ขายของออนไลน์ต้องรู้! 3 อันดับสุดยอดบริการ E-Payment ในไทยที่ SMEs และร้านค้าออนไลน์ต้องมี

  • 524
  •  
  •  
  •  
  •  

ช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา เราเริ่มเห็นการใช้สมาร์ทโฟนในการทำธุรกรรมออนไลน์มากขึ้น สาเหตุหลักเป็นเพราะตัวสมาร์ทโฟนเองมีราคาถูกลงจนการมีสมาร์ทโฟนเป็นของตัวเองเป็นเรื่องปรกติ ทำให้เข้าถึงและใช้อินเตอร์เน็ตมากขึ้น

การใช้เงินสดจึงกลายเป็นเรื่องไม่สะดวกสำหรับคนไทย ผู้บริโภคหันมาจ่ายหรือโอนเงินผ่านแอปพลิเคชั่นมือถือที่ให้บริการ E-Payment มากขึ้นเรื่อยๆ ร้านค้าต่างๆทั้งออฟไลน์และออนไลน์จึงต้องหันมาให้บริการ E-Payment เพื่ออำนวยความสะดวกลูกค้า

แนวคิดของบริการ E-Payment จะรู้จักกันดีในรูปแบบ E-Wallet เป็นกระเป๋าสตางค์ในมือถือ หลักๆคือต้องไปสมัครสมาชิกกับทางเว็บไซต์หรือแอปฯของผู้ให้บริการก่อน ลงทะเบียน เลือกธนาคารที่ต้องการโอนเงินเข้า “กระเป๋าเงิน” และเลือกรายการที่ต้องการซื้อ ไม่ต้องเสียเวลาต่อคิว ไม่ต้องถือเงินสด หลายๆเจ้าให้เราทำธุรกรรมโดยไม่มีค่าธรรมเนียมด้วย

 

Man using his Mobile Phone in the street, bokeh

 

 

ซึ่งตอนนี้บริการ E-Payment ที่เข้ามาในไทยหลักๆมีอยู่ 8 เจ้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น AIS mPAY, True Wallet, wePAY, Rabbit Line Pay, AirPay และ BluePay รวมไปถึง E-Payment รายใหญ่จากต่างชาติคือ AliPay และแน่นอนที่ขาดไม่ได้ก็คือ PayPal

คำถามคือ “แล้วธุรกิจของคุณควรจะติดตั้งบริการ E-Payment ของเจ้าไหนดีที่สุด?”

คำตอบคือ “แล้วแต่ว่าธุรกิจของคุณขายอะไร และลูกค้าของคุณ”

และนี่คือ 3 อันดับสุดยอดบริการ E-Payment ในไทยที่ต้องมีไม่ว่าจะขายของออนไลน์ ขายสินค้าอุปโภคบริโภคหรือให้บริการเกม

 

อันดับ 1: AIS mPay

 

IMG_0321

 

AIS mPay น่าจะถูกใจคนทำ Ecommerce ได้ดี เพราะรองรับบัญชี 9 ธนาคารสำหรับลูกค้าที่โอนเงินผ่านบัญชีธนาคาร เด็ดกว่านี้คือร้านค้าได้รับเงินได้เร็วภายใน 1 วันทำการ และยังไม่พอ ใครที่ยิงโฆษณา Facebook บ่อยๆ ก็ใช้ AIS mPay นี่แหละจ่ายได้ด้วย

ซึ่งตัว AIS mPay ก็สะดวกโดยเฉพาะสำหรับคนที่ใช้ Samsung Galaxy อยู่แล้วเพราะสามารถเอามือถือไปแตะชำระค่าสินค้า แม้แต่เข้าออกรถไฟฟ้า BTS และร้านอาหารที่รับบัตร Mastercard ได้ทุกที่ทั่วโลก เพราะ mPay จะทำบัตรเครดิต Mastercard ให้เลย (แต่ถ้าเงินในกระเป๋า mPay หมดก็คือต้องเติมเงินใหม่นะ บอกก่อน)

ส่วนใครที่ทำธุรกิจบริการกลุ่มลูกค้าอย่างนักเรียนนักศึกษาอยู่ AIS mPay เป็นตัวเลือกที่ดีมาก เพราะตอนนี้เด็กนักศึกษา ABAC ก็ชำระค่าเทอม ค่าธรรมเนียม อื่นๆในมหาฯลัยได้

จะมีแต่ปัญหาของคนที่ใช้ AIS mPay ที่เปลี่ยนเบอร์ย้ายค่ายมือถือ อาจเกิดผลกระทบกับจำนวนเงินใน mPay ซึ่งตรงนี้เป็นส่วนที่ผู้ใช้ mPay ต้องระวัง

 

อันดับ 2: True Wallet

 

IMG_0320

 

บริการ E-Payment ที่ครบถ้วนไม่แพ้ AIS mPay เลยด้วยซ้ำ เพราะก็เป็นบริการที่จ่ายได้ทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ ซื้อของในเกมและในร้านค้าออนไลน์ เติมเงินในเกมและในมือถือ รวมถึงซื้อตั๋วหนังครบหมด (แต่โปรโมชั่นในการซื้อของก็ต่างกันไปแต่ละเวลา) หลายรายการก็ไม่คิดค่าธรรมเนียม แถมมี Visual Credit Card ให้เราได้ใช้ซื้อของ แถมผูกกับบัญชี PayPal ได้เหมือนกัน

ดังนั้นใครที่อยากติดตั้งระบบ E-Payment บริการลูกค้า แนะนำให้ติดทั้ง AIS mPay และ True Wallet คู่กันไปเลย

เพียงแต่ว่า True Wallet ยังไม่สามารถผูกบัญชีได้กับทุกธนาคาร สำหรับลูกค้าบางคนนั้นมองว่าจำนวนการเติมเงินเริ่มต้นผ่าน 7 Eleven สูงเกินไปสำหรับลูกค้า หากถอนเงินจาก Truemoney ก็ต้องเสียค่าธรรมเนียม ที่น่าสังเกตก็คือลูกค้าบางรายได้พูดถึงใน Pantip เกี่ยวกับการประสานงานล่าช้าเวลาเกิดปัญหาการใช้งานในบางครั้ง (แต่ทั้ง True และ AIS ก็ไม่เคยทิ้งปัญหาและตอบคำถามผู้ใช้งานบน Pantip อยู่ตลอด)

ถึงอย่างนั้น True Wallet ก็มีจุดให้บริการเยอะอย่าง 7 Eleven และมีพันธมิตรอย่าง Ailpay อีกและสามารถใช้ร่วมกับ Bluepay เติมเงินและได้ส่วนลด ตรงจุดนี้พอจะชดเชยจุดอ่อนได้บ้าง

 

อันดับ 3: Rabbit Line Pay

 

IMG_0322

 

Rabbit Line Pay ก็จ่ายค่าน้ำค่าไฟ ซื้อของกิน ซื้อตั๋วหนังได้เหมือนกัน แถมมี 41 ล้านคนในไทยที่ใช้ Line เยอะมากๆ จึงมองว่าธุรกิจไหนที่ยังขายของกิน เปิดร้านอาหาร Rabbit Line Pay ก็ยังเป็นบริการที่น่าสนใจเปิดให้ลูกค้าได้ชำระเงินผ่านช่องทางนี้ดู

เพียงแต่ถ้าซื้อของช็อปปิ้งออนไลน์ได้เพียงแต่ใน Lazada, Ensogo, Central Online หรือร้านค้าที่ไม่ได้มี PayPal เพราะ Rabbit Line Pay ไม่ได้มี Virtual Credit Card แถมเติมเงินในมือถือก็ยังทำไม่ได้เหมือนอย่าง AIS mPay และ True Wallet

แต่ถ้าธุรกิจของคุณไม่ได้เจาะกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติที่ไม่ได้ใช้ Line ก็ไม่ได้เป็นข้อจำกัดอะไร

สำหรับใครที่ทำธุรกิจพัฒนาและบริการเกม ถ้าเกมนั้นเป็นเกมสำหรับ Line คุณควรจะให้ผู้ใช้งานได้จ่ายเงินผ่าน Rabbit Line Pay (เติมเงินกับเกมอื่นนอกจากของ Line ยังไม่ได้)

 

ส่วนบริการ E-Payment อื่นอย่าง wePay, AirPay และ BluePay นั้นไม่ได้รับความนิยมในการใช้ช็อปปิ้งออนไลน์และซื้อของกินเท่าไหร่นัก แต่เป็นบริการที่ไว้สำหรับลูกค้าที่ต้องการเติมเงินเกมได้ ซึ่งความครบถ้วนของบริการ E-Payment ก็จะเรียงตามลำดับ

 

Alipay: บริการ E-Payment ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวชาวจีน

 

IMG_0323

 

เพราะ AilPay เป็นธนาคารอินเตอร์เน็ตสำหรับชาวจีน ถ้าธุรกิจของคุณมีลูกค้าเป็นชาวจีนอยู่เยอะ Alipay ก็เป็นบริการฯที่ต้องมี สำหรับชาวจีนแล้ว การชำระเงินผ่าน Alipay Wallet ชำระสินค้านั้นง่ายมากผ่านบาร์โค้ดบนมือถือ โดยเฉพาะร้านที่รับ Alipay และคนที่ชอบซื้อของบนเว็บร้านค้าจีน (โดยเฉพาะ Taobao ที่ไม่รับบัตรเครดิตไทย) แน่นอนว่าหนีไม่พ้น 7-Eleven ที่มีหลายสาขา และ King power แถมเรียกรถโดยสารในไทยได้ด้วย

ถ้าร้านค้าออนไลน์ของคุณเจาะตลาดจีน คุณต้องมี Alipay ไว้ให้บริการ

ซึ่งการไปเปิดบัญชีของ Ailpay ค่อนข้างยุ่งยากพอสมควรเพราะเป็นภาษาจีนและมีค่าใช้จ่ายสูงเพื่อยืนยันตัวตน (ราว 6 ถึง 7 พันบาท) จนบางคนบอกว่าไปเที่ยวจีนแล้วไปเปิดบัญชีที่นั่นดูจะคุ้มกว่า และต่อให้คุณมี Ailpay Wallet แล้ว มันก็ไม่ได้รองรับให้คนไทยใช้งาน จึงควรมีไว้รับเงินจากชาวจีนเท่านั้น

 

Paypal: บริการธุรกรรมออนไลน์สากล เจาะลูกค้าต่างชาติ

 

IMG_0325

 

ส่วนใครที่ซื้อของออนไลน์เป็นประจำก็คงรู้จัก PayPal ดีโดยเฉพาะซื้อของบน eBay, Netflix, Amazon, Lazada แม้แต่ Alibaba เอง Paypal เป็นธนาคารอินเตอร์เน็ตที่ให้บริการรับเงิน ฝากเงิน ส่งเงินให้ใครก็ได้เหมือนธนาคารทั่วไปได้ทั่ว 193 ประเทศโดยคิดค่าธรรมเนียม

หากใครที่ขายของให้ชาวต่างชาติ ก็ควรจะมี PayPal ให้เขาจ่ายเงินได้สะดวกอีกช่องทาง อย่างเช่นการบินไทยก็ให้ลูกค้าซื้อตั๋วเครื่องบินผ่าน PayPal ได้แล้ว

ซึ่ง PayPal มีจุดแข็งตรงที่มีระบบที่ปลอดภัยและดีที่สุดในโลกตอนนี้ การติดต่อขอความช่วยเหลือก็รวดเร็ว ใช้งานก็ฟรีแถมสร้างชื่อบัญชีตามที่ต้องการได้ โดยไม่ต้องมีสมุดบัญชี

ส่วนจุดอ่อนของ Paypal ก็คือต้องมีบัตรเครดิด (เว้นใครที่มี TrueMoney WeCard ก็สามารถใช้แทนบัตรเครดิตให้เราผูกกับบัญชี PayPal ได้) ค่าธรรมเนียมในการโอนก็แพงกว่าบริการ E-Payment ของเจ้าอื่น แถมบางครั้งเรายังได้ยินเรื่องของการหลอกให้ทำธุรกรรมผ่าน PayPal อยู่บ้างเช่นหลอกโอนเงิน หลอกเอาข้อมูลส่วนตัว อีกทั้งไม่ได้รับความนิยมเท่าบริการอื่นในไทย

PayPal จึงไม่ได้มารองรับลูกค้าคนไทย แต่มีไว้สำหรับลูกค้าชาวต่างชาติเสียมากกว่า

 

shutterstock_379865653

 

สรุปคือ ถ้าคุณคิดจะขายของในยุคที่ใครๆก็ใช้สมาร์ทโฟน คุณควรจะมีทั้ง AIS mPAY และ True Wallet ไว้ให้บริการ E-Payment กับลูกค้า เพราะใช้จ่ายค่าน้ำค่าไฟ ตั๋วหนัง กินข้าว ซื้อของออนไลน์ เติมเงินเกมและมือถือครบ ลูกค้าส่วนใหญ่ใช้ประจำกันอยู่แล้ว

ส่วนบริการฯของเจ้าอื่นๆนั้น ต้องมาดูว่าธุรกิจของคุณขายอะไรและให้บริการอะไร และลูกค้าของคุณเป็นใครเช่นถ้าคุณทำเกม คุณก็ควรจะมี Rabbit Line Pay, wePay และ AirPay เพิ่มถ้าลูกค้าของคุณเป็นคนจีน คุณก็ต้องมี Alipay หรือถ้าขายของหรือบริการชาวต่างชาติก็ต้องบริการ PayPal ด้วย

 

Copyright © MarketingOops.com


  • 524
  •  
  •  
  •  
  •  
Sarunjade
แชร์มุมมองเกี่ยวกับ Digital Marketing, Digital Business และ Technology เท่าที่รู้ สามารถติชมหรืออยากให้เจาะลึกเรื่องไหนเป็นพิเศษ ส่งเมลมาเลยที่ contact@oopsnetwork.co.th