สมาคมผู้ค้าปลีกไทยชี้ไตรมาสสุดท้ายกำลังซื้อเริ่มฟื้นตัว 3.2-3.4 % พร้อมรับมือธุรกิจอี-บิซิเนส มาแรงปีหน้า แนะรัฐพิจารณาลดภาษีนำเข้าสินค้าแบรนด์หรู และ แวต รีฟันด์ สำหรับนักท่องเที่ยว

  • 5
  •  
  •  
  •  
  •  

thairetailer01

สมาคมผู้ค้าปลีกไทยเผยสถานการณ์ค้าปลีก 9 เดือนที่ผ่านมาอยู่ในระดับทรงตัวคือเติบโตระหว่าง 2.8-3.0% เชื่อมั่นช่วงไตรมาสสุดท้ายจะเติบโตเพิ่มขึ้น สถานการณ์เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวของกำลังซื้อมากขึ้น พร้อมเสนอแนะนโยบายรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย ด้านการจ้างงาน เศรษฐกิจ และการลงทุน เพื่อกระตุ้นภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโต

นางสาวจริยา จิราธิวัฒน์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า นับแต่ปี 2556 อุตสาหกรรมค้าปลีกเติบโตลดลง โดยปัจจัยหลักเกิดจากเศรษฐกิจประเทศโดยรวมอยู่ในระหว่างการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในเชิงมหภาค ซึ่งยังต้องรอผลจากการดำเนินการอีกหลายปี รวมถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคระดับฐานรากยังไม่ดีขึ้นและการมีหนี้ครัวเรือนสูง นอกจากนี้ยังพบว่ามูลค่ายอดขายสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG หรือ Fast Moving Consumer Goods) ยังลดลงอีกด้วย ด้านภาคครัวเรือนผู้บริโภคระดับกลางยังติดอยู่กับหนี้เครดิตการ์ด การลงทุนภาคอกชนก็ยังไม่ฟื้นตัว และสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรก็ยังมีแนวโน้มไม่ค่อยดีเท่าที่ควร

ทั้งนี้สถานการณ์ค้าปลีกในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 น่าจะเติบโตระหว่าง 2.8-3.0% คืออยู่ในระดับทรงตัว อย่างไรก็ตามการเติบโตที่เห็นเด่นชัดในเกือบทุกหมวดสินค้ามีลักษณะกระจุกตัวที่เฉพาะในกรุงเทพและหัวเมืองหลักๆ หมวดที่มีการเติบโตมากยังเป็นหมวดสินค้าซูเปอร์มาร์เก็ต (Supermarket) ซึ่งมีเป้าหมายกลุ่มผู้บริโภคคือระดับกลางขึ้นไป อีกหมวดที่เติบโตคือสินค้าสุขภาพและความงาม (Health and Beauty) แยกออกได้เป็น ร้านบิ้วตี้สโตร์ (Beauty Store) ร้านยา (Drug Store) , สินค้าสุขภาพและสินค้าเฉพาะบุคคล (Health & Personal Store) อย่างไรก็ตามในหมวด สินค้าในห้างสรรพสินค้า(Department Store) ยังคงได้รับผลกระทบจากบรรยากาศการจับจ่ายที่ยังไม่ปกติ และ ราคาสินค้าที่ไม่เอื้ออำนวยในการจับจ่ายแก่นักท่องที่ยวเนื่องจากภาระภาษีนำเข้าของสินค้าแบรนด์หรู (Luxury Brand) ยังสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่มีนโยบายเกี่ยวกับการลดภาษีแบรนด์หรู จนก่อให้เกิด ช้อปปิ้ง เดสทิเนชั่น (Shopping Destination) เพื่อจูงใจนักท่องเที่ยว

ส่วนหมวดการแต่งบ้าน (Home Improvement) และ หมวดเครื่องใช้ภายในบ้านและไฟฟ้า (Home Appliance and Electronic) ยังไม่เติบโตเท่าที่ควร ซึ่งเป็นผลจากความซบเซาของอุตสาหกรรมก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์

ด้านหมวดอาหาร (ร้านไฮเปอร์มาร์ท,ร้านสะดวกซื้อ) ที่จับกลุ่มลูกค้าระดับกลางลงล่างยังคงประสบปัญหาการเติบโต เนื่องจากกำลังซื้อในกลุ่มกลางลงล่างยังอ่อนแอ มาตรการการผลักดันงบประมาณการใช้จ่ายภาครัฐลงสู่ฐานรากแม้เริ่มมีประสิทธิภาพและส่งผลให้เกิดกำลังซื้อเพิ่มขึ้นแต่ก็เป็นไปค่อนข้างช้า

การคาดการณ์สถานการณ์ค้าปลีกไตรมาส 4 ปี 2017

หลังจากประเทศไทยผ่านช่วงเวลาแห่งการสูญเสียและโศกเศร้าตั้งแต่ปี 2559 ทำให้คนไทยส่วนใหญ่ชะลอการจับจ่าย จนกระทั่งเดือนพฤศจิกายนปี 2560 เป็นต้นมา พบว่าเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวของกำลังซื้อที่มากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากอารมณ์การจับจ่ายเริ่มฟื้นตัวและมาตรการของรัฐบาลในการผลักดันงบประมาณลงสู่เศรษฐกิจฐานรากเริ่มสัมฤทธิผล ประกอบกับการเริ่มเข้าสู่ช่วงเทศกาลจับจ่ายปลายปี ส่งผลให้ไตรมาสที่ 4 ของปี 2560 อุตสาหกรรมภาคค้าปลีกน่าจะดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2559 แม้ว่ามาตรการ “ช้อปช่วยชาติ” ปีนี้จะดำเนินการในเดือนพฤศจิกายน แต่โครงการนี้ก็จะช่วยกระตุ้นผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อปานกลางถึงสูง ได้เริ่มการจับจ่ายโดยหวังการได้รับการลดหย่อนจากภาษี รวมถึงกระทรวงพาณิชย์ ได้ผลักดันโครงการ “ รวมใจ เพิ่มสุข ช้อปสนุก ลดรับปีใหม่” ระหว่างวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ.2560 ถึง วันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2561 ซึ่งเป็นการร่วมมือจากผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย ผู้ค้าปลีก ผู้ค้าส่ง ทั่วประเทศ เพื่อกระตุ้นการบริโภคซึ่งยังผลต่อกำลังซื้อทุกภาคส่วน

สมาคมผู้ค้าปลีกไทยมีความเห็นว่าไตรมาสสุดท้ายของปี เศรษฐกิจจะคึกคักมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการไม่มีอารมณ์การจับจ่ายมานานกว่าปี อีกส่วนหนึ่งมาจากมาตรการบัตรสวัสดิการประชารัฐ ที่ทำให้เม็ดเงินถึงฐานรากช่วยกระตุ้นการจับจ่าย รวมทั้ง โครงการ “ช้อปช่วยชาติ” และโครงการ “รวมใจ เพิ่มสุข ช้อปสนุก ลดรับปีใหม่” รวมทั้งภาคเอกชนมีรายการโปรโมชั่นและกิจกรรมส่งเสริมการขายต่างๆ อัดครบตลอดเทศกาลยาวถึงมกราคม ปีหน้า ทำให้เงินหมุนเวียนเข้าระบบมากขึ้น จะส่งผลให้ภาพรวมดัชนีค้าปลีกปี 2560 น่าจะดีกว่าที่คาดไว้เมื่อต้นปีเล็กน้อย คาดว่า การเติบโตน่าจะอยู่ราว 3.2-3.4 % (ในขณะที่คาดการณ์ว่า GDP ทั้งปี 2560 จะเติบโตที่ 3.9%)

ตัวแปรเศรษฐกิจปี 2561 การเมือง – การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน – ราคาสินค้าเกษตร

ตัวเลขเศรษฐกิจ (GDP) ไตรมาส 3 ขยายตัวสูงถึง 4.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และคาดการณ์ว่า ตัวเลขเศรษฐกิจ (GDP) ทั้งปี น่าจะขยายตัวสูงถึง 3.9% อย่างไรก็ตาม “ปัจจัยหลัก” ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยังคงมาจากปัจจัยเดิมๆ คือ การขยายตัวของภาคส่งออก ขณะที่ เครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวอื่นๆ เพิ่งเริ่มมีการฟื้นตัว ทั้งการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคภาครัฐ

จะเห็นว่า เศรษฐกิจปีหน้ามีโอกาสที่จะขยายตัวต่อเนื่องซึ่งอยู่บนสมมติฐานที่ไทยยังมีโมเมนตัมหรือการขับเคลื่อนของการส่งออกที่ดีต่อเนื่องนั่นเอง อย่างไรก็ตามการเติบโตของภาคการส่งออก ไม่ได้มีผลโดยตรงกับการบริโภคภาคค้าปลีก แต่จะมีผลโดยตรงต่อการลงทุนภาคเอกชนซึ่งก็ส่งผลมายังภาคค้าปลีกทางอ้อมจากการแจ้งงานเพิ่มขึ้นและการขยายการลงทุน ผลทางอ้อมจะส่งผลมายังภาคค้าปลีกอาจต้องใช้ระยะเวลาราว 6-8 เดือน โดยผลจากการขยายตัวของภาคส่งออกต่อการเติบโตของภาคค้าปลีกมีเพียงเล็กน้อย ทั้งนี้การจ้างงานจากภาคการส่งออกซึ่งมีราว 1 ล้านคน เมื่อเทียบกับแรงงานทั้งระบบ 38 ล้านคน ถือว่ายังน้อยมาก

แต่ตัวแปรสำคัญในภาคการลงทุนน่าจะเป็น การลงทุนของภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งน่าจะเห็นการเริ่มต้นจากการ “ตอกเสาเข็ม” ในหลายๆโครงการ ซึ่งจะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศให้ฟื้นตัวโดยเฉพาะเงินที่หมุนเวียนผ่านการจ้างงานและการจัดซื้อจัดจ้าง จะหมุนเวียนลงสู่ระบบเศรษฐกิจฐานรากที่ชัดเจนกว่า แต่ก็เช่นกัน นับจากการเริ่มต้นโครงการ เม็ดเงินที่หมุนเวียนกว่าจะเข้าสู่อุตสาหกรรมค้าปลีกก็ต้องใช้เวลากว่า 6-8 เดือนเช่นกัน ดังนั้น ธุรกิจค้าปลีกจึงหวังให้ภาครัฐเร่งกดปุ่มเริ่มโครงการให้เร็วและให้เป็นไปตามกำหนดการ

ตัวแปรที่สำคัญอีกหนึ่งตัวแปร คือ สถานการณ์ราคาสินค้าเกษตร ซึ่งเป็นกลุ่มคนฐานล่างกลุ่มใหญ่ของประเทศ โดยราคาสินค้าเกษตรของประเทศไทยยังคงต้องอิงไปกับราคาจากตลาดโลก ซึ่งจากการคาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรโภคภัณฑ์คงไม่เพิ่มมากไปกว่านี้เท่าไรนัก ซึ่งแม้ผลผลิตข้าวปีนี้เพิ่มมากขึ้นทำให้ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลก แต่ราคาซื้อขายก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น ราคายางยังไม่สามารถขยับตัวได้สูงขึ้น อ้อยและน้ำตาลตลาดโลกก็ยังอยู่ภาวะโอเว่อร์ซัพพลาย

นอกจากนี้ ตัวแปรอีกตัวหนึ่งที่สำคัญและต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ สถานการณ์ทางการเมือง ซึ่งจะเข้าโหมดการเลือกตั้ง ตามกำหนดการที่รัฐบาลได้ประกาศไว้ราวเดือนพฤศจิกายนปีหน้า ธุรกิจค้าปลีกคงต้องเฝ้าติดตาม บรรยากาศโดยภาพรวมว่าาจะราบรื่นหรือแปรเปลี่ยนจนส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของรัฐบาลอย่างไร ซึ่งจะส่งผลเกี่ยวข้องโดยตรงกับการตัดสินใจเดินหน้าการค้าและการลงทุน เสถียรภาพทางการเมือง กับ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจธุรกิจ จึงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถแยกออกจากการได้

การคาดการณ์สถานการณ์ปี 2018 – 2019

ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ชะลอตัวในช่วงขาลงมาอย่างยาวนานนั้น ผ่านจุดต่ำสุดของช่วงขาลง (ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2014) และทรงตัวได้และปรับตัวเป็นแนวโน้มเป็นขาขึ้นอย่างช้าๆ ถ้าหากตัวแปรเศรษฐกิจ การเมือง – การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน – ราคาสินค้าเกษตร อยู่ในช่วงขาขึ้นยาวนานสักระยะ การกระจายตัวของเศรษฐกิจก็จะสามารถคลี่คลายลงสู่ฐานรากได้ทุกภาค ซึ่งน่าจะส่งผลให้กำลังซื้อรากหญ้าฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงไตรมาสที่สองต่อไตรมาสที่สามของปี 2019

กล่าวโดยสรุป สมาคมฯคาดการณ์ว่า การเติบโตของดัชนีค้าปลีกในปี 2018 น่าจะอยู่ในช่วง 3.8-4.0% ตามการเติบโตของ GDP ประเทศ และปี 2019 น่าจะเติบโตถึง 4.5 %

– การเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิตอลและ พฤติกรรมผู้บริโภคที่นิยมซื้อสินค้าและบริการออนไลน์เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมก่อให้เกิดเทรนใหม่ Big Data ของธุรกิจค้าปลีก

ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การเติบโตของผู้ใช้สมาร์ทโฟนทั่วโลกส่งผลให้การช็อปปิ้งออนไลน์แทรกซึมในวิถีชีวิตประจำวันคนรุ่นใหม่ พฤติกรรมผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยน ทำให้จำนวนนักช็อปปิ้งในห้างสรรพสินค้าลดน้อยลง ทั้งนี้ในอนาคตที่น่าจับตา คือ โมเดลธุรกิจใหม่ที่เรียกกันว่า E Business (รูปธรรมของ E Business ที่เรารู้จักกันดีก็คือ O2O หรือ Omni Channel) ซึ่งเป็นการเชื่อมห้างร้านในโลกออฟไลน์เข้ากับเทคโนโลยีโลกออนไลน์อย่างลงตัว ด้านหนึ่งก็สามารถใช้ประโยชน์จากความสะดวกสบายในการจับจ่ายใช้สอยสินค้าและชำระเงินออนไลน์ รวมทั้งสามารถเก็บข้อมูลผู้บริโภคมหาศาล ส่วนอีกด้านหนึ่ง ก็สามารถใช้จุดแข็งของห้างร้านที่มีสินค้าจริงให้คนได้สัมผัสและทดลอง รวมทั้งยังเป็นพื้นที่สำหรับเดินเล่นหรือนัดพบสังสรรค์กับเพื่อนได้ด้วย

ภายในอีก 5 ปี ข้างหน้า คนไทยจะใช้เงินสดกันน้อยลงและหันมาใช้จ่ายผ่านบัตรและช่องทางอิเล็กทรอนิกส์กันมากขึ้น ประกอบกับโครงการ Expansion of Card and Card Acceptance ภายใต้นโยบาย National e-Payment ที่บังคับให้ทุกร้านค้าที่จดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ต้องมีเครื่อง EDC เพื่อเพิ่มอัตราการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งเหล่านี้ทำให้ร้านค้าต่างๆ ต้องปรับตัวสู่การค้าขายในอนาคตเพื่อให้พร้อมรองรับการจ่ายในทุกรูปแบบ

รูปแบบการทำธุรกรรมทางการเงินจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้มีความก้าวหน้าและเป็นไปมาตรฐานสากล การขยายการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ ระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสะดวกรวดเร็วและลดต้นทุนในกระบวนการทางธุรกิจของภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาครัฐเอง ซึ่งหากกระบวนการในการทำธุรกรรมสะดวก รวดเร็ว สามารถเข้าถึงได้ ทั้งหมดนี้จะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศ ทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการในประเทศที่จะพัฒนาการค้าในธุรกิจอีคอมเมิร์ซให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น และเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค เนื่องจากสามารถทำธุรกรรมได้ทุกที่ทุกเวลา ได้รับความสะดวกสบายและมีปลอดภัยมากขึ้นอีกด้วย

ทิศทางการแข่งขันของธุรกิจค้าปลีก กำลังก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จากเดิมที่เน้นการทำแบบ แมส มาร์เก็ตติ้ง (Mass Marketting) หันมาโฟกัสเป็นเฉพาะกลุ่มลูกค้าตัวจริงของตัวเอง หรือเป็นการทำตลาดแบบ ตัวต่อตัว (one by one) ซึ่งแต่ละผู้ประกอบการจะต้องนำเสนอแคมเปญและโปรโมชั่นให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าเฉพาะคน แต่ปัจจัยที่จะทำให้การตลาดรูปแบบนี้ประสบความสำเร็จ สิ่งสำคัญที่สุดคือระบบไอทีหลังบ้าน ที่จะต้องมีความแข็งแกร่ง ต้องรองรับการเก็บข้อมูลมหาศาล และต้องนำออกมาใช้ประโยชน์ได้ง่าย ซึ่งการลงทุนระบบ “บิ๊กดาต้า” (Big Data) และระบบ “คลาวด์ คอมพิวติ้ง” (cloud Computing) ถือเป็นการลงทุนที่ใช้งบประมาณค่อนข้างสูงมาก

Big Data จะเป็นเทรนด์สำคัญของธุรกิจค้าปลีก เพราะข้อมูลการใช้จ่ายของลูกค้าแต่ละครั้งจะนำไปสู่การประมวลผลเพื่อหาไลฟ์สไตล์ ความชอบของลูกค้า และเมื่อสามารถวิเคราะห์ถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายของลูกค้าได้แม่นยำ ก็สามารถจะนำข้อมูลเหล่านั้นมาปรับเป็นโปรโมชั่นให้ตรงใจกับลูกค้าได้มากขึ้น Big Data เป็นเสาที่สี่ ของ E Business ซึ่งการได้มาของ Big Data ก็ต้องผ่านกระบวนการรวบรวมข้อมูลจาก สามเสาหลักแรกคือ E Commerce, E finance, E Logistics จาก Big Data ก็จะนำไปสู่การได้มาซึ่งปัญญาประดิษฐ์ Artificial Intelligence หรือที่รู้จักกันในนาม AI
ข้อเสนอแนะจากสมาคมผู้ค้าปลีกไทยเชิงนโยบายต่อภาครัฐ

มิติการศึกษาและการจ้างงาน

1. ในมิติของการจ้างงาน ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ สมาคมผู้ค้าปลีกไทย เป็นสถาบันที่จะสร้างงานและพัฒนาบุคลากรที่สำคัญ และ ในแต่ละปีมีความต้องการบุคลากรถึงกว่าแสนคน หรือประมาณ ร้อยละ 20 ของประชากรที่สำเร็จการศึกษาทั้งระดับมัธยมและอุดมศึกษา แต่ความไม่สอดคล้องกันระหว่างความต้องการกำลังคนและการผลิตกำลังคนของประเทศ ทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงานในบางสาขาในขณะที่ยังมีแรงงานล้นตลาดในอีกหลายๆสาขา ทำให้เกิดการขาดแคลนบุคลากรจำนวนมากในธุรกิจค้าปลีก ภาครัฐควรให้การสนับสนุนการศึกษาหลักสูตรทวิภาคีในทุกระดับการศึกษา อย่างบูรณาการอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกันระหว่างความต้องการกำลังคนและการผลิตกำลังคนของประเทศ และ ความต้องการของตลาดแรงงาน

2. ภาครัฐต้องสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชน ในอุตสาหกรรมค้าปลีกค้าส่ง ตลอดจนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและธุรกิจบริการให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาระบบทวิภาคี โดยชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ที่ผู้ประกอบการจะได้รับจากการเข้าร่วมโครงการ และอาจให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เช่น การลดหย่อนภาษีหรือสิทธิพิเศษอื่น ๆ อีกทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษา และผู้ประกอบการภาคเอกชนยังต้องร่วมมือกันพัฒนาการศึกษาทวิภาคีให้เป็นมาตรฐานและมีคุณภาพ ควบคู่ไปกับการประชาสัมพันธ์กับนักศึกษาและผู้ปกครองให้เข้าใจถึงรูปแบบของการศึกษาทวิภาคีและประโยชน์ที่พึงได้รับ โดยอาจนำเสนอตัวอย่างของนักเรียนที่ศึกษาในระบบนี้ ได้รับบรรจุเข้าทำงานในองค์กรชั้นนำประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานเพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างเป็นรูปธรรม และสร้างความเชื่อมั่นในประสิทธิผลของการศึกษาทวิภาคี

3. ในภาพรวมการศึกษาทวิภาคีเป็นกุญแจสำคัญในการยกระดับฝีมือแรงงาน เนื่องจากนักเรียน นักศึกษาจะได้ความรู้เชิงทฤษฎีควบคู่ไปกับการฝึกทักษะเชิงปฏิบัติ และยังเป็นการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานไร้ฝีมือและแรงงานฝีมือ เนื่องจากผู้ประกอบการ สามารถวางแผนแรงงานในระยะยาวและผลิตแรงงานให้ตรงกับความต้องการของตน แต่การจะทำให้ระบบการศึกษาทวิภาคีประสบความสำเร็จได้จะต้องอาศัยแผนยุทธศาสตร์ ในการดำเนินงานที่เหมาะสมและความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

4. ให้การประกาศค่าจ้างแรงงานเป็นรายชั่วโมง ปัจจุบันกฎหมายคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ได้กำหนดให้พนักงานที่ไม่ใช่นักเรียน นักศึกษา หากทำงานเป็นรายชั่วโมงจะต้องมีรายได้ต่อวันเท่ากับค่าจ้างขั้นต่ำ (ปัจจุบันอยู่ที่วันละ 300 บาท) ซึ่งหมายความว่า การทำพาร์ทไทม์จะต้องทำอย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง จึงจะเท่ากับค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท หากบริษัทฯ จะจ้างพนักงานรายชั่วโมงทำงาน 4 ชม. ก็ต้องจ้าง 300 บาท

5. นโยบายการจ้างงานผู้สูงอายุ ขอให้พิจารณาปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างผู้สูงอายุที่สามารถใช้ลดหย่อนภาษี ปัจจุบันกำหนดไว้ที่ 15,000 บาท และขอให้พิจารณากรณีค่าจ้างสูงกว่า 15,000 บาท ให้สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้สูงสุดที่ 15,000 บาท เพราะปัจจุบันหากค่าจ้างสูงกว่า 15,000 บาท จะไม่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้เลย และสามารถจ้างงานเป็นรายชั่วโมงตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายชั่วโมงตามข้อ 4

6. นโยบายการจ้างแรงงานต่างด้าว ปัจจุบันแรงงานต่างด้าวเช่น พม่า สามารถจ้างเข้ามาทำงานที่เป็นแรงงานไร้ฝีมือ (Unskilled) ได้เท่านั้น และหากจะจ้างคนพม่ามาทำงานที่เป็น แรงงานฝีมือ (Skilled Labor) ต้องจ้างตามอัตรา Expat (ชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงาน และพำนักอยู่ในประเทศไทย) เช่น ค่าแรงขั้นต่ำตามสัญชาติ พม่า = 25,000 บาท
มิติเศรษฐกิจและการลงทุน

7. รัฐบาลควรให้การสนับสนุนการขยายตัวของภาคค้าปลีกอย่างชัดเจน เนื่องจากภาคค้าปลีกเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แม้จะมีความเข้มแข็งด้วยการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง แต่หากได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเพิ่มเติมจะทำให้ขยายตัวทั้งในและต่างประเทศได้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจของประเทศได้เป็นอย่างมาก

8. เนื่องจากประเทศไทยมีศักยภาพในการดึงดูดนักท่องเที่ยว ทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และด้านศิลปวัฒนธรรม รวมถึงโรงแรมและภาคบริการในระดับโลก ดังนั้นเพื่อพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายการท่องเที่ยวที่ครบวงจร รัฐบาลควรศึกษาและพิจารณาเรื่องการลดภาษีนำเข้าสินค้าแบรนด์หรูอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในกลุ่มแฟชั่น เครื่องสำอาง เครื่องหนัง และนาฬิกาชั้นนำ (Luxury Brand) เพื่อกระตุ้นยอดจับจ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เพิ่มขึ้นได้

9. รัฐต้องมีมาตรการส่งเสริมการค้าชายแดนอย่างชัดเจน โดยพิจารณาผ่อนผันการเปิดด่านต่างๆ การเพิ่มจำนวนด่าน และ อำนวยความสะดวก รวมทั้งพิจารณาให้มี VAT Refund for Tourist ในกรณีนักท่องเที่ยวเพื่อนบ้านเดินทางเข้ามาในประเทศทางบก

10. ภาครัฐต้องไม่ปิดกั้นผู้ประกอบการรายอื่นๆ ให้เข้ามาดำเนินธุรกิจร้านค้าปลอดภาษีในสนามบิน และพื้นที่ค้าปลีกนอกสนามบิน เพื่อเปิดแข่งขันเสรีในทุกภาคส่วนในประเทศไทย เพื่อรัฐจะสามารถสร้างรายได้มากขึ้น


  • 5
  •  
  •  
  •  
  •