การละเมิดลิขสิทธิ์ยังคงทำกันมากมายในไทย ทั้งด้านความบันเทิง การทำงานส่วนตัว และการทำงานของภาคธุรกิจ ทำให้วันดีคืนดี เราจะได้ยินฝ่ายงานไอทีจะอีเมล์แจ้งเราถึงเรื่องของซอฟต์แวร์เถื่อนที่อาจมีหลงกันอยู่ในเครื่อง และให้รีบจัดการซะก่อนที่ทางปอศ.จะมาตรวจ เพราะหากตรวจพบทางบริษัทก็จะไม่รับผิดชอบใดๆ ฟังดูพอจะคุ้นๆ กันบ้างรึเปล่า : )
ในเมื่อเราทำงานในด้านดิจิตอลหรือต้องใช้คอมพิวเตอร์กันเป็นประจำ เรื่องของการละเมิดลิขสิทธิ์และการจับกุมก็น่าจะอีกหนึ่งเรื่องที่น่าสนใจ และด้วยทางปอศ.เองก็อยากที่จะประชาสัมพันธ์การทำงานของตนและเพื่อปกป้องการใช้ซอฟต์แวร์เถื่อน จึงถือเป็นโอกาสดีที่จะนำมาแชร์กัน
เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2554 – ปอศ. หรือเรียกเต็มๆ ว่า กองบังคับการปราบปรามและการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ได้เผยมูลค่าการจับกุมละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟท์แวร์ ในเขตกรุงเทพฯ และ ปริมณฑล อาทิ ปทุมธานี สมุทรปราการ อยุธยา ชลบุรี นครปฐม ฯลฯ โดยได้ทำการตรวจค้นธุรกิจผลิตสินค้า ขายปลีก ก่อสร้าง และอุตสาหกรรมหนัก ที่ต้องสงสัยว่าใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ในการดำเนินกิจการ ซึ่งบริษัทที่ถูกตรวจค้นเหล่านี้ล้วนเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ และมีทุนจดทะเบียนเฉลี่ย 131.2 ล้านบาท และรายได้ต่อปีเฉลี่ย 1.47 ล้านบาท โดยจากการตรวจค้นและจับกุมการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟท์แวร์ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554 เป็นต้นมา พบว่า มียอดการจับกุมการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟท์แวร์ในองค์กรธุรกิจคิดเป็นมูลค่าเกือบ 40 ล้านบาท
โดยบริษัทที่ถูกตรวจค้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาประกอบด้วย กิจการร่วมทุนกับอิสราเอลซึ่งพบซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์คิดเป็นมูลค่า 6.7 ล้านบาท ผู้ให้บริการสาธารณูปโภคสัญชาติไทยซึ่งพบซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์คิดเป็นมูลค่า 2.5 ล้านบาท โรงงานผลิตสินค้าด้านเทคโนโลยีร่วมทุนกับมาเลเซีย ซึ่งพบซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์คิดเป็นมูลค่า 6.7 ล้านบาท และบริษัทผลิตสินค้าของไทยซึ่งพบซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์คิดเป็นมูลค่า 4.3 ล้านบาท
การบังคับใช้กฎหมายลิขสิทธิ์ในปีนี้ ส่งผลให้กรรมการของบริษัทเกือบ 20 แห่ง ต้องถูกกล่าวโทษในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ โดยซอฟต์แวร์ที่ถูกละเมิดลิขสิทธิ์บ่อยที่สุด ได้แก่ ซอฟต์แวร์ของบริษัทไทย ชื่อ ไทยซอฟท์แวร์เอ็นเตอร์ไพรส์ นอกจากนี้ตำรวจยังตรวจพบซอฟต์แวร์ของออโต้เดสค์ (Autodesk) อโดบี (Adobe) และไมโครซอฟต์ (Microsoft) อีกด้วย
ด้วยเหตุของการจับกุมในลักษณะนี้ค่อนข้างเกิดผล เพราะปัจจุบันอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทยอยู่ที่ร้อยละ 75 และมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง อีกทั้งยังมีการสืบสวนผู้กระทำผิดอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการดำเนินการป้องปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ดำเนินไปอย่างเข้มข้น สม่ำเสมอ ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา โดยจากการตรวจค้นในแต่ละครั้ง พบว่า มูลค่าของซอฟต์แวร์ที่ถูกละเมิดลิขสิทธิ์แตกต่างกันออกไปตามขนาดของบริษัทและประเภทของธุรกิจ และยังมีบริษัทจำนวนมากที่นำซอฟต์แวร์มูลค่าสูงมาใช้สร้างผลกำไรมหาศาล โดยไม่ได้ชำระค่าลิขสิทธิ์
เพื่อบรรลุเป้าหมายในการปกป้องลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ และลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศลง เราจะดำเนินการสืบสวน เก็บรวบรวมหลักฐาน และเข้าตรวจค้นบริษัทต่างๆ ที่ต้องสงสัยว่าละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์อย่างต่อเนื่องต่อไป — พ.ต.อ. ชัยณรงค์ เจริญไชยเนาว์ รองผู้บังคับการ กองบังคับการปราบปรามและการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก. ปอศ.)