เมื่อ “เจรจาธุรกิจ” คือทางลัดที่ช่วยให้โตแกร่ง จึงเป็นที่มาของ K SME Matching Day

  • 893
  •  
  •  
  •  
  •  

คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าช่วงเวลาที่ยากที่สุดของการทำธุรกิจคือตอนเริ่มต้น แต่ในความเป็นจริง “ก้าวแรก” ของธุรกิจอาจยังไม่ยากเท่ากับการรักษาธุรกิจให้ประสบความสำเร็จอยู่รอดได้ระยะยาว

โดยเฉพาะสำหรับผู้ประกอบการ SME นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องเจอกับเรื่องท้าทาย และข้อจำกัดรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเงินทุน ที่ช่วยต่อยอดพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ

หากวิเคราะห์กันอย่างลึกซึ้งเราจะพบว่า pain point สำคัญของธุรกิจ SME ส่วนใหญ่คงไม่พ้นการขาดโอกาสที่ช่วยให้ขยายธุรกิจเป็นเรื่องหลัก ดังนั้นหากผู้ประกอบการ SME สามารถมีอีกหนึ่งพลังที่เข้ามาช่วยเสริมความแข็งแกร่ง หรือ “เติมเต็ม” สิ่งที่ขาด ก็จะสามารถช่วยทลายข้อจำกัดดังกล่าวและสร้างแต้มต่อธุรกิจ ให้เติบโตในระยะยาวได้

KBank Matching Day 2019

ซึ่งเหตุผลดังกล่าวเป็นสิ่งที่ทางธนาคารกสิกรไทยมีความเข้าใจผู้ประกอบการ SME อย่างลึกซึ้ง ทั้งยังเข้าใจถึงอุปสรรคของ SME ส่วนใหญ่ที่ต้องการอยากเพิ่มโอกาสและช่องทางตลาดใหม่ๆ ให้กับตัวเอง แต่ก็ต้องสะดุดเพราะข้อจำกัดหลายประการ

ที่ผ่านมาธนาคารจึงให้การสนับสนุนผู้ประกอบการ SME ไทยอย่างต่อเนื่องในหลายๆ ด้าน และหนึ่งในนั้น คือ การหาตลาดที่เหมาะสม ช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างยอดขายและขยายตลาด

ด้วยความตั้งใจจึงพยายามเพิ่มทางเลือกให้ผู้ประกอบการ SME ที่อยากขยายธุรกิจ ซึ่งหนึ่งในกิจกรรมที่ทางธนาคารจัดต่อเนื่องมาตลอด 5 ปี คือ การจัดงาน K SME Matching Day เป็นอีกช่องทางในการเพิ่มโอกาสขยายตลาดให้กับที่ผู้ประกอบการ SME ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

KBank Matching Day 2019

การทำ Business Matching มีประโยชน์ต่อการทำธุรกิจ โดยเฉพาะ SME เพราะเป็นหนึ่งใน “กลยุทธ์” ที่จะช่วยให้ธุรกิจก้าวต่อไปอย่างมีคุณภาพ

เป็นที่รู้กันดีว่า โดยปกติแล้ว โอกาสที่ SME จะได้นำเสนอสินค้าต่อโมเดิร์นเทรดมักใช้เวลานานและเข้าถึงยาก ดังนั้นการที่ผู้ประกอบการ SME ได้เข้ามาร่วมเจรจาธุรกิจในวันงานจะได้รับข้อเสนอหรือสิทธิพิเศษจากช่องทางจัดจำหน่ายต่างๆ เหล่านี้ ก็เท่ากับช่วยให้ผู้ประกอบการได้รับทั้งความสะดวก และสามารถนำเสนอสินค้ากับจัดซื้อได้เร็วขึ้น

เรียกได้ว่างานนี้เปรียบเสมือนเป็นใบเบิกทางช่วยทลาย Pain Point ให้ผู้ประกอบการ SME ไทยให้มีโอกาสสร้างเครือข่ายระหว่างกัน เนื่องจากทางธนาคารได้รวมช่องทางการจัดจำหน่ายที่มีศักยภาพทั้งในและต่างประเทศ ไว้มากถึง 20 ช่องทาง ซึ่งล้วนเป็นช่องทางจัดจำหน่ายที่ SME ส่วนใหญ่สนใจนำสินค้าเข้าจำหน่ายมากที่สุด

KBank Matching Day 2019

คุณเฟิร์ส สุดารัตน์ วรกิจ หนึ่งในผู้ประกอบการ SME ที่ผ่านประสบการณ์เข้าร่วมงาน K SME Matching Day มาแล้วถึง 2 ครั้ง จากอดีตมนุษย์เงินเดือนสายการเงินที่มีความฝันจะมีธุรกิจของตัวเองในชีวิต แรงบันดาลใจดังกล่าวทำให้เธอเกิดไอเดียที่จะพัฒนาสินค้าที่ต่อยอดมาจากภูมิปัญญาของครอบครัว นั่นคือ “ขนมจีน” เป็นอีกหนึ่งเมนูยอดนิยมของคนไทยมาช้านาน

จากกระแสผู้บริโภคยุคใหม่ที่หันมานิยมสั่งอาหารผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น รวมถึงวัฒนธรรมรีวิวสินค้าจากบลอกเกอร์ ทำให้กระแส Food Online Marketing กำลังมาแรงในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา คุณเฟิร์สจึงมองเห็นโอกาสและเริ่มต้นธุรกิจ “ขนมจีนอบแห้ง” ด้วยการบุกตลาดออนไลน์

“เดิมคุณแม่ทำธุรกิจขนมจีนเส้นสดค่ะ แต่เลิกกิจการไปแล้ว พอดีช่วงที่เราศึกษาปริญญาโทอยู่เริ่มคิดอยากทำธุรกิจ เรามองว่าขนมจีนน่าจะตอบโจทย์ เพราะเรามีสูตรอยู่แล้ว จึงลองทำดู”

หลังคุณเฟิร์สนำสูตรของคุณแม่ไปให้ญาติที่มีโรงงานทำขนมจีนในเวียดนามเป็นผู้ผลิต และใช้เวลาพัฒนาเส้นขนมจีนให้เป็นที่ถูกปากคนไทยเกือบ 6 เดือน จนได้สินค้าขนมจีนอบแห้ง ที่มีจุดเด่นของสินค้าที่แตกต่างกว่ารายอื่นในตลาด

โดยเธอใช้แป้งข้าวเจ้า 100% ไม่ใช่แป้งมันเหมือนรายอื่น ทำให้มีความเหนียวนุ่มเป็นพิเศษ รสชาติที่มีความใกล้เคียงกว่า อายุสินค้าที่เก็บได้ยาวนานกว่าในตลาด

“เราทานขนมจีนมาตั้งแต่เด็ก เราจะเข้าใจว่าลูกค้าที่เคยทานของแบรนด์อื่นไม่ประทับใจเพราะรู้สึกว่าไม่ใช่ขนมจีน แต่เราโชคดีที่โรงงานเราที่เวียดนามมีนวัตกรรมด้านนี้โดดเด่นกว่าบ้านเรา ที่สำคัญความเป็นญาติเราเอง ทำให้เราได้เปรียบที่เราจะทดลองผลิตกี่ครั้งก็ได้ จนกว่าจะพอใจสินค้า”    

KBank Matching Day 2019  

แม้ในช่วงสองปีแรกจะเป็นช่วงล้มลุกคลุกคลาน เนื่องจากสินค้าขนมจีนแบบอบแห้งในสายตาคนไทยยังคงมองว่าเป็นสินค้าแปลกใหม่ แต่ด้วยคุณภาพสินค้าที่ตอบโจทย์ และการทำตลาดต่อเนื่อง ทำให้แบรนด์ขนมจีนไจแอนท์เริ่มเป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้บริโภคสายออนไลน์

แม้ตลาดออนไลน์จะไปได้ดีระดับหนึ่ง แต่ก็สุดท้ายก็หนีไม่พ้นที่ต้องเผชิญปัญหาการแข่งขันด้านราคา ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เธอมองว่า จะโฟกัสในตลาดออนไลน์อย่างเดียวโอกาสเติบโตคงมีน้อย

“จากประสบการณ์ทำให้รู้ว่าลูกค้าออนไลน์ส่วนใหญ่ ไม่ค่อยให้ความสนใจเรื่องแบรนด์ ถ้าเขาซื้อมาลองกินแล้วของไม่ถูกใจเขาก็เปลี่ยนยี่ห้อไป แต่เราอยากให้คนจดจำไจแอนท์ได้ และทุกครั้งที่นึกถึงเส้นขนมจีนอบแห้งต้องนึกถึงแบรนด์เราเป็นอันดับแรก”

เหตุผลดังกล่าวจึงทำให้คุณเฟิร์สวางแผนเดินหน้าขยายช่องทางสู่โมเดิร์นเทรด เพราะเชื่อว่าจะช่วยทำให้ลูกค้ารู้จักสินค้ามากขึ้น แต่อย่างที่รับรู้กันดีว่า สิ่งที่เป็น pain point สำหรับ SME หน้าใหม่หรือรายเล็กๆ อย่างเธอ นอกจากเรื่อง “เงินทุน” ทั้งในการพัฒนาสินค้าหรือต่อยอดธุรกิจแล้ว ยังขาดพันธมิตรธุรกิจที่ดีที่จะช่วยขับเคลื่อนธุรกิจให้สามารถไปต่อได้

“ตอนแรกเคยคิดจะไปเจรจากับโมเดิร์นเทรดเอง แต่ยังไม่ได้เข้าไป รู้ว่าเราตัวเล็กมาก เข้าไปคุยยังไงก็ยาก เคยคุยกับบริษัทที่เป็นตัวกลาง เขาบอกเราว่า เขาสามารถนำสินค้าเราเข้าไปวางในโมเดิร์นเทรดได้ แต่คุณต้องมีงบดุลบัญชีร้อยล้านขึ้นนะ หรือไม่อย่างน้อยควรมีรายได้ปีละไม่ต่ำกว่าสิบล้านบาท” คุณเฟิร์สถ่ายทอดประสบการณ์

“พอดีตอนที่เรากำลังทำสื่อโฆษณาในออนไลน์ให้เพจเราอยู่ ในหน้าฟีดมีโฆษณางาน K SME Matching Day ของธนาคารกสิกรไทยเด้งขึ้นมาพอดี เราเห็นแล้วว่าน่าสนใจเลยลองส่งข้อมูลทุกอย่างที่เกี่ยวกับสินค้าให้ทางธนาคารพิจารณา จึงได้เข้าร่วมงานครั้งแรกเมื่อสิงหาคมปีที่แล้ว”     

ผลลัพธ์ที่ได้จากการเข้าร่วมในวันนั้นคือคุณเฟิรสได้รับการติดต่อจากโมเดิร์นเทรดถึง 5 เจ้า ซึ่งล้วนเป็นโมเดิร์นเทรดรายใหญ่ๆ และต่อมาพัฒนาสู่การเป็นคู่ค้าในปัจจุบันถึง 2 แห่ง

“นั่นคือจุดเปลี่ยนของไจแอนท์ ที่ถือเป็นก้าวกระโดดเลย ไม่ใช่แค่การค่อยๆ ขยับเหมือนเมื่อก่อนแล้ว ซึ่งหลังจากนั้นเรายังได้คู่ค้ารายใหม่ๆ ต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเพราะเขาเห็นสินค้าเราจากในโมเดิร์นเทรด”

ที่สำคัญวันนี้ยอดขายแบรนด์ขนมจีนอบแห้งไจแอนท์ยังสามารถก้าวกระโดดได้ถึงกว่า 50% ภายในระเวลาเพียงปีเดียว

KBank Matching Day 2019

“เรายังได้คอนเน็คชันที่เป็นพันธมิตรธุรกิจ เช่น โรงงานผลิตเครื่องแกง เขามาเจอเราและอยากได้ขนมจีนเราไปจำหน่ายคู่กับสินค้าเขา ขณะเดียวกันเราเองก็ได้ทั้งต่อยอด และเพิ่มไอเดีย ไม่ว่าจะเป็นการนำผลิตภัณฑ์ของเขามาต่อยอด หรือแมทชิ่ง พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ จากที่เราเคยนึกไม่ออกมาก่อน อยากขอบคุณกสิกรมากที่จัดงานดีๆ แบบนี้”

สำหรับงาน ในปีนี้ คุณเฟิร์สยังได้เข้าร่วมเป็นครั้งที่สอง ซึ่งเธอยังได้คู่ค้าและลูกค้าใหม่ๆ เป็นบริษัทค้าปลีกที่เข้ามาหาอีกหลายราย

“ตอนแรกไม่คิดว่าสินค้าจะเป็นที่รู้จักเร็วขนาดนี้ คิดว่าอีกสามปีคงได้เข้าเป็นคู่ค้ากับรายใหญ่ แต่ผลตอบรับที่ได้ตอนนี้ มันเร็วมาก เราเคยไปงานแมทชิ่งของเจ้าอื่นด้วย ที่เป็นของรัฐบาล แต่บางงานเราต้องมีค่าเจรจา แต่กลายเป็นว่ามางานนี้กลับฟรีทุกอย่าง ซึ่งถ้าปีหน้าทาง KBank จัดอีก เฟิร์สก็มาอีกแน่นอนค่ะ” เธอกล่าวทิ้งท้าย

KBank Matching Day 2019

สำหรับ งาน K SME Matching Day ปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 5 แล้ว ซึ่งตลอดระยะเวลาของการจัดงานที่ผ่านมา เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าแต่ละปีมียอดผู้ประกอบการให้ความสนใจเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

โดยในปีนี้มีผู้ประกอบการที่สนใจส่งเอกสารสมัครเข้ามามากกว่า 807 บริษัท และผ่านการพิจารณาจากช่องทางจัดจำหน่ายรอบแรก 525 บริษัทที่ประสบความสำเร็จจากการแมทชิ่ง หรือจับคู่กับคู่ค้าธุรกิจ

หากเอ่ยสิ่งที่เป็นไฮไลท์ของงานนี้คงไม่พ้นการที่ผู้ประกอบการจะได้พบปะกับเจ้าหน้าที่จัดซื้อของแต่ละช่องทางจัดจำหน่ายตัวจริง และตรงกลุ่มสินค้า โดยในงานสามารถพบช่องทางจัดจำหน่ายได้วันเดียวถึง 8 ช่องทาง ที่ประกอบด้วย ช่องทางค้าปลีก-ค้าส่ง โดยปีนี้ ในงานได้รับความสนใจจากกลุ่มบริษัทค้าปลีกที่ยินดีเข้าร่วมโครงการหลายแห่ง อาทิ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (Big C Supercenter) บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด บริษัท ออฟฟิศเมท จำกัด (มหาชน) บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด  บริษัท ซี.เจ.เอ็กซ์เพรส กรุ๊ป จำกัด บริษัท เอฟเอ็น แฟคตอรี่ เอ๊าท์เลท จำกัด หมายถึง เอฟเอ็น เอ๊าท์เลท (FN outlet) เป็นต้น

KBank Matching Day 2019

ส่วนช่องทางต่างประเทศ ได้แก่ บริษัท ตันตราภัณฑ์ซุปเปอร์มาร์เก็ต(1994) จำกัด (ริมปิงซุปเปอร์ฯ) บริษัท Ly Hong Chhoy Trading (กัมพูชา) บริษัท Hong Chao Jia Ye (จีน) บริษัท Kawata Trading (ญี่ปุ่น) และบริษัท Chance and Challenge (เวียดนาม) เป็นต้น ขณะที่ช่องทางออนไลน์ ยังได้ค้าปลีกออนไลน์ระดับโลกให้ความสนใจเข้าร่วม อาทิ บริษัท เซ็นทรัล เจดี คอมเมิร์ซ จำกัด (www.JD.co.th) บริษัท ลาซาด้า จำกัด บริษัท ทีวี ไดเร็ค จำกัด (มหาชน) บริษัท ทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง จำกัด ภายใต้กลุ่มธุรกิจบริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน)

โดยกว่าที่ผู้ประกอบการจะได้มีโอกาสเข้ามาพบปะคู่ค้าเพื่อเจรจาธุรกิจในงานนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะผู้ประกอบการที่สนใจสมัครเข้าร่วมกิจกรรมยังต้องผ่านการ Pre Screen ก่อน ซึ่งผู้ประกอบการที่สนใจจึงต้องเตรียมความพร้อมของตัวเอง ผลพลอยได้ของงานคือยังถือเป็นอีกประสบการณ์สำคัญที่ช่วยให้ผู้ประกอบการ SME ได้ฝึกการเตรียมตัวให้กับตัวเองให้พร้อมก่อนจะลงสนามของตัวเองในชีวิตจริง

สะท้อนให้เห็นว่างานนี้ ตอบโจทย์ผู้ประกอบการ SME “ตัวจริง” ที่มีความมุ่งมั่นและอยากขยายตลาดอย่างแท้จริง


  • 893
  •  
  •  
  •  
  •