เตรียมนับถอยหลังการพบกันของ 2 ผู้นำโลกที่ทั่วโลกจับตามองในการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม G20 ที่จัดขึ้น ณ โอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น โดยประธานาธิบดีสหรัฐฯ (Donald Trump) มีกำหนดการพบ ประธานาธิบดีของจีน (Xi Jinping) ในวันเสาร์นี้ (29 มิ.ย.) เพื่อเจรจากรณีพิพาทด้านการค้าที่ไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้ว่าผลจะออกมาเป็นเช่นไร แต่ผลจากการพบกันครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างแน่นอน
โดยก่อนเริ่มการประชุม Larry Kudlow ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของประธานธิบดีสหรัฐฯ ชี้ว่า ทั้ง 2 ประเทศยังไม่มีการยื่นข้อเสนอใดๆ เป็นพิเศษ ซึ่งหากการเจรจาออกมาด้วยดีมาตรการต่างก็อาจจะมีการผ่อนคลายลงได้บ้าง แต่หากการเจรจาออกมาไม่ดี การจัดเก็บภาษีสินค้าจีนก็จะยังคงเดินหน้าต่อไปและจะเป็นมาตรการสำคัญในการเพิ่มอุปสรรคการค้าในสหรัฐฯ ของบริษัทสัญชาติจีน
ข้อจำกัดของทั้ง 2 ประเทศที่กดดันให้ทั้ง 2 ประธานาธิบดีเร่งหาทางออกในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการยุติสงครามการค้าที่ถือเป็นประเด็นสำคัญของ 2 ประธานาธิบดี เนื่องจากเศรษฐกิจของจีนเริ่มเข้าสู่ภาวะถดถอย การถูกนโยบายด้านภาษีจากสหรัฐฯ ยิ่งตอกย้ำเศรษฐกิจที่ตกต่ำของจีนอย่างมาก เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นตลาดใหญ่ที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจของจีนไว้
โดยสหรัฐฯ มีสัดส่วนการนำเข้าสินค้าจีนสูงกว่าจีนนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ การขึ้นภาษีสินค้าจีนจึงมีผลอย่างมากต่อเศรษฐกิจของจีน แม้ว่าธุรกิจของสหรัฐฯ ก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน แม้ว่าจีนจะได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษี แต่จีนก็สร้างโอกาสในการขยายธุรกิจเข้าสู่ประเทศและภูมิภาคอื่นๆ เพื่อสร้างโอกาสอย่างเช่น รัสเซีย เป็นต้น
ด้านประธานาธิบดีสหรัฐฯ เองก็มีข้อจำกัดในด้านการเมือง เนื่องจากเข้าใกล้ช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ การใช้มาตรการด้านภาษีกับจีน แม้ว่าจะได้รับคำชื่นชมในการแก้ไขปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาได้ แต่ในระยะยาวสหรัฐฯ จะต้องเตรียมรับมือกับผลกระทบของนโยบายดังกล่าว
ซึ่งผลกระทบดังกล่าว นอกจากจะทำให้สินค้าจีนในสหรัฐฯ มีราคาสูงขึ้นซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาขายในประเทศสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น การถูกมาตรการโต้กลับของจีนยิ่งทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ โดยเฉพาะในวัตถุดิบในการผลิตมีปัญหา ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการหาเสียงหาก Trump ต้องการเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกสมัย
ดังนั้นการเจรจาครั้งนี้ ทั้ง 2 จึงมีเป้าหมายในการบรรลุข้อตกลง แต่ก็มีเงื่อนไขบนความไม่เสียเปรียบดุลการค้าของแต่ละฝ่าย ซึ่งประเด็นที่น่าจะทำให้การเจรจาของ 2 ประธานธิบดีในครั้งนี้เข้นข้น คือประเด็นของ Huawei ที่ถูกรัฐบาลสหรัฐฯ กีดกันด้วยข้อหาด้านความมั่นคงของชาติ เนื่องจากสหรัฐฯ มีการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนเกี่ยวกับ Huawei
จับตาต่อไปว่า หาก Huawei ถูกหยิบยกขึ้นมาวางบนโต๊ะเจรจา ผลการเจรจาจะออกมาเป็นเช่นไร เพราะสหรัฐฯ คงไม่ยอมง่ายๆ ขณะที่จีนเองก็น่าจะช่วยเหลือ Huawei ในฐานะบริษัทสัญชาติจีนรายใหญ่ที่มีชื่อชั้นอยู่ในระดับสากล อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เคยกล่าวแล้วว่า ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไรภาษีสินค้าจะต้องอยู่ที่อย่างน้อย 10%
แม้ว่าจะมีนักวิชาการด้านเศรษฐกิจมองว่า สงครามการค้ายังไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรมากมายกับสภาพการค้าและ GDP โดยรวม แต่องค์การการค้าโลก (WTO) มีการเตือนถึงการศึกษาผลกระทบว่า หากสงครามการค้าโลกระหว่างจีนและสหรัฐฯ ยืดเยื้อภายใน 3 ปี GDP ทั่วโลกจะลดลง 1.96% และการค้าโลกลดลง 17% เมื่อเทียบกับ GDP ทั่วโลกในช่วงวิกฤตการเงินโลกในปี 2009 (Hamburger Crisis) ที่ GDP ทั่วโลกลดลงประมาณ 2.1% และการค้าโลกลดลง 12.4%