เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก เป็นประโยคที่เราได้ยินกันมาตลอด และไม่ใช่เรื่องไกลตัว สภาวะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเทคโนโลยีก็มีให้เราเห็นอยู่เป็นระยะ ในรูปแบบของธุรกิจใหม่ที่เพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการเดิมที่มีอยู่ เช่น Google หันมาผลิตรถยนต์ไร้คนขับ ถือเป็นการปรับตัวที่เปลี่ยนแนวคิดของผู้บริโภค และสร้างรายได้ในระยะยาว
Technological Disruption ไม่ได้เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง แต่เกิดขึ้นในทุกอุตสาหกรรม เพราะการ Disruption เป็นทางเลือกในการสร้างความได้เปรียบในตลาด ล่าสุด กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้จัดงานเสวนาในหัวข้อ Technological Disruption ภาคธุรกิจไทยจะพลิกความเสี่ยงให้เป็นโอกาสอย่างไรในเวทีโลก พร้อมเชิญ 4 ผู้บริหารจากแวดวงต่างๆ มาร่วมแสดงความคิดเห็นในประเด็นนี้
คุณฤทธิ์ ธีระโกเมน ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็มเคเรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เผยว่า MK อยู่ในธุรกิจร้านอาหาร ซึ่งฟังดูอาจไม่เกี่ยวกับดิจิทัลเท่าไร แต่จริงๆ แล้วเราใช้เทคโนโลยีในการให้บริการลูกค้ามาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการรับออเดอร์ หรือการติดตั้งจออัตโนมัติสำหรับสั่งอาหารบนโต๊ะ ซึ่งนวัตกรรมที่เราใช้มาจากความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก และในเร็วๆ นี้ MK กำลังจะเปิดตัวแอปฯ สำหรับสมาชิกเพื่อสะสมแต้ม ส่วนลด และบริการอื่นๆ ทั้งนี้ การใช้เทคโนโลยีของ MK ไม่ได้นำมาใช้เพื่อทดแทนแรงงานคน แต่ต้องการอำนวยความสะดวกให้ลูกค้า
ด้าน บริษัท เอสซีบี อบาคัส จำกัด บริษัทลูกของไทยพาณิชย์ ที่ทำด้าน AI และ Big Data โดยเฉพาะ ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เล่าว่า SCB Abacus เน้นการพัฒนา AI และ Machine Learning เพื่อให้เข้าใจลูกค้ามากขึ้น ต้องเข้าใจให้มากกว่าเรื่องการเงิน เรียนรู้พฤติกรรมในทุกเรื่อง ด้วยการใช้ AI และเครื่องมือเจาะลึกเป็นรายบุคคล
สำหรับการลงทุนเรื่อง R&D ในช่วง 5 ปีต่อจากนี้ บริษัทฯ วางงบไว้ที่ 4,000-5,000 ล้านบาท ครอบคลุมในหลายๆ เรื่อง ทั้งฮาร์ดแวร์ พัฒนากระบวนการทำงาน และบุคลากร พัฒนาทักษะ และนำข้อมูลที่ได้มาต่อยอด
ไม่ว่าจะอยู่ในธุรกิจใด หากไม่ปรับตัว คุณก็ตามคู่แข่งไม่ทัน เหมือนกับ LINE แพลตฟอร์มแชทยอดนิยม ที่ต่อยอดมาสู่ธุรกิจหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นการผลิตคอนเทนต์, ธุรกรรมการเงิน และธุรกิจ O2O คุณอริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการ ไลน์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศไทย เล่าถึงการทำ R&D ขององค์กรว่า ไลน์ลงทุนใน 2 ด้าน คือ เทคโนโลยี ก่อนหน้านี้ไลน์ได้ตั้งกองทุนสำหรับพัฒนาเกมมือถือ และล่าสุดกับกองทุน Line Scaleup เพื่อเปิดรับไอเดียใหม่ๆ จากสตาร์ตอัพไทย ผลักดันให้เกิดบริการใหม่บนแพลตฟอร์มของไลน์ รวมถึงสร้างโอกาสด้านการลงทุนจากไลน์มูลค่ากว่า 10 ล้านเหรียญ
นอกจากการลงทุนด้านเทคโนโลยีแล้ว ไลน์ยังลงทุนในคอนเทนต์ ทั้งการซื้อลิขสิทธิ์รายการจากต่างประเทศ และการร่วมมือกับพาร์เนอร์เพื่อผลิตคอนเทนต์ลงใน Live TV และ Line Today เป็นต้น คุณอริยะ ให้มุมมองว่า การมีพาร์ทเนอร์ทำให้องค์กรได้เปรียบ และก้าวไปได้เร็วขึ้น หากถามว่าเราทำกันเองในองค์ได้ไหม ก็ทำได้ แต่อาจไม่ทันการ การได้ร่วมงานกับพาร์ทเนอร์จะทำให้เราได้ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน
เป็นที่พูดถึงอย่างต่อเนื่องสำหรับรถไฟฟ้า EV หรือยานยนต์ไร้คนขับ AV คุณชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานกรรมการ บริษัท ไทยซัมมิท โอโต พาร์ทอินดัสตรี จำกัด ในฐานะบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เผยว่า ปัจจุบันการแข่งขันของแบรนด์รถยนต์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่ารถคันไหนประหยัดน้ำมันที่สุด แต่แข่งขันในเรื่องเทคโนโลยีที่อยู่ในรถ การ Disrupt ของอุตสาหกรรมยานยนต์จึงเกิดจากตัวผู้ผลิตเอง เช่น ลดการใช้เหล็ก หันมาใช้พลาสติกที่มีคุณสมบัติใกล้เคียง หรือการพัฒนาแอปฯ ให้รองรับกับการใช้งานจริง เป็นต้น
ทำให้ผู้ผลิตยานยนต์ต้องร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยี เพื่อหาโซลูชั่นล้ำสมัยมาใช้เป็นจุดขาย และหนีคู่แข่ง ดังนั้น หัวใจสำคัญของรถยนต์ในตอนนี้จึงอยู่ที่ เทคโนโลยี และแอปฯ ในรถยนต์
จากที่ทั้ง 4 ท่านกล่าวมานี้ ค่อนข้างชัดเจนในแง่ของการปรับตัว แบรนด์ไม่สามารถดำเนินธุรกิจในรูปแบบเดิมๆ ได้ หากไม่มีการทำ R&D หรือนำเทคโนโลยี/นวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ ก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะเสียส่วนแบ่งตลาดไปได้