Android Wear ย่างก้าวของกูเกิลสู่ตลาดสุดร้อนแรง

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

ผู้เขียน: Eka_x

หลังจากที่ Wearable Computer หรือคอมพิวเตอร์แบบสวมใส่กลายเป็นกระแสที่แรงต่อเนื่องมาตลอดปี 2013 โดยเฉพาะในหมวดนาฬิกาอัจฉริยะที่ผู้ผลิตน้อยใหญ่มากมายที่ต่างหาวิธีการพัฒนานาฬิกาในรูปแบบต่างๆ ทั้งการเขียนระบบควบคุมนาฬิกาใหม่ด้วยตัวเองอย่าง Cookoo หรือ Pebble หรือนำ Android ที่แจกจ่ายให้ใช้ได้ฟรีอยู่แล้ว มาปรับปรุงให้เหมาะสำหรับนาฬิกาอัจฉริยะ อย่างที่ซัมซุงสร้าง Galaxy Gear ขึ้นมา ล่าสุดเมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา Google ก็ได้เปิดตัว Android Wear แพลตฟอร์มใหม่ที่หวังจะรุกตลาด Wearable Computer ไปควบคู่กับสมาร์ทโฟน

1android-wear

Android Wear หน้าจอแอนดรอยด์บนเรือนร่าง

ถึงแม้ว่าด้วยชื่อและเนื้อในแล้ว Android Wear ก็คือระบบปฏิบัติการ Android แต่ก็เป็นเวอร์ชั่นที่ลดรูปและปรับปรุงให้เหมาะสำหรับอุปกรณ์พกพาที่มีประสิทธิภาพต่ำกว่าสมาร์ทโฟนในปัจจุบัน โดยความสามารถหลักของ Android Wear ที่เปิดเผยมาในปัจจุบัน คือเป็นหน้าจอแสดงการแจ้งเตือนหรือ Notification จากสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ แล้วสามารถสั่งงานกลับไปได้ระดับหนึ่ง โดยตัวอุปกรณ์ที่ใช้ Android Wear จึงไม่สามารถทำงานเดี่ยวๆ เป็นอิสระจากมือถือได้ดีเหมือนคอมพิวเตอร์สวมใส่แบบอื่นๆ

2Android-wear2

วัตถุประสงค์ในการออกแบบแพลตฟอร์มใหม่ของกูเกิลนี้ เพื่อให้ผู้ใช้สามารถสั่งงานมือถือได้ง่ายขึ้น โดยย้ายส่วนติดต่อกับผู้ใช้มาอยู่บนนาฬิกาข้อมือหรืออุปกรณ์อื่นๆ ที่จะออกมาในอนาคต ซึ่งตอนนี้จะมีการทำงานกับ Android Wear ได้ 2 อย่าง คือนำการแจ้งเตือนจากโทรศัพท์มือถือมาแสดง และรอรับคำสั่ง เช่นแสดงเมลเข้าจากหน้าปัดนาฬิกา แล้วสามารถปัดหน้าจอเพื่อสั่ง Archive ได้จากข้อมือเลย หรือแสดงการแนะนำต่างๆ จาก Google Now เช่น เที่ยวบินที่เราจองไว้จะขึ้นกี่โมง แล้วสามารถปัดหน้าจอเพื่อเช็กอินจากข้อมือเช่นกัน ซึ่ง Android ได้เตรียมระบบ Notification ให้รองรับคำสั่งจากผู้ใช้โดยไม่ต้องเปิดแอพฯ มาได้สักระยะหนึ่งแล้ว

ส่วนการทำงานอีกอย่างของ Android Wear คือ การรับคำสั่งจากผู้ใช้ไปปฏิบัติ ซึ่งผู้ใช้สามารถสั่งงานด้วยเสียงลงบนนาฬิกาก็ได้ผ่าน Hot Word ว่า “OK Google” เช่น “OK Google, Remember to go for run at 7am” เพื่อสั่งให้แจ้งเตือนว่าต้องออกไปวิ่งตอน 7 โมงเช้า เหมือนการใช้ Google Now บนสมาร์ทโฟนทั่วไป หรือจะใช้วิธีเลือก Action สำเร็จรูปที่เราเขียนคำสั่งที่จะใช้บ่อยๆ เอาไว้ จะได้ไม่ต้องมาคอยพูดหน้านาฬิกาทุกครั้งก็ได้

ซึ่งนาฬิกาที่เปิดตัวมาพร้อม Android Wear นั้นมี 2 รุ่นคือ Moto 360 จากโมโตโรลา (ที่ปัจจุบันเป็นบริษัทลูกของ Lenovo ไปแล้ว) นาฬิกาทรงกลมคลาสสิกพร้อมจอแสดงผลแบบวงกลม แล้วก็ LG G Watch นาฬิกาพร้อมหน้าจอสี่เหลี่ยม ซึ่งนอกจากนาฬิกาทั้ง 2 เรือนที่จะวางขายเร็วๆ นี้แล้ว กูเกิลยังประกาศเป็นพาร์ตเนอร์กับบริษัทนาฬิกาและอิเล็กทรอนิกส์น้อยใหญ่อีกมากมาย เช่น Samsung, HTC หรือ FOSSIL เพื่อร่วมทำนาฬิกาอัจฉริยะในอนาคต

ผลกระทบของ Android Wear ต่อโลกคอมพิวเตอร์สวมใส่

ถ้าดูจากสถานการณ์ในปัจจุบันที่ Android สามารถครองตลาดสมาร์ทโฟนได้เป็นจำนวนมาก ก็คงต้องบอกว่า Android Wear ก็เกิดมาเพื่อต่อยอดอำนาจการนำเสนอบริการของกูเกิลไปยังสมรภูมิการรบที่ยังไม่มีผู้นำชัดเจนอย่าง Wearable Computer เพราะที่ผ่านมาถึงแม้ว่าผู้ผลิตจะนำเสนอสินค้าในหมวดนี้มากมาย แต่ก็ยังไม่สามารถนำเสนอประสบการณ์การใช้ที่ดีเพียงพอ โดยเฉพาะประสบการณ์การใช้บริการของกูเกิล

Android Wear ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของกูเกิลเพื่อนำบริการของตนเองให้ใกล้ชิดกับผู้ใช้มากขึ้น และสร้างเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผู้ใช้ต้องเปิดบริการ Google Now จากแต่เดิมที่มีปัญหาเรื่องความเป็นส่วนตัวจนผู้ใช้จำนวนมากเลือกที่จะปิดไม่ให้ Google Now ติดตามตำแหน่ง แต่เมื่อมี Android Wear ที่นำข้อมูลจำนวนมากจาก Google Now มาแสดงผลที่ข้อมือ อย่างพยากรณ์อากาศ สถานที่น่าสนใจในบริเวณนั้น หรือเวลาเที่ยวบิน (ที่ Google Now อ่านรายละเอียดจากเมลของสายการบินใน Gmail ของผู้ใช้) ผู้ใช้จึงต้องเปิดให้กูเกิลติดตามตำแหน่งของเราได้ เพื่อแสดงข้อมูลที่เกี่ยวข้องได้

Android Wear จึงเกิดมาเพื่อปกครองตลาดใหม่ให้เป็นระบบระเบียบและอยู่ใต้อาณัติของ Google อีกครั้ง ด้วยบริการชั้นดี การออกแบบชั้นเยี่ยม โดยที่ผู้ผลิตไม่ต้องลงทุนลงแรงพัฒนาสิ่งเหล่านี้ด้วยตัวเอง เหมือนกับที่กูเกิลสามารถปกครอง Android ให้นำเสนอบริการของตัวเองกับผู้ใช้ได้ หลังจากที่ Android สามารถครองชัยชนะในหมวดของสมาร์ทโฟนมาได้

แม้ว่าตอนนี้จะยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่ากูเกิลจะเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตปรับปรุง Android Wear ให้มีความสามารถพิเศษเฉพาะตัวได้แค่ไหน ผู้ผลิตอย่างซัมซุงจะสามารถทำ Samsung Gear ที่ใช้ Android Wear และสามารถลงแอพฯ เฉพาะสำหรับ Gear ได้หรือไม่ แต่โลกคอมพิวเตอร์สวมใส่จะเกิดขั้วอำนาจใหม่จาก Google ที่แยกจากกลุ่มผู้ผลิตอิสระเดิม รอแต่แอปเปิลจะส่ง iWatch ออกมาจริงๆ

 5Pebble-and-Steel1

ผลกระทบต่อผู้ผลิตนาฬิกาอัจฉริยะรายอื่นๆ

ด้วยจุดแข็งของกูเกิลทั้งความที่เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ มีทรัพยากรในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และพัฒนาตลาดได้มาก นอกจากนี้ยังเป็นเจ้าของ Android เองด้วย การเปิดตัว Android Wear จึงส่งผลกระทบต่อตลาดนี้ไม่น้อย

เริ่มจากผู้เล่นที่อยู่ในตลาดนี้มาก่อนแล้วอย่าง Pebble บริษัทเล็กๆ ที่สามารถระดมทุนจาก Kickstarter กว่า 10 ล้านเหรียญ แล้วในปี 2013 ก็ขายนาฬิกาไปได้กว่า 400,000 เรือน ล่าสุดในปี 2014 ก็เพิ่งเปิดตัว Pebble Steel นาฬิการุ่นที่สองที่เปลี่ยนวัสดุและปรับดีไซน์ให้พรีเมี่ยมมากขึ้น นอกจากนี้ยังเปิดตัว App Store สำหรับ Pebble โดยเฉพาะ ให้ผู้ใช้เปิดสมาร์ทโฟนเลือกแอพฯ ที่จะใช้บนนาฬิกาได้เลย เช่น แอพฯ จาก Benz ที่ช่วยให้นาฬิกาสั่นเตือนเมื่อกำลังจะขับรถผ่านจุดที่อันตราย หรือแอพฯ Evernote ที่ช่วยเช็กลิสต์สิ่งที่ทำไปแล้วจากข้อมือได้ทันที  ซึ่ง Eric Migicovsky ผู้ก่อตั้งและ CEO ของ Pebble ก็กล่าวกับ Techcrunch ในกรณีนี้ว่า

3eric-migicovsky

เมื่อเราเริ่มต้นพัฒนาเทคโนโลยีสวมใส่เมื่อ 6 ปีก่อน มันยังเป็นตลาดที่มีผู้เล่นน้อยมากๆ และมีคนสงสัยเป็นจำนวนมากว่าของที่เราทำขึ้นมันจะใช้ทำอะไร เราจึงตื่นเต้นกับข่าวผลิตภัณฑ์ใหม่จาก Google เพื่อนของเราที่จะทำให้ตลาดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์แบบสวมใส่นี้เติบโตขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เพิ่มการใช้งานในรูปแบบใหม่ๆ ได้มากขึ้น และทำให้เราต้องโฟกัสกับการสร้างประสบการณ์ผู้ใช้ที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ก็พอตีความได้ว่า Android Wear นั้นสะเทือนกับ Pebble ในระดับหนึ่ง ถึงจะไม่ใช่ระดับที่ต้องม้วนเสื่อเลิกทำไปในเวลาอันใกล้ แต่ย่างก้าวต่อจากนี้ของ Pebble จะยิ่งยากขึ้นไปอีก ซึ่งก็หวังว่าความสัมพันธ์อันดีระหว่าง Pebble กับนักพัฒนาแอพฯ ทั่วโลกจะช่วยให้นาฬิกาเรือนเล็กๆ แบรนด์นี้ สามารถอยู่ต้านแรงโหมกระหน่ำจากยักษ์ใหญ่ในวงการไปได้ ซึ่งความสามารถในปัจจุบันของ Pebble ก็ยังเหนือกว่า Android Wear ในบางจุด เช่น ความสามารถในการแสดง Notification ทั้งหมดของ iOS และ Android บนนาฬิกา (Android Wear แสดงได้เฉพาะ Android แต่สามารถสั่งงานกับ Notification กลับไปได้ ส่วน Pebble จะเน้นแจ้งเตือนอย่างเดียวมากกว่า) พร้อมมีสกินหน้าปัดนาฬิกาจำนวนมหาศาล และแอพฯ บนนาฬิกามากมายที่ใช้ร่วมกับสมาร์ทโฟนได้ ซึ่งเปิดโอกาสให้ Pebble สามารถทำงานแปลกๆ ได้ เช่นควบคุมระบบไฟในบ้าน หรือแสดงสถิติการออกรอบกอล์ฟ

ในส่วนของ Apple นั้น แม้ว่าจะมีข่าวลือมายาวนานกับ iWatch แต่การมาถึงของ Android Wear ก็น่าจะทำให้แอปเปิลเข้าตลาดนี้ยากเข้าไปใหญ่ โดยเฉพาะหากไม่สามารถชิงเปิดตัวและวางขายก่อนที่กองทัพ Android Wear จากผู้ผลิตหลากหลายแบรนด์จะเข้ายึดตลาด เหมือนตอนที่ Android เริ่มบุกยึดชิงพื้นที่สมาร์ทโฟนจาก iPhone ซึ่งถ้าเข้าตลาดช้ากว่า ก็ต้องมีนวัตกรรมหรือรูปแบบการใช้งานที่กว้างกว่าด้วย หรืออย่างน้อยก็น่าจะต้องรองรับโทรศัพท์มากกว่าจากค่ายแอปเปิลด้วยกัน แต่ก็เป็นไปได้ยากที่ iWatch จะรองรับการทำงานกับสมาร์ทโฟน Android

4LG-G-Watch

Android Wear จึงถือเป็นหมัดที่หนักหน่วงของกูเกิลต่อโลกอุปกรณ์พกพา เพราะมันไม่ได้หมายถึงอุปกรณ์แค่ไม่กี่ตัว แต่หมายถึงกองทัพอุปกรณ์สวมใส่ได้ที่ใช้บริการของกูเกิล และเปิดประตูให้กูเกิลเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้ได้มากขึ้น ทั้งข้อมูลสถานที่และการเคลื่อนไหวของผู้สวมใส่อุปกรณ์ อำนาจการวิเคราะห์ แสดงโฆษณาและนำเสนอบริการของกูเกิ้ลก็จะยิ่งพุ่งสูงขึ้น ก็หวังว่าโลกของ Wearable Computing จะมีอำนาจขั้วที่ 2 และ 3 มาคานพลังของกูเกิลเร็วๆ นี้

สามารถติดตามเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ นิตยสาร E-Commerce ฉบับที่ 184

หรือทาง www.ecommerce-magazine.com


  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
Tukko Nathida
ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ MarketingOops.com กับความตั้งใจในการนำเสนอเนื้อหาที่ทันเหตุการณ์ และเกิดประโยชน์ ให้สามารถนำเนื้อหาความรู้ และ Insight ไปต่อยอดกับอนาคตของธุรกิจ และการทำงานที่เกี่ยวข้องกับ เทคโนโลยี ครีเอทีฟ การตลาด โฆษณา และสตาร์ทอัพ