ปี 52 เทรนด์ ‘พีอาร์’ แรง เน้นสื่อผ่านดิจิทัล

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

ดร.พจน์ ใจชาญสุขกิจ นายกสมาคมนักประชาสัมพันธ์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ผลประกอบการไตรมาสสุดท้ายปีนี้ของภาคเอกชน ได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมือง และเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้หลายบริษัทพลาดเป้าหมายรายได้ ดังนั้นคาดว่าตั้งแต่ต้นปี 2552 เป็นต้นไป เชื่อว่าบริษัทต่างๆ จะทุ่มงบกิจกรรมทางการตลาดผ่านแคมเปญต่างๆ มากขึ้น หลังจากธุรกิจที่ได้ชะลอตัวและดูท่าทีจากปีนี้ เพื่อเร่งสร้างยอดขายที่หดหายจากปีนี้ 

กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : ในปีหน้าการประชาสัมพันธ์ (พีอาร์) จะเป็นยุทธศาสตร์สำคัญต่อการขับเคลื่อนขององค์กร  แต่จะมีรูปแบบ พัฒนาการ แตกต่างจากเดิม  เน้นการประชาสัมพันธ์ ที่เป็นมากกว่าการจัดทำข่าวสาร  สู่การจัดการประเด็น เนื้อหา ข้อมูลต่างๆไปยังกลุ่มเป้าหมาย ที่มีความถี่มากกว่าเดิม เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการรับรู้จากประสบการณ์จริง จากการปฏิสัมพันธ์ ระหว่างองค์กร สินค้า บริการ กับประชากรเป้าหมายหรือผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น  โดยการใช้กิจกรรมที่เหมาะสม สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย และใช้เป็นปัจจัยในการวางแผนการสื่อสารทั้งในด้านประเภทกิจกรรม แนวทางการสื่อสาร สถานที่ ด้วยการคำนึงถึงความสามารถในการขยายผลได้ในหลายมิติ

สำหรับ เนื้อหาหลัก ยังเน้นการสื่อสารเพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้ชัดเจน การสร้างความเชื่อถือ การยอมรับ ขององค์กรต่อสาธารณชน นั่นคือ การเป็นองค์กรที่มีความสามารถในการประกอบการหรือยอดขายแล้ว ต้องเป็นองค์กรที่ดีของสังคมด้วย  ในส่วนนี้การประชาสัมพันธ์เป็นเครื่องมือที่สามารถตอบสนองได้อย่างชัดเจน และคาดว่าการธุรกิจการประชาสัมพันธ์จะมีแนวโน้มเติบโตขึ้น จากหลายปีที่ผ่านมาไม่น้อยกว่า 20 % หลังจากที่มีการเติบโตลดลงในปีก่อน จากการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกันการประชาสัมพันธ์เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย จะปรับเปลี่ยนเป็นการสื่อสารในเชิงเนื้อหา (Content Communication) ที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้น ทั้งสื่อสารผ่านสื่อมวลชน  ,สื่อส่งเสริมการตลาด และสื่อดิจิทัล ที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นเป็นลำดับ

สำหรับรูปแบบการประชาสัมพันธ์ที่เป็นการสื่อสารเนื้อหาหรือข้อมูล  จะเน้นการแทรกเข้าไปอยู่ในบทความ รายการ บทสนทนา หรือการรายงานต่างๆ มากขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมในการรับรู้ข้อมูล ข่าวสารของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป การสื่อสารจึงมุ่งเน้นที่จะสื่อสารโดยตรงกับผู้บริโภค  โดยสื่อที่มีการขยายตัวสูงอยู่ในกลุ่มสื่อดิจิทัล โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ต และโทรศัพท์มือถือ จากการเติบโตของจำนวนผู้ใช้เมื่อเทียบกับสื่ออื่นๆ

Source:  กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์


  •  
  •  
  •  
  •  
  •