ขณะที่คู่แข่งต่างเร่งเครื่อง เพื่อสร้างให้เทคโนโลยี 5G เกิด แต่‘ชารัด เมห์โรทรา’ CEO ดีแทค กลับมองว่า แทนที่จะลงทุนและเข้าไปแข่งขันในสนามดังกล่าวที่ยังใหม่สำหรับบ้านเรา ตอนนี้ควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพการใช้งาน โดยเฉพาะเรื่องดาต้าและดิจิทัลจะดีกว่า
“เราเชื่อมั่นในทิศทางของเราที่โฟกัสในสิ่งที่ลูกค้าต้องการและเป็นประโยชน์ให้คนจำนวนมากในวันนี้ มากกว่าจะไปลงทุนใหม่ ๆ ในเรื่องที่ดูหวือหวา แต่ใช้ได้บางคนขณะที่บางคนใช้ไม่ได้ เพราะต้องรอหรือเปลี่ยนดีไวซ์” ชารัด ให้เหตุผล และขยายความเพิ่มเติมว่า
5G ไม่ใช่ไม่สำคัญหรือดีแทคจะไม่ลงทุน แต่ตอนนี้ด้วยเศรษฐกิจไม่ดี สิ่งที่ผู้บริโภคมองหา คือ ความต้องการมากกว่าการคาดหวัง ซึ่ง 5G ยังไม่ใช่เรื่องที่ต้องลงทุนในจังหวะนี้ เพราะยังใหม่สำหรับตลาดบ้านเรา และยังไม่เป็นรูปเป็นร่างนัก
วาง 3 กลยุทธ์ มัดใจลูกค้า
สำหรับทิศทางของดีแทคครึ่งหลังปี 63 เป้าหมายสำคัญ คือ การเดินหน้าพัฒนาประสิทธิภาพเครือข่ายสำหรับลูกค้าทุกคนแบบ seamless รวมถึงมอบบริการที่ดีในราคาจับต้องได้ เพราะ ณ ตอนนี้ ผู้บริโภคได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิค-19 โดยทางธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ GDP ปีนี้ของไทย -8% จำนวนนักท่องเที่ยวหายไป 80% ขณะที่ธนาคารโลกประเมินว่า จะมีประชากรไทยกว่า 8.3 ล้านคนเสี่ยงต่อการตกงาน หรือสูญเสียรายได้
โดยสิ่งที่ดีแทคมองว่า ลูกค้าต้องการในปัจจุบัน ก็คือ เน็ตไฮสปีด ซึ่งสะท้อนจากปริมาณการใช้งานดาต้าเฉลี่ยในแต่ละเดือนนั้นเติบโตขึ้นกว่า 44 % จากเดือน ม.ค.- มิ.ย. 63 ความนิยมในแอปพลิเคชันสำหรับการทำงานที่บ้านอย่าง Zoom และ MS Teams และบริการที่จำเป็นจำพวกระบบการเรียนออนไลน์ การใช้บริการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ ต่างเติบโตแบบพุ่งพรวด
นอกจากนี้ ยังมาจากการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคที่มีการย้ายถิ่นฐานไปอยู่ต่างจังหวัดมากขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เหตุผลอาจเป็นเพราะต้องการกลับไปใช้ชีวิตในภูมิลำเนา แทนการชีวิตในกรุงเทพฯในฐานะคนว่างงาน ที่ส่งผลให้ปริมาณการใช้งานดาต้าในพื้นที่ต่างจังหวัดเติบโตสูงกว่ากรุงเทพฯ 5 เท่า และยังคงอยู่ในระดับที่สูงแม้จะมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์แล้วก็ตาม
ด้วยเทรนด์ที่เกิดขึ้น ทำให้ดีแทคจะเน้นการลงทุนด้านโครงข่ายอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น การขยายบริการคลื่น 2300 MHz บนคลื่นทีโอที เพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง โดยตั้งเป้าจะเพิ่มสถานีฐานบนเครือข่าย 4G-TDD เป็นจำนวนมากกว่า 20,000 สถานีฐาน ภายในปีนี้
ถัดมา คือ เร่งขยาย Massive MIMO ในพื้นที่ที่มีการใช้งานหนาแน่นทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานที่ดีกว่าเดิม 3 เท่า และยกระดับประสบการณ์ใช้งานทั้งอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงบนมือถือและเน็ตบ้านแบบใหม่ (dtac@home)
ขณะที่การติดตั้งสถานีฐาน 5G คลื่น 26 GHz ในพื้นที่ที่กำหนดเปิดให้บริการ (เริ่มติดตั้งในไตรมาส 2) และคลื่น 700 MHz (รอใบอนุญาตจากสำนักงาน กสทช.) ในรูปแบบทดสอบการใช้งาน (use case) สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรม ในโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เพื่อให้บริการในไตรมาส 3 อาทิ กล้องตรวจการณ์อัจฉริยะ และ Fixed Wireless Access (FWA) หรือบริการอินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูงประจำที่
หลักการทำงานแบบ ‘ชัดเจน-ยืดหยุ่น-ชัดเจน (tight-loose-tight)’
นอกจากการขยายโครงข่ายให้รองรับความต้องการของลูกค้าในเรื่องดาต้าและดิจิทัลแล้ว ในสถานการณ์ตอนนี้ที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ประเด็นต่อมาที่ดีแทคให้ความสำคัญ หนีไม่พ้น ก็คือ การเดินหน้าปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงานภายในองค์กรให้สอดรับกับยุคสมัย ภายใต้คอนเซปต์ ‘ชัดเจน-ยืดหยุ่น-ชัดเจน’ หรือ tight-loose-tight
รูปแบบการทำงานดังกล่าว จะเน้นการเพิ่มความยืดหยุ่นในการทำงาน , การนำระบบ automation หรือ ‘ระบบควบคุมอัตโนมัติ’ มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพและร่นระยะเวลาในการดำเนินงาน เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพองค์กรในการแข่งขันในตลาดได้ อีกทั้งลดภาระงานของมนุษย์ และการสร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่
รวมถึง ออฟฟิศทุกแห่งของดีแทคนั้นอนุญาตให้พนักงานกว่า 95 % ทำงานแบบยืดหยุ่น โดยพนักงานจะสลับกันเข้าออฟฟิศในแต่ละสัปดาห์หรือในวันที่จำเป็นเท่านั้น นอกจากนี้ ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า พนักงานจะได้รับคำเชิญให้เข้าร่วมการแข่งขัน ‘BOTATHON’ ซึ่งทีมที่ชนะจะมีโอกาสสร้าง ‘หุ่นยนต์ผู้ช่วย’ ของตนเอง จุดมุ่งหมายก็เพื่อย่นระยะเวลาการทำงาน ป้องกันความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากมนุษย์ให้ได้ 100% ให้พนักงานใช้เวลาไปกับการสร้างสรรค์และคิดอะไรใหม่ ที่มี productivity มากขึ้นนั่นเอง
ส่วนการดำเนินทั้งหมดจะหยุดจำนวนลูกค้าที่ลดลงได้หรือไม่ อย่างในช่วงไตรมาส 2 ลูกค้าก็หายไปราว 8-9 แสนราย
เรื่องนี้ ทางผู้บริหารดีแทคไม่ได้ฟันธงชัดเจน บอกเพียงว่า หากทำในสิ่งที่ลูกค้าต้องการ เชื่อว่า จะสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า และลูกค้าจะอยู่กับเรา ซึ่งการตอบรับจะสะท้อนให้เห็นจากผลประกอบการที่เติบโต