เราเริ่มเห็นความร่วมมือและโครงการ ภาครัฐ ภาคธุรกิจ พากัน ขานรับการสนับสนุนประเทศสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ออกมาหลากหลายโครงการแล้ว โดยเฉพาะช่วงปีนี้ ซึ่งมีหน่วยงานและผู้ประกอบการหลากหลายธุรกิจออกมาประกาศตัว ดำเนินการอย่างชัดเจน รวมถึงความร่วมมือในครั้งนี้ระหว่าง “สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ” และ “ทรู ดิจิทัล พาร์ค” กับภารกิจยกระดับพื้นที่และชุมชนในชื่อ Bangkok CyberTech District พัฒนาย่านปุณณวิถีเป็นย่านนวัตกรรมต้นแบบดิจิทัลของประเทศไทย
ทำไมต้อง “ย่านปุณณวิถี”
สำหรับคำตอบของเรื่องนี้ มาจากเป้าหมายของโครงการฯ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาสินทรัพย์ที่มีศักยภาพบนพื้นที่ในย่าน 3 เรื่องหลัก คือ สินทรัพย์ด้านเครือข่าย, สินทรัพย์ด้านเศรษฐกิจ, สินทรัพย์ด้านกายภาพ เป็นต้น ประกอบกับย่านดังกล่าวอยู่ในทำเลที่รองรับการอยู่อาศัยของคนเมืองและเริ่มต้นธุรกิจสตาร์ทอัพ เพราะไม่ไกลจากศูนย์กลางการค้า ทั้งเอกมัยและปทุมวัน เดินทางเข้าสู่พื้นที่ได้อย่างสะดวกสบายด้วยรถไฟฟ้าสายสีเขียว ทำให้ Bangkok CyberTech District ย่านนวัตกรรมระบบนิเวศสตาร์ทอัพที่สมบูรณ์ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ อธิบายว่า กรุงเทพฯ ครองอันดับ 7 ในการเป็นเมืองสตาร์ทอัพที่ดีที่สุดของโลก เชื่อว่าการเปิด Bangkok CyberTech District จะเป็นศูนย์กลางดิจิทัลและไลฟ์สไตล์คนเมืองยุคใหม่ ในฐานะแม่เหล็กดึงดูดบุคลากรผู้มีความเชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศเข้ามาประกอบธุรกิจ สร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งความรู้ เงินทุน การเติบโตทางธุรกิจ รวมถึงการผลักดันสตาร์ทอัพไทยสู่ความสำเร็จ และขยายสู่การจ้างงาน การพัฒนารายได้และคุณภาพชีวิตของคนไทย ซึ่งภายในย่านนวัตกรรมดังกล่าว สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติยังได้ตั้งศูนย์บริการ Startup Thailand Center โดยมีพื้นที่ 200 ตร.ม. เตรียมพร้อมให้บริการแก่ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพทั้งชาวไทยและต่างชาติในการจัดตั้งบริษัทในไทย พร้อมด้วย Co-Working Space, Event Space และ Private Office พร้อมทั้งแพลตฟอร์มสำหรับปั้นสตาร์ทอัพให้เป็นนักรบทางเศรษฐกิจในระดับสากลอีกด้วย
“ปัจจุบัน ไทยมีสตาร์ทอัพที่แอคทีฟอยู่ราว 700 ราย ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มเป็น 1,100 รายภายใน 3 ปีนับจากนี้ และมีอัตราการจ้างงานไม่ต่ำกว่า 5,000 คนในสายอาชีพที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกัน ก็มีการคาดการณ์ว่าภาครัฐจะมีการใช้จ่ายกับบริการด้านสตาร์ทอัพในประเทศไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท โดยหลังจากมีการเปิดตัว Bangkok CyberTech District ก็เชื่อว่าจะสามารถสร้างความร่วมมือและผลักดันให้เกิดสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีไม่ต่ำกว่า 50 รายต่อปี และเกิดโกลบอลสตาร์ทอัพไม่ต่ำกว่า 100 รายภายใน 3 ปีจากนี้”
อย่างไรก็ตาม นอกจากการพัฒนาย่านนวัตกรรมต้นแบบดิจิทัลแห่งนี้แล้ว จะมีโครงการอื่นๆ อาทิ ย่านโยธี เพื่อสนับสนุนนวัตกรรมทางการแพทย์ และย่านพระราม 9 เพื่อสนับสนุนเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งทาง Huawei ให้การสนับสนุนแพลตฟอร์มเทคโนโลยี
คุณฐนสรณ์ ใจดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ ทรู ดิจิทัล พาร์ค กล่าวว่า กลุ่มทรูมุ่งพัฒนาโครงการทรู ดิจิทัล พาร์ค ให้เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความร่วมมือกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติในครั้งนี้ถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสร่วมพัฒนาย่านนวัตกรรมปุณณวิถี ยกระดับสู่ Bangkok CyberTech District ให้เป็นรูปธรรมถึงการใช้พื้นที่เป็นศูนย์กลางในการสร้างสรรค์นวัตกรรมดิจิทัล และส่งเสริมการเติบโตของสตาร์ตอัพไทยซึ่งเป็นนักรบทางเศรษฐกิจรุ่นใหม่ ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยให้เติบโตและมีศักยภาพแข่งขันกับนานาประเทศทั่วโลก ภายใต้ระบบนิเวศสำหรับสตาร์ทอัพในแนวคิด Open Innovation รองรับบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ เหล่าสตาร์ตอัพและผู้ประกอบการรุ่นใหม่ นักลงทุน และหน่วยงานภาครัฐ ท่ามกลางบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรม และรองรับการทำงานและการใช้ชีวิตในยุคดิจิทัลได้อย่างลงตัว
Bangkok CyberTech District มีอะไรน่าสนใจบ้าง?
อย่างที่บอกไปแล้วว่า ย่านนวัตกรรมต้นแบบดิจิทัลแห่งนี้มีโครงการทรู ดิจิทัล พาร์ค ช่วยทำหน้าที่แม่เหล็ก ดึงดูดนวัตกรรมและผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรม ด้วยการเป็นศูนย์กลางการสร้างสรรค์นวัตกรรมดิจิทัล ภายใต้การจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมล้ำสมัยทั่วโครงการ อาทิ เครือข่าย 4G, ไวไฟ, อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง, โซลูชั่น IoT, ดิจิทัลแพลตฟอร์ม และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เช่น ห้องทดลอง R&D และ Maker Space เป็นต้น ด้วยการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 โซน คือ Co-Working Space สำหรับการทำงาน เรียนรู้ และสร้างสรรค์นวัตกรรม, Campus Space รองรับสำนักงานบริษัทข้ามชาติและสตาร์ทอัพ, Innovation Space ศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยีชั้นนำ, Events and Business Services Space ห้องประชุมและสัมมนา ร้านอาหาร และกิจกรรมสันทนาการ
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า หนึ่งในภารกิจของกระทรวงวิทย์ฯ ที่ต้องเร่งดำเนินการคือ การเตรียมความพร้อมให้กับคนไทยในการก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 พร้อมลดความเหลื่อมล้ำและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งความร่วมมือระหว่างสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติและทรู ดิจิทัล พาร์ค ในครั้งนี้ ถือเป็นหนึ่งในจุดเปลี่ยนเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากการสร้างความเชื่อมโยงให้เกิดขึ้นภายในพื้นที่ ก่อนจะกระจายสู่การเชื่อมโยงระดับโลก ด้วยภาพลักษณ์สังคมแห่งนวัตกรรมของประเทศไทย