ช่วงนี้กระแสฟินเท็ค (Fin Tech) มาแรงมากๆ โดยเฉพาะ บล็อกเชน ที่ถือได้ว่าเป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคต ซึ่งในปัจจุบัน ได้ถูกนำมาใช้จริงแล้ว อีกทั้งยังได้รับความนิยมอย่างมากด้วย เราอาจจะคุ้นเคยกับการใช้งานบล็อกเชนเพื่อรองรับสกุลเงินดิจิตอลโดยมีบิทคอยน์ที่เป็นสกุลเงินออนไลน์ เป็นการทดลองแรกในการใช้งานบล็อคเชน แต่ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ ผู้คนก็เริ่มมองเห็นศักยภาพของบล็อกเชนที่นอกเหนือจากการใช้เพื่อแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิตอล เริ่มมีการใช้เพื่อตอบโจทย์ในการถ่ายโอนมูลค่าอื่นๆ เช่น เราจะเห็นว่าเริ่มมีการใช้บล็อกเชนเพื่อเทรดหุ้น ทอง หรือกระทั่งซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ อย่างบ้าน หรือรถ วันนี้เราก็เลยถือโอกาสมาพูดคุยเรื่องการพัฒนาของบล็อกเชนกัน โดยแบ่งออกได้ง่ายๆ เป็น 4 ระยะ
ระยะที่ 1: สกุลเงินเข้ารหัส (Cryptocurrency)
สกุลเงินเข้ารหัสนั้น ก็เหมือนสกุลเงินทั่วไป ที่เป็นตัวแทนของมูลค่าที่เราใช้แลกเปลี่ยนกัน ซึ่งสกุลเงินเข้ารหัสนี้อาจจะเป็นค่าเงินที่ออกโดยรัฐบาลหรือธนาคารกลางก็ได้ อาจจะผูกกับค่าเงินต่างๆ ที่มีอยู่แล้วในปัจจุบันก็ได้ หรืออาจจะเป็นสกุลเงินใหม่ที่เกิดขึ้นมาก็ได้
ปัจจุบันสกุลเงินเข้ารหัสที่เป็นที่นิยมมากที่สุดก็คือ บิทคอยน์ โดยมูลค่าตลาดได้ขึ้นไปแตะที่ 1 หมื่น 2 พันล้านเหรียญสหรัฐเรียบร้อยแล้ว ข้อดีของการใช้บล็อกเชนทำธุรกรรมสกุลเงินเข้ารหัส คือการทำให้ธุรกรรมเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ววินาทีต่อวินาที ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในโลกก็ตาม เนื่องจากการทำธุรกรรมผ่านบล็อกเชนนั้นไม่มีตัวกลาง และนี่ก็ทำให้ธุรกรรมเกิดขึ้นได้ในค่าธรรมเนียมต่ำมากๆ หรือหลายครั้งก็อาจจะฟรีได้เลย
องค์กรเอกชน รวมไปถึงธนาคารหลายแห่ง ต่างก็ให้ความสนใจในเรื่องนี้กันอยู่ไม่น้อย รวมถึงภาครัฐในหลายประเทศต่างก็เห็นศักยภาพของบล็อกเชน และสกุลเงินเข้ารหัส ทำให้มีความพยายามในการเข้ามาศึกษา และจัดระเบียบการใช้งาน แม้จะมีความท้าทายอยู่บ้าง แต่ก็มีความคืบหน้าไปหลายก้าวเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นการมี BitLicense หรือใบอนุญาติประกอบกิจการที่เกี่ยวกับบิทคอยน์ในนิวยอร์ค ซึ่งคล้ายกับการประกอบกิจการทางการเงิน หรือในยุโรปที่ให้ซื้อขายบิทคอยน์ได้ และมีการยกเลิกการจัดเก็บ VAT สำหรับธุรกรรมบิทคอยน์ด้วย
ระยะที่ 2: การขึ้นทะเบียนมูลค่า (Value Registry)
นี่เป็นก้าวแรกในการใช้งานบล็อกเชนที่นอกเหนือไปจากวงการการเงิน โดยปกติแล้วการทำสัญญา หรือเอกสารต่างๆ มักจะถูกจัดเก็บไว้ในที่เดียวเป็นเอกสารเล่มๆ เป็นแผ่นๆ ซึ่งข้อดีคือทำให้เราเห็นลายเซ็นตัวจริง และก็มีตัวกลางเป็นคนยืนยันว่าเอกสารนี้เป็นจริง แต่แบบนี้ก็มีความเสี่ยงหลายอย่างเช่น ข้อมูลรั่วไหล การถ่ายโอน หรือการเสื่อมสภาพของเอกสาร จึงมีแนวคิดการนำบล็อกเชนมาใช้แก้ปัญหาเหล่านี้
เมื่อเราได้สร้างเอกสารขึ้นในบล็อกเชนแล้ว ข้อมูลของเอกสารนั้นจะอยู่ตลอดไป และไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขย้อนหลังได้ ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงเช่น เปลี่ยนกรรมสิทธิ์ ก็จะมีการระบุเวลา และเก็บลายเซ็นของเอกสารนั้นไว้บนบล็อกเชนทุกครั้ง เรียกได้ว่านี่เป็นช่องทางใหม่ที่ทำให้เราสามารถตรวจสอบความถูกต้องความเป็นจริงของเอกสาร และประวัติการเปลี่ยนแปลงทุกอย่างได้ รวมถึงกรรมสิทธิ์การครอบครอง และแก้ปัญหาของการทำเอกสาร หรือสัญญาแบบเดิมๆ ได้ และทำให้เราสามารถส่งผ่าน “มูลค่า” อะไรก็ได้ในบล็อกเชนนี้
ยกตัวอย่างการใช้งานเช่น เราเช่าพระเครื่องมาหนึ่งองค์ หากมีเอกสารสิทธ์บนบล็อกเชนมาด้วย เราก็จะสามารถตรวจสอบได้ว่า เจ้าของพระเครื่องนี้เป็นใคร ใช่คนที่เรากำลังคุยอยู่ด้วยหรือไม่ เป็นของจริงใช่มั้ย และมีการเปลี่ยนเจ้าของมากี่ครั้งแล้ว
อีกตัวอย่างนึงคือการทำ Smart Contract ซึ่งเป็นสัญญาที่เราสามารถสร้างเงื่อนไขไว้ก่อนได้ เช่นเราต้องการให้เพื่อนกู้เงิน โดยเอารถมาค้ำประกัน เราสามารถสร้างเงื่อนไขได้ว่า เราจะให้กู้เงิน 10 ล้าน โดยเอารถมาค้ำประกันหนึ่งคัน และถ้าเพื่อนไม่จ่ายเงินคืนภายใน 1 ปี กรรมสิทธิ์ของรถก็จะกลายเป็นของเรา ฉะนั้นเมื่อครบ 1 ปี หากเราไม่ได้เงินคืน กรรมสิทธิ์ของรถจะถูกโอนมาให้เราโดยอัตโนมัติ เป็นระบบที่สร้างความ “น่าเชื่อถือ” ได้ โดยที่เราไม่จำเป็นต้อง “เชื่อใจ” กัน
ระยะที่ 3: Ecosystem ของมูลค่า (Value Ecosystem)
เราได้เห็นการพัฒนาของบล็อกเชนในการใช้งานอื่นๆ นอกจากการเงินมาแล้ว แต่ส่วนใหญ่ก็จะมีการพัฒนาบล็อกเชนเพื่อใช้ประโยชน์เฉพาะ เช่น บล็อกเชนเพื่อซื้อขายหุ้น บล็อกเชนเพื่อขายทอง เป็นต้น แต่ก็ได้มีความพยายามในการพัฒนาบล็อกเชนที่จะสร้าง Ecosystem ซึ่งหมายความว่าเป็นบล็อกเชนที่ให้ใครก็ได้ สามารถมาใช้งานเพื่อแลกเปลี่ยนมูลค่าอะไรก็ได้ และบล็อกเชนที่เราสร้างขึ้นมาบนบล็อกเชน ecosystem (platform) นี้ ก็จะสามารถทำงานร่วมกันกับบล็อกเชนอื่นๆที่อยู่ในบล็อกเชน ecosystem (platform) เดียวกันได้อย่างง่ายดาย คิดภาพเหมือนเฟสบุ๊ค ที่เป็นแพลทฟอร์มให้ทุกคนมาสร้างร้านค้าออนไลน์ได้อย่างง่ายดาย แม้ว่าจะไม่รู้วิธีการสร้างร้านค้าออนไลน์มาก่อนเลยก็ตาม
โลกของบล็อกเชนในปัจจุบัน ก็มีแพลทฟอร์มในลักษณะนี้ซึ่งก็คือ Ethereum ที่มีการพัฒนาขึ้นมาเพื่อเป็นบล็อกเชนสาธารณะ ให้คนสามารถเข้ามาสร้างบล็อกเชนของตัวเองได้ เช่น จะสร้างบล็อกเชนเพื่อใช้ทำธุรกรรมการเงินแบบบิทคอยน์ก็ได้ ใช้สร้าง Smart Contract ก็ได้ หรือจะใช้เพื่อซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ก็ได้ ซึ่งตอนนี้ Ethereum ก็มาแรงอยู่ไม่น้อย โดยมีมูลค่าตลาดเกินเก้าร้อยล้านเหรียญสหรัฐไปแล้ว
ระยะที่ 4: เครือข่ายของมูลค่า (Value Web)
หนึ่งในการใช้งานบล็อกเชนที่ได้รับความสนใจมากที่สุด ก็คงจะเป็นเรื่องของการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกรรม หรือว่าการเทรดสินทรัพย์ทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นภายในองค์กรหรือระหว่างองค์กรก็ตาม ซึ่งแนวคิดที่ได้รับความสนใจเรื่องนี้ก็คือ Value Web หรือในอีกชื่อนึงก็คือ Internet of Value นั่นเอง เครือข่ายของมูลค่านี้จะมาปฏิวัติวงการอินเตอร์เน็ต และได้รับความสนใจในการพัฒนามากที่สุดจากองค์กรยักษ์ใหญ่หลายแห่ง ทั้งยังควบรวมหลายๆ สิ่งเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นพื้นฐานทางเทคโนโลยีที่เรามีอยู่แล้ว กรอบทางกฏหมาย และสินทรัพย์ทางการเงินในปัจจุบัน เช่น สกุลเงิน หุ้น หรือพันธบัตร โดยบล็อกเชนจะเป็นปัจจัยสำคัญในเครือข่ายของมูลค่านี้ มีบทบาทในการลดความเสี่ยง และความซับซ้อนของกระบวนการต่างๆ พร้อมทั้งเพิ่มความรวดเร็วในการดำเนินการทั้งหมด และลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ
ปัจจัยหลักของเครือข่ายของมูลค่านี้ก็คือ ความเชื่อใจของคนที่เข้ามาร่วมในเครือข่าย โดยผู้ที่จะเข้ามาร่วมในเครือข่ายนี้จะต้องใช้สินทรัพย์ มาวางไว้เป็นหลักประกัน เช่น เงินดอลลาร์ หรือทอง แล้ว Gateway จะเป็นผู้ที่เปลี่ยนจากสินทรัพย์ดังกล่าวเป็นสินทรัพย์ดิจิตอล และเป็นผู้ที่ได้รับ “ความไว้ใจ” มากที่สุด เช่น หากธนาคารในอเมริกาและธนาคารในยุโรป ต้องการโอนเงินระหว่างกัน ทั้งสองจะต้องนำเงินดอลลาร์หรือยูโร เข้ามาวางไว้เป็นหลักประกัน แล้วก็จะมีตัวกลางเข้ามาเป็น Gateway เปลี่ยนเป็นเงินดิจิตอลเพื่อใช้ทำธุรกรรม
อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในตลาดนี้ก็คือการมี Market Maker ที่เป็นเหมือนตลาดในการแลกเปลี่ยน ทำให้เราแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิตอลหลายๆ อย่างระหว่างแพลทฟอร์มที่ต่างกันได้ เช่นเราจะแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ที่มีบน Ethereum กับสินทรัพย์บนบิทคอยน์บล็อกเชนก็ได้ ทำให้เกิดสภาพคล่องในการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์
จะเห็นได้ว่าบล็อกเชนนั้นมีศักยภาพที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกของเราได้อย่างแท้จริงในหลายมุมมองเลยทีเดียวไม่ว่าจะเริ่มต้นจาก สกุลเงินเข้ารหัส (Cryptocurrency) อย่างบิทคอยน์ มาถึงยุคของการขึ้นทะเบียนมูลค่า (Value Registry) ก้าวเข้ามาในโลกของการสร้าง Ecosystem ของมูลค่า (Value Ecosystem) เพื่อทำให้บล็อกเชนใช้งานได้ง่ายดายและหลากหลายยิ่งขึ้น มาจนปัจจุบันที่ผู้คนให้ความสนใจกับการใช้เทคโนโลยีหลายๆ อย่างรวมกันเพื่อสร้างเครือข่ายที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่าง เครือข่ายของมูลค่า (Value Web) ยิ่งเทคโนโลยีมีการพัฒนาไปไกลขี้น และผู้คนมีการทดลองคอนเซปต์ใหม่ๆ ออกมาทุกวัน เราคงจะได้เห็นอะไรใหม่ๆ ที่น่าตื่นเต้นกันในอนาคตอย่างแน่นอน
เขียนโดย จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา
Expertise: Blockchain & FinTech
อ่านบทความ Exclusive เพิ่มเติมได้ที่นี่
Copyright © MarketingOops.com