ไม่มีใครที่เกิดมาพร้อมกับทักษะอันเชี่ยวชาญในการทำธุรกิจ ทุกอย่างต้องใช้เวลาเพื่อสั่งสมประสบการณ์ และลองผิดลองถูก ซึ่งจะทำให้คุณเข้าใจการทำธุรกิจอย่างแท้จริง รวมถึงการทำความเข้าใจต่อตัวเองว่า ทำธุรกิจ “เพื่ออะไร” และ “ทำอย่างไร” ให้ประสบความสำเร็จ และนี่คือ 6 บทเรียนที่ Startup หรือนักธุรกิจมือใหม่ทุกคนต้องเจอ ในก้าวแรกของการทำธุรกิจ ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ขอให้ทำอย่างเต็มที่ก็พอ
1. การเขียนแผนธุรกิจ
แน่นอนว่าสิ่งแรกที่คุณต้องทำคือ แผนธุรกิจ เพราะจะเป็นรากฐานสำคัญในการทำธุรกิจ เป็นคู่มือที่จะบอกว่าบริษัทคุณมีเป้าหมายอะไร จำหน่ายสินค้าประเภทใด รวมถึงมีกลยุทธ์ทางการตลาดแบบไหนที่จะใช้ในอนาคต นอกจากนี้ แผนธุรกิจยังเป็นประตูสำคัญที่จะช่วยให้นักลงทุน หรือสถาบันทางการเงิน นำไปใช้พิจารณาเรื่องเงินลงทุนอีกด้วย
แต่ถ้าหากตัดเรื่องเงินๆ ทองๆ ออกไปแล้ว แผนธุรกิจ ยังเป็นเครื่องมือที่จะแสดงเจตนาทางความคิด และวิสัยทัศน์ขององค์กรอีกด้วย เพราะก่อนที่คุณจะชักชวนให้คนอื่นๆ มาลงทุน คุณต้องมั่นใจก่อนว่าบริษัทของคุณพร้อมจะเติบโตได้มากแค่ไหน ซึ่งแผนธุรกิจจะเป็นสิ่งที่บ่งบอกทุกอย่าง
เมื่อคุณมีแผนธุรกิจที่ดีแล้ว สิ่งต่อมาคือ….
2. หาที่ปรึกษา
การมีพี่เลี้ยงหรือที่ปรึกษา จะช่วยให้คุณทำงานได้ง่ายขึ้น เพราะพวกเขาจะให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ต่อการทำธุรกิจ แบ่งปันประสบการณ์ต่างๆ และข้อมูลเชิงลึก ที่คุณจะหาไม่ได้จากที่ไหน นอกจากผู้รู้จริง พวกเขาจะช่วยกระตุ้นให้คุณมีไฟมากขึ้น เพราะฉะนั้น คุณควรมองหาที่ปรึกษาที่ฉลาด หลักแหลม มีประสบการณ์ และเข้าใจในสิ่งที่คุณกำลังทำ จากความสำเร็จของพวกเขา คุณก็สามารถดำเนินรอยตามได้ไม่ยาก ถ้ามีที่ปรึกษาดีๆ
หลังจากที่แผนธุรกิจของคุณ ได้รับการตรวจสอบจากที่ปรึกษาแล้ว ก็ถึงเวลา….
3. ตามหานักลงทุน
“การลงทุน ไม่สำคัญเท่านักลงทุน” การหานักลงทุนที่เหมาะสมกับธุรกิจ และองค์กรของคุณนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งต้องใช้เวลาค่อนข้างมากในการดำเนินการ คุณต้องกำหนดระยะเวลาการวางจำหน่ายสินค้า ระยะเวลาคืนทุน และเรื่องผลตอบแทนให้ชัดเจน เพราะนักลงทุนส่วนมากจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นหลัก
หลังจากได้นักลงทุนที่เหมาะสมแล้ว สิ่งต่อมาคือ…..
4. เริ่มต้นประชาสัมพันธ์
ในช่วงเริ่มต้นนี้ คุณต้องพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่าสินค้าและบริการของคุณ นั้นตอบโจทย์ตลาดได้ดี ด้วยการประชาสัมพันธ์ ทำการตลาดผ่านสื่อต่างๆ อาทิ อีเมล์, Social Media, การจัดกิจกรรมนอกสถานที่ และการตลาดแบบปากต่อปาก ซึ่งช่องทางเหล่านี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยโปรโมทธุรกิจของคุณให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น หรือถ้าคุณสร้างความน่าเชื่อถือให้สินค้าได้แล้ว ก็จะนำไปสู่การสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนอีกด้วย
เมื่อคุณได้เริ่มทำตลาดแล้ว สิ่งต่อมาที่คุณต้องเตรียมใจรับให้ได้ว่า…
5. อย่าท้อถ้าเจอผลตอบรับในด้านลบ
แน่นอนว่าในการทำธุรกิจคุณต้องเจอทั้งคำชม และคำตำหนิ ซึ่งความคิดเห็นเหล่านี้จะเป็นแรงผลักดันให้ธุรกิจของคุณเดินหน้าได้ อาจฟังดูโหดร้ายไปหน่อย ถ้าคุณต้องเจอกับผู้บริโภคที่ชอบแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา ขอให้ยอมรับความคิดเห็นที่แสนจะมีค่าพวกนี้ และเก็บไว้เพื่อนำไปพัฒนาสินค้าและบริการต่อไป
สุดท้ายแล้ว…..
6. พร้อมรับความเสี่ยง
ในการทำธุรกิจไม่ว่าจะเป็นธุรกิจประเภทใดย่อมมีความเสี่ยงเสมอ ความเสี่ยงของธุรกิจ จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมันคือ สิ่งที่คุณคาดไว้แล้ว แต่กลับไม่เป็นตามที่คาดหมายไว้ตั้งแต่แรก เช่น ราคาวัตถุดิบ สถานการณ์ทางการเมือง การผิดนัดชำระหนี้ของลูกหนี้ ฯลฯ ไม่ว่าจะเป็นจากเศรษฐกิจ หรือกลไกลทางการตลาด คุณจะต้องนำความรู้ ประสบการณ์ หรือคำแนะนำจากที่ปรึกษามาใช้ และต้องทำอย่างต่อเนื่อง พยายามหาจุดเด่นของสินค้าให้ได้ เพื่อนำไปแข่งขันกับผู้ค้าอื่นๆ ในท้องตลาด สรรหากลยุทธ์ทางการตลาดที่จะตอบโจทย์ผู้บริโภคให้มากที่สุด
ทั้ง 6 ข้อนี้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น คุณยังต้องเดินทางอีกไกล กว่าจะถึงจุดที่ประสบความสำเร็จ อย่าเพิ่งท้อ เพราะนี่คือ จุดเริ่มต้นเท่านั้น