อยากรู้ “โอกาส” สำคัญแค่ไหน? เจาะลึก 7 Story จาก 7 เจ้าของรางวัล SME ไทยยั่งยืน 2020

  • 8.5K
  •  
  •  
  •  
  •  

เรียกได้ว่าเป็นงานที่จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 2 แล้ว สำหรับ “วันแห่งโอกาสดี@CP ALL 2020” งานที่จัดโดย บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้ก่อตั้งร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ในประเทศไทย ซึ่งเพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อเร็วๆ นี้

โดยคอนเซ็ปต์การจัดงานในปีที่ 2 ซีพี ออลล์ ยังคงตอกย้ำปณิธานการทำธุรกิจด้วยการ “ร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันโอกาสให้ทุกคน” ผ่านการมอบ 7 โอกาส ประกอบด้วย 1.โอกาสรับทุนการศึกษา 2.โอกาสในการมีงานทำ 3.โอกาสร่วมธุรกิจร้านเซเว่น อีเลฟเว่น 4. โอกาสเป็นคู่ค้าธุรกิจจำหน่ายสินค้าผ่านร้าน เซเว่นฯ และ ทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง 5.โอกาสมีคุณภาพชีวิตที่ดี 6.โอกาสทางความรู้ และ 7.โอกาสช้อปสินค้าดีมีคุณภาพ

จากคอนเซ็ปต์ดังกล่าว ยังทำให้รูปแบบของการจัดงานปีนี้ ซึ่งยังแบ่ง  พื้นที่ 9 โซน ด้วยกัน

ซึ่งหากใครได้แวะไปที่งาน บริเวณชั้น 2 อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคาร B) ศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ จะพบกับกิจกรรมต่อเนื่องทั้ง 3 วัน

ส่วนไฮไลท์หลักๆ ในงานก็น่าจะเป็นการคัดสรรผู้ประกอบการ ผู้ผลิต SMEs ผลิตภัณฑ์ชุมชนโซน มาออกงานกว่า 300 บูธในรูปแบบตลาดนัดสร้าง “โอกาส” ทั้งยังมี Business Matching โซนซีพี ออลล์พาวิลเลี่ยน โซนทุนการศึกษาโซน Job Fair และ โซนบันไดสู่การร่วมธุรกิจร้านเซเว่นฯ เป็นต้น

ส่วนกิจกรรมที่พลาดไม่ได้ ในงานยังมีการมอบรางวัลการมอบรางวัลเซเว่น อีเลฟเว่น เอสเอ็มอีไทยยั่งยืน 2562 แก่เอสเอ็มอีที่มีผลการดำเนินธุรกิจโดดเด่นถึง 7 ประเภทด้วยกัน

รางวัล SME ยั่งยืน ซึ่งผู้ได้รับรางวัลนี้ คือ บริษัทคุณเก๋ ขนมหวาน จำกัด เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่มีวิสัยทัศน์

มนัสวรรณ ศรัณย์เวชกุล เจ้าของแบรนด์คุณเก๋ขนมหวาน เล่าถึงความสำเร็จว่า ทำธุรกิจจัดส่งขนมหวานจำหน่ายใน 7-Eleven มากว่า 11 ปีแล้ว

“เดิมคุณแม่ทำขนมหวานขายอยู่หน้าร้านขายยาของคุณพ่อ พวกวุ้นแฟนซี วุ้นกะทิ ดิฉันเป็นรุ่นที่สองมาสานต่อธุรกิจ”

โดยเธอนำประสบการณ์จากการเรียนด้าน Food Science จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือมาต่อยอด เวลานั้นแม้ไม่มีประสบการณ์ แต่ก็มองเห็นโอกาสในธุรกิจ

“เรารู้สึกว่าขนมคุณแม่รสชาติดีอยู่แล้ว มองว่าธุรกิจที่ไปได้ แต่ปัญหาคืออายุสินค้าสั้น จึงพัฒนาเรื่อง shelf life ของสินค้าก่อน ต่อมาเราได้เข้าอบรมหลักสูตร NEC ที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และได้ไปออกงาน Thaifex จึงได้เจอกับฝ่ายจัดซื้อของซีพี ออลล์เมื่อปี 2549”

ก่อนเริ่มธุรกิจทางซีพี ออลล์ได้เข้ามาช่วยดูและให้คำแนะนำเรื่องการพัฒนามาตรฐานอาหารที่ผลิต และการจดทะเบียน อย. จากนั้น จึงทดลองวางสินค้าตัวแรก คือวุ้นกะทิ และวุ้นแฟนซี

“ต่อมาเรามีการพัฒนาสินค้าให้รูปแบบหลากหลายมากขึ้น เป็นขนมไทยวาไรตี้ เพราะคุณแม่ทำได้หมด ตอนนี้เรายังผลิตสินค้าให้กับแบรนด์ 7 Friends และ Easy Sweet ทั่วประเทศ และยังสามารถเพิ่มช่องทางขายที่ร้านสะดวกซื้อ ซุปเปอร์มาร์เก็ต รวมทั้งเป็นโออีเอ็มให้หลายแบรนด์”

มนัสวรรณยอมรับว่าการเริ่มต้นธุรกิจกับ 7-Eleven เป็นช่องทางที่เหมาะสมสำหรับแบรนด์มาก เพราะสินค้าขนมหวานมีอายุสั้น เสียง่าย แต่โลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพของซีพี ออลล์ ทำให้สามารถจัดส่งขนมขยายได้ทั่วประเทศ และเติบโตอย่างรวดเร็ว

“ซีพี ออลล์ให้ทุก ๆ อย่าง เริ่มจากให้โอกาสเรามาขาย ตั้งแต่วันแรกที่ติดต่อ เรายังไม่มีอะไรเลย แต่ก็ให้โอกาสเราพัฒนาตัวเอง เปิดโอกาสให้เราเสนอสินค้าตัวใหม่ และมีการพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ตลาดมาตลอด ซึ่งวันนี้ที่ได้รับรางวัลยังถือเป็นความภาคภูมิใจครั้งหนึ่งในชีวิตของเรา”

ด้านผู้ประกอบการยาและอาหารเสริมกลุ่มสมุนไพร แบรนด์ Handy Herb ผู้ผลิตสมุนไพรขนาดพกพาแบบซอง ที่พัฒนาจากตำรับยาสมุนไพรที่วางขายมานานกว่า 40 ปี ได้รับรางวัล SME ยอดเยี่ยมในปีนี้

ความนิยมของ “ครีมซอง” ใน 7-Eleven เติบโตต่อเนื่อง ซึ่งในแบรนด์ที่กำลังมาแรงอย่างมาก ย่อมไม่พ้นแบรนด์ครีมซองเจ้าของยอดขาย 10 ล้านซอง รอยัลบิวตี้ คอลลาเจน ที่ได้รับรางวัล SME ดาวรุ่งปีนี้

รัตนพงศ์ ศรีโรจนันท์ กรรมการบริหาร บริษัทสหไทยพัฒนภัณฑ์ จำกัด ให้ข้อมูลว่า บริษัททำธุรกิจกับ ซีพี ออลล์กว่าสี่สิบปี ตั้งแต่วันแรกที่มี 7-Eleven โดยเป็นผู้จำหน่ายถุงเท้าคาร์สัน ยากันยุงห่านฟ้า เป็นต้น

“การทำธุรกิจกับ 7-Eleven ทำให้เราเห็นว่าเขามีประสิทธิภาพแค่ไหน หลังบริษัทสนใจตลาดครีมบำรุงผิวตั้งใจบุกตลาดจริงจัง จึงมองว่าช่องทางเดียวที่จะทำให้ติดตลาดรวดเร็วและครอบคลุมมากที่สุดคือ 7-Eleven”

หลังการหารือพูดคุย ทางซีพี ออลล์ถูกใจในสินค้าและคอนเซ็ปต์ จึงให้วางจำหน่าย 7-Eleven ในปี 2014 ทางแบรนด์ยังพัฒนาต่อยอดเรื่อยมา จนในอีกสองปีถัดมา พัฒนาครีมตัวดัง “รอยัล บิวตี้ วิตซีคอลลาเจน” ปรากฏว่าสินค้าติดตลาดและอยู่ยาวมาจนวันนี้ ซึ่งส่งผลให้แบรนด์รอยัลบิวตี้โตก้าวกระโดดสองหลักทุกปี

“ประสบการณ์การทำงานกับซีพี ออลล์ ช่วยให้เราพัฒนาตัวเองไปด้วย เขาเป็นเหมือนคู่ค้าที่ช่วยเราพัฒนาสินค้าไปกับเรา ตัวไหนที่กำลังฮิตจะช่วยแนะนำมาตลอด และซีพี ออลล์ยังให้โอกาส เราได้ส่งต่อการตอบแทนคืนสู่สังคม โดยทุกเดือนบริษัทจะนำรายได้ส่วนหนึ่งไปสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการักษาเด็กผู้ป่วยโรคปากแหว่งเพดานโหว่ ทั้งมีการสนับสนุนคนตาบอดและผู้บริโภคกลุ่มด้อยโอกาสได้มีโอกาสใช้สินค้าเรา ซึ่งบริษัทยืนยันว่าจะขอส่งต่อโอกาสเช่นนี้ต่อไป เพราะเราอยากเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงที่ช่วยให้ทุกคนได้อะไรดีๆ ทุกวัน”

อีกด้าน ต้นแบบของ SME สินค้าเกษตร ต้องยกให้กรณีศึกษาของ ภักดี เดชจินดา เจ้าของไร่กล้วยหอมทองที่ล้มลุกกับอาชีพชาวสวนมากว่าสิบปี และได้พบจุดเปลี่ยนเมื่อทำธุรกิจร่วมกับซีพี ออลล์

“ช่วงแรกปลูกแค่ 10-20 ไร่ เราก็ส่งจำหน่ายให้พ่อค้าแม่ค้าที่ตลาดไท หรือตลาดทั่วไป แต่ปัญหาคือราคาไม่แน่นอน ผันผวนตามตลาด”

สี่ห้าปีก่อน ภักดีได้เห็นในร้าน 7-Eleven มีกล้วยวางขาย จึงคิดว่าทำอย่างไรจะสามารถวางขายกล้วยแบบนี้ได้บ้าง

“ผมไปติดต่อ ทางซีพี ออลล์เขาให้ลงชื่อไว้ แล้วก็ติดต่อกลับมา นัดเข้าไปดูไร่ ดูความพร้อม กระบวนการปลูก สุดท้ายเราได้ส่งในเขตจังหวัดนครสวรรค์”

เขาเริ่มจากส่งกล้วยครั้งแรกเพียง 2,000-3,000 ลูกต่อวัน ในจังหวัดนครสวรรค์ ปัจจุบันภักดีสามารถขยายธุรกิจเป็นผู้จัดส่งกล้วยหอมให้กับทาง 7-Eleven ครบ 9 จังหวัดในเขตภาคเหนือตอนล่าง ที่มียอดสั่งซื้อถึงวันละประมาณ 17,000-20,000 ลูก

“พอเริ่มมั่นคงเป็นมาตรฐาน ผมก็ขยาย เริ่มชักชวนญาติและเพื่อนๆ ในชุมชนให้หันมาปลูกกล้วย หนึ่ง เพื่อที่เราจะได้มีสินค้าเพียงพอที่จะส่งให้มากขึ้น และสอง เรามองว่าเราอยากขยายโอกาสไปให้เพื่อนเกษตรกรได้มีความมั่นคงทางด้านรายได้แบบที่เราได้รับบ้าง เพราะราคาที่ได้จากซีพี ออลล์เป็นราคาประกันที่แน่นอน เราก็จะสามารถประกันราคาให้กับเครือข่าย เกษตรกรไม่ต้องรอราคาตลาดที่ไม่สามารถควบคุมได้อีกต่อไป”

เขายังบอกอีกว่า การทำเกษตรอุตสาหกรรมควบคุมได้ยากกว่าอุตสาหกรรมอื่น โจทย์ใหญ่คือต้องบริหารอย่างไรให้พอดี ไม่มากน้อยเกินไป แต่ต้องมีสินค้าเพียงพอทุกวัน

“พืชเป็นสินค้าที่คาดเดาได้ยาก แต่การทำธุรกิจกับซีพี ออลล์สอนให้เรารู้จักวางแผน พัฒนาตัวเองต่อเนื่อง อย่างกล้วยที่อื่นจะปลูกเป็นล็อตแล้วตัดทิ้งย้ายที่ปลูกใหม่ แต่กล้วยที่ปลูกในไร่ของผม สามารถวางแผนให้ผลผลิตได้ต่อเนื่องเกิน 10 ปี”

ภักดีเอ่ยว่าโอกาสดีที่สุดที่ได้จากการทำธุรกิจกับซีพี ออลล์ คือการได้เรียนรู้ทุกอย่างของคำว่า “มาตรฐาน” ทั้งหมด ทั้งราคา ตัวสินค้าที่ต้องพัฒนาให้มีคุณภาพมาตรฐาน ระบบการจัดการ และเขายังส่งโอกาสนี้ต่อให้เพื่อนๆ เกษตรกรอีกด้วย

“ผมว่า ผมมีวันนี้ได้ เพราะได้เอากล้วยเข้า 7-Eleven และยังทำให้กลุ่มเครือข่ายเพื่อนของผมอยู่ดีกินดี ทุกคนขยายจากสิบไร่ เพิ่มเป็น ยี่สิบ ห้าสิบ วันนี้ทุกคนรายได้แน่นอน รู้สึกว่าตัวเองมั่นคง และก็มีทุนพอที่สามารถนำไปต่อยอดขยายธุรกิจของตัวเอง โดยไม่ต้องเป็นหนี้ใคร”

ใครจะคิดว่าแบรนด์นมถุงพาสเจอไรซ์ที่อยู่คู่กับคนไทยมา 48 ปี จะมีโอกาสได้รีแบรนด์และกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งในชั้นวางของ 7-Eleven

“เราวางสินค้าที่ 7-Eleven มาเป็นสิบปีแล้ว แต่เป็นนมกล่องยูเอชที แต่บริษัทเพิ่งตัดสินใจนำนมถุงเข้าไปทดลองวางจำหน่ายเมื่อสิงหาคมปี 2562 ที่ผ่านมา”

อภิวิชญ์ ​ศาลา ผู้จัดการฝ่ายการตลาด สหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด (ในพระบรมราชูปถัมภ์) บอกเล่า เบื้องลึกหลังได้รางวัล SME เพื่อชุมชน จากสินค้านมถุงหนองโพปีนี้

เขาเอ่ยว่าการผลิตนมสดพาสเจอร์ไรซ์อายุสินค้าค่อนข้างสั้น แต่ขายออกค่อนข้างไว แต่ด้วยจุดเด่นของซีพี ออลล์ที่มีระบบกระจายสินค้าที่ดี จึงไม่เป็นปัญหากับสินค้าที่มี shelf life สั้น ผลดีคือเกษตรกรในสหกรณ์ราชบุรีเองก็สามารถระบายน้ำนมได้มากขึ้น ขณะที่ผู้บริโภคจะได้ดื่มนมคุณภาพดี คงความสดใหม่ รสชาติดีกว่าได้ทุกวัน

“เดิมเราสามารถขายผลิตภัณฑ์นมถุงพาสเจอไรซ์ได้แค่ในจังหวัดราชบุรี และจังหวัดใกล้เคียงเท่านั้น แต่พอมาร่วมงานซีพี ออลล์ ทำให้เรากะจายจำหน่ายไปได้ทั่วประเทศ โอกาสการขายของหนองโพจึงเยอะมากขึ้น”

ปัจจุบันนมถุงหนองโพสามารถวางจำหน่ายกว่า 90% ของสาขา 7-Eleven ทั่วไทยทั้งหมด สร้างยอดขายและความสำเร็จ จนได้รับรางวัลเอสเอ็มอีเพื่อชุมชน

“เราขอแค่พื้นที่ทำธุรกิจ ซึ่ง 7-Eleven ก็ให้โอกาสเรา ทั้งยังส่งเสริม ให้คำแนะนำด้านการทำธุรกิจมาโดยตลอด  ซึ่งที่หนองโพเราเป็นรูปแบบสหกรณ์ มีการปันผลให้กับสมาชิกทุกปี นอกจากกำไรจะได้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวนมโดยตรง รายได้อีกส่วนหนึ่งทางสหกรณ์ยังบริจาคเข้าสมทบทุนมูลนิธิพระบารมีปกเกล้าฯ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นทุนการศึกษาสำหรับลูกหลานสมาชิกและชาวเกษตรกรหนองโพราชบุรี ถือเป็นการส่งต่อโอกาสให้กับชุมชนเราอีกด้วย”

ถ้าพูดถึงผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์ยอดเยี่ยม จนได้รับรางวัล SME ความคิดสร้างสรรค์  คงต้องนึกถึแบรนด์ เครื่องเขียน KIAN DA (เคียนดะ) ของ เบญจวรรณ รุ่งเจริญชัย กรรมการบริหาร บริษัท บีซีแอล 2002  จำกัด

เบญจวรรณเล่าถึงเส้นทางธุรกิจที่เริ่มต้นจาก 0 แต่ในวันนี้บริษัทสามารถมียอดขายถึงปีละ 80 ล้านบาท และยังโตต่อเนื่อง 100% ในทุกปี ว่า

“จริง ๆ แล้วครอบครัวเราทำสิ่งทอเป็นหลักอยู่ที่สำเพ็ง แต่ไม่ค่อยชอบ เรามีความรู้นำเข้าส่งออก พอดี ปี 2557 ยุคนั้นปากกาลบได้กำลังเป็นที่นิยม เราก็ศึกษาราคาที่เมืองจีน พอได้ราคา ก็นึกถึงภาพยนตร์เรื่องวัยรุ่นพันล้าน เป็นไอดอลของเราเลย เริ่มอยากขายสินค้าใน 7-Eleven บ้าง จึงลองติดต่อเข้าไป ตอนแรกคิดว่าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เพราะยังไม่ได้ลงทุนทำ ปรากฏเราได้ทำเลย ทั้งที่แบ็คกราวนด์ธุรกิจเครื่องเขียนอะไรเราไม่มีเลย”

KIAN DA มีสินค้าจำหน่ายในเซเว่นฯ สองกลุ่ม กลุ่มแรกคือสินค้าเบสิค จะเน้นเทรนด์ญี่ปุ่น เพราะขายง่าย ที่สำคัญต้องเขียนดี กับสินค้าที่เป็นลิขสิทธิ์ตัวคาแรคเตอร์ โดยในปีหนึ่งๆ จะวางจำหน่ายสินค้าประมาณ 50 รายการกระจายใน 7-Eleven ทั่วประเทศ

“ตอนแรกคนรอบข้างก็บ่นว่าทำไปทำไม ปากกามูลค่าไม่กี่บาท แต่เรามองคนละแบบ เรามองว่าสินค้าเราสามารถควบคุมได้ เพราะเราไปหาสินค้าเอง นำเข้าเอง ตอนนี้มีซัพพลายเออร์ประมาณ 20 เจ้า

หากถามว่าซีพี ออลล์ให้โอกาสอะไร เขาสอนให้เราพัฒนาตัวเอง จากสินค้าตัวแรกที่เบสิค ธรรมดา แต่วันนี้เรารู้จักหาของได้หลากหลาย อย่างทำลิขสิทธิ์ จริงๆ ไม่ง่ายเลย ต้องเจรจา มีคนบอกยุ่งยากวุ่นวาย ซึ่งซีพี ออลล์ จะเป็นคู่ค้าที่ช่วยให้ไอเดียเราตลอด และเราสามารถตอบโจทย์เขาได้ 80-90% ตลอด เป็นเหตุผลที่เราเลยได้รางวัลความคิดสร้างสรรค์ ก็ต้องขอบคุณซีพี ออลล์ที่ให้โอกาสตรงนี้กับเรา”

ด้าน นรเทพ เชาวน์วิวัฒน์ เจ้าของ ผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรโบว์แดง ห้างหุ้นส่วนจำกัดห้างขายยาห้องยาเภสัช ผู้ได้รับรางวัล SME ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ เล่าว่าประมาณ 5-7 ปีก่อน ได้นำสินค้าไปเสนอที่สำนักงานใหญ่

“เราอยากเพิ่มฐานลูกค้าที่มากกว่าร้านขายยาทั่วไป ตอนแรกก็คิดว่าเข้ายาก เพราะเขาเป็นองค์กรใหญ่ เราดูหนังวัยรุ่นพันล้าน ก็คิดว่ายากแน่ กลัวว่าไปแล้วจะไม่รับ พอไปถึงทางบริษัทถามว่า คุณไปอยู่ไหนมา โบว์แดง เราหาสินค้าคุณมานานแล้ว”

สินค้าตัวแรกคือยาแก้ท้องเสีย เมื่อได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาด ก็พยายามนำเสนอสินค้าให้หลากหลายกับซีพี ออลล์มาต่อเนื่อง ปัจจุบันมีสินค้าวางใน 7-Eleven ประมาณ 7-8 รายการแล้ว อาทิ ยาสมุนไพร แก้ปวดเมื่อย บางตัววางจำหน่ายกว่าหมื่นสาขา บางตัวมีเจ็ดพันสาขา และยังมีจำหน่ายที่ร้านยา เอ็กซ์ต้า เซเว่น

นรเทพเล่าว่า การได้ทำธุรกิจกับ 7-Eleven ยังเป็นการขยายโอกาสต่อเนื่องที่ไม่มีสิ้นสุด เพราะสินค้าทุกตัวหากวางจำหน่าย 7-Eleven ได้ ก็เหมือนเป็นตัวคัดกรองมาตรฐานคุณภาพสินค้า ซึ่งต่อมาเขายังได้ห้างสะดวกซื้อและโมเดิร์นเทรดอีกหลายเจ้า รวมถึงเข้าถึงร้านขายยาได้ง่ายมากขึ้น

“เราได้รับโอกาส เพราะร้านยาเองก็มั่นใจคุณภาพสินค้าเรามากขึ้น และผลิตภัณฑ์เป็นที่รู้จักในตลาดมากขึ้น เพราะคนเดินเซเว่นมากกว่าร้านยา เป็นสิบเท่าร้อยเท่า เรียกว่าการเป็นสินค้าวางใน 7-Eleven เป็นการโฆษณาประชาสัมพันธ์ไปในตัว”

ส่วน 5.โอกาสมีคุณภาพชีวิตที่ดี ยังเป็นโซนที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการชุมชนหรือวิสาหกิจชุมชน และกลุ่มด้อยโอกาสจากทั่วประเทศได้มาเปิดบูธจำหน่ายสินค้าในงานนี้กันฟรีๆ อาทิ

กลุ่มแม่บ้านเกษตรอินทรีย์หนองเรือ และบ้านนาโพธิ์ จ.มหาสารคาม ที่นำสินค้าเกษตรอินทรีย์ 5 ดาว มาร่วมออกงานเป็นครั้งแรก โดยได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมจาก สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่เป็นผู้ส่งเสริมให้กลุ่มเปลี่ยนแนวความคิดหันมาทำสินค้าเกษตรอินทรีย์ 100% หลังทางเจ้าหน้าที่ซีพี ออลล์ได้เห็นแนวคิดผ่านการเผยแพร่ทางเฟสบุ๊ค จึงลงพื้นที่ไปดู และชวนมาร่วมออกงานในครั้งนี้

“จริงๆ เราไม่อยากมา หนักใจเพราะไกล ถ้ามาเองเราคงมาไม่ได้ เพราะต้องเสียค่ารถ ค่าเดินทางอีกเยอะ แต่ทางซีพี ออลล์ช่วยสนับสนุนค่ารถค่าที่พักให้เรา และยังให้บูธฟรี เราเลยยอมตัดสินใจมา” หัวหน้ากลุ่มเกษตรอินทรีย์หนองเรือเปิดใจ

ส่วนสินค้าหลักๆ ที่มาจำหน่ายคือข้าวอินทรีย์ปลอดสาร PGS ของสมาชิก ซึ่งข้าวเป็นพันธุ์พื้นเมืองจะมีความหอมนุ่มกว่าที่อื่น และยังทนแล้งได้ดี

“เราผลิตเอง ก็อยากให้มีคนรับซื้อ การมาครั้งนี้แพราะเขาอยากให้เกษตรกรเรียนรู้วิธีการผลิตเอง ขายเองเป็นอย่างไร เราได้จำหน่ายผู้บริโภคโดยตรง ซึ่งเราก็ตั้งใจขายราคาเดียวกันกับที่บ้าน”

นิติวัฒน์ เดสันเที๊ยะ เจ้าหน้าที่ปฏิรูปที่ดินมหาสารคามเสริมในฐานะพี่เลี้ยงว่า “กลุ่มนี้เป็นชุมชนน้องใหม่แต่มีวิสัยทัศน์ มีความมุ่งมั่นเป็นชุมชนทำข้าวอินทรีย์ ตอนแรกมางานนี้เขาก็กลัวว่าขายไม่ได้ แต่ปรากฎว่าวันแรกไม่ถึงเที่ยงข้าวเกือบหมด ก็เป็นวันแห่งโอกาสดีๆ สำหรับเกษตรกร เขาได้เรียนรู้ตลาดนำการผลิต หลังจากนี้เขาจะได้รู้จักการวางแผนผลิตระดับกลุ่ม และส่งเสริมรายได้เข้ากลุ่ม ความมั่นใจ”

ส่วนอีกบูธใกล้กัน คือกลุ่มเครือข่ายชายแดนใต้ ที่รวบรวมสินค้าชุมชน สินค้าจากเครือข่ายประมงพื้นบ้านชายแดนภาคใต้ 5 จังหวัด มาจำหน่ายที่ร้านนี้ร้านเดียว และยังมีสินค้าจากเครือข่ายเด็กกำพร้าและผู้ได้รับผลกระทบอีกด้วย ซึ่งหัวหน้าเครือข่ายฯ บอกเล่าว่า

“เรากับซีพี ออลล์ รู้จักเมื่อปลายปีที่แล้ว เจอกันในงานเครือข่ายภาคประชาสังคม ก็ชวนเรา อยากให้เรามาเปิดบูธ และแสดงวัฒนธรรม เป็นการมาออกบูธครั้งแรก ก็ไม่รู้ว่าลูกค้าคือใคร แต่คิดว่าเราได้นำเสนอสินค้าไปในตัว และให้คนได้เห็นสินค้า และเห็นว่าเราทำงานอะไร

กิจกรรมหลักๆ ของเรา คือการอนุรักษ์ทรัพยากรที่เป็นฐานรากชุมชน อย่างสินค้าที่มาจำหน่ายวันนี้ อาทิ ปลาทะเล หรืออาหารทะเล มาจากการประมงพื้นบ้าน ที่ใช้เครื่องมือหาปลาที่ไม่ทำร้ายทรัพยากร ไม่ใช้ปลาจากเรืออวนลากทั้งหมด ซึ่งซีพีจะรู้ดี เพราะเครือข่ายเราทำงานด้วยในหลายเรื่อง นอกจากนี้ยังมีสินค้าที่เป็นผลผลิตจากการอนุรักษ์ป่าและพันธุ์ไม้พื้นบ้าน”

ด้าน ดวงรัตน์ ญานะ จากสหกรณ์เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ เชียงใหม่ เผยถึงเหตุผลที่มาร่วมงานครั้งนี้ว่า ได้รับการประสานจากเจ้าหน้าที่ซีพี ออลล์ส่วนกลาง โดยได้รับแนะนำจากเครือข่ายเกษตรกรอินทรีย์ จ.เชียงราย ที่เคยทำงานกับทางซีพี ออลล์มาก่อน

“งานนี้เป็นงานที่สองที่มากับซีพี ออลล์ ตอนแรกที่ติดต่อมาก็งง ปกติเราออกบูทไม่บ่อย เพราะไกล มีค่าใช้จ่ายสูง เราเองก็จำหน่ายที่เชียงใหม่อยู่แล้ว แต่ที่มาเพราะอยากได้ประสบการณ์และกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ เพราะลูกค้าซีพี ออลล์น่าเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ไม่ใช่แค่กลุ่มทางเลือก หรือข้าราชการเหมือนงานที่เราเคยไป แต่มีความเป็นธุรกิจมากขึ้น ขณะเดียวกันเราได้มาศึกษาระบบของซีพี ออลล์ ว่าเขาจำหน่ายสินค้าอย่างไร ได้รู้จักผู้ประกอบการรายอื่นๆ ซึ่งงานนี้ทำให้ได้มุมมองใหม่ๆ อย่างมาก”

นอกจากนี้บูธต่างๆ ที่อยู่ในโซนทั้ง 9 แล้ว ในงานยังมีกิจกรรมมอบ 6.โอกาสทางความรู้ โดยในงานได้รับเกียรติจากวิทยากรจากทั้งภาคการศึกษาและภาคเอกชน มาร่วมบรรยายความรู้ให้แก่เอสเอ็มอี สุดท้ายทุกคนยังเพลิดเพลินกันด้วยการช็อปปิ้งกับ 7.โอกาสช้อปสินค้าดีมีคุณภาพมานานทีจะมารวมตัวกันสักครั้ง


  • 8.5K
  •  
  •  
  •  
  •