ใครที่คุ้นเคยกับวงการ Logistics ของประเทศไทยจะรู้ดีว่า ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนไว้กว่า 18,000 รายทั่วประเทศ ยังไม่รวมที่ไม่ได้จดทะเบียนอีกหลายราย มีการทำงานที่เป็นเฉพาะ แยกจากกันไม่ยุ่งเกี่ยว แต่ละรายจะมีลูกค้าประจำที่ใช้บริการกันมานานเป็นสิบปีขึ้น และส่วนใหญ่จะกลัวสูญเสียลูกค้า หรือแย่งลูกค้ากัน ทำให้การแชร์ข้อมูลระหว่างกันไม่เกิดขึ้น การพัฒนาไปสู่ e-Logistics จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา
สิทธิศักดิ์ วงศ์สมนึกCEO และผู้ก่อตั้ง Giztix ผู้ให้บริการ Platform e-Logistics เห็นถึงข้อจำกัดในวงการ Logistics ไทย จากประสบการณ์ที่มีธุรกิจครอบครัวด้านนี้อยู่แล้ว จึงเห็น Pain point และพยายามนำเทคโนโลยีเข้ามาแก้ไขอุปสรรคนี้ ซึ่งเริ่มต้นได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ Biztech เป็นระบบคอมพิวเตอร์ ERP Logistics โดยเฉพาะ มีราคาสูง เน้นจับตลาดลูกค้าขนาดใหญ่ ทำให้ SME ไม่สามารถใช้งานได้
จึงเกิดเป็นที่มาของการพัฒนา Giztix เพื่อตอบโจทย์ผู้ประกอบการระดับ SME โดยเน้นใช้งานง่าย ฟรี และเพิ่มยอดขาย เพื่อดึงดูดใจ เรียกว่าสามารถเปลี่ยนผู้ประกอบการขนส่งจาก Traditional เป็น e-Logistics ได้ภายใน 5 นาที
ไม่ต้องเปลี่ยนผู้ใช้ แต่ทำให้ผู้ใช้ยอมเปลี่ยนแปลง เพื่อสิ่งที่ดีกว่า
“วงการ Logistics เหมือนวงการก่อสร้าง คือ ทุกรายจะใช้ระบบเถ้าแก่แบบเดิมๆ หวงลูกค้า กลัวการแย่งลูกค้า และไม่เปิดเผยข้อมูลใดๆ ทั้งสิ้น ทำให้การสร้างระบบ e-Logistics ให้เกิดขึ้นเป็นเรื่องยาก ดังนั้น Giztix จะไม่เปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ประกอบการ แต่จะเน้นทำเครื่องมือที่ตอบสนองความต้องการ เพื่อให้ผู้ประกอบการนั้นยอมเปลี่ยนพฤติกรรมเอง”
Giztix ไม่ได้เปลี่ยนระบบการทำงาน แต่ถ้าเรียนรู้ใช้งานแล้วจะทำให้การทำงานง่ายขึ้น จึงเริ่มต้นด้วยระบบ e-Logistics Marketplace ทั้งเจ้าของสินค้าหรือ Shipper และผู้ให้บริการขนส่ง สามารถมาโพสต์เสนอซื้อเสนอขายกันได้ มีระบบ Match หาคู่ให้กับผู้ซื้อ-ผู้ขาย มีระบบ Chat เพื่อให้สามารถเจรจาต่อรอง ส่งใบเสนอราคากันได้ทันที ซึ่งทั้งหมดสามารถทำผ่าน Marketplace หรือจะติดต่อคุยกันโดยตรงระหว่าง เจ้าของสินค้า และผู้ให้บริการขนส่ง
การโพสต์เสนอซื้อ-ขาย ทำให้ผู้ให้บริการขนส่ง สามารถหาลูกค้าใหม่ได้ แต่การติดต่อกันโดยตรงเป็นการรักษาฐานลูกค้าเดิม Giztix คิดค้นมาแล้วเพราะเข้าใจตลาดนี้ดี และด้วยความเป็น Marketplace จึงช่วยคัดกรองคุณภาพ มีรายละเอียดประวัติของผู้ให้บริการ ขอใบเสนอราคาและเปรียบเทียบราคาได้ทันที ดังนั้นเจ้าของสินค้า จะประหยัดเวลา และได้ราคาที่เหมาะสม
เปลี่ยนคู่แข่งเป็นคู่ค้า พัฒนา e-Logistics
สิทธิศักดิ์ บอกว่า จากความเข้าใจในธุรกิจ Logistics อย่างดี ทำให้สามารถพัฒนาบริการมาอย่างต่อเนื่อง และยังมีแผนพัฒนาในเฟสต่อไปอีกเยอะ ซึ่ง Giztix จะเน้นตลาด Import-Export เป็นหลัก เนื่องจากการจะติดต่อขนส่งกับต่างประเทศ จะมีมาตรฐานและแบบฟอร์มที่เป็นสากล และจำเป็นต้องใช้ระบบ e-Logistics ดังนั้น ผู้ประกอบการจะสะดวกสบายกว่ามากถ้าเลือกใช้ระบบของ Giztix ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้งานในระบบแล้วกว่า 300 ราย แบ่งเป็นผู้ประกอบการ 120 ราย และเจ้าของสินค้า 180 ราย ทั้งหมดถือเป็นคู่ค้าของ Giztix
“Logistics ที่ทำ Import-Export ถูกบังคับให้เป็น e-Logistics อยู่แล้ว ต้อง Paperless ดังนั้นผู้ประกอบการต้องสมัครใจที่จะเปลี่ยนแปลง และ Giztix จะเข้ามาช่วยตรงนี้ ขณะที่เจ้าของสินค้า อาจจะไม่รู้ว่าราคาค่าบริการต้องเป็นเท่าไร แพงหรือไม่ ใช้เวลานานแค่ไหน ถ้ามาที่ Giztix จะได้ข้อมูลทุกอย่าง”
นั่นหมายความว่า Giztix จะไม่ได้มีเพียงบริการเท่านั้น แต่จะเป็นแหล่งความรู้เรื่องการขนส่ง ภาษี ราคาค่าบริการ เป็นการยกระดับพัฒนาคุณภาพ e-Logistics ในประเทศไทย ซึ่งฟีเจอรต่างๆ ของบริการจะมีการอัพเดทครั้งใหญ่ในช่วงกลางปีนี้ ทำให้เป้าหมายในปีนี้ เจ้าของสินค้า และผู้ประกอบการขนส่ง จะต้องรู้จักและนึกถึง Giztix เมื่อต้องการส่งของ
ตลาดไทยเป็นจุดเริ่ม เป้าหมายคือต่างประเทศ
ปัจจุบัน Giztix ไม่ได้มีคู่แข่งโดยตรง ทั้งในไทยและต่างประเทศ เพราะเน้นตลาด B2B เป็นหลัก และด้วยความพิเศษที่มี ทำให้ได้รับเงินทุนจาก VC หลายราย และในอนาคตอันใกล้นี้ ก็จะมีข่าวดีในการระดมทุนตามมาอีก
อย่างที่บอกแล้วว่า Giztix โฟกัสที่ผู้ประกอบการ Import-Export เพราะมีมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก ทำให้เป้าหมายของลูกค้าที่มาใช้บริการ Giztix ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ภายในประเทศไทยเท่านั้น และได้เริ่มให้บริการใน 8 ประเทศ นอกจากไทยแล้ว ยังมี จีน, มาเลเซีย, ฮ่องกง, ศรีลังกา, สหราชอาณาจักร, ไต้หวัน และ อเมริกา ซึ่งด้วยรูปแบบที่เป็น International อยู่แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องยาก
แต่อย่างไรก็ตาม อีกเป้าหมายสำคัญของ สิทธิศักดิ์ และ Giztix คือ ต้องการพัฒนาคุณภาพของระบบของทั้งอุตสาหกรรมในประเทศไทย นั่นคือทำอย่างไรให้การขนส่งมีประสิทธิภาพ สินค้าถึงมือลูกค้าเร็ว ปลอดภัย และราคาเหมาะสม เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดได้
Copyright © MarketingOops.com