เพราะเศรษฐกิจโลกได้ก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะที่ประเทศไทยเองก็มีความพยายามที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล โดยความหวังที่จะมาเติมเต็มเป้าหมายนี้คือ “เทคสตาร์ทอัพ (Tech Startup)” ด้วยเหตุนี้ ตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมา จึงมีหลากหลายองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ต่างเข้ามาช่วยสนับสนุนผลักดันให้สตาร์ทอัพไทยเกิดและเติบโต อย่างเอาจริงเอาจัง
สถิติจาก Techsauce Startup Report 2561 ระบุว่า ปี 2561 มีสตาร์ทอัพไทยที่มีผู้ร่วมลงทุน 35 ราย เป็นเงิน 61.25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 1,933 ล้านบาท ชะลอตัวลงจากปีก่อนที่มีสตาร์ทอัพที่มีผู้สนใจร่วมลงทุน 31 ราย แต่เป็นเงินสูงถึง 106.10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 3,350 ล้านบาท แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือ จำนวนสตาร์ทอัพที่ได้รับการลงทุน มีเพียงไม่ถึง 5% ของจำนวนสตาร์ทอัพไทยที่ลงทะเบียนกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ซึ่งมีกว่า 600 ราย
ธนาคารกสิกรไทย ในฐานะธนาคารไทยรายแรกๆ ที่มีการปรับการทำงานเข้าสู่ยุคดิจิทัล และให้การสนับสนุน Digital Ecosystem ผ่านการร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ องค์การต่างๆ และสนับสนุนการทำงานร่วมกับสตาร์ทอัพมาโดยตลอด รวมถึงการจัดตั้งบริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล เมื่อ 2 ปีที่แล้ว เพื่อลงทุนในสตาร์ทอัพไทยและขับเคลื่อนการเติบโตของสตาร์ทอัพเหล่านั้น
“แม้ว่าที่ผ่านมา การร่วมงานระหว่างธนาคารกสิกรไทยกับสตาร์ทอัพจะเป็นไปได้อย่างดี แต่เราก็รู้สึกว่าสตาร์ทอัพเหล่านี้ยังสามาถไปต่อได้อีกไกล และกสิกรไทยก็อยากจะเป็นเพื่อนร่วมทางคอยให้คำแนะนำ เพื่อทำให้สตาร์ทอัพไทยเติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมจะต่อสู้กับความท้าทายและก้าวย่างต่อไปอย่างมั่นใจเพื่อมุ่งสู่การเป็น Unicorn ต่อไปในอนาคต จึงเป็นที่มาของโครงการ KATALYST” คุณขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าว
แรงบันดาลใจที่จุดประกายไอเดียสู่ KATALYST
โครงการ KATALYST (แคททะลิสต์) โครงการเร่งศักยภาพสตาร์ทอัพไทยที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจขยายธุรกิจ และมีแนวทางไปในทิศทางเดียวกับกลยุทธ์ของธนาคารกสิกรไทย เพื่อร่วมกันสร้างคุณค่าทางธุรกิจ (Co-Creation) ผ่านการแลกเปลี่ยนความรู้ ให้คำปรึกษา และสนับสนุนจากธนาคารและพันธมิตร เพื่อนำไปสู่การต่อยอดทางธุรกิจร่วมกัน
จากประสบการณ์ที่คลุกคลีในระบบนิเวศสตาร์ทอัพไทยมาถึง 8 ปี คุณธนพงษ์ ณ ระนอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด หรือ BEACON VC บริษัทเงินร่วมลงทุนของธนาคารกสิกรไทย โดยเขาเล่าว่าที่กระโดดเข้ามาในแวดวงสตาร์ทอัพไทย ก็เพราะต้องการสร้างบางสิ่งบางอย่างเพื่อช่วยแก้ปัญหาของสตาร์ทอัพไทย
“เริ่มจากการก่อตั้งกองทุนร่วมลงทุน (Venture Capital) เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนเงินลงทุน แล้วก็พยายามแก้ปัญหาไปเรื่อยๆ จนตอนนี้เราก็รู้สึกว่า Startup Ecosystem เริ่มไปได้ดี แต่ก็ยังไม่เต็มที่ เพราะเมืองไทยยังไม่ Success Case หรือ Unicorn ก็เลยมามองว่ายังมีปัญหาอะไรใหม่ๆ ที่ค้างในระบบนิเวศนี้ จึงทำให้สตาร์ทอัพไทยไม่เติบโตเท่าที่ควร จนพบว่า สตาร์ทอัพส่วนใหญ่ยังอยู่ในขั้นไอเดีย (Idea Stage) และแค่รอบ Seed Round มีน้อยรายที่เข้าไปถึงซี่รี่ส์ A หรือ B เป็นเพราะเขายังขาดองค์ความรู้บางอย่าง ที่ต่อยอดจากความรู้พื้นฐานที่ได้รับจากโครงการบ่มเพาะ (Incubator) ต่างๆ จึงคิดว่าธนาคารกสิกรไทยน่าจะทำโครงการที่มาต่อยอดและเติมเต็มจากโครงการที่หลายคนปูพรมมาดีแล้ว เพื่อเป็นสปริงบอร์ดให้สตาร์ทอัพไทยเติบโตขึ้นไป” คุณธนพงษ์เล่า
BEACON VC ถือเป็น “เรือธง” ของธนาคารกสิกรไทยที่ลงทุนในสตาร์ทอัพไทยที่มีศักยภาพในการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการเงินและเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ ที่สอดคล้องและสามารถรองรับแผนยุทธศาสตร์ของธนาคารได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล จากเงินลงทุนเริ่มแรกที่ 30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อ 2 ปีก่อน มาปีนี้ BEACON VC ได้เพิ่มขนาดกองทุนเป็น 135 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
คุณธนพงษ์มองว่า KATALYST จะเป็นอีกช่องทางสำคัญสำหรับ BEACON VC ในการสรรหาสตาร์ทอัพไทยที่มีศักยภาพเข้ามาเพิ่มในพอร์ตการลงทุนของบริษัท จากปัจจุบันที่ได้ลงทุนไปแล้ว 7 บริษัท ได้แก่ FlowAccount, Ookbee, Eventpop, Grab, InstaReM, Jitta และ Horganice โดยเขาตั้งเป้าลงทุนในสตาร์ทอัพจากโครงการ KATALYST ปีละ 2-3 ราย แต่สิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นคือ เขาเชื่อว่าโครงการนี้ จะขับเคลื่อนให้เกิดสตาร์ทอัพหน้าใหม่ที่มีศักยภาพพร้อมแข่งขันบนเวทีโลกอีกเป็นจำนวนมาก
KATALYST เพื่อนสนิทของชาวสตาร์ทอัพ ที่มีทุกสิ่งพร้อมสนับสนุน
“KATALYST เป็นโปรเจคใหม่ของธนาคารกสิกรไทย ตั้งใจจัดขึ้นเพื่อสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพอย่างเต็มรูปแบบ ที่ผ่านมา ธนาคารกสิกรไทยอยู่เบื้องหลังหลายโปรดักส์ที่สตาร์ทอัพเปิดตัวสู่ตลาดไทย จากการทำงานคลุกคลีกับสตาร์ทอัพมาระยะหนึ่ง เราพบว่าสตาร์ทอัพไม่ได้ขาดแค่เงินทุน แต่ยังมีความต้องการอีกหลายด้าน เราจึงพยายามต่อยอดจากสิ่งที่ได้ทำมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์สตาร์ทอัพให้ครบและก้าวไกลไปด้วยกัน เหมือนเพื่อนสนิทสตาร์ทอัพ” คุณสุปรีชา ลิมปิกาญจนโกวิท ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวในฐานะเจ้าภาพดูแลโปรเจค KATALYST
คุณสุปรีชาเล่าถึงที่มาของชื่อ KATALYST ซึ่งเป็นคำพ้องเสียงกับ Catalyst โดยเปลี่ยนอักษรนำเป็นตัว K เพื่อเชื่อมโยงถึงธนาคารกสิกรไทย โดย Catalyst หมายถึงตัวเร่งให้เกิดปฏิกิริยาเร็วขึ้น
KATALYST มีความมุ่งมั่นที่จะเร่งศักยภาพ และช่วยกระตุ้นให้สตาร์ทอัพไทยเติบโตอย่างรวดเร็วและยั่งยืน ผ่านการทำงานร่วมราวเพื่อนสนิทกับทีมงานของธนาคารกสิกรไทยและบริษัทพันธมิตร ที่พร้อมให้คำแนะนำด้านต่างๆ อาทิ รูปแบบการทำธุรกิจ การให้ความรู้ การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ การให้คำแนะนำในการขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ฯลฯ โดยเฉพาะโอกาสในการนำโปรดักส์เข้ามาทดสอบและนำเสนอให้กับฐานลูกค้าของธนาคารฯ ที่มีมากกว่า 14.5 ล้านราย
นอกจากนี้ ยังมีบริษัทของธนาคารที่พร้อมเข้ามาต่อยอดสตาร์ทอัพในโครงการนี้ อาทิ บริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด บริษัทกองทุนร่วมลงทุนของธนาคารกสิกรไทย ที่พร้อมสนับสนุนในเรื่องเงินลงทุนและคำแนะนำ และบริษัท เควิชั่น จำกัด บริษัทด้านการลงทุนในสตาร์ทอัพและแสวงหานวัตกรรมในประเทศของธนาคารกสิกรไทย ที่พร้อมนำมุมมองและประสบการณ์มาเสริมแกร่งให้สตาร์ทอัพไทย รวมถึง บริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) ที่พร้อมสนับสนุนและให้คำแนะนำในการทดลองโปรดักส์ของสตาร์ทอัพผ่านเทคโนโลยีใหม่ๆ จากทางธนาคาร เป็นต้น
เรียกได้ว่า ภายใต้โครงการ KATALYST ธนาคารกสิกรทุ่มเททรัพยากรทั้งหลาย ด้วยความมุ่งมั่นที่จะช่วยให้วงการสตาร์ทอัพไทยเติบโตและประสบความสำเร็จ แต่ไม่เพียงเท่านี้ ธนาคารฯ ยังได้ผนึกพลังกับพันธมิตรสำคัญ อย่าง Baker McKenzie ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย เพื่อมาช่วยให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมายสำหรับสตาร์ทอัพ และเมืองไทยประกันชีวิต เพื่อเข้ามาให้คำแนะนำและช่วยเหลือเกี่ยวกับสวัสดิการด้านสุขภาพสำหรับบริษัทสตาร์ทอัพ
“ที่ผ่านมา ธนาคารกสิกรไทยทำเรื่อง Digital Transformation มาเยอะ เราพัฒนา Digital Banking Platform จนวันนี้มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ทั้งในเรื่องจำนวนผู้ใช้บริการ และปริมาณธุรกรรมที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ K PLUS ซึ่งเป็น Mobile Banking Platform ของเราเป็นผู้ให้บริการรายแรกที่มีผู้ใช้บริการแตะ 10 ล้านบัญชี แต่ก็ยังไม่พอ เราไม่สามารถผลักดันเรื่อง Digital Transformation ให้ลูกค้าโดยลำพัง เพราะโลกดิจิทัลเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว และกลุ่มลูกค้ามีกลุ่มย่อย (Segment) ที่กระจัดกระจายมาก เราเชื่อมั่นว่า ด้วยศักยภาพของสตาร์ทอัพไทยที่มีพลังสร้างสรรค์และมีความเร็วในการพัฒนาโปรดักส์ จะมาเติมเต็มทำให้ Digital Transformation Journey สำหรับลูกค้าของธนาคารสมบูรณ์ยิ่งขึ้น”
ทั้งนี้ คุณสุปรีชา บอกเล่าถึง กุญแจความสำเร็จสำหรับสตาร์ทอัพว่ามีด้วยกันอยู่ 5 ประการ ได้แก่ 1) ทีมงานที่แข็งแกร่งและเข้าใจในสิ่งที่ทำ รวมถึงมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือสร้างธุรกิจให้เกิดและเติบโต 2) ผลิตภัณฑ์ต้องตอบโจทย์ลูกค้า หรือแก้ปัญหาให้กับผู้บริโภค 3) มีตลาดหรือกลุ่มคนที่ต้องการผลิตภัณฑ์นั้น 4) มีโมเดลธุรกิจที่ถูกต้องเหมาะสมและสามารถทำกำไรต่อได้ระยะยาว และ 5) มีเงินลงทุน เมื่อต้องการขยาย โดยผู้บริหารกสิกรยืนยันว่า KATALYST เป็นกลไกที่จะช่วยให้สตาร์ทอัพไทยเข้าถึงกุญแจความสำเร็จได้ครบทั้ง 5 ข้ออย่างแน่นอน
สตาร์ทอัพที่มุ่งมั่นจะเติบโต คือเป้าหมายของโครงการนี้
คุณสุปรีชากล่าวว่า สตาร์ทอัพที่ต้องการเข้ามาเป็นสมาชิกของ KATALYST Family ทำได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องกรอกใบสมัครใดๆ เพียงส่งไอเดียหรือข้อมูลเกี่ยวกับโปรดักส์ของตัวเองมาที่เว็บไซต์ katalyst.kasikornbank.com เพื่อแนะนำให้ธนาคารฯ ได้รู้จัก จากนั้นจะมีทีมงานจากธนาคารติดต่อกลับไป
โดยเกณฑ์ในการพิจารณาเบื้องต้น จะพิจารณาจากสตาร์ทอัพไทยที่มีธุรกิจไปแล้วระดับหนึ่ง หรืออย่างน้อยก็มี MVP ออกมาแล้ว แต่สำหรับสตาร์ทอัพที่ยังอยู่ในขั้นไอเดีย ทางธนาคารก็ยินดีเปิดรับ ถ้าไอเดียธุรกิจดังกล่าวแข็งแรงแล้ว และอีกคุณสมบัติสำคัญคือ แนวคิดโปรดักส์ของสตาร์ทอัพรายนั้น ต้องทำให้เกิด การชนะร่วมกันทั้ง 3 ฝ่าย (Win-Win-Win) คือสตาร์ทอัพได้ประโยชน์ ลูกค้าของธนาคารฯ ได้ประโยชน์ และธนาคารฯ ได้ประโยชน์
“เราไม่ใช่ Accelerator ที่ทำงานร่วมกันแค่ 3-6 เดือนแล้วจากกันไป แต่รายไหนที่มีโปรเจคดีๆ ทีมงานจะเข้าไปนั่งคุยด้วย เพื่อช่วยกันหา Core Value ของโปรดักส์ที่จะตอบโจทย์ของลูกค้าได้อย่างแท้จริง ทางธนาคารฯ พร้อมจะทุ่มเททรัพยากร ทั้งแรงงาน สมอง องค์ความรู้ และเครือข่ายที่มี เพื่อผลักดันให้โปรดักส์ของสตาร์ทอัพออกสู่ตลาด และช่วยให้สตาร์ทอัพในโครงการเกิด ถ้าไม่เกิด เราไม่เลิกล้ม”
สำหรับจำนวนสตาร์ทอัพที่โครงการรองรับได้ เบื้องต้น คุณสุปรีชาย้ำว่า ยังไม่มีการจำกัดจำนวน ยิ่งเยอะยิ่งดี เพราะทางธนาคารกสิกรพร้อมจะระดมทรัพยากรที่ธนาคารมาใช้ขับเคลื่อนโครงการนี้ รวมถึงขับเคลื่อนการเติบโตและความแข็งแกร่งของสตาร์ทอัพไทย เพื่อให้สามารถก้าวสู่ระดับโลกได้อย่างมั่นใจ
ปัจจุบัน มีสตาร์ทอัพ 4 รายที่เข้าร่วมโครงการแล้ว ได้แก่ Horganice – BUILK – Flowaccount – Shippop ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า การเข้าร่วมโครงการได้ครบจบทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นคำปรึกษาเรื่องต่างๆ ได้ความช่วยเหลือสนับสนุน ได้กำลังใจ ได้แรงงานที่มาร่วมลงมือทำงานบางอย่างร่วมกัน ราวกับเพื่อนในทีม ฯลฯ
สุดท้ายนี้ คุณสุปรีชา ย้ำว่า สำหรับสตาร์ทอัพรายใดก็ตามที่อยากเติบโต ขอให้ลองส่งข้อมูลเข้ามา ไม่ว่าคุณจะอยู่ Stage ไหน หรือเคยอยู่กับ Accelerator รายใด มาก่อนก็ตาม หรือแม้แต่อาจมีผู้ลงทุนเป็นธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่นอยู่ ก็ตาม ทางโครงการฯ ยินดีเปิดรับ
“เราอยากเชิญชวนให้ชาวสตาร์ทอัพเข้ามาเจอเพื่อนดีๆ ที่ชื่อ KATALYST เพราะนี่อาจจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่สุดของบริษัทคุณ การติดกระดุมต้องติดให้ถูกตั้งแต่เม็ดแรก การหาที่ปรึกษาก็เช่น เพราะถ้าปรึกษาคนผิด ธุรกิจอาจไม่เกิด แต่สำหรับ KATALYST ถ้าธุรกิจคุณไม่เกิด เราจะไม่หยุด” คุณสุปรีชาทิ้งท้าย