เมื่อเงินสด บัตรเครดิตและบัตรส่วนลดในกระเป๋าเป็นตัวเจ้าปัญหา การเก็บเงินสดไว้กับตัวมากเกินไปก็ไม่ปลอดภัย ฝากไว้กับธนาคารก็ต้องไปที่ ATM เพื่อแค่ถอนเงินออกมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ใครที่มีบ้านอยู่ไกลกับตัวร้านค้า จะไปกด ATM ไปร้านซื้อของก็ไม่สะดวก แม้แต่บัตรเครดิดจะช่วยให้เราจ่ายเงินแบบไม่ต้องพกเงินมาก ในยุคที่คนชำระเงินออนไลน์มากขึ้น เลขรหัสบนบัตรเครดิดจึงสำคัญากกว่าตัวบัตรเสียอีก
เราจึงได้ยินแนวคิดของ “สังคมไร้เงินสด” มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในต่างประเทศอย่างสวีเดน และจีนมีมานานแล้ว
ใครกันแน่ที่จะต้องปรับตัวในสังคมไร้เงินสด?
การมองเพียงอย่างเดียวว่าเพราะผู้บริโภคในไทยส่วนใหญ่ทุกคนมีและใช้สมาร์ทโฟน ทำธุรกรรมผ่านอินเตอร์เน็ตกันมากขึ้นนั้นไม่พอแน่ๆ เพราะตัวธนาคารบางเจ้าที่ไล่ทยอยปิดสาขา ส่วนหนึ่งเพราะผลักดันให้ลูกค้าทำธุรกรรมบนมือถือมากขึ้นด้วย ATM จะกลายเป็นเรื่องไม่จำเป็นเหมือนตู้โทรศัพท์ข้างทาง แต่คงปิดทุกสาขาเลย มองว่ายังไม่ถึงขนาดนั้นด้วยเหตุผลของแบรนด์ที่ยังมีลูกค้าบางกลุ่มต้องการสัมผัสประสบการณ์ในการใช้บริการกับคนจริงๆอยู่ และยังกังวลการความปลอดภัยในการชำระเงินออนไลน์อยู่
กลายเป็นว่าผู้บริโภคต้องปรับตัวตามธนาคารและฟินเทคเสียเอง
มองสถานการณ์ฟินเทคฯไทยผ่านกลยุทธ์ของธนาคาร
เพราะฝ่ายที่ได้รับผลกระทบเต็มๆจากฟินเทคและสังคมไร้เงินสดก็คือธนาคารตรงๆ ในเมื่อธนาคารในไทยเป็นองค์กรขนาดใหญ่ ทำให้ปรับตัวได้ช้าเมื่อเทียบกับสตาร์ทอัพที่มีขนาดเล็กกว่า มาดูว่าธนาคารจะจัดการความท้าทายนี้อย่างไร ที่เห็นชัดๆก็มี 3 ธนาคาร
1. Krungsri Bank (ธนาคารกรุงศรี)
ธนาคารนี่ตั้งบริษัทลูกอย่าง Krungsri Finnovate มาค้นหา พัฒนาและลงทุนฟินเทคโดยเฉพาะ มีโครงการปั้นฟินเทคอย่าง กรุงศรี ไรส์ ล่าสุดจับมือและลงทุนในรอบ Series B+ กับ Omise ฟินเทคที่ใช้ Blockchain เสริมระบบชำระเงินออนไลน์ ลงทุน 112 ล้านบาทกับ Finnomena หวังใช้เทคโนโลยีอย่าง Robo Advisor ของ Finnomena มาแนะนำเป้าหมายและผลิตภัณฑ์ทางการเงินการลงทุนให้กับลูกค้าของธนาคาร
แถมมีแอปฯ U Payment ไว้ตรวจยอดวงเงินของบัตรเครดิต รายการใช้จ่าย โปรโมรชั่นต่างๆ
2. SCB (ธนาคารไทยพาณิชย์)
SCB ตั้ง Digital Venture ลงทุนในฟินเทคกว่า 1,750 ล้านบาท และตั้งบริษัท SCB Abacus แยกออกมาจากตั้งธนาคารเพิ่งศึกษา AI (Artificial Inteligence) โดยเฉพาะ หวังให้ AI มาวิเคราะห์ข้อมูล (Big Data) ของธนาคารเพื่อพัฒนาธุรกิจของธนาคาร เสนอผลิตภัณฑ์และบริการบนแอปฯ SCB Easy และจัดการระบบ Call center และปัญหาของลูกค้า ล่าสุดได้จับมือกับวินมอเตอร์ไซต์และแทกซี่ให้ลูกค้า SCB จ่ายเงินโดยการสแกน QR Code ได้
SCB ยังหันมามองโอกาสในสังคมเล็กๆที่สามารถเปลี่ยนให้เป็นสังคมไร้เงินสดได้ เช่นการร่วมมือกับมหาวิทยาลับเกษตรศาสตร์ให้นักศึกษาและบุคคลในมหาฯลัยได้ใช้ธุรกรรมทางการเงินออนไลน์โดยตัวธนาคารฯจะสนับสนุนระบบให้
3. KBank (ธนาคารกสิกรไทย)
KBANK ตั้ง KBTG คิดนวัตกรรมกับพันธมิตรเทคโนโลยี มี Digital Partnership มี Beacon Venture Capital ไว้เป็นแหล่งเงินทุนดึงฟินเทคทั้งไทยและต่างประเทศเข้าหาตัวธนาคารเช่น FlowAccount ของไทย และยังลงทุนผ่านกองทุนเงินร่วมลงทุนกับ Dymon Asia ของสิงคโปร์ พูดง่ายๆคือ KBank กะสร้าง FinTech Ecosystem
บริการ K Plus Shop แอปฯที่ให้เราชำระเงินซื้อของ มีคนใช้แอปฯนี้มากกว่า 6 แสนคน มีแผนเพิ่มร้านค้าพันธมิตรถึง 2 แสนคน แถมกำลังพัฒนา Machine Learning ให้เข้าใจและแนะนำลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น Biometric Verification ที่ใช้ยืนยันตัวตนของลูกค้า เพิ่มความปลอดภัยอีกขั้น และ Blockchain มาช่วยจัดเก็บข้อมูลให้สะดวกและปลอดภัย
ถึงตรงนี้เราก็พอรู้แล้วว่าธนาคารในวงการฟินเทคบ้านเราใช้ 5 กลยุทธ์หลักๆตามนี้
1. หาฟินเทคพันธมิตร มาเสริมนวัตกรรมบริการทางการเงินของ
ธนาคารส่วนใหญ่จะปั้นสตารอัพหน้าใหม่ผ่านโครงการที่ตั้งเองจัดพร้อมเงินลงทุน เทรนนิ่งและการเข้าถึงข้อมูลลูกค้า หวังว่าจะได้สตาร์ทอัพดีๆมาช่วยให้ตัวธนาคารมีนวัตกรรมมาบริการทางการเงินแก่ผู้บริโภคไม่ว่าจะเป็นการใช้ AI, Blockchain หรือ Internet of Things แต่ที่น่าจับตามองคือ Krungsri ที่ได้ทั้ง Omise และ Finnomena มาเป็นพวก ส่วน KBank ได้ฟินเทคอย่าง FlowAccount ไป
2. หาพันธมิตรร้านค้ารู้จักกับบริการของธนาคารมากที่สุด
โดยเฉพาะร้านค้าที่ฐานลูกค้าของตัวเองเข้าไปซื้อของใช้บริการเป็นประจำ ไม่ใช่แค่ธนาคาร แต่ยังมีธุรกิจเทเลคอมฯ ฟินเทค และโมบายเพย์เมนต์ที่รุมหาร้านค้าพันธมิตร และลดแลกแจกแถมลูกค้า พูดง่ายๆคือแข่งกันให้ลูกค้าได้เห็นและใช้แบรนด์ของตัวเองบ่อยๆผ่านไลฟ์สไตล์ของตัวลูกค้า
3. เปิดให้สตาร์ทอัพหรือหน่วยงานอื่นๆเข้ามาเชื่อมต่อกับข้อมูลของฐานลูกค้าของตัวธนาคาร
ผ่าน API (Application Program Interface) ด้วย
4. ตั้งบริษัทลูกมาดูแลเรื่องฟินเทคโดยเฉพาะ
และตั้งหน่วยงานมาศึกษาวิจัยเทคโนโลยีเอง
5. มีแอปพลิเคชั่นเป็นของตัวเอง
ใครที่เคยเห็นตู้ ATM ของแต่ละธนาคารเรียงกันเป็นสายรุ้ง ตอนนี้คงได้เห็นแอปฯของแต่ละธนาคารเรียงกันบนมือถือของเราบ้างแล้ว ฉะนั้นเรื่องของ User Experience และ User Interface ให้ใช้งานเข้าใจง่าย ไม่มีบัค ลดขั้นตอนการกดโอนซื้อของให้มากที่สุด เพราะนิสัยคนใช้สมาร์ทโฟน ถ้าเขาเล่นแอปฯของคุณแล้วไม่รู้เรื่อง แอปฯของคุณโดยลบไม่ถึง 10 วินาที คนใช้งานจะไม่ให้อภัยคุณอีกเลย
รู้จัก Omise ฟินเทคสัญชาติไทยที่จะมาช่วยสร้างสังคมไร้เงินสด
Omise เป็นฟินเทคที่ก่อตั้งเมื่อปี 2013 แต่บริการธุรกรรมออนไลน์ในไทยเต็มรูปแบบเมื่อสองปีที่แล้ว ปัจจุบันมีเงินลงทุน 50 ล้านบาท มีสาขาที่ไทย ญี่ปุ่น สิงคโปร์และอินโดนิเซีย ปีนี้ได้เพิ่มช่องทางอินเตอร์เน็ตแบงค์กิ้ง เปิดตัวแอพลิเคชั่นของโอมิเซะ เพิ่มช่องทางการชำระเงินผ่าน Alipay เอา Blockchain มาใช้ ระดมทุนผ่าน ICO เพื่อ OmiseGo ซื้อกิจการเพยสบาย จาก DTAC และติดตั้งระบบ FacePay ให้กับกระทรวงการคลัง หลังๆจะเห็นว่า Omise เล่นแรงขึ้นในเรื่องของการหาพันธมิตรและระดมทุนจากหลายแหล่งรวมถึง Krungsri Bank ด้วย
2017 จึงกลายเป็นปีทองของ Omise ไปเลย
TRUE AIS และ LINE ว่าอย่างไร?
ความท้าทายของสามธุรกิจที่ว่านี้คือ ตัวเองมีบริการ Mobile Payment ของตัวเองอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็น AIS MPay TrueWallet และ Line Pay ถ้าว่ากันในตลาด E-Wallet แล้ว สามเจ้านี้ถือว่าติดตลาด (อ่านบทวิเคราะห์เปรียบเทียบ E-Wallet ในไทยได้ที่นี่) แต่ที่น่าหนักใจคือทั้งสามเจ้าต้องชิงส่วนแบ่งการตลาดกับธนาคารที่มีแอปฯให้บริการชำระเงินออนไลน์ด้วย นี่ยังไม่นับ Omise ที่เพิ่งเปิดตัวแอปฯในปีนี้อีก
คนไทยเข้าใจฟินเทคมากขึ้น (พอๆกับคนที่ยังไม่เข้าใจ)
ทั้งๆที่ธนาคาร ธุรกิจใหญ่ๆและฟินเทคต่างก็ลงทุนมาก แต่ก็ยังพบว่ายังมีคนไม่แน่ใจว่าฟินเทคคืออะไร พอๆกับมีคนเข้าใจฟินเทคว่าเป็นการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับการให้บริการทางการเงินจากการสำรวจของ Nida นั้นพบว่า 2 พวกนี้มีจำนวนพอๆกัน แต่ที่น่าห่วงก็คือ 74.24% ของคนที่สำรวจนั้นบอกว่าไม่เคยใช้บริการของ Fintech เลย อาจจะไม่เคยใช้จริงๆหรือใช้โดยไม่รู้ตัวว่าเป็นบริการของฟินเทคก็ได้ พอถึงเวลาต้องจ่ายเงินซื้อของนั้น ผู้บริโภคที่สำรวจบางกลุ่มก็ยอมไปหน้าร้านและใช้เงินสดจ่ายทั้งที่สะดวกน้อยกว่าหยิบมือถือกดจ่ายเงินง่ายๆ
มองในแง่ดี หมายความว่ายังมีตลาดว่างให้ฟินเทคฯหน้าใหม่ (หรือหน้าเดิม) เข้าไปสร้างแบรนด์และชิงส่วนแบ่งอยู่
หรือการทำธุรกิจแบบสตาร์ทอัพจะเป็นแรงต้านสังคมไร้เงินสดเสียเอง
เพราะการติดเอาแต่ว่าระดมเงินทุนให้ได้เยอะๆ เน้นเทคโนโลยี เน้นประชาสัมพันธ์ บมือแต่ร้านค้าแบรนด์ดังๆ เร่งหาผู้ใช้งาน แล้วคิดจะขายหุ้น ขายกิจการทีหลัง จนลืมสร้างแบรนด์และการตลาด แต่กลับไม่มองร้านค้าข้างทางหรือแม้แต่ในตลาดนัดที่ใกล้ชิดกับวิถีชีวิตของคนไทยมากที่สุดและยังต้องใช้เงินสดกันอยู่ ทำให้ยังมีผู้บริโภคบางกลุ่มไม่ได้รู้จักฟินเทค (หรือไม่รู้ตัวว่ากำลังใช้บริการจากฟินเทคฯ)
เพราะถึงร้านค้าพวกนี้จะไม่ดังเท่ากับพันธมิตรแบรนด์ดังๆ แต่ถ้าฟินเทคเจ้าไหนลองหันมาคิดแบบ SMEs สร้างแบรนด์ให้ติดตลาด หันมามองร้านค้าในตลาดเป็นพันธมิตรบ้าง ก็จะจับตลาดที่ยังว่างอยู่ตรงนี้และสร้างสังคมไร้เงินสดได้
ฝาก 5 ข้อคิดถึงสตาร์ทอัพที่คิดจะทำฟินเทคในอนาคต
1. คุณไม่จำเป็นต้องมีเงินลงทุนก่อน ถึงจะทำฟินเทคได้
เพราะอย่างที่บอกไปว่าธนาคารในไทยเกือบทุกเจ้าเปิด Bootcamp กับให้พรึ่บอยากให้เงินคุณจนตัวสั่น คุณแค่มีไอเดียดีๆ มีทักษะการพัฒนาเทคโนโลยีที่ธนาคารพวกนี้อยากได้ และที่สำคัญคือเคยทดลองตลาดและมีฐานลูกค้าอยู่จำนวนหนึ่ง อย่าหวังน้ำบ่อหน้าว่าไว้ชนะใน Bootcamp แล้วถึงจะได้เข้าถึงข้อมูลลูกค้าของธนาคาร อย่าคิดง่ายๆ เพราะไม่ใช่ฟินเทคทุกเจ้าที่จะมีโอกาส
2. มี AI มี Blockchain มี Machine Learning แล้วยังไง?
ไม่ได้บอกว่ามันไม่จำเป็น แต่มันก็ไม่ใช่ไพ่ตายของทุกอย่าง ฉะนั้นกลับมาตั้งคำถามที่พื้นฐานมากว่า “มีแล้ว ลูกค้าได้ประโยชน์อะไร? กระแทก Pain Point ของลูกค้าอย่างไรได้บ้าง?” เรารู้ว่าถ้ามี Blockchain แล้วจะมีเครือข่ายหลายฝ่ายยืนยันความถูกต้องของข้อมูล การทำธุรกรรมจะมีต้นทุนถูกลง สะดวกขึ้น ปลอดภัยขึ้น แต่ลูกค้ารู้หรือยังว่า Blockchain มันมีประโยชน์อย่างไร? ลองหาทางเล่าเรื่องให้กลุ่มลูกค้าของเราเข้าใจจริงๆเสียที
ที่สำคัญคือหัดสังเกตวิถีชีวิตของลูกค้าในแต่ละวันด้วยว่าเขาใช้จ่ายเงินไปกับอะไรบ้าง บริการของคุณจะได้ไปอยู่ตรงจุด
3. การผูกสัมพันธ์กับร้านค้าพันธมิตรเป็นเรื่องสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ
ใครที่คิดอยากจะทำสตาร์ทอัพเพียงเพราะแค่หวังได้เงินระดมทุนใน Series ต่างๆ และจากการขายหุ้นขายกิจการเพียงอย่างเดียวล่ะก็ ไม่ดีแน่ๆ เพราะสถานการณ์ในตอนนี้ที่มีแบรนด์คู่แข่งที่พยายามเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของบริการที่ผู้บริโภคใช้ในชีวิตประจำวันไม่ว่าจะเป็นดูหนัง ฟังเพลง จ่ายค่ามือถือ ค่าน้ำค่าไฟ ไม่เว้นแต่ใช้แอปฯมือถือจ่ายค่าแท็คซี่ ค่ามอเตอร์ไซต์
4. ทำให้ความปลอดภัยในการชำระเงินเป็นเรื่องง่าย
เป็นอีกโจทย์ใหญ่ของสังคมไทยที่มีสมาร์ทซิมบนบัตรประชาชนก็ไม่ช่วยอะไร หากยังจะต้องมานั่งถ่ายเอกสารบัตรและเซ็นชื่อกำกับกันอยู่ ไหนจะต้องกรอกรหัส OTP มีการลงทะเบียนบัญชี มีการกรอกรหัส เพียงเพื่อจะต้องการใช้บริการทางการเงินนั้น มันเยอะเกินไปสำหรับผู้บริโภคจริงๆ เพราะการมีระบบเพิ่มความปลอดภัยที่ซับซ้อน กลับยิ่งเพิ่มความไม่สะดวกให้กับผู้บริโภค
5. จับตามองการเคลื่อนไหวของฟินเทคต่างประเทศไว้บ้างก็ดี
ฟินเทคพวกนี้มาพร้อมกับโอกาสและภัยคุกคาม ยกตัวอย่างเช่นการจับมือกันระหว่าง Ailpay กับ CP ที่เดี๋ยวนี้ 7 Eleven หลายๆเจ้าก็รับชำระเงินจาก Ailpay แล้ว ฉะนั้นเมื่อได้ยินข่างการเคลื่อนไหวของฟินเทคยักษ์ใหญ่ต่างประเทศ ถามตัวเองว่า มันเกี่ยวอะไรกับเรา? มันเป็นโอกาสหรือภัยคุกคาม? ถ้ามันมีผลต่อฟินเทคของเราจริงจะทำอย่างไร? จะไปจับมือเป็นพันธมิตร หรือจะปรับตัวสู้?
โดยส่วนตัวแล้วมองว่า SCB มาถูกทางในการสร้างสังคมไร้เงินสดมากที่สุดเพราะเริ่มเข้าถึงบริการในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคมากขึ้น และเริ่มจับสังคมเล็กๆมาเป็นสังคมตัวอย่าง เชื่อว่าธนาคารและฟินเทคหลายๆเจ้าก็เริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการเข้าถึงคน เหลืออีกแค่ 3 เดือนก็จะเข้าสู่ปี 2018 คุณอยู่ในโลกอนาคตที่คุณทำนายไว้ตั้งนานแล้ว ฉะนั้นอย่ารอให้คนอื่นลงมือปรับตัวแล้วคุณเพิ่งมาคิดได้นะครับ
Copyright © MarketingOops.com