ยังจำดราม่าเมื่อปีที่แล้วเกี่ยวกับนักแสดงท่านหนึ่งถือขวดเบียร์รินใส่แก้วกันได้หรือไม่ เหตุการณ์นั้นไม่ได้กระทบเฉพาะแค่เพียงในแวดวงบันเทิงเท่านั้น แต่ยังสะเทือนไปทั่วทั้งวงการเอเจนซี่ และแบรนด์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่างๆ ว่า พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 จะศักดิ์สิทธิ์จริงหรือไม่ จนกระทั่งภาครัฐต้องเข้ามาบังคับใช้กฎหมายความยุติธรรมในที่สุด (คลิกอ่านข่าวเพิ่มเติม)
และมาจนถึงวันนี้ผู้คนก็ยังคงถกเถียงกันไม่แตกว่า แท้จริงแล้ว พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 โดยเฉพาะ มาตรา 32 มีความครอบคลุมมากน้อยแค่ไหน อะไรคือความหมายของคำว่า “อวดอ้าง” และอะไรคือความหมายของคำว่า “ชักจูงใจ” สิ่งไหนทำได้ สิ่งไหนทำไม่ได้
และเมื่อวันที่ 18 สิงหาคาที่ผ่านมา จึงได้เกิดเวทีเสวนาหนึ่งซึ่งนำประเด็นการตีความข้อกฎหมายดังกล่าวหยิบยกมาพูดคุยกันเพื่อให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น ภายใต้ชื่อว่า หัวข้อว่า “กฎหมายโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ถอดบทเรียนสื่อมวลชนและภาคธุรกิจ” จัดโดย สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย (TABBA) ซึ่งมีผู้ร่วมเสวนาที่เป็นตัวแทนจากหลายภาคส่วนด้วยกันมาร่วมเสวนา
อ.ประมาณ เลืองวัฒนวณิช ทนายความและผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายชื่อดัง กล่าวว่า กฎหมายหลักที่ใช้ควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่ในขณะนี้คือ มาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 วรรค 1 ซึ่งระบุว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม” แต่กลับมีปัญหาที่ถกเถียงกันในเรื่องการตีความว่า การกระทำใดต้องห้ามตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของกฎหมายดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่นานมานี้มีคำพิพากษาของศาลฏีกา คดีที่ 15453/2557 ซึ่งตัดสินในคดีที่มีผู้ร้องเรียนว่าเบียร์ยี่ห้อหนึ่งที่ประกาศรับสมัครพรีเซ็นเตอร์สาวกำลังเข้าข่ายความผิด ม.32 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าว ปรากฏว่า ศาลฏีกามีคำพิพากษาดังนี้ การโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลลกอฮอล์หากมิได้มีเนื้อหาอันเป็นการอวดอ้งสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยตรงหรือโดยอ้อมแล้วนั้น ไม่เป็นความผิดตาม ม.32 ซึ่งตนเห็นว่าคำพิพากษาดังกล่าวนี้ สามารถใช้เป็นบรรทัดฐานในการทางกฎหมายต่อไปได้
“ความที่ข้อกฎมายมีเพียงแค่ 3 บรรทัด จึงเกิดการตีความไปมาโดยไม่ได้ดูที่เจตนาอันแท้จริงของกฎหมาย และการตีความนั้นก็เป็นไปตามดุลพินิจของเจ้าหน้าที่อีกด้วย ซึ่งตนเห็นว่าตัวคำพิพากษาอันนี้จะสามารถหยิบมาเป็นบรรทัดฐานในการใช้ต่อไปได้ อีกประเด็นหนึ่งที่ตนมองเห็นคือ เรื่องของรางวัลนำจับที่สูงมาก ทำให้เกิดปัญหาการว่าใครก็อยากจะแจ้งเบาะแสเมื่อตีความได้ว่าเข้าข่ายก็เอาไปบอกเจ้าหน้าที่ ซึ่งตรงนี้กระทบมากกับบรรดาร้านค้าเล็กๆ ที่ไม่ต้องการค้าความใดๆ เลยยอมเสียค่าปรับง่ายๆ ทั้งที่จริงแล้วถ้าสู้ในคดีความก็อาจจะไม่ผิด จึงเห็นว่ากฎหมายถูกตีความกันไปเองโดยขาดการพิจารณาถึงเจตนาที่แท้จริง”
ด้าน ผศ.พิจิตรา สึคาโมโต้ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นในประเด็นนโยบายสาธารณะว่า การควบคุมสินค้าและบริการต่างๆ รวมถึงการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น จะต้องอยู่บนฐานของเหตุผลและข้อเท็จจริง โดยมุ่งให้ความสำคัญกับการปกป้องสวัสดิภาพของสังคมโดยรวมควบคู่ไปกับการเคารพสิทธิและเสรีภาพของทุกฝ่ายทั้งผู้ดื่มและผู้ไม่ดื่ม ซึ่งพบว่าสามารถป้องกันสังคมจากพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าการควบคุมแบบสุดโต่งบนฐานของศีลธรรม เช่น การเบลอภาพของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในรายการทีวี ทั้งๆ ที่คนดูไม่ว่าใครต่างก็รู้ว่าภาพที่เบลอนั้นคืออะไร
“อย่างในประเทศญี่ปุ่น เราจะพบว่ามีการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเปิดเผยและชัดเจน แต่ปรากฏว่าการบังคับใช้กฎหมายของเขาในประเด็นเมาไม่ขับมีความเข้มข้นมาก และมีบทลงโทษที่รุนแรงมากอีกด้วย ยังไม่นับการแซงก์ชั่นทางสังคมอีก ดังนั้น สิ่งที่อยากจะฝากไว้ก็คือ จะต้องแก้ให้ถูกจุด รัฐจะต้องถ่วงดุลทั้งในด้านเศรษฐกิจและศีลธรรมให้ได้ ดำเนินนโยบายอย่างเป็นเหตุเป็นผล หากจะต้องมีการควบคุมก็ควรทำให้ตรงจุดมากกว่าปฏิบัติตามกฎหมายแบบศรีธนชัย”
มาทางฝั่งตัวแทนสื่อมวลชนกันบ้าง กับ โตมร ศุขปรีชา สื่อมวลชนและคอลัมนิสต์ชื่อดัง ให้ความเห็นในแง่บริบทของการเป็นสิ่งที่ผูกพันในวัฒนธรรมของมนุษย์มาอย่างยาวนานว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นส่วนหนึ่งในการดำรงชีวิตของมนุษย์มาแต่โบราณจนถึงปัจจุบันเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับสังคมและวัฒนธรรมในหลากหลายมิติ รวมถึงวัฒนธรรมอาหาร ดนตรี หรือบทกวี จึงมีเรื่องราวที่น่าสนใจอยู่มากเกี่ยวกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของมนุษย์ อย่างไรก็ตาม การนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในส่วนของสื่อมวลชนนั้นกลับมีข้อจำกัดมากและในบางครั้งก็ทำไม่ได้ เพราะมักจะถูกตีความว่าเป็นการชักจูงใจ ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วอาจจะต้องการนำเสนอเรื่องราวของวัฒนธรรมที่แตกต่างออกไปเพื่อขยายมุมมองต่างๆ ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เท่านั้น แต่ไม่ได้คิดที่จะส่งเสริมให้คนดื่มอย่างไร้สติ การควบคุมโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงไม่ควรอิงกับหลักศีลธรรมแต่เพียงอย่างเดียวโดยมองข้ามมิติอื่นๆ ไป ควรจะต้องอยู่บนพื้นฐานที่ว่าประชาชนทุกคนมีเหตุผลสามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเองอย่างเหมาะสม
“นิตยสารที่ผมทำเป็นนิตยสารผู้ชาย เราก็มีบทความที่ผู้ชายส่วนใหญ่สนใจหรือเรื่องรสนิยมต่างๆ ซึ่งบางครั้งก็อาจจะมีหลุดเครื่องดื่มต่างประเทศออกไปบ้างอย่างไม่ตั้งใจ ก็จะมีหน่วยงานที่เขาดูแลอยู่มักจะทำหนังสือเตือนส่งมาให้เรา แต่ผมประหลาดใจมากที่พบว่านิตยสารผู้หญิงกลับมีสิ่งเหล่านี้อยู่เยอะมากโดยไม่มีการตักเตือน ตรงส่วนนี้ผมมองว่าก็อาจจะเป็นอีกเรื่องของการใช้ดุลพินิจในการตรวจสอบอีกเช่นกันที่จะต้องทำให้เกิดมาตรฐานเดียวกันให้ได้”
ขณะที่ตัวแทนผู้ประกอบการ ธนากร คุปตจิตต์ ประธานสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย (TBBA) กล่าวว่า จากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15453/2557 จะช่วยให้ทุกฝ่ายทั้งผู้บังคับใช้และภาคธุรกิจมีความเข้าใจตรงกันถึงขอบเขตของการโฆษณาตามวรรค 1 ของมาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ยิ่งขึ้น เพราะที่ผ่านมาการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าพนักงานแต่ละบุคคลทำให้ยากต่อการปฏิบัติตาม ทั้งยังมีโทษและแรงจูงใจในเรื่องของเงินสินบนนำจับ ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในวงกว้างทั้งต่อธุรกิจการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ค้าปลีก ร้านอาหาร ซึ่งส่วนใหญ่ส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา ทางสมาคมฯ ได้เคยเรียกร้องให้มีนักกฎหมายที่เป็นกลางมาช่วยตีความเกี่ยวกับ ม.32 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าว แต่ก็ยังไม่มีใครออกมา ดังนั้น ทางสมาคมฯ จึงตัดสินใจออกข้อเรียกร้องดังนี้
1) ขอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ช่วยให้ความเห็นทางกฎหมายและตีความข้อกฎหมายดังกล่าว เพื่อให้เกิดความกระจ่างชัดในการบังคับใช้และเป็นแนวทางในการปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้องและเป็นบรรทัดฐานเดียวกัน ทำให้กฎหมายเกิดประสิทธิภาพประสิทธิผลตรงตามเจตนารมย์อย่างแท้จริง
2) อยากให้เชิญภาคเอกชน และภาคประชาสังคมเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย เพื่อให้เกิดความรอบด้านและแก้ได้ตรงจุดที่สุด
ทั้งหมดนี้แม้จะยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่าควรจะตีความกันเช่นไร แต่เชื่อว่าเวทีนี้น่าจะจุดประกายให้ภาครัฐลุกขึ้นมาเป็นเจ้าภาพใหญ่ในการบูรณาการกฎหมายให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นทั้งในแง่ของการปฏิบัติและการบังคับใช้ ซึ่งน่าจะเป็นนิมิตรหมายที่ดีต่อไปในอนาคตของการหยิบ ม.32 พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ มาใช้ต่อไป.
Copyright © MarketingOops.com