7 สัญญาณเตือน ที่บอกว่าธุรกิจของคุณกำลังจะไปไม่รอด

  • 11
  •  
  •  
  •  
  •  

warning-signs-700-430

สำหรับผู้ที่เรียกตัวเองว่า Startup ความสนุกในการทำธุรกิจอยู่ในช่วงเริ่มต้น เพราะคุณมองเห็นทุกอย่างเป็นสิ่งใหม่ ที่พร้อมจะทดลอง เป็นเรื่องท้าทาย เรื่องไหนที่คนอื่นทำไม่ได้ คุณพร้อมที่จะพิสูจน์ว่าทำได้ ซึ่งผลลัพท์ก็มีทั้งดีและไม่ดี บางครั้งคุณคิดว่าสิ่งที่คุณทำนั้นถูกต้อง และกำลังไปได้สวย แต่ถ้าอยู่ดีๆ ก็เจออุปสรรคครั้งยิ่งใหญ่ ที่ไม่คาดฝันมาก่อน คุณจะทำอย่างไร?

มาดูกันว่าอะไรคือสัญญาณที่บอกว่าคุณกำลังประสบปัญหาใหญ่ ควรจะหยุดพัก หรือไปต่อ

1.ลูกค้าใช้เวลาพิจารณานานกว่าปกติในการซื้อสินค้า

ในช่วงแรกเมื่อคุณเปิดตัวสินค้าใหม่ๆ สินค้าอาจเป็นที่น่าจับตามอง น่าสนใจสำหรับคนทั่วไป ทำให้มียอดสั่งซื้อเข้ามาเป็นจำนวนมาก แต่ถ้าวันหนึ่งคุณสังเกตุเห็นความผิดปกติ ลูกค้าไม่ค่อยสั่งซื้อ หรือลูกค้าใช้เวลานานกว่าจะสั่งซื้ออีกครั้ง นั่นหมายความว่าถ้าคุณไม่พัฒนาสินค้าเรื่อยๆ คำสั่งซื้อจะหายไปแน่นอน

2.คุณไม่รู้ว่าจริงๆ แล้ว ผู้บริโภคของคุณคือใคร

ทิศทางการทำธุรกิจของใครหลายๆ คนคือ ทำในสิ่งที่คิดว่าคนส่วนใหญ่ต้องการ แต่เมื่อมีคนๆ นึงบอกคุณว่าเขากำลังต้องการอะไร และคุณก็รีบร้อนสร้างหรือพัฒนาสิ่งนั้นขึ้นมา คุณอาจได้รับคำชมก็จริง แต่คุณจะไม่รู้ว่าคนส่วนใหญ่ต้องการอะไร เพราะคนๆ เดียวไม่สามารถบอกอะไรได้ทั้งหมด เพราะฉะนั้นก่อนเริ่มต้นธุรกิจใดๆ ก็ตาม ให้ลองสำรวจความคิดเห็นจากคนหลายๆ กลุ่มเสียก่อน ทำความเข้าใจผู้บริโภค ทำความเข้าใจตลาด เพื่อให้แน่ใจว่าสินค้าของคุณจะตอบโจทย์จริงๆ

3.ตลาดที่เล็งไว้ค่อยๆ หายไป

ถ้าอยู่ดีๆ ตลาดที่คุณกำลังโลดแล่นอยู่ค่อยๆ แคบลง จากเคยผลิตสินค้า 1,000 ชิ้น เหลือ 500 ชิ้นต่อเดือน นั่นแสดงให้เห็นว่าความต้องการของผู้บริโภคได้เปลี่ยนไปแล้ว ถ้าคุณต้องการที่จะเติบโตอย่างยั่งยืน คุณต้องสังเกตุให้ได้ว่าตลาดกำลังเปลี่ยนไปในทิศทางใด และคุณจะพัฒนาสินค้าอย่างไรให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงนี้ หรืออาจจะปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ด้านราคาเพื่อแข่งขันกับผู้ค้ารายอื่น

หรือถ้ามากไปกว่านั้น เมื่อคุณพบว่าตลาดมีความต้องการลดลงอย่างต่อเนื่อง นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนว่าคุณต้องย้ายตัวเองไปสู่ตลาดใหม่ หรือฉีกแนวสินค้าเดิมที่มีอยู่ให้ได้

4.คุณไม่มีเวลาให้กับธุรกิจเลย

บางครั้งปัญหาอาจไม่ได้เกิดจากตัวสินค้า แต่เกิดจากตัวคุณเอง ซึ่งปัจจัยในการทำธุรกิจนั้นก็ขึ้นอยู่กับการบริหารคน การจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่ด้วย และในกระบวนการเหล่านี้ก็ใช้เวลาไม่น้อย ถ้าคุณต้องให้เวลากับงานประจำ ควบคู่กับการทำธุรกิจส่วนตัว คุณอาจพบว่า มีคู่แข่งหน้าใหม่ผุดขึ้นมาเต็มไปหมด และยังนำเสนอสินค้าที่ดีกว่าคุณอีกด้วย คุณต้องชั่งน้ำหนักให้ได้ว่าสิ่งไหนที่สำคัญที่สุด และจงเลือกทำสิ่งนั้นต่อไป

5.คุณไม่มีแผนระยะยาว

ในช่วงแรกถ้าคุณต้องการทดลองตลาด และยังไม่ได้ต้องการกำไรจากการจำหน่ายสินค้ามากนัก ในกรณีนี้คุณไม่จำเป็นต้องวางแผนระยะยาว แค่ทำการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภค ปรับปรุง เรียนรู้การทำงานในรูปแบบต่างๆ หรือการค้นหาตัวเอง แต่ถ้าวันที่คุณต้องการกำไรมาถึง แต่คุณกลับไม่มีแผนระยะสั้น-ยาวรองรับเลย รอแต่เวลาและโอกาสเท่านั้น ความสำเร็จก็จะยิ่งไปไกลมากขึ้น ถ้าคุณไม่ลงมือทำอะไร

6.ดื้อรั้นที่จะแข่งขันด้านราคา

ในวิถีของการแข่งขัน ปัจจัยเรื่องราคาถือเป็นอันดับต้นๆ ในการทำธุรกิจ อีกทั้งยังต้องแข่งขันกันอย่างดุเดือด แต่ถ้าวันนึงคุณแข่งขันด้านราคาไม่ไหว ก็ลองเปลี่ยนมาแข่งขันเรื่องคุณภาพแทน อย่าลดราคาสินค้าจนตัวเองต้องขาดทุน มิเช่นนั้นคุณก็จะไปไม่รอด โปรดพิจารณาให้ดีก่อนจะแข่งขันด้วยราคา

7.เริ่มรู้สึกเบื่อกับทุกอย่าง

หากคุณกำลังมองหาความตื่นเต้นในการทำธุรกิจ แน่นอนว่าในช่วงเริ่มต้น ทุกสิ่งทุกอย่างก็สนุกไปหมด แต่เมื่อวันที่คุณรู้สึกเบื่อหน่าย มองเห็นแต่ปัญหามากกว่าโอกาส นี่ถือเป็นสัญญาณเริ่มต้นที่คุณจะหยุดพัก ถ้าคุณไม่หลงใหลการทำธุรกิจอีกต่อไป การหยุดเมื่อรู้ตัว ย่อมดีกว่าต้องหยุดเมื่อล้มเหลวไปแล้ว

สุดท้ายแล้วการเริ่มต้นการทำธุรกิจนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย อย่าท้อใจถ้าคุณพบว่าธุรกิจไม่ราบรื่นเหมือนที่คิดไว้ ในวันหนึ่งคุณอาจเจอสิ่งที่คิดว่าใช่และเหมาะสมกับคุณก็ได้ อย่าเสียเวลาคิดนาน ให้ลงมือทำเลย

 

แหล่งที่มา


  • 11
  •  
  •  
  •  
  •