TCDC จัดงาน CU 2015 ถอดรหัสนักคิด เพิ่มโอกาสนักสร้างสรรค์ยุคใหม่

  • 1
  •  
  •  
  •  
  •  

Tcdc-1

ความหวาดกลัวอันยิ่งใหญ่ของนักสร้างสรรค์และครีเอทีฟทุกเชื้อชาติ ทุกภาษาคืออาการ “ตัน” หมดไอเดีย หมดแรงฝัน ซึ่งส่งผลให้งานของคุณไม่โดนใจสาธารณชน ลูกค้า และนักลงทุน…

อันที่จริงแล้ว ความกลัวนี้แฝงอยู่ในซอกหลืบจิตใจของมนุษย์ทุกคน เพราะลึกๆ แล้วพวกเรากลัวว่าสักวันเราจะหมดศักยภาพในการสร้างคุณค่าให้แก่โลกนี้ หมดโอกาสเติมสีสัน เติมความงดงามให้แก่สังคมแล้วถูกทิ้งร้างให้กลายเป็นบุคคลที่ไม่มีใครเห็นคุณค่าอีกต่อไป

แต่หากคุณศึกษาลงไปจริงๆ คุณจะพบว่าความสร้างสรรค์ไม่มีวัน “ตัน” เพราะความคิดของคุณนำเอาบริบทของโลกปัจจุบัน ทั้งวัฒนธรรม ความคิด เทรนด์ เทคโนโลยี และฯลฯ มาปรุงออกเป็นงานสร้างสรรค์ที่สนุกและแตกต่างกว่าใคร พูดอีกนัยหนึ่ง หากคุณยังไม่หยุดรับข้อมูล คิด วิเคราะห์ และลงมือกระทำ ชีวิตนี้คุณไม่มีทางตันแน่นอน

วีดีโอแนะนำงาน งาน CU 2015 ภายใต้หัวข้อ SHIFT Decode : Design : Disrupt

httpv://www.youtube.com/watch?v=fEQ2riRpvBo

เมื่อวันที่ 12-13 กันยายน ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) จัดงานชุมนุมทางความคิด ครั้งที่ 9 เพื่อรวบรวมสุดยอดนักคิดเปลี่ยนโลก ภายใต้ชื่อ “Creativities Unfold 2015 (CU2015)” หัวข้อ SHIFT decode: design: disrupt เปิดมุมมองผู้ประกอบการให้เห็นภาพความเป็นไปได้และโอกาสใหม่ๆ ในโลกดิจิตอล

นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ กล่าวว่า จากฐานข้อมูลเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของประเทศไทยในปี 2557 มีมูลค่ากว่า 1.6 ล้านล้านบาท คิดเป็น 13.18% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ อันเป็นเม็ดเงินมหาศาล นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยียังสร้างพฤติกรรมการบริโภคออนไลน์สมัยใหม่ รวมทั้งแนวการผลิตคอนเทนต์โดยนำเอาคลังข้อมูล (Big Data) มาเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมและธุรกิจ การบ่มเพาะทัศนคติในการทำงานแบบร่วมสร้าง (Co-creation) และการแบ่งปันความรู้บนระบบออนไลน์แพลตฟอร์ม (Open Source) ความสะดวกสบายในการเชื่อมต่อกับระบบการผลิตแบบดิจิทัล (Digital Fabrication)

ตลอดเวลา 2 วันของงานเสวนา International Symposium มีสุดยอดนักคิดมากมายเข้าร่วมให้ความรู้กว่า 9 ท่านเข้าให้ความรู้ ความคิดและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้ร่วมเสวนา ในทีนี้เราจะขอหยิบยกนักคิดสองคนคือ ดร.จอร์แดน แบรนดท์ นักสำรวจอนาคต ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ Autodesk และ ริช รัดคา ผู้ร่วมก่อตั้ง Claro Partners เพื่อเจาะลึกเนื้อหาที่ทั้งสองท่านได้ให้แง่คิดแก่เรา

ดร.จอร์แดน แบรนดท์

Tcdc-2

แบรนดท์เริ่มการบรรยายด้วยการเกริ่นถึงกระบวนการออกแบบซึ่งต้องพบกับความล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำเล่าก่อนที่จะได้แบบที่สมบูรณ์ที่เราต้องการ สรุปคือการออกแบบซ้ำๆ เป็นหนทางสู่การออกแบบที่สมบูรณ์ที่สุด ดังนั้นจะดีแค่ไหนหากเราสามารถนำเอาเครื่องจักรมาช่วยในการออกแบบซ้ำๆ ได้?

ในอดีตหรือแม้กระทั่งปัจจุบัน ดีไซเนอร์หลายคนยังใช้วิธีออกแบบแบบ explicit design หรือการวาดแบบร่างด้วยฝีมือมนุษย์ซึ่งมีความยุ่งยากและกินเวลาค่อนข้างนาน แต่ต่อจากนี้ดีไซเนอร์สามารถนำคอมพิวเตอร์มาช่วยในงานออกแบบหรือที่เรียกว่า generative design เพื่อทำให้ดีไซเนอร์สามารถหาทางแก้ปัญหาให้แก่งานดีไซน์ได้อย่างรอบด้านและสร้างสรรค์ขึ้น ระบบการทำงานของ generative design จะอาศัยอัลกอริธึมเป็นหลักสำคัญโดยผู้ใช้ input เงื่อนไขหรือคำสั่งเข้าไปจากนั้นคอมพิวเตอร์จะประมวลผลและออกแบบความเป็นไปได้หลายๆ แบบและแสดงให้เห็นว่าแต่ล่ะแบบตอบโจทย์ผู้ใช้ได้มากน้อยแค่ไหน ข้อดีคือคอมพิวเตอร์สามารถดีไซน์แบบร่างได้มากมายนับไม่ถ้วนขณะที่มนุษย์ทำได้เพียง 4-5 แบบ

ทางด้านวิธีการออกแบบ ในอดีตกระบวนการออกแบบจะต้องใช้บุคลากรจากหลากหลายสาขาเพื่อทำงานเสริมกันแต่เทคโนโลยีสมัยใหม่ช่วยให้คนที่ต้องทำงานร่วมกันเหล่านี้สามารถใช้ Cloud Technology เพื่อทำงานจากมุมไหนของโลกก็ได้ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้น

ขณะที่หากเราอยากออกแบบด้วยตนเองแต่นำเทคโนโลยีมาช่วยก็ทำให้เราทำงานได้ดีขึ้นเช่นกัน เช่น หากเราค้นหารูปภาพผ่าน Google เพื่อมาเป็น reference ในการออกแบบ อัลกอริธึมจะจดจำผลการค้นหาและการแสดงผลที่ประสบความสำเร็จและไม่ประสบความสำเร็จ (คือถูกเลือกหรือไม่ถูกเลือก) จากนั้นมันจะ “เรียนรู้” เพื่อสร้าง code ในการประมวลผลภายในและแสดงผลครั้งต่อไปให้ดีขึ้น ซึ่งหากนักพัฒนาซึ่งเป็นผู้ input อัลกอริธึมเหล่านั้นพบว่าระบบของตนทำงานได้ดีเป็นที่พอใจ นักพัฒนาอาจจำเป็นต้องมา reverse engineering เพื่อได้โค้ดที่สมบูรณ์กว่าไปใช้งานอย่างอื่นต่อไป

Tcdc-3

ที่น่าตื่นเต้นคือในอนาคต มนุษย์สามารถพัฒนาระบบร่างรูปภาพแบบ 3D โดยคอมพิวเตอร์จะพัฒนาอัลกอริธึมซึ่งจะช่วยเสนอแนะหรือเติมเต็มร่างออกแบบที่มนุษย์พัฒนาเบื้องต้นให้เหมาะสมหรือเป็นไปได้ในทางปฏิบัติมากยิ่งขึ้น เมื่อเราพอใจแล้วเราก็สามารถใช้การพิมพ์สามมิติ (3D Printing) ซึ่งจะทำให้นักออกแบบเห็นภาพชัดเจนขึ้น โดยปัจจุบันเทคโนโลยี 3D Printing ก้าวหน้าถึงขั้นสามารถให้นักออกแบบเลือก “พิมพ์” แบบตามวัสดุที่เลือก เช่น อลูมิเนียม แล้วนำผลิตภัณฑ์เหล่านั้นมาใช้ได้จริง

สรุปคือความเป็นไปได้ในอนาคตคือเครื่องจักรจะทำงานร่วมกับมนุษย์โดยเลือกเฟ้น “แบบร่าง” ที่ดีที่สุดจากคำสั่งและเงื่อนไขที่มนุษย์กำหนด และเมื่อเข้าสู่ขั้นตอนการผลิตเครื่องจักรก็สามารถเข้ามาช่วยมนุษย์ในการผลิตให้แม่นยำและสิ้นเปลืองวัสดุน้อยที่สุด

ริช รัดคา

Tcdc-4

ด้าน ริช ผู้พลิกสมการความสำเร็จทางธุรกิจด้วย Service Design ขนข้อมูลมากมายมาพรีเซนต์โดยเริ่มต้นจากความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคยุคดิจิตอลซึ่งชื่นชอบสินค้าและบริการที่มีส่วนผสมสามสิ่งคือ มีส่วนร่วมได้ (participatory) ปรับเปลี่ยนได้ (customizable) และสามารถตอบสนองได้ (responsive) เพราะผู้บริโภคยุคใหม่มีลักษณะแบบเรียบง่าย (Simple) ชอบของต้นตำรับ (Genuine) และยังเป็นเปลี่ยนใจง่าย (Easy in easy out)

“ความเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจปัจจุบันคือราคาสินค้าต่ำลง ระยะทางและเวลาในการส่งสินค้าสั้นลง และอุปสรรคในการเข้าสู่ธุรกิจของแบรนด์ต่างๆ น้อยลง หากแต่ในทางตรงกันข้าม การแข่งขันเชี่ยวกราดขึ้น ข้อมูลมีล้นไปหมด การเข้าถึงและความโปร่งใสของข้อมูลเป็นสิ่งที่แบรนด์ต้องเปิดเผยในโลกปัจจุบัน ที่สำคัญ…คุณไม่สามารถขายของล็อตใหญ่ๆ ได้แบบยุคอุตสาหกรรมอีกแล้ว” ริช กล่าว

Tcdc-5

นอกจากนี้ ริช ยังกล่าวถึงโมเดลการใช้ชีวิตของคนในยุคดิจิตอลว่าแตกต่างจากคนยุคก่อนที่มีแบบแผนการดำเนินชีวิตแน่นอน เช่น เรียนจบปริญญา ทำงาน เก็บเงิน ซื้อบ้าน ซื้อรถ แต่ปัจจุบันคนสมัยใหม่มีทางเลือกมากขึ้น เช่น เรียนยังไม่จบ ตั้งบริษัทเทคโนโลยีของตัวเอง

“หัวใจหลักของการดีไซน์แผนการมาร์เกตติ้งในโลกปัจจุบันอันแสนวุ่นวายคือ หนึ่ง เริ่มต้นที่การทำความเข้าใจลูกค้าของคุณ สอง มองทั้งมุมมองใหญ่ระดับสาธารณะและมองทั้งมุมมองเล็กๆ ระดับตัวบุคคล สาม ส่งสารของคุณซ้ำๆ เพราะผู้บริโภคมีสิ่งรบกวนรอบตัวเขามากมาย สี่ สร้างและเพิ่มคุณค่าให้แก่ผู้บริโภคของคุณ ให้เขาเป็นคนที่ดีขึ้น และห้า ดีไซน์สินค้าและบริการเพื่อพวกเขาอย่างครบวงจร ไม่ละเลยส่วนประกอบส่วนใดส่วนหนึ่ง” ริชกล่าวปิดท้ายการพรีเซนต์ของตัวเอง

Tcdc-6

Tcdc-7

Tcdc-8


  • 1
  •  
  •  
  •  
  •