3G กับ 3 Operators

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

3g-1หลังจากคนไทยต้องตกขบวนการใช้เทคโนโลยีเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ generation 3 หรือ 3G มานานกว่า 4 ปี จนวันนี้ประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศลาว กัมพูชา ต่างมีเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2G ใช้งานกันแล้ว ข่าวความคืบหน้าการเปิดให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ เริ่มเห็นภาพชัดเจนขึ้นเมื่อคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. มีความชัดเจนที่จะออกใบอนุญาตคลื่นความถี่ 3G ในประเทศไทย

3G กับ AIS
โดย สรรค์ชัย เตียวประเสริฐกุล หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการตลาด

ขณะนี้ AIS อยู่ระหว่างการขยายพื้นที่บริการโทรศัพท์มือถือ 3G บนคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ ทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมืองต่างๆ อาทิ พัทยาและอำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี เป็นการ pre-marketing ให้ผู้บริโภคทราบถึงบริการว่า 3G คืออะไร เป็นประโยชน์อย่างไรต่อผู้บริโภค หลังจากที่ทดลองเปิดให้บริการที่จังหวัดเชียงใหม่ไปเมื่อกลางปีที่ผ่านมา และได้มีการเปิดพื้นที่ทดลอง 3G ในกรุงเทพฯ บริเวณเซ็นทรัลเวิลด์ช่วงปลายปีที่ผ่านมา

ในแง่การใช้งานด้านเสียงจะไม่ต่างไปจากเดิมมากนัก แต่การใช้ดาต้าเร็วขึ้นกว่าเดิมมาก ซึ่งจากการให้บริการที่เชียงใหม่ มีความเร็วสูงสุดถึง 7.2 เมกะบิตต่อวินาที ผู้บริโภคจึงใช้ 3จี เพื่อเข้าถึงอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ได้
       
ประเทศไทยมีประชากร 20 ล้านครัวเรือน แต่คนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่าน ADSL หรืออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพียง 2,000,000-3,000,000 ครัวเรือนเท่านั้น การเกิดขึ้นมาของเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G จะทำให้ประชากรที่เหลือในประเทศไทยมีโอกาสเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอย่างทั่วถึงมากขึ้น

ส่วน Dealer Application ของ 3G จะเป็นเรื่องของ Mobile Broadband เป็นการใช้งานในลักษณะเชื่อมต่อเป็นอินเทอร์เน็ตไร้สายมากกว่าการใช้ Video Conference เพราะหลังจากที่ทาง AIS ทดลองให้บริการ 3G ที่เชียงใหม่เมื่อกลางปีที่ผ่านมา ตอนแรกๆ วิดีโอคอนเฟอเรนซ์ก็มีผู้สนใจแต่หลังจากนั้นก็ไม่ค่อยมีคนใช้”

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีเลขหมายโทรศัพท์มือถือที่ใช้อยู่ในขณะนี้รวมแล้วประมาณ 60 ล้านเลขหมาย ทางเอไอเอสประเมินว่ากว่า 20-30% ของผู้ใช้เป็นกลุ่มคนที่ใช้มากกว่า 1 ซิม นั่นหมายความว่า จำนวนผู้ใช้บริการจริงประมาณ 40 ล้านคน ในจำนวนนี้ 10% ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือเป็นประจำ และเชื่อว่าจะเป็นลูกค้ากลุ่มแรกที่หันมาใช้บริการ 3จี

“โมเดลการคิดค่าบริการสำหรับบริการคอนเทนต์ผ่านเครือข่าย 3G นั้น AIS จะคิดค่าบริการตามปริมาณการดาวน์โหลดข้อมูลแทนโมเดลดาวน์โหลดคอนเทนต์แบบเหมาจ่ายเหมือนที่ใช้ในเครือข่ายปัจจุบัน”

ขณะเดียวกัน รูปแบบการเชื่อมต่อสู่อินเทอร์เน็ตก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย โดยจะเห็นดีไวซ์ในรูปแบบอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในรูปแบบมือถือ อาทิ เน็ตบุ๊กหรือโน้ตบุ๊กคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ที่ทำให้ผู้ใช้บริการสามารถเชื่อมต่อสู่โครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วยการเสียบซิมการ์ดเข้าไปในสล็อตที่ออกแบบมาพร้อมในตัวเครื่อง

“3จี ช่วยทำให้ผู้บริโภคเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้หลากหลายช่องทางและหลากหลายอุปกรณ์มากขึ้น คาดว่าในปีนี้ ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ทุกรุ่นจะออกแบบสินค้าให้มีสล็อตเสียบซิมการ์ดมือถือ 3G ออกมา”

เมื่อถามถึงการลงทุนในเครือข่าย 3จีบนคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์จะต้องใช้งบลงทุนมากน้อยเพียงใด สรรค์ชัยให้ความเห็นว่า หากทาง กทช.สามารถออกใบอนุญาตได้ภายในปีนี้ จะช่วยกระตุ้นให้มีการลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น ถ้ามีใบอนุญาต 4 ใบ น่าจะมีการลงทุนไม่ต่ำกว่า 40,000-50,000 ล้านบาท โดยเฉลี่ยแต่ละโครงข่ายจะต้องลงทุนไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งคงจะต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไขในการออกใบอนุญาตของ กทช.ประกอบด้วยว่า มีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง

3G กับ True Move
โดย อธิป อัศวานนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ และนวัตกรรม

การเปิดให้บริการ 3G นอกเหนือจากเทคโนโลยีและนโยบายการกำกับดูแลแล้วยังมีเรื่องระบบนิเวศในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่ต้องเคลื่อนที่ไปพร้อมกันด้วย เช่น ผู้ผลิตคอนเทนต์ และแอปพลิเคชั่นต้องมีความสามารถในการให้บริการสำหรับ 3G รวมทั้งตลาดต้องมีเครื่องลูกข่ายที่รองรับ 3G ด้วย ไม่เช่นนั้นถึงมี 3G ก็ไม่มีประโยชน์

“นั่นคือทำไมทรูมูฟจะต้องนำไอโฟนเข้ามาในตลาดเมืองไทย เพราะมี application ที่คอยให้บริการจำนวนมาก มีรายงานที่น่าสนใจว่า ตั้งแต่มีการจำหน่ายไอโฟนในสหรัฐอเมริกา ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อย่างเอทีแอนด์ทีระบุว่า คนที่ใช้ไอโฟนมีการใช้บริการรับส่งข้อมูลมากกว่าผู้ใช้บริการบนดีไวซ์อื่นๆ ถึง 30 เท่าตัว”

อธิป กล่าวอีกว่า การลงทุนให้บริการ 3G นั้น หากลงทุนเพื่อให้บริการทางด้านเสียงอย่างเดียวคงไม่คุ้ม จึงจำเป็นต้องเปิดให้บริการอย่างอื่นด้วย สิ่งเหล่านี้เราต้องคิดไปพร้อมๆ กับเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น รวมถึงจะต้องมีการให้บริการ Wi-Max หรือ Wi-Fi ช่วยเสริมด้วย

“ในอเมริกา ผู้ผลิตเครื่องไม่ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด เนื่องจากมือถือที่รองรับการใช้งาน 3G มีราคาแพงมาก มีคนจำนวนน้อยที่ใช้งานได้ ดังนั้นเขาจึงวิ่งเข้าไปจับมือกับโอเปอเรเตอร์อุดหนุนค่าเครื่องให้อยู่ในระดับที่ผู้บริโภคทั่วไปซื้อได้ ไม่เช่นนั้นการใช้ 3G จะไม่แพร่หลาย ในเมืองไทยเองก็อาจเห็นภาพอย่างนี้เกิดขึ้นได้”

3G กับ DTAC
โดย โรเออร์ วิก แอนเดอร์สัน รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายกลยุทธ์

บริการ 3G จะผลักดันให้เกิดการพัฒนาบริการใหม่ๆ และส่งเสริมให้เกิดการใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้นด้วย สำหรับ DTAC คาดว่าจะลงทุนระหว่าง 5,000-10,000 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ทาง กทช.กำหนด รวมถึงความเร็วช้าในการให้ไลเซนส์ด้วย อย่างไรก็ตาม ดีแทคจะให้บริการใน 2 ความถี่ คือทั้ง 850 เมกะเฮิรตซ์ที่กำลังดำเนินการอยู่ กับการยื่นขอใบอนุญาตจาก กทช.ในช่วงความถี่ใหม่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์

Source: ผู้จัดการ รายสัปดาห์


  •  
  •  
  •  
  •  
  •