรือดีไซน์เนอร์ อันเห็นได้จากหลากหลายตัวอย่างความสำเร็จ อาทิ Pinterest หรือ Flickr ซึ่งล้วนเป็นธุรกิจที่มีการออกแบบเป็นหัวใจหลัก และเป็นข้อยืนยันว่า นักออกแบบสามารถเป็นผู้ก่อตั้งธุรกิจได้ด้วยตัวเอง เพราะการออกแบบธุรกิจไม่ได้แตกต่างกับการออกแบบผลิตภัณฑ์ การออกแบบผลิตภัณฑ์เป็นการออกแบบที่ให้คนภายนอกหรือผู้บริโภคประทับใจ แต่การออกแบบธุรกิจ ต้องออกแบบทั้งภายนอกและภายใน คือ เพิ่มเติมในส่วนงานออกแบบให้คนทำงานภายในมีประสบการณ์ที่ดีด้วย
ปัจจัยที่จะทำให้สตาร์ทอัพประสบความสำเร็จ
การที่จะทำให้สตาร์ทอัพประสบความสำเร็จระดับนานาชาติต้องเริ่มต้นตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบธุรกิจในระยะแรก เพราะปัจจัยสำคัญที่เป็นสิ่งอำนวยให้ธุรกิจสตาร์ทอัพประสบความสำเร็จนานาชาตินั้น คือ ความเป็นแพลตฟอร์มระดับโลก (Global Platform) โดยธุรกิจต้องได้รับการออกแบบให้สามารถประยุกต์ใช้เข้ากับบริบทของประเทศต่างๆ ได้ตั้งแต่แรกเริ่ม โดยตัวอย่างประเภทธุรกิจที่เป็นแพลตฟอร์มระดับโลก ได้แก่ ธุรกิจบริการซอฟท์แวร์ (SAS – Software as a service) และธุรกิจที่ผสมผสานการใช้ Lead Generation เพื่อให้ได้มาซึ่งรายชื่อของผู้ติดต่อทางธุรกิจ และนำไปสู่การขาย ผ่านการเชื่อมต่อกับสังคมออนไลน์
มุมมองเกี่ยวกับสตาร์ทอัพไทย
ปัจจุบันสตาร์ทอัพในประเทศไทยส่วนใหญ่ยังไม่สามารถประสบความสำเร็จระดับนานาชาติได้นั้น เนื่องจากการออกแบบโมเดลธุรกิจ (Business model) ไม่เอื้อกับการประยุกต์ใช้เพื่อกระจายเข้าสู่ประเทศอื่น หากต้องการขยายไปสู่ระดับโลกต้องปรับธุรกิจใหม่ทั้งหมด หากสตาร์ทอัพออกแบบโมเดลธุรกิจให้ตอบโจทย์ความต้องการตลาดในวงกว้างได้ ก็จะทำให้สตาร์ทอัพไทยเป็นดังสตาร์ทอัพชื่อดังของโลก
ทางด้านสถานการณ์สตาร์ทอัพในประเทศไทย ปัจจุบันธุรกิจสตาร์ทอัพสามารถเริ่มต้นได้ง่าย เพราะมีความพร้อมทางด้านองค์ความรู้ เงินทุน และโอกาสมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การเริ่มต้นสตาร์ทอัพง่ายก็ทำให้เกิดอุปสรรคขึ้นมาในขณะเดียวกัน คือ มีสิ่งรบกวนที่อาจทำให้เกิดความลังเลในการโฟกัสธุรกิจ อาทิ การเห็นไอเดียของผู้อื่นอาจทำให้เกิดความลังเลในการพัฒนาธุรกิจตนเอง ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญที่หลายสตาร์ทอัพกำลังประสบปัญหาอยู่
โดยวิธีแก้ที่ถูกต้องคือ ให้เริ่มต้นด้วยการคิดค้นเพียงหนึ่งไอเดียที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคหนึ่งคนและทำการปิดการขายให้สำเร็จ จากนั้นจึงเริ่มหาพาร์ทเนอร์เพื่อขยายการขายไปยังเป้าหมายอื่นๆเพิ่มเติม ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจสตาร์ทอัพสามารถโฟกัสธุรกิจ ได้อย่างเต็มที่โดยไม่เฉไฉไปในทิศทางอื่น