‘สหพัฒน์’ ผนึกกำลัง 2 ยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่น ‘Fast Beauty’ เปิดร้านทำสีผม ‘fufu -‘Etoile Kaito’ รุกตลาดค้าส่งต่างประเทศ เสริมทัพพอร์ตธุรกิจ

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

SPC-Cover

 

เรียกว่าอยู่กับคนไทยมาอย่างยาวนานกว่า 82 ปี กับเครือ ‘สหพัฒน์’ ผู้ผลิตสินค้าอุปโภค-บริโภครายใหญ่ของเมืองไทย และมีแบรนด์สินค้าคุ้นหูมากมายในพอร์ต เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มาม่า, น้ำดื่ม มองต์เฟลอร์, ผงซักฟอก เปา, ยาสีฟัน ซอลส์ เป็นต้น  โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา เครือสหพัฒน์ทำรายได้ไป 38,460 ล้านบาท กำไรกว่า 2,260 ล้านบาท

เพื่อเป็นการเสริมแกร่งพอร์ตธุรกิจในเครือ ทางสหพัฒน์จึงได้ดึงสองยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่น ด้านซาลอนบิวตี้ ในเซกเมนต์สีผมอย่าง Fast Beauty และด้านค้าปลีกอย่าง Etoile Kaito จับมืทำ MOU ร่วมกันแตกไลน์ธุรกิจใหม่ในพอร์ต โดยดึงความเชี่ยวชาญจากฝั่งญี่ปุ่น เข้ามาจับกับโอกาสตลาดในไทย เพราะสินค้า และบริการจากญี่ปุ่นยังคงเป็นที่นิยม และได้รับความไว้วางใจจากคนไทยอยู่เสมอ พร้อมเป็นการยกระดับศักยภาพทักษะด้านอาชีพของคนไทยไปพร้อมกัน  

 

จับมือ ‘Fast Beauty’ เปิดร้านทำสีผม ‘fufu’ สาขาต่างประเทศแห่งแรกที่ไทย

 

สำหรับตลาดซาลอนบิวตี้ในไทยจะมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 60,000 ล้านบาท ส่วนที่ญี่ปุ่นจะโตกว่าไทยราว 2.5 เท่า โดยมี Fast Beauty กินสัดส่วนอยู่ราว 10% แต่ว่ามีอัตราการเติบโตที่เริ่มนิ่งแล้ว ส่วนของไทยเราเติบโตขึ้นราว 20% 

นายเคน ทาคาฮาชิ ประธานและผู้ก่อตั้ง บริษัท ฟาสต์บิวตี้ เทค จำกัด จากประเทศญี่ปุ่น จึงเห็นว่าการร่วมทุนกับเครือสหพัฒน์ เพื่อนำร้านทำสีผม fufu เข้าไทยครั้งนี้ จะเป็นการผสานความเก่งด้านบิวตี้ของทั้งสองแบรนด์ และนำความเชี่ยวชาญในธุรกิจ เข้ามาจับโอกาสในตลาดทำสีผมของไทยที่กำลังเติบโตได้เป็นอย่างดี 

 

fufu-01

 

ทาง เคน ทาคาฮาชิ มองว่าคนไทยเองก็ชื่นชอบทำสีผมเช่นเดียวกับคนญี่ปุ่น เพียงแต่คนไทยจะทำหลากสีสันกว่าชาวญี่ปุ่นที่จะเลือกทำเพียงสีเดียว แต่มีความต้องการที่ตรงกันคือทำสีผม โดยผมไม่เสีย ซึ่งทางร้าน fufu มีความเชี่ยวชาญด้านเทคนิค และนวัตกรรมน้ำยาย้อมสีที่ตอบโจทย์ตรงนี้อยู่แล้ว โดยที่ญี่ปุ่นจะมีร้าน fufu เปิดอยู่กว่า 130 สาขา และมีผู้ใช้บริการกว่า 4.15 ล้านคนต่อปี

โดยร้าน fufu จะเปิดสาขาแรกเป็น Stand Alone ที่ทองหล่อ ช่วงต้นเดือนตุลาคม ซึ่งยอมรับว่ามีต้นทุนที่แพง แต่คุ้มค่ากับการสร้าง Brand Awareness เพราะเป็นย่านที่คนพลุกพล่าน ทั้งยังเป็นกลุ่มวัยรุ่น และนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของร้าน fufu 

สำหรับสาขาทั้งหมด ตั้งเป้าเปิดตัวร้าน fufu รวม 100 สาขา ซึ่งจะเปิดให้ได้ 20 สาขาก่อนใน 3 ปีแรกนี้ และจะพัฒนาปรับปรุงการให้บริการไปเรื่อยๆ เพื่อให้ถูกใจคนไทยที่สุด โดยเรทราคาจะอยู่ที่ 1,500 – 5,000 บาท

 

fufu-02

 

ส่วนพนักงานในร้านจะเป็นคนไทย ที่เทรนโดยผู้เชี่ยวชาญจาก fufu สาขาญี่ปุ่น เพื่อให้ได้มาตรฐานการทำสีผมที่ดีที่สุด โดยทางคุณพิภพโชคชัยวัฒนากล่าวว่า ทางเครือสหพัฒน์ยังได้เตรียมแผนพัฒนาธุรกิจร้านเสริมสวยไทย ด้วยการนำเทคนิคการทำสีผม และการดูแลเส้นผมจากญี่ปุ่นเข้าพัฒนาทักษะให้กับร้านเสริมสวยในเครือพันธมิตรด้วย ซึ่งเป็นการยกระดับศักยภาพเพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับช่างผมไทย

 

ดึง ‘Etoile Kaito’ ยักษ์ใหญ่ด้าน Retail กว่า 700,000 SKUs เสริมแกร่งพอร์ตค้าปลีกของทั้ง 2 ฝั่ง

 

kaito-01
Photo Credit: Etoile Kaito

 

กว่า 122 ปี นับจากวันที่ Etoile Kaito ได้เปิดตัวขึ้นตั้งแต่ปี 1902 โดยเริ่มต้นจากการเป็นผู้ค้าส่งสินค้าเบ็ดเตล็ด และสินค้าแฟชันในญี่ปุ่น จนขึ้นเป็นผู้ค้าส่งสินค้าครบวงจร พร้อมเพิ่มไลน์สินค้าอีกมากมาย ทั้งด้านความงาม ไลฟ์สไตล์ ของตกแต่งบ้าน ไปจนถึงสินค้าอุปโภค และบริโภครวมกว่า 700,000 SKUs จาก Supplier กว่า 3,500 ราย ปัจจุบัน Etoile Kaito ดำเนินธุรกิจร่วมกับร้านค้าปลีกในเครือกว่า 20,000 แห่ง

การจับมือร่วมกันระหว่างเครือสหพัฒน์ และ Etoile Kaito จึงนับเป็นการเสริมแกร่งพอร์ต Retail ของทั้งฝั่งไทย และญี่ปุ่นให้มากขึ้นไปอีก โดยต่อไปนี้เราจะได้เห็นสินค้าหลากหลายจากญี่ปุ่นมากขึ้นมาเป็นตัวเลือกให้เราตัดสินใจ ส่วนฝั่งญี่ปุ่นก็จะมีสินค้าประเภทต่างๆ ของไทยเข้าไปจับโอกาสทำตลาดมากขึ้น ทั้งแบบออฟไลน์อย่างร้านค้า หรือช่องทางออนไลน์อย่าง Live Commerce, Social Media และแพลต์ฟอร์ม E-Commerce ต่างๆ

 

นายคินโนะสุเกะ ฮายาคาวะ ประธานบริษัท Etoile Kaito กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ แบรนด์ได้เปิดช่องทางการขายใหม่ใน ไต้หวัน ฮ่องกง จีน และเกาหลีใต้ โดยการร่วมมือกับเครือสหพัฒน์ครั้งนี้ก็เป็นโอกาสดีในการผสานความแข็งแกร่งด้านค้าปลีกของทั้งสองแบรนด์เข้าด้วยกันเพื่อผลักดันการเติบโตให้ก้าวกระโดดขึ้นไปอีก

 

Kaito-01
Photo Credit: Etoile Kaito

 

การร่วมมือกันระหว่างเครือสหพัฒน์ และสองบริษัทยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่นอย่าง Fast Beauty และ Etoile Kaito ในครั้งนี้ ไม่ใช่เพียงการผสานความแข็งแกร่งของธุรกิจเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับประเทศ แต่ยังเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ วัฒนธรรมที่แตกต่างกันระหว่างไทย-ญี่ปุ่น เพื่อผสมผสานจุดแข็งของกันและกัน จนเกิดเป็นก้าวใหม่ในอุตสาหกรรมของทั้งไทย และญี่ปุ่น ที่จะเดินหน้าเติบโตไปด้วยกัน

 


  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
CLOSE
CLOSE